วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

ทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหาย



รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายผู้ซื้อต้องผ่อนชำระต่อหรือไม่


มีหลายๆ คนสอบถามผู้เขียนมาบ่อยๆ ว่ารถที่เช่าชื้อถูกลักไป เรายังต้องผ่อนชำระราคาต่อหรือไม่ เหตุเพราะบริษัทไฟแนนซ์ (finance) ที่รับชำระค่าเช่าซื้ออ้างว่าในสัญญาที่เช่าซื้อมีข้อสัญญาหนึ่งที่ระบุว่า “ผู้เช่าซื้อทรัพย์สินยอมรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียจากการใช้ เก็บรักษาที่เช่าซื้อ หรือทรัพย์ที่เช่าซื้อถูกโจรกรรม, สูญหาย ด้วยเหตุใด ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว....” วันนี้ผู้เขียนเลยอยากมาขอเล่าเรื่องสัญญาเช่าซื้อเพิ่มเติมจากที่เคยเล่าเรื่องสิทธิของผู้เช่าซื้อในการขายทอดตลาดรถที่เช่าซื้อไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยในครั้งก่อนนั้นผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึง สัญญาเช่าซื้อที่เลิกกันไปเพราะเหตุทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายหรือถูกทำลาย ในครั้งนี้ผู้เขียนจะได้ยกเหตุผลจากคำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบกับบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาลองให้ศึกษาดูกันนะคะ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “เช่าซื้อ คือ อะไร”


สาระสำคัญของสัญญาเช่าซื้อ
เช่าซื้อ (Hire Purchase) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า เช่าซื้อ คือ “สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว


จากบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ สามารถพิจารณาได้ดังนี้
๑. สัญญาเช่าซื้อมีคู่สัญญา ๒ ฝ่าย คือ ผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อ
๑) ผู้ให้เช่าซื้อ คือ เจ้าของนำเอาทรัพย์สินนั้นออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
๒) ผู้เช่าซื้อ คือ ผู้เช่าที่ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ และจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวเมื่อตนใช้เงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว

***ข้อสังเกต เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาบวกด้วยคำมั่นว่าจะขาย ดังนั้น กรณีใดที่ไม่ได้บัญญัติในเรื่องเช่าซื้อ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติในเรื่องเช่าทรัพย์

๒. วัตถุแห่งสัญญาเช่าซื้อ เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 “เจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า...” แสดงว่า วัตถุแห่งสัญญาเช่าซื้อมิได้จำกัดเฉพาะวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ มิได้จำกัดเฉพาะว่าวัตถุนั้นต้องเป็นสังหาริมทรัพย์แต่อาจจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือวัตถุที่ไม่มีรูปร่างก็ได้

๓. ผู้ให้เช่าซื้อต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อ ซึ่งเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ผู้ให้ซื้อจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้เช่าซื้อ ดังนั้น บุคคลใดที่มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินจะนำทรัพย์สินดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นเช่าซื้อไม่ได้ กรณีไม่เหมือนสัญญาเช่าทรัพย์ซึ่งผู้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เช่า แต่ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ให้เช่าซื้ออาจเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะทำสัญญาเช่าซื้อ และรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ เช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่ง “เจ้าของ” เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น “เจ้าของ” แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคต หาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ “เจ้าของ” ในที่นี่จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อ และหมายความรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาทจากบริษัท ต. แม้จะเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขที่จะได้กรรมสิทธิ์ต่อเมื่อได้ชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาทโดยเจตนาครอบครองใช้สอยอย่างเจ้าของ จะได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกพิพาทเมื่อชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนตามสัญญา โดยมีเงื่อนไขนั้นแล้ว โจทก์จึงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อได้ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น “เจ้าของ” ตามมาตรา ๕๗๒ มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อย่อมสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ (ฎีกาที่ ๓๑๑๑/๒๕๓๙ และฎีกาที่ ๕๘๑๙/๒๕๕๐)


ปัญหาคือ ในระหว่างที่เราเช่าซื้อรถ โดยการผ่อนชำระราคาเป็นงวดๆ นั้น รถยนต์/จักยานยนต์พิพาท ที่ครอบครองอยู่ในระหว่างนั้น ได้ถูกลักไป เราซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อต้องผ่อนชำระราคาต่อไปหรือไม่ ประเด็นนี้ได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาวางแนววินิจฉัยไว้ว่า

“รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปการที่รถยนต์สูญหายย่อมเป็นภัยพิบัติแก่โจทก์เป็นทำนองว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป..... ในข้อนี้ได้ความตามสัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๐ เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ ๙ จึงเป็นงวดประจำวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ ๑ ผิดนัดงวดที่ ๙ นับแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๑ แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๑ จึงไม่ชอบ ทั้งจำเลยทั้งสองยังเบิกความยืนยันว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๑ และได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานโดยโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๗ ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเลิกกันนับแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ ๑ โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๔. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้ การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัยและตามข้อ ๗. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใดๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหายค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หากพฤติการณ์ปรากฏว่าสูงเกินส่วนศาลย่อมกำหนดให้ตามสมควรแก่ความเสียหายได้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายในการติดตามรถตามที่กำหนดในสัญญาและศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โดยถือว่าเป็นเบี้ยปรับนั้น ถือได้ว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องแล้ว" (ฎีกาที่ ๑๐๔๑๗/๒๕๕๑)


เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สัญญาเช่าซื้อได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๗ เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป และได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานต่อเจ้าพนักงานสอบสวนแล้ว ผู้เช่าซื้อจึงไม่จำต้องชำระราคาค่าเช่าซื้ออีก แต่หากผู้เช่าซื้อค้างชำระราคาค่างวดในวันก่อนที่รถยนต์จะถูกลักไป ผู้เช่าซื้อก็ยังมีหน้าที่ต้องชำระราคาค่างวดที่ค้างชำระพร้อมค่าติดตามทวงถามจนถึงวันที่รถยนต์ถูกลักไปให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ ส่วนการตกลงยอมรับผิดชอบตามสัญญาที่ปรากฏนั้น ศาลได้วินิจฉัยว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับ เมื่อสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๘๓ “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป”


ประเด็นที่จะกล่าวต่อไปคือ ผู้เช่าซื้อนำทรัพย์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายแก่บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าซื้อได้หรือไม่ ในกรณีเช่าซื้อนี้ เราพึงระลึกไว้เสมอว่า ทรัพย์ที่เช่านั้น ผู้ให้เช่าซื้อยังเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นอยู่ ผู้เช่าซื้อเป็นเพียงผู้ครอบครองและมีสิทธิ์ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น เมื่อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วเท่านั้น แต่ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ ดังนั้น หากผู้เช่าซื้อนำทรัพย์ที่เช่าซื้อไปขายโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่าซื้อจึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อ


คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๗๒๗/๒๕๔๔

จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม ๓๖ งวดมีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้วจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืนเมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้วแต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่


ต่อไปเรามาพิจารณาสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าซื้อบ้าง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อว่ามีหน้าที่ต่อกันเช่นไรบ้าง โดยให้นำบทบัญญัติในเรื่องซื้อขาย และเช่าทรัพย์ มาใช้กับการเช่าซื้อด้วยในฐานะที่เป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

สิทธิของผู้เช่าซื้อ
๑. มีสิทธิได้รับมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อในสภาพที่ปลอดจากความชำรุดบกพร่อง
๒.ต้องใช้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อตามปกติ หรือตามข้อตกลงในสัญญา
๓.ต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ เช่นวิญญูชนพึงรักษาสงวนทรัพย์ของตนเอง
๔.ไม่ต่อเติม หรือดัดแปลงทรัพย์สินที่เช่าซื้อ
๕.ชำระราคาค่าเช่าซื้อเป็นจำนวนเงินเท่านั้นคราวเท่านี้คราว
๖.ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินที่เช่า อันเนื่องมาจากความผิดผู้เช่าหรือผู้เช่าช่วง
๗.รับผิดในการออกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา หรือซ่อมแซมทรัพย์นั้น ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อ แล้วได้บอกเลิกสัญญากันแล้ว และผู้เช่าซื้อต้องคืนทรัพย์นั้นให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ
๘.มีสิทธิในการฟ้องร้องคดี หรือติดตามเอาทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนจากผู้ที่ไม่มีสิทธิ ผู้เช่าซื้อมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแก่ผู้ที่ทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหาย หรือยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อได้ เนื่องจากผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ ในกรณีที่ต้องคืน


อนึ่ง ในการผิดสัญญาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากว่าสัญญาเช่าซื้อนั้นมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เช่าซื้อมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สิน และมีสิทธิได้รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อนั้นยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในระหว่างที่ผู้เช่าซื้อยังชำระราคาไม่ครบถ้วน ดังนั้น ผู้เช่าซื้อจึงต้องเคารพในกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อจนกว่าจะชำระราคาครบตามข้อตกลง ถ้าผู้เช่าซื้อนำทรัพย์สินไปจำนำและไม่ชำระเงิน ถือว่าผิดสัญญาเช่าซื้อ เจ้าของมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและผู้เช่าซื้อมีความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ได้อีก เนื่องจากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้ออยู่

และในกรณีที่ผู้เช่าซื้อกระทำผิดสัญญา เพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นงวดสุดท้ายนั้น เจ้าของทรัพย์สิน มีสิทธิจะริบบรรดาเงินที่ชำระมาแล้วแต่ก่อน และยึดทรัพย์กลับคืนไปได้ต่อเมื่อรอให้ผู้เช่าซื้อมาชำระราคาเมื่อถึงกำหนดชำระราคาในงวดถัดไป ถ้าไม่มาผู้ให้เช่าซื้อริบเงินได้


คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๖/๒๕๕๑

แม้ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าซื้อ

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าบทความเรื่องนี้คงมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย บุญรักษาค่ะ


By กานต์

วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

รุมโทรมหรือสมยอม


“รุมโทรม” หรือ “สมยอม”


ข่าวเกี่ยวกับเด็กประเด็นดังข้ามอาทิตย์ตอนนี้ คงไม่มีข่าวไหนดังเท่ากับข่าว เด็กหญิงอายุ ๑๔ ปีถูกรุมโทรมอีกแล้วคดีนี้พัวพันกับบุคคลหลายคนทั้งบุคคลธรรมดาและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งยังมีข้อหาหลายฐานความผิด อีกทั้งตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมาหลังจากงานเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไป ได้มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเพศต่อเด็กหญิง และเยาวชน ออกมาอย่างไม่เว้นแต่ละวัน ผู้เขียนนั่งชมข่าวไปคิดแง่มุมในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไปด้วย ทำให้นึกอยากถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรเพื่อเก็บไว้อ่านทบทวนและเผยแผ่ให้แก่บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสทำความเข้าใจไปด้วย โดยจะยกเอาความผิดเกี่ยวกับเด็กหญิงที่จังหวัดสุพรรณบุรีมาอธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจะพยายามเขียนให้อ่านเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน เรียงข้อหาความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างง่ายๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจโดยไม่ยากนัก และเป็นการเขียนอธิบายฐานความผิดเกี่ยวกับความผิดทางเพศไปพร้อมกันด้วย


จากประเด็นข่าวที่กล่าวอ้างว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นโดยมารดาของเด็กหญิงได้เข้าร้องเรียนให้ช่วยคลี่คลายคดีกรณีที่ บุตรสาวของตนซึ่งมีอายุเพียง ๑๔ ปี ได้ตกเป็นเหยื่อถูกรุมโทรมในร้านเกมส์แห่งหนึ่ง ซึ่งตนได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนแล้วแต่ คดีไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และมารดาของเด็กหญิงยังออกมาเปิดโปงถึงการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานสอบสวนอีกด้วย โดยอ้างว่า พนักงานสอบสวนพยายามไกล่เกลี่ยให้ยอมความกันและอ้างว่า บุตรสาวของตนให้ความยินยอมมิใช่การข่มขืนใจแต่อย่างใด เหตุการณ์ในครั้งนี้ เมื่อสืบสวนลึกลงไปกลับพบว่ามีการนำตัวเด็กหญิงผู้เคราะห์ไปส่งขายบริการทางเพศ ให้แก่ชายวัยกลางคนอีกด้วย หากความจริงปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง คดีนี้จึงมิใช่การกระทำความผิดเฉพาะกฎหมายอาญาเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายพิเศษอีกด้วย ลองมาดูกันสิว่า เหตุการณ์นี้เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายใด และฐานความผิดใดบ้าง เริ่มจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาก่อน

ประเด็นแรก ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามีบัญญัติไว้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ว่า


มาตรา ๒๗๖ ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุก..........

การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุก..........

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้

มาตรา ๒๗๗ ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสามได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกันและเด็กนั้นไม่ยินยอมหรือได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กอายุกว่าสิบสามปีแต่ไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ให้ศาลปล่อยผู้กระทำผิดนั้นไป


ตามกฎหมายอาญาดังกล่าวเบื้องต้นนี้ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ใด.....” ดังนั้น คำว่า “ผู้ใด” จึงหมายถึงใครก็ได้ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย การข่มขืนกระทำชำเราในปัจจุบันนี้ ผู้กระทำความผิดจึงอาจเป็นเพศใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชายเสมอไป และผู้ถูกกระทำจะเป็นใครก็ได้แม้แต่ภริยาของตนเองก็เป็นความผิดดังจะเห็นได้ตาม วรรคท้ายของมาตราดังกล่าว ซึ่งตามกฎหมายเดิมใช้คำว่า “ชายใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยา.....” อันเป็นการจำกัดความผิดของผู้กระทำผิดให้มีได้เฉพาะผู้มิใช่ภริยา ในปัจจุบันนี้กฎหมายได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ปัจจุบันที่สิทธิระหว่างหญิง-ชายย่อมเท่าเทียมกัน และเป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ อีกด้วย

เมื่อสังเกตตามกฎหมายมาตรานี้ จะเห็นว่าลักษณะของการกระทำความผิดในวรรคสอง ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าการกระทำลักษณะใดที่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย มิใช่การกระทำที่นำอวัยวะเพศชายล่วงเข้าไปในอวัยวะเพศหญิงหนึ่งองคุลีจึงจะถือได้ว่าเป็นการกระชำเรา ดังที่ศาลฎีกาท่านได้ตีความไว้ในคำพิพากษามาก่อน ดังนั้น ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น

**ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำอาจเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศกันก็ได้ ผู้กระทำอาจใช้อวัยวะเพศหรือสิ่งอื่นใดในการกระทำก็ได้ เช่น นิ้วหรือปาก หรืออวัยวะเพศเทียมก็ได้ และการกระทำชำเรานี้จะต้องเป็นการกระทำเพื่อเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำไม่ใช่สนองความใคร่ของผู้อื่นหรือเป็นการแสดง

๐๐ที่จำเลยให้ผู้เสียหายอมอวัยวะเพศของตนเพื่อสนองความใคร่เป็นการกระทำชำเราสำเร็จแล้ว หากเพียงให้ใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศเท่านั้น ยังไม่เป็นการกระทำชำเรา (ฎีกาที่ ๑๕๐๙/๒๕๕๓)
@ความคิดขณะทำงานในคดีประเภทนี้คือ ไล่ฐานความผิดทีละฐาน และมักมาสะดุดที่ การกระทำความผิดข่มขืนกระทำชำเรานี้ เป็นความผิดฐานอนาจารด้วยหรือไม่ คำตอบมีดังนี้
การกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา มีความผิดฐานอานาจารรวมอยู่ด้วยในตัวเอง ดังนั้น เมื่อผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแล้ว ความผิดฐานอนาจารย่อมเกลื่อนกลืนไปกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (ฎีกาที่ ๔๐๘๓/๒๕๔๘) ในที่นี้ผู้เขียนจึงขอละเว้นไม่อธิบายถึงลักษณะความผิดของฐานความผิดอนาจารในบทความนี้ เนื่องจากความผิดฐานอนาจารได้เกลื่อนกลืนไปกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแล้ว

ในกรณีของผู้เสียหายตามข่าวมีอายุเพียง ๑๔ ปี ดังนั้น จึงต้องพิจารณา ตามมาตรา ๒๗๗ ด้วย ตามมาตรา ๒๗๗ นี้ที่ระบุว่าอายุไม่เกิน ๑๕ ปี นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบของความผิด ดังนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาด้วย (ตามมาตรา ๕๙ วรรคสาม)

การกระทำชำเราตามมาตรานี้ ไม่ต้องคำนึงว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ หากเป็นการกระทำระหว่างสามีภริยาที่อายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี โดยศาลยินยอมให้สมรสนั้น การกระทำของสามีไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่เป็นความผิดตามมาตรา ๒๗๖ เพราะภริยาไม่ยินยอม และหากเด็กชายอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ร่วมประเวณีกับเด็กหญิงอายุไม่เกิน ๑๕ ปี แม้จะด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงก็มีความผิดตามมาตรานี้ทั้งสองคน และยังอาจไม่ได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา ๗๔ ด้วย ถ้าเด็กชายและเด็กหญิงดังกล่าวมีอายุเกิน ๑๔ ปีแล้วต้องไปอาศัยการสมรสกันโดยศาลอนุญาต จึงอาจได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา ๒๗๗ วรรคท้าย (๒๒๖๙/๒๕๔๔)

การกระทำร่วมกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมนั้น เด็กจะต้องไม่ยินยอมด้วย ส่วนวรรคท้าย เป็นบทยกเว้นโทษ ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลที่มีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี กระทำต่อเด็กอายุกว่า ๑๓ ปี แต่ไม่เกิน ๑๕ ปี โดยเด็กนั้น ต้องยินยอมด้วย ถ้าเด็กไม่ยินยอม แม้ภายหลังศาลจะอนุญาตให้สมรสกันก็ไมเข้าเงื่อนไขในอันที่จะไม่ต้องรับโทษตามมาตรา ๒๗๗ วรรคท้าย หรือการกระทำอันมีลักษณะเป็นการโทรมโดยเด็กไม่ยินยอมก็ไม่ได้รับการยกเว้นโทษเช่นกัน มีข้อสังเกตคือ การที่ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเป็นเพศเดียวกันย่อมไม่อาจสมรสกันได้ ดังนั้น จึงไม่มีกรณีที่จะได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรานี้

การกระทำตามข่าวดังกล่าวที่อ้างว่ามีการรุมโทรมนั้น ลองมาพิจารณาดูกันว่าแบบใดลักษณะใดคือการโทรมหญิง เพราะโทรมหญิงนั้นเป็นลักษณะเหตุที่ทำให้ผู้กระทำต้องได้รับโทษหนักขึ้น และการที่ผู้ต้องหาตามข่าวอ้างว่าพวกตนมิได้รุมโทรม แต่เป็นการชำเราเด็กหญิงต่างเวลาและสถานที่กันนั้นจะเข้าหรือไม่เข้าฐานความผิดในเรื่องโทรมหญิงหรือไม่ การกระทำความผิดในลักษณะโทรมหญิงนั้น มีข้อควรพิจารณาดังนี้

๑. ต้องมีการผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป
๒. แม้คนหนึ่งข่มขืนจนสำเร็จความใคร่ แต่อีกคนหนึ่งแค่พยายามก็ยังถือว่าเป็นการโทรมหญิง (ฎีกาที่ ๓๐๐๗/๒๕๓๒)
๓.ถ้าคนหนึ่งกระทำชำเราเสร็จแต่อีกคนยังกระทำไม่ถึงขั้นพยายามไม่ถือว่าเป็นการโทรมหญิง เช่น ถอดกางเกงรอเป็นต้น
๔. เมื่อได้มีการกระทำอันเป็นลักษณะโทรมหญิง โดยกระทำตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปแล้ว หากยังมีพวกที่ร่วมกระทำด้วยแต่ยังไม่ทันได้ชำเราก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงด้วย
๕. การโทรมหญิงนี้อาจเป็นการกระทำที่ผู้กระทำคนหนึ่งเป็นชายแต่ผู้กระทำอีกคนหนึ่งเป็นหญิงก็ได้
๖. ผู้กระทำคนแรกชำเราโดยใช้อวัยวะเพศกระทำต่ออวัยวะเพศของผู้ถูกกระทำ แต่ผู้กระทำคนที่สองที่ผลัดเปลี่ยนกันทำอาจใช้อวัยวะเพศกระทำกับทวารหนัก หรือช่องปากของผู้ถูกกระทำก็ถือว่าเป็นการโทรมหญิงตามมาตรานี้

๐๐การที่นายจ้างข่มขืนกระทำชำเราหญิงในห้องแล้วออกมาเจอลูกจ้างจึงบอกให้เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราอีก โดยไม่ได้ร่วมกันทำในตอนนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นโทรมหญิง (ฎีกาที่ ๑๙๖๕/๒๕๒๔) แต่ถือว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้ที่เป็นลูกจ้าง (เทียบฎีกาที่ ๑๔๘๙/๒๕๔๓)

เมื่อเราทราบถึงลักษณะของการกระทำความผิดฐานนี้แล้ว เราคงพิจารณาได้ว่า เหตุการณ์ตามข่าวที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้ต้องหาหลายคนนั้น ช่วงใดเวลาใดผู้ต้องหากลุ่มใดมีการกระทำความผิดที่เข้าลักษณะโทรมหญิงบ้าง
ประเด็นที่สอง คือ อายุของเด็กผู้ถูกกระทำ ข่าวที่เกิดขึ้นมีการระบุชัดเจนว่า ผู้ถูกกระทำเป็นเด็กหญิงอายุ ๑๔ ปี ดังนั้น เมื่อเด็กหญิงมีอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปีบริบูรณ์ จึงถือว่าเป็นผู้เสียหายยังเป็นเด็ก เมื่อมีการพาเด็กนั้นไปเสียจากบิดา-มารดา หรือผู้ปกครอง แม้เด็กนั้นจะยินยอมก็เป็นความผิดฐาน “พรากผู้เด็ก”

มาตรา ๓๑๗ ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุก...... ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้นถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก.....
เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “พราก” เสียก่อนว่าการ “พราก” นั้นมีความหมายว่าอย่างไร การ “พราก” หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแลแม้จะชักชวนแนะนำเด็กให้ไปกับผู้กระทำโดยมิได้หลอกลวง และเด็กเต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ ถ้าเด็กไม่ได้อยู่ในความดูแล หรือผู้เยาว์ไม่ได้อยู่ในความดูแลของผู้ใดเลยก็จะมีการพรากเด็กหรือผู้เยาว์ไปจากผู้ดูแลไม่ได้

การกระทำผิดตามมาตรานี้ จะต้องปรากฏว่าผู้ถูกกระทำเป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ความผิดฐานพรากกับความผิดฐานกระทำชำเรา หรือกับพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดคนละกรรมกัน

ตามมาตรา ๓๑๗ วรรคสอง , ๓๑๘ วรรคสอง และ ๓๑๙ วรรคท้าย ผู้รับเด็กไว้จะเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็เป็นความผิด แต่การพรากไปเพื่อไปเป็นภริยาไม่ใช่การพรากไปเพื่ออนาจารไม่มีความผิดตามมาตรา ๓๑๙ (๑๘๐๖/๒๕๓๓) แต่ถ้าไม่มีเหตุอันควรก็ผิดตามาตรา ๓๑๗ วรรคแรกได้

การ “พราก” เด็ก หรือผู้เยาว์ เป็นความผิดตามกฎหมายแม้ว่าเด็ก หรือผู้เยาว์จะเต็มใจและยินยอมไปกับผู้กระทำก็ตาม เพราะเป็นการละเมิดอำนาจปกครองของบิดา-มารดา หรือผู้ปกครองที่ดูแลเด็กนั้น ซึ่งกฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตัวเด็ก หรือผู้เยาว์ผู้ถูกพราก ดังนั้น ผู้เสียหายคือบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดทั้งสองมาตรานี้คือ บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ไม่ใช่เด็ก หรือผู้เยาว์ ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายตามข่าวได้ถูกล่อลวงไปผู้กระทำจึงมีความผิดฐานพรากเด็กด้วยอีกฐานความผิดหนึ่ง นอกเหนือจากความผิดข่มขืนกระทำชำเรา

ประเด็นที่สาม ความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่ออนาจาร อันเนื่องมาจากมีการกล่าวอ้างว่ามีน้องสาวของผู้ต้องหาคนหนึ่งได้พาเด็กผู้เสียหายไปส่งขายบริการทางเพศให้แก่ชายวัยกลางคน โดยได้ติดต่อผ่าน ผู้ต้องหาที่เป็นสาวประเภทสองให้หาลูกค้าเพื่อมาซื้อบริการ

มาตรา ๒๘๒ ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุก.....

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก.....

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก.....

ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น รับตัวบุคคลซึ่งมีผู้จัดหา ล่อไป หรือพาไปตามวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี


ผู้เขียนใคร่ขออธิบายฐานความผิดฐานนี้โดยการแยกเป็นให้พิจารณาเป็นข้อๆ ดังนี้

๑. กฎหมายใช้คำว่าชายหรือหญิง ดังนั้น ผู้ที่ถูกพาไปอาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้
๒. แม้ผู้ถูกพาไปจะยินยอมก็เป็นความผิด
๓. ต้องมีเจตนาตามมาตรา ๕๙ และต้องมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และเพื่ออานาจารด้วย
๔. ถ้าพาไปเพื่อสนองความใครของผู้ที่พาไปไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
๕. ถ้าพาไปเพื่ออยู่กินกันฉันท์สามี ภริยา แนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่ผิดตามมาตรานี้
๖. วรรคสองและวรรคสาม เป็นเหตุฉกรรจ์ผู้กระทำจึงต้องรู้ข้อเท็จจริงตามมาตรา ๖๒ วรรคท้ายด้วย
๗. ผู้รับตัวผู้ที่ถูกพาไปกับผู้สนับสนุน กฎหมายให้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกันกับผู้กระทำ
๘. คำว่า “เพื่อสนองความใคร่” ไม่จำต้องเป็นการร่วมประเวณีกันเท่านั้น แม้ไม่มีการร่วมประเวณีก็เป็นความผิด

มาตรา ๒๘๓ ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุก......

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก......

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก........

ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น รับตัวบุคคลซึ่งมีผู้จัดหา ล่อไป หรือพาไปตามวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี

ตามมาตรา ๒๘๓ มีข้อพิจารณาดังนี้

๑. ผู้กระทำต้องทำโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจ
๒. ผู้ที่ถูกพาไปจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้
๓. ต้องมีเจตนาและเจตนาพิเศษ
๔. วรรคสองและวรรคสามเป็นเหตุฉกรรจ์ วรรคสองและวรรคสาม เป็นเหตุฉกรรจ์ผู้กระทำจึงต้องรู้ข้อเท็จจริงตามมาตรา ๖๒ วรรคท้ายด้วย ๕. ผู้รับตัวผู้ที่ถูกพาไปกับผู้สนับสนุน กฎหมายให้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกันกับผู้กระทำ

*** ความหมายของคำว่า เพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น มีลักษณะพาไปเพื่อให้ผู้อื่นร่วมประเวณีด้วย ส่วนความหมายของคำว่า เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ไม่จำต้องเป็นการร่วมประเวณีก็เป็นความผิด เช่น พาชายหรือหญิงไปให้ผู้อื่นสัมผัส เนื้อตัว ร่างกาย กอดจูบลูบคลำ อันเป็นการสนองความพอใจในทางเพศก็เป็นความผิดตามมาตรา ๒๘๒,๒๘๓ แล้ว ความผิดตามมาตรา ๒๘๒ หรือ ๒๘๓ มีลักษณะเป็นคนกลางจัดหาชายหรือหญิงไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ถ้าเป็นการกระทำไปเพื่อสำเร็จความใครของผู้กระทำหรือของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเองแล้ว ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตามกฎหมายที่ยกมาเบื้องต้นนี้ จึงทำให้ผู้ต้องหาที่พาเด็กหญิงผู้เสียหายไปส่งให้แก่ผู้ต้องหาอีกคนที่ติดต่อหาผู้มาซื้อบริการนั้น มีความผิดในฐานนี้และมีระวางโทษเช่นเดียวกัน


ประเด็นที่สี่ ความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ ในที่นี้ผู้เขียนจะนำบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเฉพาะมาศึกษาทำความเข้าใจกัน เดิมประเทศไทยใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งมุ่งเอาผิดกับผู้ขายบริการทางเพศ ดังเป็นอาชญากรที่ต้องถูกลงโทษทางอาญา และเป็นผู้ที่ต้องเข้ารับการอบรมเพื่อให้เป็น “พลเมืองดี” พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ ใช้บังคับมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็ถูกยกเลิก โดยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ มาใช้บังคับแทน และแม้ว่าการขายบริการทางเพศจะผิดกฎหมาย แต่พระราชบัญญัติฉบับใหม่ได้พัฒนาขึ้นไปกว่าฉบับเดิมคือ มองว่าผู้ให้บริการทางเพศคือ “เหยื่อ” ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ จึงได้กำหนดโทษเบากว่าพระราชบัญญัติฉบับเดิม

ทีนี้เราลองมาดูกันสิว่า เหตุการณ์ตามข่าวที่โด่งดังนั้น ผู้ต้องหากระทำการเช่นใดที่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัตินี้บ้าง

ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เอาผิดแก่ผู้ที่ค้า, เป็นธุระจัดหา, ติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือนร้อนรำคาญแก่สาธารณชน, โฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะในลักษณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่นฯ

มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือนร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับ....

มาตรา ๗ ผู้ใดโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะในลักษณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุก....

มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำชำเราหรือกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่นแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีในสถานการค้าประเวณี โดยบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุก....

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ต้องระวางโทษจำคุก....

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อคู่สมรสของตน โดยมิใช่เพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ผู้กระทำไม่มีความผิด

มาตรา ๙ ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และไม่ว่าการกระทำต่างๆ อันประกอบเป็นความผิดนั้นจะได้กระทำภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุก.....
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก....

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก....

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใดๆ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม หนึ่งในสาม แล้วแต่กรณี

ผู้ใดเพื่อให้มีการกระทำการค้าประเวณี รับตัวบุคคลซึ่งตนรู้อยู่ว่ามีผู้จัดหา ล่อไป หรือชักพาไปตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี


บทบัญญัติตามที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นบทสำคัญในการพิจารณาว่า การกระทำใดเข้าข่ายความผิดฐานค้าหรือเป็นธุระจัดหาให้มีการค้าประเวณี ซึ่งหากพิจารณาตามเหตุการณ์ที่เป็นข่าว จะเห็นได้ว่าหลังจากที่เด็กหญิงผู้เสียหายได้ถูกผู้ต้องหาคนหนึ่งกระทำชำเราแล้ว น้องสาวของผู้ต้องหาคนนี้ได้พาเด็กหญิงผู้เสียหายไปส่งให้แก่ชายวัยกลางคนคนหนึ่งโดยติดต่อให้ผู้ต้องหาที่เป็นสาวประเภทสองหาลูกค้าเพื่อซื้อบริการจากเด็กหญิงผู้เสียหาย โดยที่เด็กหญิงผู้เสียหายมิได้เต็มใจไปด้วย ในวันแถลงข่าวที่เจ้าพนักงานจับกุมน้องสาวของผู้ต้องหาและสาวประเภทสองนั้น ทั้งสองได้แถลงข่าวว่า พวกตนมิได้บังคับให้เด็กหญิงขายบริการแต่เด็กหญิงสมยอมเอง

เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่าสมยอมแล้วจะเห็นได้ว่า

“สมยอม” ( [v’] mutually consent) เป็นคำกิริยา แปลว่า ยอมตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาบางอย่าง

“จำยอม” ( [v’] be unwilling) เป็นคำกิริยา แปลว่า ยอมให้อย่างเสียไม่ได้, จำใจ

หากพิจารณาตามคำแปลของทั้งสองคำจะเห็นได้ว่า ความหมายไม่ได้แตกต่างกันนะนักระหว่าง “สมยอม” กับ “จำยอม”

แต่อย่างไรกรณีในกรณีของเด็กหญิงผู้เสียหายซึ่งมีอายุเพียง ๑๔ ปี กฎหมายได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนทั้งในประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา ๙ วรรคสาม, วรรคสี่, วรรคท้ายแล้ว แม้เด็กจะเต็มใจก็เป็นความผิด โดยเฉพาะการที่ผู้ต้องหาพาเด็กหญิงผู้เสียหายไปในสภาวะที่เด็กหญิงนั้นไม่อาจขัดขืนได้ ผู้ต้องหาทั้งสองจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันเป็นธุระจัดหา, ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี

พระราชบัญญัติฉบับ พ.ศ.๒๕๓๙ นี้ มีลักษณะมุ่งลงโทษนายหน้าและเจ้าของสถานประกอบการมากกว่าผู้ขายบริการ เพราะมีการกำหนดอัตราโทษสำหรับนายหน้าและเจ้าของสถานประกอบการสุงกว่าพระราชบัญญัติฉบับเดิม และตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ยังกำหนดโทษที่สูงขึ้นในกรณีที่สถานประกอบการหรือนายหน้านั้น นำเด็กหรือเยาวชนมาเป็นผู้ขายบริการด้วย อนึ่ง ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าจะเป็นฉบับเดิม พ.ศ.๒๕๐๓ หรือฉบับปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๓๙ ผู้เขียนสังเกตได้ว่า เนื้อหาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ ไม่มีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ซื้อบริการทางเพศ เว้นแต่ การซื้อบริการนั้นได้กระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี หรือเยาวชนอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ผู้ซื้อบริการจึงจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ หรือ ๒๗๗ แล้วแต่กรณี หากผู้ขายบริการอายุเกิน ๑๘ ปี และขายบริการด้วยความสมัครใจมิได้ถูกล่อลวง หรือบังคับ ผู้ซื้อบริการก็ไม่มีความผิด พูดง่ายๆคือ ผู้ขายผิดแต่ผู้ซื้อไม่ผิด เว้นแต่ผู้ขายมีอายุต่ำตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะมีความผิดตามที่กฎหมายนั้นๆ บัญญัติไว้ ประเด็นที่ห้า ความผิดตามพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะนำเสนอเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตามข่าว ซึ่งการที่ผู้ต้องหานำเด็กหญิงผู้เสียหายไปส่งให้ขายบริการทางเพศแก่บุคคลอื่นนั้น นอกจากจะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีแล้ว ยังเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติค้ามนุษย์ด้วย

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

๑.กำหนดให้การคุ้มครองผู้แจ้งเหตุการค้ามนุษย์ โดยให้บุคคลที่พบเห็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ สามารถแจ้งแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้ทราบโดยไม่ชักช้า และหากการแจ้งเรื่องดังกล่าวถ้าได้กระทำโดยสุจริต ผู้แจ้งย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญาและทางปกครอง แม้ภายหลังปรากฏว่าไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์
๒.กำหนดให้ทรัพย์ที่ริบได้จากการกระทำความผิดค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้นำทรัพย์ที่ริบได้กึ่งหนึ่งมาชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย และหากยังมีเหลือให้นำเข้ากองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
๓.เพิ่มอำนาจทางปกครองให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายในการเข้าไปตรวจตรา และหากพบการกระทำความผิดค้ามนุษย์ แต่ไม่สามารถชี้แจงหรือพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำความผิดค้ามนุษย์ ให้ปิดสถานประกอบกิจการ โรงงาน อาคาร หรือสั่งห้ามใช้เรือและยานพาหนะ เป็นการชั่วคราว
๔.ปรับปรุงองค์ประกอบการคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยเพิ่มเติมผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายนี้
๕.เพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้น กรณีที่ทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ความตาย และเพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้น เพราะการค้ามนุษย์มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงเพื่อยับยั้งและลดแรงจูงใจใน การค้ามนุษย์
๖.กำหนดให้ค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำส่งคลัง โดยให้ค่าปรับตกเป็นทรัพย์สินของกองทุน

หลายๆคน โดยเฉพาะผู้ที่มิได้เรียนหรือทำงานด้านกฎหมายสงสัยว่า ทำไมตามข่าวเจ้าพนักงานจึงแจ้งข้อหาค้ามนุษย์แก่ผู้ต้องหาด้วย ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า กฎหมายฉบับนี้มุ่งป้องกันและคุ้มครองเกี่ยวกับการกระทำผิดที่ทำต่อ สิทธิและเสรีภาพการใช้ชีวิตของประชาชน ซึ่งเดิมประเทศไทยใช้ พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปรามปราบการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.๒๕๔๐ ไม่ได้กำหนดลักษณะความผิดครอบคลุมถึงการกระทำเพื่อแสวหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลที่ไม่ได้แต่จำกัดเฉพาะและเด็ก และการกระทำด้วยวิธีการอันหลากหลายมากขึ้น เช่น การนำบุคคลเข้ามาค้าประเวณีในราชอาณาจักร หรือส่งออกไปค้านอกราชอาณาจักร การบังคับให้ใช้แรงงาน หรือขอทาน การบังคับตัดอวัยวะ หรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบประการอื่น ซึ่งโดยปกติของมนุษย์เราย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิต มีสิทธิกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของตนเองโดยที่มิได้ละเมิดต่อกฎหมายและศีลธรรม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่มาตั้งแต่เกิด ดังนั้น หากมีบุคคลอื่นมาล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในเนื้อตัวร่างกายของเรา ย่อมเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของเรา ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยได้มีกฎหมายใช้บังคับโดยได้เพิ่มเติมการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดให้ครอบคลุมตามหลักสากลที่ใช้กันทั่วโลก คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ และพระราชบัญญัตินี้ได้แก้ไขปรับปรุงอีก ๓ ครั้ง จนถึงปัจจุบันนี้ได้ประกาศใช้ ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

เหตุการณ์ตามข่าวที่ปรากฏ เมื่อพิจารณาข่าวแล้วจะทราบว่ามีการกระทำความผิดจากบุคคลหลายคน ต่างเวลากัน เราจึงต้องแยกการกระทำความผิดแต่ละฐาน และกลุ่มผู้ต้องหาออกจากกัน ซึ่งตามความผิดฐานค้าประเวณี และค้ามนุษย์นี้ ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาในความผิดนี้คือ ผู้ต้องหาที่เป็นน้องสาวของผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งที่ต้องหาว่าข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงผู้เสียหาย เพราะผู้ต้องหารายนี้ได้ติดต่อผู้ต้องหาที่เป็นสาวประเภทสอง เพื่อให้หาลูกค้าซื้อบริการให้ และเป็นผู้พาเด็กหญิงผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปส่งให้ผู้ต้องหาสาวประเภทสองและลูกค้าที่ติดต่อไว้ และรับเงินค่าซื้อบริการก่อนจะออกไปรอรับเด็กหญิงผู้เสียหายกลับหลังจากให้บริการเสร็จแล้ว หากพิจารณาข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกอบกันแล้ว จะเห็นว่า การกระทำของผู้ที่ถูกกล่าวทั้งสองคนเข้าข่ายความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไป หลอกลวง หรือขู่เข็ญ เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ให้ทำการค้าประเวณี และยังเข้าข่ายความผิดค้ามนุษย์ ซึ่ง มาตรา ๖ มาตรา ๕๒ และ มาตรา ๕๖/๑ วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า


มาตรา ๖ “ผู้ใดกระทำการอย่างได้อย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จําหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กําลังบังคับ ลักพาตัวฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อํานาจโดยมิชอบ ใช้อํานาจครอบงําบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ ขู่เข็ญว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทําความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล หรือ
(๒)เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จําหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัยหรือรับไว้ ซึ่งเด็กถ้าการกระทํานั้นได้กระทําโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์
การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จาก การค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส การนําคนมาขอทาน การตัดอวัยวะเพื่อการค้า การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

การบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามวรรคสอง หมายความว่า การข่มขืนใจให้ทํางานหรือให้บริการโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น
(๒) ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ
(๓) ใช้กําลังประทุษร้าย
(๔) ยึดเอกสารสําคัญประจําตัวของบุคคลนั้นไว้ หรือนําภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่น มาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ
(๕) ทําให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้”

มาตรา ๕๒ “ผู้ใดกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบสองปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงหนึ่งล้านสองแสนบาท

ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทําแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปี ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท

ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทําแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปีหรือผู้มีกายพิการ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่แปดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดแสนบาทถึงสองล้านบาท

มาตรา ๕๖/๑ วรรคแรก “ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จําหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ ซึ่งบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ให้ทํางาน หรือให้บริการที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงและมีผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจ การเจริญเติบโต หรือพัฒนาการ หรือในลักษณะหรือในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของบุคคลนั้น หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสี่ปี และปรับไม่เกินสี่แสนบาท....”

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติเบื้องต้นจากกฎหมายสองฉบับ จะเห็นได้ว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ โดยเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มาตรา ๕๒ มีบทลงโทษหนักกว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙

ทั้งนี้ความผิดตามพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปราบการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ใช้บริการ หรือผู้ซื้อบริการจากผู้ที่กระทำความผิดจากพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้ ดังนั้น ความผิดของผู้ใช้บริการจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วเบื้องต้น


ประเด็นที่หก พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ (ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเปลี่ยนเพิ่มเติมเป็นฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน) เหตุที่ผู้เขียนหยิบยกพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมาพิจารณาด้วยก็เพราะเนื่องจาก มีกลุ่มเพื่อนของผู้ต้องหาที่ได้กระทำชำเราเด็กหญิงผู้เสียหายร่วมอยู่ในเหตุการณ์และได้บันทึกคลิปวิดีโอไว้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และนำไปเผยแพร่ในสื่อสาธารณะทาง Social media ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ระบุไว้ว่าเป็นความผิด และมีบทลงโทษไว้ในมาตรา ๑๔

มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไมเกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(๑)นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(๒)นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแกประชาชน

(๓)นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(๔)นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

เหตุผลที่ประเทศไทยจำเป็นต้องร่างกฎหมายว่าด้วยความผิดคอมพิเตอร์และประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวก็เนื่องจาก ในปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์ได้เป็นส่วนสําคัญของการประกอบกิจการและการดํารงชีวิตของมนุษย์ หากมีผู้กระทําด้วยประการใด ๆ ให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทํางานตามคําสั่งที่กำหนดไว้ หรือทําให้การทํางานผิดพลาดไปจากคําสั่งที่กําหนดไว้ หรือใช้วิธีการใด ๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทําลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพรข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ซึ่งการกระทำที่เพื่อนของผู้ต้องหาที่อยู่ร่วมในการกระทำผิดนั้น ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกภาพเหตุการณ์ ขณะที่ผู้ต้องหากระทำชำเราเด็กหญิงผู้เสียหาย และนำไปเผยแพร่ในสื่อสาธารณะทาง Social media อันเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะลามกอนาจาร และระบบคอมพิวเตอร์นั้น ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เมื่อการกระทำของเพื่อนผู้ต้องหาเป็นการเผยแพร่เข้าสื่อสาธารณะ ผู้กระทำจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้


ประเด็นที่เจ็ด ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่า เมื่อมารดาของผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดนั้น เจ้าพนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ แต่กลับพยายามไกล่เกลี่ยให้มารดาผู้เสีย และผู้เสียหายให้รับเงินค่าเสียจากผู้กระทำความผิด ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้วความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี นั้น เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้เพราะมิใช่ความผิดส่วนตัว แต่ถือว่าเป็นความผิดต่อแผ่นดิน อีกทั้งการพาเด็กไปแม้ว่าจะเด็กจะยินยอมก็ยังเป็นความผิดฐานพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา หรือผู้ดูแล และความผิดเหล่านี้ กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ หากแม้ว่าสารดาของเด็กจะยินยอมรับเงินค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิด เจ้าพนักงานก็ยังต้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดต่อไป ดังนั้น เมื่อมีการอ้างว่าเจ้าพนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ เราลองมาดูกันซิว่าเจ้าพนักงานจะมีความผิดตามกฎหมายใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

** มาตรา ๑๕๗ เป็นเสมือนบททั่วไปที่บัญญัติไว้มิให้เจ้าหน้าที่ ที่ทำการทุจริตหลุดพ้นจากความผิด เจ้าหน้าที่ ที่หลุดพ้นจากบทเฉพาะมาก็มักจะมาสะดุดกับมาตรานี้ องค์ประกอบแบ่งออกเป็น ๒ กรณีคือ
๑.เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

๒.เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติโดยทุจริต

“เจ้าพนักงาน” หมายถึง เจ้าพนักงานทุกประเภทไม่เฉพาะเจาะจง การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำที่อยู่ในหน้าที่ ถ้านอกหน้าที่ก็ไม่ผิด และการกระทำที่อยู่ในหน้าที่ หน้าที่นั้นต้องเกิดจากคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และโดยผู้มีอำนาจมอบหมาย หรือมีอำนาจสั่งเท่านั้น เป็นความผิดที่ต้องมีเจตนาพิเศษ แต่หากเป็นความผิดที่มีบทเฉพาะอยู่แล้วต้องลงโทษตามบทเฉพาะนั้น ไม่ต้องปรับมาตรา ๑๕๗ นี้ เพราะบทเฉพาะมีโทษสูงกว่า ต้องใช้บทเฉพาะแต่ถ้าไม่มีบทเฉพาะต้องปรับใช้กับมาตรานี้

ตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า “เจ้าพนักงาน” นั้น ต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ซึ่งเมื่อพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนและรับแจ้งความตามที่ประชาชนได้มา ร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีผู้กระทำความผิดอาญา พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่สอบสวนให้ได้ความกระจ่างเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป เมื่อพนักงานสอบสวนปฏิเสธการสอบสวนและรับแจ้งความ พนักงานสอบสวนผู้นั้นย่อมมีความผิด ฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติน่าที่โดยมิชอบ

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าว พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งเร่งรัดการสอบสวน โดยให้พนักงานสอบสวนเรียกสอบปากคำพยานทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่ถูกข่มขู่ทั้งหมด และให้รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ต้องสงสัยทุกคน นอกจากนี้ให้ทาง กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี กรณีถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมข่มขู่ผู้เสียหายและดำเนินคดีล่าช้า มาปฏิบัติราชการที่ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น


ประเด็นสุดท้าย พระราชบัญญัติคุ้มครองพยาน พ.ศ. ๒๕๔๖ “การคุ้มครองพยาน” คืออะไร ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในคำว่า “พยาน” เสียก่อน ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ได้ให้คำนิยามคำว่า “พยาน” ไว้ว่า

“พยาน” หมายความว่า พยานบุคคลซึ่งจะมาให้หรือได้ให้ข้อเท็จจริง ต่อพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอํานาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาหรือศาลในการดําเนินคดีอาญา รวมทั้งผู้ชํานาญการพิเศษ แต่มิให้หมายความรวมถึงจําเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน


เมื่อฝ่ายผู้เสียหายได้ร้องเรียนว่าถูกข่มขู่ จากฝ่ายผู้ต้องหา เนื่องจากฝ่ายผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง ฝ่ายผู้เสียหายย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอความคุ้มครองต่อเจ้าพนักงานเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง โดยสำนักงานคุ้มครองพยานจะได้ดำเนินการช่วยเหลือและให้ความคุ้มครองตามกฎหมายต่อไป ซึ่งการขอคุ้มครองนั้น ผู้ที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองมีดังนี้

มาตรา ๖ ในกรณีที่พยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัย พนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอํานาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอํานาจฟ้องคดีอาญา ศาล หรือสํานักงานคุ้มครองพยาน แล้วแต่กรณีอาจจัดให้พยานอยู่ในความคุ้มครองตามที่เห็นเป็นการสมควร หรือตามที่พยานหรือบุคคลอื่นใด ซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้องได้ร้องขอ และในกรณีจําเป็นบุคคลดังกล่าวจะขอให้เจ้าพนักงานตํารวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นช่วยให้ความคุ้มครองแก่พยานได้ตามความจําเป็น ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมของพยานด้วย

การแจ้งและวิธีการที่เจ้าพนักงานตํารวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นจะให้ความคุ้มครองแก่พยานตามคําขอและการสิ้นสุดลงซึ่งการคุ้มครองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กําหนดโดยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี

การคุ้มครองให้พยานได้รับความปลอดภัย ให้รวมถึงการจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย เว้นแต่พยานจะไม่ให้ความยินยอมและการปกปิดมิให้มีการเปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ภาพ หรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยานได้ ทั้งนี้ตามความเหมาะสมแก่สถานะและสภาพของพยานและลักษณะของคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๗ ในกรณีที่สามีภริยา ผู้บุพการีผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยานซึ่งมีผลต่อการที่พยานจะมาเป็นพยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัยและพยานได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณานํามาตรการทั่วไปในการคุ้มครองพยานมาใช้บังคับแก่บุคคลดังกล่าวได้ตามความจําเป็นที่เห็นสมควร เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะไม่ให้ความยินยอม

มาตรา ๘ พยานในคดีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้อาจได้รับการคุ้มครองตามมาตรการพิเศษได้

(๑) คดีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือกฎหมายว่าด้วย ศุลกากร

(๒) คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา

(๓) คดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือพาไปเพื่อการอนาจาร เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็กหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีหรือความผิดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณีผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณีหรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทําการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี

(๔) คดีความผิดเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม ได้แก่ ความผิดฐานอั้งยี่และซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา และให้หมายความรวมถึงความผิดอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการกระทําร่วมกันโดยกลุ่มอาชญากร ที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบและมีการวางเครือข่ายเป็นขบวนการหรือองค์กรลับอย่างซับซ้อนและเป็นสัดส่วน

(๕) คดีความผิดที่มีอัตราโทษอย่างต่ําให้จําคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น

(๖) คดีซึ่งสํานักงานคุ้มครองพยานเห็นสมควรให้ความคุ้มครองพยาน

**เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรองรับสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นพยานในคดีอาญาให้ได้รับความคุ้มครอง การปฏิบัติที่เหมาะสม และค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ หากฝ่ายผู้เสียหายได้รับการข่มขู่คุกคามจากฝ่ายผู้กระทำความผิดแล้ว ย่อมมีสิทธิร้องขอเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว


ด้วยจิตคาราวะ By ณัชกานต์ ๒๘/๔/๖๐

วันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2560

อุ้มบุญหรือการค้า

“อุ้มบุญหรือการค้า

                         อันเนื่องมาจากข่าวที่โด่งดังและสร้างความงุนงงแก่ประชาชนในกรณีที่ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจังหวัดหนองคายจับกุม นายนิธินทน์ ศรีธานิยานันท์  อายุ ๒๕ ปี พร้อมของกลางคือถังไนโตรเจน ภายในบรรจุหลอดใส่อสุจิจำนวน ๖ หลอด ซึ่งเป็นอสุจิของชาวจีนและชาวเวียดนาม ขณะกำลังเดินทางออกนอกประเทศ ณ ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จังหวัดหนองคาย ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของประชาชนส่วนใหญ่คือ การนำเข้าหรือส่งออก น้ำเชื้อหรืออสุจินั้น เป็นความผิดตามกฎหมายด้วยหรือไม่

                         ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘ นั้น ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในมาตรา ๔๑ ไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอซื้อ ขาย นําเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน” ดังนั้น การกระทำตามข่าวดังกล่าวจึงเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ มาตรานี้  ส่วนการ “อุ้มบุญ” หรือการตั้งครรภ์ ในกรณีสามีภริยาที่มีข้อบกพร่องในการมีบุตรนั้น กฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดวิธีการ “อุ้มบุญ” ให้ถูกต้องตามกฎหมายไว้ ซึ่งหมายความว่า ตั้งแต่พระราชบัญญัตินี้ได้ประกาศใช้แล้วประเทศไทยได้อนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์เพื่อให้สามีภริยาที่ไม่สามารถมีบุตรได้เองตามธรรมชาติ ได้มีโอกาสมีบุตรโดยถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะออกพระราชคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์นั้น ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า การ ”อุ้มบุญ” นั้น เป็นการผิดศีลธรรมหรือไม่ ซึ่งบางฝ่ายเห็นว่า การตั้งครรภ์แทน (Surrogacy) เป็นกิจกรรมที่ฝ่าฝืนธรรมชาติของมนุษย์ เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากเนื้อตัวร่างกายโดยมิชอบ ก่อให้เกิดอาชีพรับจ้างตั้งครรภ์ อันเป็นการกระทำไม่ต่างกับการซื้อขายเด็ก ผิดศีลธรรม มีผลกระทบต่อเด็กและสังคมโดยรวม หากภายหลังเด็กคลอดออกมาเป็นการคลอดก่อนกำหนด, เด็กพิการ หรือระหว่างตั้งครรภ์ สามีภริยาที่ให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทนเกิดเปลี่ยนใจภายหลังจะทำอย่างไรต่อเด็กที่เกิดมา หรือคลอดมาปรากฏว่าเป็นแฝดหลายคน แต่สามีภริยานั้น ต้องการบุตรเพียงคนเดียว แฝดที่เหลือจะทำเช่นไร ใครจะดูแล ซึ่งผู้ที่ไม่ เห็นด้วยมีความเห็นว่า เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ[1]

                         ก่อนหน้านั้นการตั้งครรภ์แทนไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องมีความผิดและมีโทษทางอาญา ยกเว้นแต่มีการใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจจนเกิดการซื้อขายเด็ก อันการกระทำความผิดเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทั้งสถานพยาบาล แพทย์ ผู้ซื้อและผู้ขาย ก็ถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน
อีกประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าควรทราบไว้เพื่อเป็นความรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง  “อุ้มบุญ” กับ เด็กหลอดแก้ว ซึ่งมีความแตกต่างกัน ความหมายของ “เด็กหลอดแก้ว” (In Vitro Fertilisation) หมายถึง ขั้นตอน การปฏิสนธิสังเคราะห์ โดยการนำเซลล์ไข่ ออกมาจากร่างกายของผู้หญิง แล้วปล่อยให้สเปิร์ม ทำการปฏิสนธิกับไข่ภายในภาชนะบรรจุของเหลว หลังจากนั้น จึงถ่ายไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วไปยังมดลูกของผู้หญิงเพื่อให้การตั้งครรภ์นั้นสมบูรณ์ ส่วนการ “อุ้มบุญ” คือ การเลือกผู้หญิงที่มาตั้งครรภ์กับอสุจิที่เตรียมไว้ เมื่อไข่และอสุจิปฏิสนธิกันเกิดเป็นตัวอ่อนแล้วจึงทำการผ่าตัดย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก[2]
ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ขึ้นมาบังคับใช้ การ “อุ้มบุญ” หรือการตั้งครรภ์แทนโดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมาย ผู้เขียนได้สรุปมาตราสำคัญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับนี้มาไว้เพื่อศึกษากัน ดังนี้

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘

                        พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ พ.ศ.๒๕๕๘ ในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๘ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
ทางการแพทย์ พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี ผู้เสนอ) ที่ประชุมลงมติสมควรประกาศเป็นกฎหมาย จากนั้นนำขึ้น
ทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๓๘ ก/ หน้า ๑/๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘

@ เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า อุ้มบุญ
เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมโดยทั่วไป เพราะเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยผู้ที่มีบุตรยากให้มีบุตรได้ด้วยวิธีต่างๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอุ้มบุญทั้งหมด ได้แก่ เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์หรือ เด็กอุ้มบุญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งภรรยาไม่อาจตั้งครรภ์ที่ประสงค์จะมีบุตร  โดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆในกระบวนการนี้ ต้องมีความเข้าใจในกฎหมายเรื่องนี้อย่างดี เพราะมีข้อกฎหมายที่มีความสำคัญกับผู้เกี่ยวข้องอย่างละเอียดที่จะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความสงบสุขเรียบร้อยในครอบครัว
                         สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการบำบัดรักษาภาวะ การมีบุตรยากสามารถช่วยให้ผู้ที่มีภาวะ การมีบุตรยากได้โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ อันมีผลทำให้บทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันในเรื่องความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ไม่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ในทางพันธุกรรม ดังนั้นเพื่อกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ให้เหมาะสม ตลอดจนควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

พระราชบัญญัตินี้มีประเด็นที่น่าสนใจ โดยสรุปได้ดังนี้

๑. คำนิยามศัพท์
คำนิยามศัพท์ที่ใช้ในพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ อสุจิหมายความว่า เซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย
ไข่หมายความว่า เซลล์สืบพันธุ์ของเพศหญิง
การผสมเทียมหมายความว่า การนำอสุจิเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงเพื่อให้หญิงนั้นตั้งครรภ์
โดยไม่มีการร่วมประเวณี
เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์หมายความว่า กรรมวิธีใดๆ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่นำอสุจิและไข่ออกจากร่างกายมนุษย์ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ รวมทั้งการผสมเทียม
ตัวอ่อนหมายความว่า อสุจิและไข่ของมนุษย์ซึ่งรวมกันจนเกิดการปฏิสนธิไปจนถึงแปดสัปดาห์
ทารกหมายความว่า ตัวอ่อนของมนุษย์ที่มีอายุเกินกว่าแปดสัปดาห์ ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกมดลูกของมนุษย์
การตั้งครรภ์แทนหมายความว่า การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์  โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้กับสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนตั้งครรภ์ว่าจะให้ทารกในครรภ์เป็นบุตรของสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น

๒. การให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์
                              ๒.๑  ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามและต้องปฏิบัติตามมาตรฐานในการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ ทั้งนี้ ตามที่แพทยสภาประกาศกำหนดโดยให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ  (มาตรา ๑๕)
                               ๒.๒ ก่อนให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์จะต้องจัดให้มีการตรวจและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนและผู้บริจาคอสุจิหรือไข่ที่จะนำมาใช้ดำเนินการ รวมทั้งการป้องกันโรคที่อาจมีผลกระทบต่อเด็กที่จะเกิดมาด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่แพทยสภาประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ (มาตรา ๑๖)

๓. เงื่อนไขในการดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน ตามมาตรา ๒๑ มีดังนี้
                           ๑) สามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี (จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายตามสัญชาติของผู้นั้น)
                            ๒) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ๑)
                           ๓) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ข้อ ๑) ในกรณีที่ไม่มีญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนได้ (ซึ่งเป็นยกเว้นที่สามีภริยานั้นไม่มีญาติสืบสายโลหิต เพื่อป้องกันการรับจ้างตั้งครรภ์)
                           ๔) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าหญิงนั้นมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยา จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายดังกล่าวด้วย

๔. การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนกระทำได้  ๒  วิธี ดังต่อไปนี้ (มาตรา ๒)
                          ๑) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์
                          ๒) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น ทั้งนี้ ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน

๕. การผสมเทียมมีหลักเกณฑ์มีวิธีการดังนี้  การผสมเทียมต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับการผสมเทียมที่แพทยสภากำหนด ส่วนการผสมเทียมโดยใช้อสุจิของผู้บริจาคต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการผสมเทียม (มาตรา ๑๙, ๒๐ )

๖. การรับจ้างตั้งครรภ์นั้นเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๒๔ ห้ามมิให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้ารวมทั้งห้ามกระทำการเป็นคนกลางหรือนายหน้า โดยเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนในการจัดการหรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน (มาตรา ๒๗) และห้ามประกาศโฆษณาไขข่าวให้แพร่หลายด้วยประการใดๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนว่ามีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น หรือมีบุคคลที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน (มาตรา ๒๘ )
                             ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวเบื้องต้นนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนรับจ้างตั้งครรภ์ตามมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้เป็นไปมาตรา 48
๗. เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ไม่ว่าจะเกิดจาก อสุจิไข่ หรือตัวอ่อนของผู้บริจาค ไม่ว่าจะกระทำโดยการให้ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีซึ่งประสงค์จะมีบุตรเป็นผู้ตั้งครรภ์ หรือให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น ให้เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตร

*** ชายหรือหญิงที่บริจาคอสุจิหรือไข่ซึ่งนำมาใช้ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์หรือผู้บริจาคตัวอ่อนและเด็กที่เกิดจากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่บริจาคดังกล่าว ไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กนี้ มาตรา ๒๙

@การแจ้งเกิดเด็กให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนมีหน้าที่แจ้งการเกิด
ของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

** ในกรณีสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงแก่ความตาย ก่อนเด็กเกิด ไม่อยู่ในประเทศไทย หรือไม่ปรากฏตัวภายหลังจากการคลอดเด็กนั้น ให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีหน้าที่แจ้งการเกิดของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนดังกล่าว (มาตรา ๓๒)

@ ห้ามมิให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์
จะมีบุตรโดยการตั้งครรภ์แทนปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน (มาตรา ๓๓)
๘. การควบคุมการดำเนินการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์
                                    ๑) ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์รวมทั้งรับฝาก รับบริจาค ใช้ประโยชน์จากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน หรือทำให้สิ้นสภาพของตัวอ่อน (มาตรา ๓๕)
                                   ๒) ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน (มาตรา ๔๒)

By ณัชกานต์





[1] www.sensiblesurrogacy.com
[2] “คมชัดลึก”,ฉบับประจำวันที่  7/8/57

วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

ทรัพย์สินระหว่างสามี-ภริยา

ทรัพย์สินระหว่างสามี-ภริยา

หญิงชายใดสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทรัพย์ที่ทั้งสองฝ่ายหามาได้ถือว่าเป็นสินสมรส จะเห็นได้ว่า ทรัพย์สินที่เป็นเป็นสินสมรสนั้น จะต้องได้มาระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (หมายถึง การสมรสตามกฎหมาย คือ ได้จดทะเบียนสมรสแล้วต่อหน้านายทะเบียน) ดังนั้น ทรัพย์สินใดที่ทั้งสองฝ่ายมีก่อนที่จะสมรส ถือว่าเ ป็นสินส่วนตัว


@ ปกติทรัพย์สินระหว่างสามี-ภริยาก็เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เว้นแต่ มีข้อตกลงก่อนสมรสที่แตกต่างไปจากนี้ ก็สามารถใช้บังคับได้แต่ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดจึงจะใช้บังคับได้ตามกฎหมาย การพิจารณาว่าทรัพย์ใดเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวนั้น พิจารณา ขณะสมรส ทรัพย์ใดได้มาก่อนสมรสถือว่า เป็นสินส่วนตัว ทรัพย์ใดได้มาระหว่าสมรสถือว่าเป็นสินสมรส ปัญหาที่มักสงสัยในหมู่นักศึกษากฎหมายคือ ดอกผลที่เกิดขึ้นมาจากสินส่วนตัวเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส คำตอบในข้อสงสัยนี้คือ ดอกผลที่เกิดมานั้น เป็นสินสมรส เนื่องจาก ดอกผลนั้นได้เกิดขึ้นมาในระหว่างสมรสนั่นเอง 

ตัวอย่าง เช่น

นางสาวสายมีบ้านอยุ่ ๑ หลัง ราคาประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ภายหลังนางสาวสายได้สมรสกับนายภัทร เมื่อนางสาวสายสมรสแล้วจึงได้ย้ายเข้าไปอยุ่ในบ้านของนายภัทรสามี จึงได้นำบ้านเดิมของตนออกให้ให้นางฟองนวลเช่าในราคาเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ดังนี้ ค่าเช่าบ้านของนางสาวสายนั้น ต้องถือว่าเป็นดอกผลที่เกิดขึ้นจากสินส่วนตัวมาในระหว่าสมรส ค่าเช่าบ้านดังกล่าวจึงตกเป็นสินสมรส

วิธีคิดง่ายๆ คือ ทรัพย์ใดที่เป็นสินส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเงินสด, บ้าน, ที่ดิน เมื่อระหว่างสมรสทรัพยนั้นมีดอกผลใดๆ เกิดขึ้นมา ดอกผลนั้นย่อมตกเป็นสินสมรส ทั้งนี้ รวมถึงสัตว์เลี้ยงและสัตว์พาหนะทั้งหลายด้วย

อีกกรณีหนึ่งคือ หากหญิง-ชาย มีทรัพย์ร่วมกันก่อนสมรส เช่น สร้างบ้านหรือทำกิจการร่วมกัน ภายหลังสมรสแล้ว บ้านหรือกิจการนั้น ตกเป็นทรัพย์ประเภทใด กรณีเช่นนี้ ให้พิจารณาตามมาตรา ๑๔๗๑ (๑) คือ ฝ่ายใดฝ่าหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส ดังนั้น เมื่อบ้านหรือกิจการนั้น มีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัว แม้ภายหลังหญิง-ชายนั้นสมรสแล้ว บ้านหรือกิจการนั้นก็ยังเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย โดยเป็นการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน


**ปัญหาอีกประการที่มักถกเถียงกันคือ เมื่อหญิงมีสามี (หญิงที่สมรสแล้ว ในทีนี้หมายถึง การสมรสตามกฎหมาย คือ ได้จดทะเบียนสมรสแล้วต่อนายทะเบียน) มีความประสงค์จะฟ้องร้องคดีจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจามสามีหรือไม่ ปัญหาในเรื่องนี้มีคำตอบอยู่ในมาตรา ๑๔๗๖ และ ๑๔๗๗ แล้วคือ การฟ้องคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาพึงจัดการร่วมกันนั้นต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายเสียก่อน หากเป็นกรณีที่ฟ้องคดีอาญาก็ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย


มาตรา ๑๔๗๖  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(๒) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(๓) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(๔) ให้กู้ยืมเงิน
(๕) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(๖) ประนีประนอมยอมความ
(๗) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(๘) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
มาตรา ๑๔๗๖/๑ สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๗๖ ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๔๖๕ และมาตรา ๑๔๖๖ ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา ๑๔๗๖ การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา ๑๔๗๖
มาตรา ๑๔๗๗  สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรส หรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส หนี้อันเกิดแต่การฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน


คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๐๓
       
          การฟ้องและการดำเนินคดีไม่อยู่ในบังคับของการจัดการสินสมรส ที่ ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๖ บัญญัติให้สามีภริยา ต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้ร้ับความจากอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๔๗๗ ยังได้รับรองให้สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องร้องต่อสู้คดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสได้ด้วย ดังนั้น แม้จะได้ความตามข้อนำสืบของจำเลยโดยดจกท์มิได้นำสืบให้เห็นเป้นอย่างอื่นว่าดจกท์เป็นหญิงมีสามาีโดยชอบด้วยกฎหมาย โจกท์ก้มีอำนาจฟ้อง
________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,011,156.19 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 950,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2544 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

          จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

          ศาลอุทธรณ์ภาค9 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์

          จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์และจำเลยทำธุรกิจค้าทองรูปพรรณโดยจำเลยเป็นผู้ซื้อจากโจทก์ไปขายต่อแก่ลูกค้า และจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินให้ไว้แก่โจทก์ กับทั้งจำเลยค้างชำระค่าทองรูปพรรณที่จำเลยรับไปจากโจทก์ด้วย

          ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ซึ่งเป็นหญิงมีสามีมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหานี้นอกจากการฟ้องคดีการดำเนินคดีจะมิใช่กรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 บัญญัติให้สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ตามมาตรา 1477 ยังได้บัญญัติรับรองให้สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลำพังมีสิทธิฟ้องต่อสู้หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสได้ด้วย ดังนั้นแม้จะได้ความตามข้อนำสืบของจำเลยโดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์เป็นหญิงมีสามีมีคู่สมรส โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้เงินแก่โจทก์หรือไม่ ข้อนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยได้รับเงินไปตามหลักฐานหนังสือสัญญากู้เงินท้ายคำฟ้อง โดยโจทก์เข้าเบิกความนำสืบว่า จำเลยได้ซื้อทองรูปพรรณจากโจทก์ไปขายต่อ และค้างชำระราคาค่าทองรูปพรรณดังกล่าวหลายครั้ง รวมเป็นเงิน 950,000 บาท ต่อมาจำเลยจึงตกลงทำหนังสือสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้ตามจำนวนเงินที่ค้างดังกล่าว เบี้องแรกย่อมเห็นได้ว่า ตามทางนำสืบของโจทก์นั้น หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวมิได้เกิดจากโจทก์ให้จำเลยกู้และรับเงินไปดังคำฟ้องแต่มีมูลหนี้มาจากจำเลยตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระค่าทองรูปพรรณแก่โจทก์และจำเลยยังมิได้ชำระ ถึงอย่างไรก็ตามถ้าเป็นความจริงดังที่นำสืบ ก็ถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้เดิมที่ค้างชำระมาเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงิน โจทก์ย่อมฟ้องบังคับเอาได้ตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว กรณีมิใช่เป็นดังที่จำเลยหยิบยกเป็นข้อโต้แย้งในฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักรับฟังดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์นั้น เห็นว่า สัญญากู้เงินมีข้อความระบุว่า เพื่อเป็นหลักฐานจำเลยได้มอบเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาเพชรเกษม รวม 5 ฉบับ เป็นเงิน 950,000 บาท ให้โจทก์ยึดถือไว้ด้วย เช็คดังกล่าวนี้จำเลยเบิกความว่า โจทก์เป็นผู้พาจำเลยไปเปิดบัญชีที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาเพชรเกษม แล้วให้จำเลยออกเช็คพร้อมกับทำสัญญากู้เงินให้โจทก์นำไปแสดงต่อร้านทองเพื่อนำทองรูปพรรณมาให้จำเลยขายอีกต่อหนึ่ง ซึ่งหากเป็นความจริงจำเลยก็ไม่น่าจะมีบัญชีที่ธนาคารดังกล่าวถึง 2 บัญชีดังที่เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านร้านทองที่จำเลยอ้างถึงก็ไม่ปรากฏว่าเป็นร้านใด จำเลยอ้างว่าทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เพื่อนำไปแสดงต่อร้านทอง เป็นการโต้เถียงว่าสัญญากู้เงินไม่มีมูลหนี้ แต่จำเลยกลับนำสืบต่อไปว่าจำเลยค้างชำระค่าทองรูปพรรณแก่โจทก์เพียง 50,000 บาท หนี้ส่วนที่เหลือตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ส่วนของนางรัตติกาล ซึ่งเป็นผู้ที่จำเลยแนะนำให้โจทก์รู้จักและทำธุรกิจซื้อขายทองรูปพรรณอยู่ด้วยกัน เท่ากับเป็นการยอมรับว่าสัญญากู้เงินมีมูลหนี้ เหตุผลตามทางนำสืบของจำเลยจึงกลับไปกลับมา โดยเฉพาะคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอม จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยค้างชำระหนี้โจทก์เพียง 50,000 บาท ที่จำเลยนำสืบมาจึงรับฟังไม่ได้คดีฟังได้ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโดยมีมูลหนี้มาจากค่าทองรูปพรรณที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้
( พินิจ สายสอาด - อร่าม เสนามนตรี - อร่าม แย้มสอาด )

By ณัชกานต์

   


มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า

  ตอนที่ ๑           บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามี...