วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

"ทรัพย์" ตอนที่ ๒ "ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้"


"ทรัพย์" ตอนที่ ๒ "ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้"

          เรื่องทรัพย์ในตอนที่ ๑ ผู้เขียนได้เขียนเรื่องของ "อสังหาริมทรัพย์" ไปแล้ว และก่อนหน้านั้นก็ได้เขียนเรื่องการได้อสังหาริมทรัพย์ โดยการครอบครอบปรปักษ์ไปแล้วเช่นกัน แต่ผู้เขียนยังไม่เคยอธิบายเรื่องของ "ทรัพย์" มาก่อน วันนี้เลยอยากจะเขียนเรื่อง "ทรัพย์" มาให้อ่านกัน ซึ่ง "ทรัพย์" นั้น แบ่งได้เป็น ๒ ชนิดคือ
      ๑. "ทรัพย์แบ่งได้"  หมายความว่า ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัวทรัพย์แบ่งไม่ได้ ทรัพย์แบ่งได้ มีองค์ประกอบดังนี้

                       (๑) ต้องเป็นทรัพย์ที่สามารถแยกออกจากกันได้
                       (๒) เมื่อแยกออกจากกันได้แล้วไม่เสียสภาพรูปทรงไป

      ๒."ทรัพย์แบ่งไม่ได้" หมายความว่า ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้  นอกจากเปลี่ยนแปลงสภาวะของทรัพย์ และหมายความถึงทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นทรัพย์ที่แบ่งแยกไม่ได้ด้วย ทรัพย์แบ่งไม่ได้ มีความหมาย ๒  คือ

                      (๑) ทรัพย์แบ่งไม่ได้โดยสภาพ
                      (๒) ทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าแบ่งไม่ได้


ทรัพย์บางอย่างที่ถือว่าเป็นทรัพย์ และเป็นทรัพย์ที่แบ่งแยกไม่คือ

                      (๑) หุ้นเป็นทรัพย์แบ่งแยกไม่ได้ตามมาตรา ๑๑๑๘ วรรคหนึ่ง
                      (๒) ส่วนควบ ภาระจำยอม และสิทธิจำนอง แบ่งไม่ได้

ประเด็นแรก "ทรัพย์นอกพาณิชย์" หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์นอกพาณิชย์มีความหมาย ๒ ประการ คือ

                              ๑. ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้
                               ๒. ทรัพย์ที่โอนแก่กันไม่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทรัพย์นอกพาณิชย์ที่กฎหมายห้ามโอนจะต้องมีอยู่ ๒ ประการ คือ
                               ๒.๑ ต้องเป็นการห้ามโอนโดยกฎหมายบัญญัติไว้
                               ๒.๒ ลักษณะของการห้ามโอนจะต้องเป็นการห้ามโอนโดยถาวร
*** ประเภทของทรัพย์นอกพาณิชย์นั้นมีหลายประการ อาจแยกได้ดังต่อไปนี้
                            (๑) สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์จะสละหรือโอนไม่ได้
                            (๒) ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์
                           (๓) ทรัพย์นอกพาณิชย์ที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายห้ามโอนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการห้ามโอนโดยนิติกรรมก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ การห้ามโอนโดยมีกำหนดระยะเวลา เช่น การห้ามโอนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพหรือประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ใช่เป็นการห้ามโอนโดยถาวรจึงไม่เป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ กรณีนี้มีปัญหาว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ก่อนว่าพอพ้นกำหนดเวลาแล้วค่อยโอนกัน ข้อสัญญาดังกล่าวจะใช้บังคับได้หรือไม่ ในกรณีเช่นนี้มีข้อพิจารณาว่า

                             ๓.๑ ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ห้ามโอนก็เป็นโมฆะ
                             ๓.๒ ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าไม่เป็นการจงใจหลีกเลี่ยง ก็ไม่เป็นโมฆะ

ตัวอย่าง  

ข้อ ๑. นาย กรกิจ มีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นาย สมพร โดยมีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน เมื่อนาย กรกิจ ยังไม่ได้มีการส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวภายในระยะเวลาห้ามโอน ๑๐ ปี จึงถือว่าไม่ได้จงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ

 ข้อ ๒. นายสุนัยมีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นางวิภาภายในระยะเวลาห้ามโอน โดยได้มีการชำระเงินกันแล้วและนายสุนัยได้มอบที่ดินให้นางวิภาเข้าครอบครองแล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่านายสุนัยจะจดทะเบียนโอนให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จึงเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยชัดแจ้ง สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ

ข้อ ๓. นางสายเจ้าของที่ดินทำสัญญาซื้อขายที่ดินให้กับนายหนุ่ยในระยะเวลาห้ามโอน ตามกฎหมาย สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่กันได้ นายหนุ่ยจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่หากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว นางสายได้สละเจตนาครอบครองหรือนางสายได้มีการมอบการครอบครองให้แก่นายหนุ่ยแล้ว เช่นนี้นายหนุ่ยก็มีสิทธิครอบครอง แต่ถ้านางสายยังไม่ได้สละเจตนา ครอบครองหรือมิได้มีการมอบการครอบครองให้แก่นายหนุ่ย แม้นายหนุ่ยจะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ต่อมาก็ถือว่านายหนุ่ยครอบครองแทนนางสาย เมื่อถือว่านายหนุ่ยเป็นผู้ครอบครองที่ดินแทนนางสาย หากนายหนุ่ยโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก ก็จะเข้าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เพราะถือว่าบุคคลภายนอกครอบครองที่ดินแทนนางสายเช่นเดียวกัน แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหนุ่ยเข้าครอบครองที่ดินนับแต่ได้ซื้อจากนางสายมาตลอดแม้ในระยะเวลาห้ามโอน นายหนุ่ยยังไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่เมื่อนายหนุ่ยครอบครองที่ดินตลอดมาจนล่วงระยะเวลาห้ามโอนแล้วเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปีเศษ และเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของนายหนุ่ยตลอดมาโดยไม่มีผู้อื่นเข้ามายุ่งเกี่ยว การแย่งการครอบครองการครอบครองที่ดินของนายหนุ่ยดังกล่าวจึงเป็นการยึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตนแล้ว นายหนุ่ยย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๖๗

ประเด็นที่สอง "ส่วนควบของทรัพย์"  หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป และโดยปกติเจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น เช่น ไม้ยืนต้น ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ แต่หากเป็นไม้ล้มลุกหรือธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดิน

ประเด็นที่สาม "ทรัพย์ติดกับที่ดิน" ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย
  

ที่นี้เราลองมาดูองค์ประกอบของส่วนควบกันบ้าง  
๑. เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของตัวทรัพย์ มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ
                      ๑.๑ โดยสภาพของตัวทรัพย์เอง
                      ๑.๒ โดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
ตัวอย่าง
                     ๑)  บ้านเป็นสาระสำคัญของที่ดิน ดังนั้น บ้านจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน และครัวตามจารีตประเพณีก็เป็นสาระสำคัญของตัวเรือน เพราะบ้านย่อมต้องมีครัว
                      ๒) เครื่องจักรทำน้ำโซดาและอุปกรณ์ทำน้ำโซดาไม่ได้เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของที่ดิน ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน เป็นเพียงสังหาริมทรัพย์ธรรมดา ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่ใดก็ได้

๒. ทรัพย์ที่มารวมกันเป็นส่วนควบนั้นไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

*** ข้อยกเว้นเรื่องส่วนควบ

                            ๑) ไม้ล้มลุกและธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดิน
                            ๒) ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดิน หรือโรงเรือนนั้น เช่น การปลูกสร้างอาคารจัดการแสดงสินค้าเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือ การปลูกสร้าง

ตัวอย่าง

นายชัยตกลงให้นายชายปลูกต้นสนในที่ดินของนายชัย โดยเมื่อต้นสนโตเต็มที่แล้วก็จะตัดขายเอาเงินมาแบ่งกัน ต้นสนจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ดังนั้น แม้นายชัยจะนำที่ดินไปจำนองให้แก่นายสด นายก็ไม่สดมีสิทธิบังคับเอาจากต้นสนของนายชาย ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก นายชายมีสิทธิขอกันส่วนได้  ส่วนในกรณีที่โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นไม่เป็นส่วนควบเพราะเข้า ข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๔๖ ผู้มีสิทธิปลูกสร้างยังเป็นเจ้าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่ แต่จะยกขึ้นต่อสู้กับผู้รับจำนองโดยสุจริตไม่ได้ เพราะสิทธินั้นไม่ได้จดทะเบียน ผู้รับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นได้ เพราะผู้รับจำนองเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้รู้เห็นด้วย เว้นแต่ผู้รับจำนองนั้นไม่สุจริต

๓. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นได้ใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้น โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดินที่ปลูกสร้างลงไปนั้น ซึ่งสิทธิ ที่จะปลูกสร้างในที่ดินของผู้อื่นมีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ
                    ๓.๑ สิทธิตามสัญญา    ซึ่งสิทธิตามสัญญานี้จะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ จะทำโดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายก็ได้ เช่น เจ้าอาวาสปลูกเรือนในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดโดยใช้เงินของผู้อื่นซึ่งมีศรัทธาถวายเพื่อเป็นที่พักอาศัยของคนมาทำบุญ เรือนจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน,  นายไก่เช่าที่ดินนายเป็ดเพื่อปลูกสร้างโรงเรือน โรงเรือนนั้นไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน, ปลูกตึกแถวลงในที่ดินโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินมีกำหนด ๑๕ ปี แล้วจึงให้ตึกแถวนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน เมื่อยังไม่ครบ ๑๕ ปี ตึกแถวก็ยังไม่เป็นส่วนควบ กรรมสิทธิ์จึงยังไม่ตกเป็นเจ้าของที่ดิน, นายหมูสร้างทางเท้าและคันหินลงในที่ดินของนายห่าน โดยนายห่านยินยอมเป็นสิทธิตามสัญญา นายห่านจะเลิกเสียเมื่อใดก็ได้  เมื่อนายห่านบอกเลิกสัญญาแล้ว นายหมูก็ไม่มีสิทธิใช้ต่อไป ทางเท้าและคันหินนั้นก็ไม่เป็นส่วนควบ เพราะเป็นการปลูกสร้างลงในที่ดินของนายห่านโดยอาศัยสิทธิที่นายห่านยินยอมให้ทำได้ หรือผู้จะขายที่ดินยอมให้ผู้จะซื้อเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินที่จะขาย ถือว่าผู้จะซื้อเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้จะขายในอันที่จะปลูกบ้านได้ บ้านไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน เป็นต้น

                   ๓.๒ สิทธิในที่ดินของผู้อื่นในลักษณะที่เป็นทรัพยสิทธิ ใครเป็นเจ้าของส่วนควบ กรณีที่เป็นทรัพย์สินเดียวมักไม่มีปัญหา แต่ปัญหาจะอยู่ที่มีการนำเอาทรัพย์หลายสิ่งมารวมกันจนเป็นส่วนควบ กฎหมายจึงได้กำหนดให้เจ้าของทรัพย์ประธานเป็นเจ้าของส่วนควบ เช่น
                             ๑) ตัวถังรถยนต์เป็นทรัพย์ประธาน
                             ๒) ที่ดินเป็นทรัพย์ประธานของบ้าน และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนี้รวมถึงที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ และสิทธิครอบครองด้วย
*** เรามาดูข้อยกเว้นกันบ้างว่า อะไรคือข้อยกเว้นหลักที่ว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานย่อมเป็นเจ้าของส่วนควบด้วยนั้น
                             ๑) การสร้างโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือปลูกต้นไม้ในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต บุคคลนั้นต้องทำที่ดินให้เป็นตามเดิมแล้วส่งคืนเจ้าของ เว้นแต่เจ้าของที่ดินจะยอมให้ส่งคืนเช่นนั้น แต่เจ้าของที่ดินต้องใช้ราคา (มาตรา ๑๓๑๑ และ มาตรา ๑๓๑๔) 
                             ๒) การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ซึ่งมาตรา ๑๓๑๒ วรรคหนึ่งกำหนดให้คนสร้างโรงเรือนที่รุกล้ำเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างนั้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๗๖๔/๕๒

                     โจทก์จำเลยและผู้เช่าอื่นมีข้อตกลงระหว่างกันว่าผู้เช่าซื้อที่ดินส่วนที่มีห้องแถวที่ตนเช่าปลูกสร้างอยู่และที่ดินแต่ละแปลงให้แนวตัดตรงตามแนวโฉนดที่ดิน ถ้าห้องเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวที่ดินของผู้เช่าอื่น ต้องรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำเมื่อผู้เช่าอื่นปลูกสร้างใหม่ ถ้ายังไม่มีการปลูกสร้างอาคารใหม่ก็ให้อยู่กันตามสภาพเดิมไปก่อน ข้อตกลงดังกล่าวบังคับได้และผูกพันโจทก์จำเลย เมื่อโจทก์จำเลยซื้อที่ดินโจทก์จะปลูกสร้างอาคารใหม่แทนห้องเช่าเดิมบนที่ดินที่ซื้อ แต่มีสิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ โจทก์บอกกล่าวจำเลยแล้ว จำเลยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงรื้อสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ และเมื่อมีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเช่นนี้ มิใช่กรณีต้องนำ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒ มาปรับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา ๔
                            ๓) ถ้าเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ว่าทรัพย์ใดเป็นทรัพย์ประธาน มาตรา ๑๓๑๖ บัญญัติให้ทุกคนเป็นเจ้าของในทรัพย์ใหม่ที่รวมเข้ากันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของเจ้าของทรัพย์ตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง เป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนกันอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๘๔/๒๕๓๙

                         ข้อกำหนดที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อตามที่ระบุไว้ใน สัญญาเช่าซื้อก็คือราคารถยนต์ที่ยึดคืนมาขายได้น้อยกว่าราคาที่เช่าซื้อที่ จำเลยต้องรับผิดนั่นเองข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธี หนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับซึ่งศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ถ้าเห็นว่าสูงเกินส่วน ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาไม่ใช่ค่าเช่าซื้อหรือเงินอื่นใดที่ค้างชำระ ดังที่สัญญาเช่าซื้อระบุไว้ให้เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ ๑.๗๕ ต่อเดือน หากแต่เป็นหนี้เงินซึ่งโจทก์สามารถเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๔๔ วรรคหนึ่งเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์เป็นผู้นำกระบะบรรทุกมาติดตั้ง ประกอบเข้ากับรถยนต์ที่เช่าซื้อกระบะบรรทุกดังกล่าวจึงเป็นส่วนควบของรถยนต์ ที่เช่าซื้อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์อันถือได้ว่าเป็นเจ้าทรัพย์เป็นประธาน ย่อมเป็นเจ้าของกระบะบรรทุกที่ติดตั้งประกอบเข้ากับรถยนต์ที่เช่าซื้อ แต่ผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่ากระบะรถบรรทุกนั้นให้แก่จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นเจ้าของ ทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๑๖ วรรคสอง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๕/๒๕๓๔

                   โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยทั้งสอง แต่ในหนังสือขายที่ดินระบุว่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างดังนี้ บ้านพิพาทจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง โดยไม่จำต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก เมื่อโจทก์ทั้งสองครอบครองบ้านพิพาทซึ่งเป็นของตนเองเช่นนี้ จึงไม่เป็นครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิในบ้านพิพาทของโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใดโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง

*** สรุปกรรมสิทธิ์ในส่วนควบ

                                  ๑. กรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธานตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง มีความสำคัญหรือมีอำนาจเหนือกว่าคนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในส่วนควบมาในลักษณะของกรรม สิทธิ์โดยทั่วๆ ไป
                                  ๒. เจ้าของทรัพย์เป็นประธานเป็นเจ้าของส่วนควบตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง ซึ่งเป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน
                                  ๓. การก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในกรรมสิทธิ์ในตัวส่วนควบแยกต่างหากออกจากกรรมสิทธิ์จากทรัพย์ที่เป็นประธานนั้นจะมีผลผูกพันบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้ก่อตั้งขึ้นมาในลักษณะที่เป็นสิทธิเหนือพื้นดินตามมาตรา ๑๔๑๐
                                  ๔. การก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๑๒๙๙ คือต้องจด
ทะเบียน ถ้าไม่จดทะเบียนก็ไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิ แต่แม้จะมิได้จดทะเบียนก็สามารถบังคับได้ในฐานะบุคคลสิทธิ์ แต่จะใช้ต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้

ต่อไปเรามาศึกษากันถึงเรื่อง "อุปกรณ์" อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น  อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราวก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

*** องค์ประกอบของการเป็นอุปกรณ์

                           ๑. อุปกรณ์จะต้องมีทรัพย์ที่เป็นประธาน
                           ๒. อุปกรณ์จะต้องเป็นสังหาริมทรัพย์
                           ๓. อุปกรณ์จะต้องไม่มีสภาพรวมกับทรัพย์ที่เป็นประธานจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้
                           ๔. อุปกรณ์ต้องไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่เป็นประธานด้วยกันหรือมีความสำคัญเท่ากัน
                           ๕. อุปกรณ์จะต้องเป็นทรัพย์ที่เป็นเจ้าของเดียวกันกับทรัพย์ที่เป็นประธาน
                           ๖. อุปกรณ์จะต้องเป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ๒ ประการ คือ ๑) พิจารณาจากปกตินิยมเฉพาะถิ่น  ๒)พิจารณาจากเจตนาของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน
                           ๗. อุปกรณ์ต้องใช้ประจำเป็นอาจิณกับทรัพย์ที่เป็นประธานเพื่อประโยชน์ในการจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน


ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๑๔/๒๕๔๕
                     จำเลยนำวิทยุเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์ เครื่องเสียงมาสู่รถที่เช่าซื้อก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยมิใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานคือรถที่เช่าซื้อทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗ วรรคท้าย สัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลงต่อเติม ติดหรือตั้งอยู่ในตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สิ่งนั้นจะตกเป็นส่วนหนึ่งของตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทันที มีที่มาจากปัญหาซึ่งมักจะเกิดแก่โจทก์ที่ต้องพิพาทกับผู้เช่าซื้อในกรณีที่ผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อ เติม ติดหรือตั้งกับทรัพย์ที่เช่าซื้อและจะเอาสิ่งของนั้นคืน เมื่อต้องคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ แต่การรื้อสิ่งของที่ว่านั้นออกไปจะทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายได้ ฉะนั้น ลำพังการที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวมาสู่ตัวรถที่เช่าซื้อ ย่อมไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากจะต้องรื้อออกไป จึงไม่อยู่ในขอบแห่งข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์ไม่อาจยกมาเป็นเหตุไม่คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลย

                         ๘. อุปกรณ์จะต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธานนำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดหรือปรับเข้าไว้หรือกระทำด้วยประการใดในฐานะเป็นเครื่องใช้เพื่อประโยชน์ในการดูแลใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน

ประเด็นต่อไปคือ "ดอกผล" ดอกผลมีอยู่ ๒ ชนิด คือ

                              ๑. ดอกผลธรรมดา ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และสามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น
                             ๒. ดอกผลนิตินัย ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งสาระสำคัญของดอกผลนิตินัยมี ดังนี้
                              ๑. ดอกผลนิตินัยต้องเป็นทรัพย์หรือเป็นประโยชน์
                              ๒. ดอกผลนิตินัยต้องเป็นทรัพย์ที่ตกได้แก่เจ้าของทรัพย์
                              ๓. ดอกผลนิตินัยจะต้องตกได้แก่ผู้เป็นเจ้าของแม่ทรัพย์เป็นการตอบแทนจากการที่ผู้อื่นได้ใช้ตัวทรัพย์นั้น
                              ๔. ดอกผลนิตินัยจะต้องเป็นดอกผลที่ตกได้แก่เจ้าของทรัพย์เป็นครั้งคราว
ทั้งนี้ ผลกำไรที่ได้จากการขายทรัพย์ไม่ใช่ดอกผลนิตินัย แต่ผลกำไรที่ได้จากการแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนหรือเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในบริษัท ถือว่าเป็นดอกผลนิตินัย

*** ผู้ที่มีสิทธิในดอกผล คือ เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และเป็นเจ้าของดอกผลของตัวทรัพย์นั้น ไม่ว่าจะเป็นดอกผลนิตินัยหรือดอกผลธรรมดา

ในมาตรา ๔๙๒ กำหนดให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ ไถ่ทรัพย์นั้น หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้วแต่กรณี เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมีการไถ่ทรัพย์หรือวางทรัพย์เพื่อไถ่ทรัพย์นั้น ผู้รับซื้อฝากก็ไม่ต้องคืนดอกผลให้แก่ผู้ขายฝาก


*** ข้อยกเว้นที่ผู้อื่นมีสิทธิในดอกผล

๑. เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ เช่น
               ๑.๑ ดอกผลของสินส่วนตัวเป็นสินสมรส (มาตรา ๑๔๗๔ (๓))
               ๑.๒ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่ (มาตรา ๔๑๕ วรรคหนึ่ง)
               ๑.๓ ถ้าจะต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่ผู้มีสิทธิเอาคืน ผู้นั้นไม่ต้องคืนดอกผลคราบเท่าที่ยังสุจริตอยู่ เมื่อใดรู้ว่าจะต้องคืนก็ถือว่าไม่สุจรติแล้ว (มาตรา ๑๓๗๖)
๒. มีข้อตกลงไว้เป็นอย่างอื่น
๓. บุคคลที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นมีสิทธิเอาดอกผลไปชำระหนี้ที่เจ้าของทรัพย์เป็นหนี้ตน (หักหนี้)

ต่อไปเป็นเรื่อง "ทรัพยสิทธิ" ทรัพยสิทธิคืออะไร "ทรัพยสิทธิ" คือ  สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินหรือเป็นสิทธิที่อยู่เหนือทรัพย์สินนั้นอันจะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้โดยตรงและการก่อตั้งทรัพยสิทธิได้นั้นจะต้องมีกฎหมายรองรับ
"บุคคลสิทธิ" คือ สิทธิเกิดขึ้นจากสัญญาเป็นหลัก เป็นสิทธิที่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญานั้นก่อตั้งขึ้น บังคับได้แต่เฉพาะตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีเท่านั้น


                                           ข้อแตกต่างระหว่างทรัพยสิทธิกับบุคคลสิทธิ

                             ทรัพยสิทธิ                  
                                  บุคคลสิทธิ  
๑. ทรัพยสิทธิเป็นสิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินโดยตรง ใช้ยันได้กับทุกคน ในการจำหน่าย จ่าย โอน ติดตามเอาทรัพย์นั้นหรือห้ามคนอื่นเข้าเกี่ยวข้อง
๑. บุคคลสิทธิเป็นสิทธิที่มีอยู่เหนือตัวบุคคล ใช้บังคับได้แต่เฉพาะตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีและผู้สืบสิทธิของคู่กรณีเท่านั้น ลักษณะของบุคคลสิทธิเป็นเรื่องให้กระทำการ งดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์สิน
๒. การก่อตั้งทรัพยสิทธิจะต้องมีกฎหมายรองรับ
๒. บุคคลสิทธิโดยทั่วไปจะก่อตั้งขึ้นมาโดยนิติกรรมสัญญา แต่บางกรณีสิทธิที่เป็นบุคคลสิทธิอาจจะเกิดจากการที่มีกฎหมาย รองรับว่ามีบุคคลสิทธิได้ ซึ่งเรียกว่านิติเหตุ
๓. ทรัพย์สิทธิก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไปที่จะต้องยอมรับนับถือ ที่จะต้องเคารพคนที่ เป็นเจ้าของทรัพยสิทธิหรือคนที่ทรงทรัพยสิทธินั้น
๓. บุคคลสิทธิใช้บังคับได้แต่เฉพาะคู่กรณีหรือผู้สืบสิทธิของคู่กรณีเท่านั้น

๔. ทรัพยสิทธิเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยังคงใช้หรือคงมีอยู่ตลอดไป ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้ในเวลาต่อมาก็ตาม
๔. บุคคลสิทธิต้องใช้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าไม่ใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะบังคับใช้ไม่ได้ซึ่งเราเรียกว่าอายุความการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ "ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

มาตรา ๑๓๐๐ "ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียน สิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"

ซึ่งในกรณีที่เป็นสัญญาเสร็จเด็ดขาดที่เหลือเฉพาะแต่เพียงไปจดทะเบียนโอนให้แก่กันเท่านั้น คนที่มีสิทธิตามสัญญาก็ถือว่าอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน เป็นสิทธิประเภท "ทรัพยสิทธิ"  แต่ถ้าเป็นสัญญาประเภท "จะ" คนที่มีสิทธิตามสัญญาเป็นเพียง "บุคคลสิทธิ" ไม่ถือว่าอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนอันจะอ้างมาตรา ๑๓๐๐ มาเพิกถอนการโอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ ถ้าจะเพิกถอนก็ต้องไปอาศัยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา ๒๓๗การฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา ๑๓๐๐

*** การเพิกถอนการโอนของเจ้าหนี้หรือบุคคลซึ่งอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิ์ของตนได้อยู่ก่อนนั้นมีเงื่อนไขอยู่ ๒ ประการ คือ

            ๑) การจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์จะต้องทำให้บุคคลซึ่งอยู่ในฐานะที่จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนนั้นเสียเปรียบ
             ๒) ผู้ที่รับโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไปจะต้องไม่สุจริตหรือไม่เสียค่าตอบแทน

**** ในเรื่องของการเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิ์ของตนได้อยู่ก่อนนั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยตีความว่าการจำนองก็อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๐๐ นี้เช่นกัน และการอ้างประโยชน์จากมาตรา ๑๓๐๐ ที่จะขอให้เพิกถอนการโอนนั้นจะต้องมีการตั้งประเด็นไว้ในคดีด้วย ซึ่งการตั้งประเด็นนั้นจะต้องทำโดยคำคู่ความซึ่งอาจอยู่ในคำฟ้อง คำให้การหรือคำให้การแก้ฟ้องแย้งหรือฟ้องแย้งก็ได้ มาตรา ๑๒๙๙ และ ๑๓๐๐ ใช้บังคับกับการเปลี่ยนแปลง การระงับ และการกลับคืนมาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๐๑มาตรา ๑๒๙๙ มาตรา ๑๓๐๐ และมาตรา ๑๓๐๑ ใช้บังคับกับเรือที่มีระวางตั้งแต่ ๕ ตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะด้วยตามมาตรา ๑๓๐๒ บุคคลหลายคนเรียกร้องเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกัน

"สังหาริมทรัพย์" คือ ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย

มาตรา ๑๔๐สังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย

มาตรา ๑๓๐๓ "ถ้าบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันไซร้ ท่านว่าทรัพย์สินตกอยู่ในครอบครองของบุคคลใด บุคคลนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าบุคคลอื่นๆ แต่ต้องได้ทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและได้การครอบครองโดยสุจริตท่านมิให้ใช้มาตรานี้บังคับถึงสังหาริมทรัพย์ซึ่งระบุไว้ในมาตราก่อนและในเรื่องทรัพย์สินหาย กับทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำผิด"

ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว หมายความว่า สังหาริมทรัพย์อยู่ในความครอบครองของใคร คนนั้นก็จะมีสิทธิในสังหาริมทรัพย์นั้นดีกว่า โดยมีเงื่อนไขอยู่ ๒ ประการ คือ
                       ๑. คนที่มีสังหาริมทรัพย์อยู่ในความครอบครองจะต้องได้สังหาริมทรัพย์มาโดยมีค่าตอบแทน
                       ๒. การครอบครองที่ได้มานั้นจะต้องได้มาโดยสุจริตมาตรา ๑๓๐๓ วรรคหนึ่ง ไม่นำมาใช้กับสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้
                       ก) สังหาริมทรัพย์ประเภทพิเศษ ได้แก่ เรือที่มีระวางตั้งแต่ ๕ ตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะ
                       ข) ทรัพย์สินหาย
                       ค) ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำผิด

*** การได้สังหาริมทรัพย์มาโดยเสียค่าตอบแทนและได้การครอบครองโดยสุจริตนั้น จะต้องเป็นการได้มาจากคนที่มีสิทธิที่จะโอนทรัพย์นั้นได้ ซึ่งเป็นไปตามผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ถ้าคนที่โอนทรัพย์ให้นั้นไม่มีอำนาจที่จะโอนทรัพย์ แม้ผู้รับโอนจะได้รับโอนมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็จะอ้างประโยชน์ตามมาตรา ๑๓๐๓ ไม่ได้ 

ประเด็นต่อไปเรามาดู "ทรัพย์สินของแผ่นดิน" กัน  ทรัพย์สินของแผ่นดินแบ่งทรัพย์สินออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

                            ๑. ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์ก็ได้ หรือจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ได้
                           ๒. ทรัพย์สินของแผ่นดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งทรัพย์ใดจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะต้องมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
                               (๑) เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
                               (๒) จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา ๑๓๐๔ ได้แก่
                              (๒.๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
                              (๒.๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวงทะเลสาบ
                              (๒.๓) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่าป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์

ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่จำต้องขึ้นทะเบียนว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเสมอไป เพราะทรัพย์สินของแผ่นดินที่จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพของทรัพย์สินนั้นเองว่าได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ และการสิ้นไปของสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สภาพหรือสถานะของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอาจจะมีการเพิกถอนได้ แต่การเพิกถอนสภาพของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะทำได้ก็โดยมีกฎหมายเฉพาะ เมื่อมีการเพิกถอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้วที่ดินแปลงนั้นก็จะกลับมาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามธรรมดาไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกต่อไป ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดินถ้าเป็นการเพิกถอนสภาพเพราะไม่ใช้ หรือจะไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นก็จะทำโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้าเป็นการโอนก็จะต้องทำโดยพระราชบัญญัติ แต่ถ้านำไปจัดสรรซึ่งมีกฎหมายเฉพาะให้อำนาจก็ทำโดยพระราชกฤษฎีกาการหมดสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

การสิ้นสภาพไปของสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

                           ๑. สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นได้มีการเลิกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์โดยเด็ดขาดหรือเลิกสงวนไว้เพื่อสาธารณประโยชน์โดยเด็ดขาด ถ้าเพียงแต่เลิกใช้เพียงชั่วคราว ก็ยังไม่สิ้นสภาพ ยังมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่
                          ๒. สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นถูกทำลายไปทั้งหมด
                          ๓. สาธารณสมบัติของแผ่นดินถูกโอนหรือเวนคืนไปเป็นของเอกชนโดยชอบด้วยกฎหมาย

***ผลของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
                        ๑. จะโอนแก่กันไม่ได้เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา
                        ๒. ห้ามยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดิน
                        ๓. ห้ามยึดทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๔๔/๒๕๔๕

                         ทรัพย์สินของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์นั้นว่าราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ทางราชการจะไม่ได้ทำหลักฐานหรือขึ้นทะเบียนไว้ ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายที่ไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินและไม่อาจโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา

ข้อสังเกตทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมี ดังนี้

                                       (๑) ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอาจจะทำสัญญาจะซื้อจะขายได้ เนื่องจากยังไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์กัน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์กันได้แล้ว ก็ไม่อาจทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเพื่อให้มีการโอนกรรมสิทธิ์กันได้
                                       (๒) ที่ดินที่ถูกเวนคืนไปแล้วเมื่อไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเวนคืนภายในเวลา ๕ ปี กฎหมายกำหนดให้ต้องคืนเจ้าของไป การคืนนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะเพราะกรณีนี้ไม่ใช่เป็นการโอนให้แก่กันตามมาตรา ๑๓๐๕ แต่เป็นการโอนกลับคืนมาโดยเงื่อนไขของกฎหมาย
                                       (๓) ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะเอาไปให้เช่าไม่ได้ ถ้าเอาไปให้เช่าสัญญาเช่านั้นไม่มีผล จะฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าไม่ได้ และจะฟ้องขับไล่ก็ไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจฟ้อง
                                       (๔) สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือสงวนไว้ซึ่งสาธารณประโยชน์ คือ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าไปใช้สอยได้ และในระหว่างประชาชนด้วยกันนั้นคนที่เข้าไปใช้สอยอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่าคนอื่น ถ้าคนมาทีหลังไปรบกวนสิทธิ คนที่ใช้ก่อนก็มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองได้ รวมถึงเรียกค่าเสียหายได้ด้วย แต่ถ้าคนที่ใช้อยู่ก่อนเอาไปให้เช่าสิทธินั้นก็หมดไป จะใช้สิทธิปลดเปลื้องทุกข์หรือเอาคืนไม่ได้

สิทธิในการครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

                     ๑) สิทธิที่ว่านี้คือสิทธิในการใช้สอยเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามีกรรมสิทธิ์ดีกว่าหรือมีสิทธิครอบครองดีกว่าแต่อย่างใด
                     ๒) ผู้ที่จะฟ้องใช้สิทธิปลดเปลื้องทุกข์หรือเอาคืน จะต้องเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษ
                     ๓) คนที่เข้าไปใช้ก่อนมีสิทธิดีกว่าตราบเท่าที่ยังคงครอบครองยึดถือหรือใช้สอยอยู่ ดังนั้นถ้านำไปให้คนอื่นเช่าหรือทำประโยชน์สิทธินั้นก็สิ้นผลไป

คำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๔๒/๒๕๐๖

                      ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น ผู้ใดจะอยู่มาช้านานเท่าใดก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ แต่ถ้าหากบุคคลอื่นเข้ามากั้นรั้วปลูกเรือนแพและสิ่งอื่นๆกีดขวางหน้าที่ดินของเจ้าของที่ดินที่ติดกับที่ชายตลิ่งเต็มหมด จนไม่สามารถใช้สอยชายตลิ่งเข้าออกสู่ลำแม่น้ำได้แล้ว ย่อมถือว่าเจ้าของที่ดินนั้นได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ มีสิทธิฟ้องขับไล่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๘/๒๕๑๐

                       โจทก์มีบ่อน้ำกินคือบ่อพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ใช้บ่อน้ำบ่อนี้เสมอมาจำเป็นแก่ความเป็นอยู่ของโจทก์ จำเลยกระทำการให้น้ำในบ่อไม่มีให้โจทก์ใช้เช่นเคย ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์เสียหายเป็นพิเศษมีอำนาจฟ้องคดีได้

***แม้จะไม่ได้เข้าไปครอบครองยึดถือหรือไปใช้ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยตรง แต่เมื่อใช้อยู่แล้วต่อมาถูกรบกวนการครอบครองหรือการใช้ตามปกติ ถือว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายเป็นพิเศษมีสิทธิฟ้องได้ เช่น บ้านอยู่ติดลำน้ำสาธารณะแล้วมีคนมาทำรั้วกั้นให้ออกไปไม่ได้ หรือมีคนขึงลวดหนามเข้าไป
ในทางสาธารณะทำให้ไม่สามารถใช้รถผ่านไปได้ เป็นต้น แต่ถ้าไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษก็ไม่มีอำนาจฟ้อง

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

ผู้เขียนได้แบ่งเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์นี้ออกเป็น ๓ ตอน ตอนที่ ๓ คือ เรื่อง "การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์" ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ทั้งสามตอนนี้ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับทรัพย์ได้ครบทุกประเด็น และย่อเนื้อหาทั้งหมดลงมาให้กระชับมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หวังว่าคงมีประโยชน์ต่อทุกท่านบ้างพอสมควร "ด้วยจิตคารวะ"

By กานต์ 
๕/๖/๖๐, ๑๓.๑๙


ไม่มีความคิดเห็น:

มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า

  ตอนที่ ๑           บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามี...