เอกสารปลอม/เอกสารเท็จ
ในยุคปัจจุบันนี้
มีข่าวนำเสนออยู่บ่อยครั้งว่า มีผู้นำเอาเอกสารส่วนบุคคลของผู้อื่นไปใช้โดยเจ้าของไม่ยินยอม
บางคนอยู่ๆก็เป็นหนี้ธนาคารหลายล้านบาท บ้างก็ทำสัญญากู้เงิน
แต่เงินไม่ตรงตามในสัญญากู้ที่มากกว่าที่ได้รับจริงไปอยู่มาก วันนี้ผู้เขียนจึงเลือกเรื่องการ
"ปลอมเอกสาร" และการทำ "เอกสารเท็จ" มานำเสนอให้ได้ศึกษากัน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๒๖๔ "ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม
หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด
ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น
ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน
ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน"
คำว่า "ปลอม" ในความผิดฐานปลอมเอกสาร มาตรา ๒๖๔
ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อนเลย
ก็เป็นการปลอมขึ้นได้ และไม่ต้องทำให้เหมือนจริง ก็เป็นการปลอมเช่นกัน ซึ่งผู้กระทำอาจกระทำได้ดังต่อไปนี้
๑. ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ
คือ ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
โดยที่อาจจะมี หรือ ไม่มีเอกสารอันแท้จริงนั้นอยู่เลยก็ได้ หรือ
๒.ปลอมเอกสารแต่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใด
คือ ได้มีการทำเอกสารที่แท้จริงขึ้น แต่ยังไม่เสร็จครบถ้วน ถ้าผู้ใดปลอมข้อความต่อไปจนครบถ้วน
หรือ แม้จะยังไม่เสร็จครบถ้วนก็ตาม ถ้าส่วนที่ทำขึ้นมีลักษณะเป็นเอกสารแล้ว
ก็เป็นการปลอมแต่บางส่วนแล้ว ดังนั้น จึงสังเกตเห็นได้ว่า คำว่า "แท้จริง" ในเอกสารที่แท้จริง ไม่ได้หมายความว่า
เป็นเท็จ หรือเป็นจริง และไม่ได้หมายความว่า ความหมายของเอกสารอันแท้จริงนั้นจะเป็นจริงเสมอไป
อาจมีข้อความอันเป็นเท็จก็ได้ และเอกสารปลอมก็อาจมีข้อความตรงกับความจริงก็ได้
๐๐สรุปได้ว่า "เอกสารปลอม" คือ เอกสารที่ทำขึ้นโดยผู้ถูกกล่าวอ้างมิได้ทำ
หรือมิได้ให้อำนาจผู้อื่นทำเอกสารนั้น ผู้กระทำทำขึ้นโดยให้เข้าใจว่าเป็นเอกสารที่คนอื่นทำ
หรือหลอกในส่วนที่เกี่ยวกับตัวผู้ทำเอกสาร คือหลอกในตัวผู้ทำเอกสารไม่เกี่ยวกับข้อความที่เขียนในเอกสารนั้นว่า
จริงหรือเท็จแต่ประการใด ดังนั้น จึงเป็นการทำเอกสารขึ้นมาใหม่ แสดงว่า
มาจากผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ผู้ทำเอกสารนั้นโดยไม่ต้องคำนึงว่าข้อความที่เขียนลงในเอกสารนั้นจะจริงหรือเท็จ แต่ถ้าเป็นเอกสารที่ผู้ทำได้ทำโดยแสดงว่าตนเป็นผู้ทำเอกสารนั้นแล้ว
ก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
ส่วน
"เอกสารเท็จ" นั้น เป็นการทำเอกสารขึ้นโดยผู้ทำมิได้ทำขึ้นเพื่อให้เห็นว่าเป็นเอกสารของผู้อื่น
แต่เป็นเอกสารของผู้ทำเอง แม้ข้อความในเอกสารจะเป็นความเท็จก็ไม่ใช่เอกสารปลอม
แต่เป็นเอกสารที่ทำขึ้นโดยมีข้อความอันเป็นเท็จ จึงเป็นเอกสารเท็จ เมื่อนำมาอ้างและส่งต่อศาลเป็นพยานในคดี
จึงเป็นความผิดฐานทำพยานหลักฐานเท็จ แต่ไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร
การเติมหรือตัดทอนข้อความ
หรือแก้ไขข้อความในเอกสารแม้จะเป็นเอกสารที่แท้จริงแต่หากไปแก้เอกสารนั้น
ในขณะที่ไม่มีอำนาจที่จะทำได้ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้ การแก้ไขเอกสานนั้นจะต้องเป็นการทำให้ความหมายหรือข้อความเกี่ยวกับเอกสารนั้นเปลี่ยนแปลงไป
และการทำให้ปรากฏนั้นจะต้องเป็นการกระทำของบุคคล ให้ปรากฏความหมายขึ้นบนกระดาษหรือวัตถุอื่นใด
คือ บุคคลทำให้ปรากฏและสามารถอ่านหรือเห็นความหมายได้ (รวมคำว่า ด้วยตัวอักษร
ตัวเลข ผัง หรือแบบแผนอย่างอื่นด้วย) เนื่องจากเอกสารจะมีขึ้นในรูปแบบใดๆ ก็ได้
ดังนั้น การปลอมเอกสารจึงไม่จำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
และไม่ต้องทำให้เหมือนของจริงก็เป็นการปลอมเอกสาร
*** ข้อสังเกตเกี่ยวกับการปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถ
คือ ถ้าเป็นการนำแผ่นป้ายรถที่แท้จริงของกรมการขนส่งทางบกไปติดกับรถคันอื่นที่ไม่ได้เสียภาษี
เช่นนี้
ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ
เพราะแผ่นป้ายนั้นเป็นของจริง แต่ถ้าเป็นการถ่ายสำเนาให้เหมือนกับของจริงแล้วนำไปใช้กับรถคันอื่นที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปีก็เป็นการปลอมเอกสาร
แต่ถ้านำไปติดกับรถคันที่ถูกต้องก็ไม่ผิดฐานใช้เอกสารปลอม
เพราะการปลอมอันจะเป็นความผิดนั้นจะต้อง “น่า”
จะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย
ถ้าไม่น่าจะเสียหายก็เท่ากับขาดองค์ประกอบของความผิด ในกรณีนี้
รวมถึงป้ายทะเบียนที่ทำขึ้นเอง เพื่อใช้แทนของเดิมที่สูญหายหรือใช้การไม่ได้ด้วย
ถ้าใช้กับคันที่ได้รับอนุญาตก็ไม่ผิด
มาตรา ๒๖๕ ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
๐๐ การปลอมเอกสารราชการอาจทำโดยปลอมจากเอกสารที่แท้จริง
หรือเอาเอกสารราชการที่แท้จริงไปถ่ายสำเนาก่อนแล้วทำปลอมในสำเนาเอกสารนั้น (ฎีกาที่ ๒๓๒๘/๒๕๔๑)
"เอกสารราชการ"
หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น หรือรับรองในหน้าที่
และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
เอกสารที่ได้ทำขึ้นเช่น บัตรประจำตัวประชาชน ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์
ใบประกาศนียบัตร บัตรประจำตัวข้าราชการ ทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน แผ่นป้ายทะเบียนรถ
สำเนาป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก)
เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ใบอนุญาตขับรถยนต์ หลักเขตที่ดิน
คู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ หนังสือรับรองราคาที่ดิน
"เอกสารสิทธิ"
หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน
หรือระงับซึ่งสิทธิ เช่น หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาเช่า ใบรับ
หรือใบมอบฉันทะให้รับเงินฝากธนาคาร ใบเสร็จรับเงินของห้างร้าน แบบแจ้งการครอบครอง
ส.ค.๑ บิลส่งของซึ่งผู้รับของลงชื่อรับของแล้ว สลากกินแบ่งรัฐบาล
ตั๋วแลกเงินตั๋วสัญญา เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งสิทธิจะต้องเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นสิทธินั้นโดยตรงในตัวเอกสารนั้นเอง
เช่นโฉนดที่ดิน สัญญาเช่าซื้อ ตั๋วเงิน ส่วนทะเบียนสมรสเป็นเพียงเอกสารที่รับรองสถานะของบุคคลเท่านั้น
ในตัวเอกสารนั้นไม่ได้ก่อตั้งสิทธิขึ้นมา จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ บัตรอนุญาตให้ผ่านเข้าไปในสถานที่
เป็นเอกสารที่แสดงว่าผู้รับบัตรได้รับอนุญาตให้เข้าออกสถานที่ได้ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิ
จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิเช่นกัน
มาตรา
๒๖๗
ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"
เจ้าพนักงาน" ตามมาตรานี้เป็นเจ้าพนักงานทั่วๆ
ไป เป็นเจ้าพนักงานประเภทใดก็ได้และกฎหมายเอาผิดกับผู้แจ้ง
แม้จะมีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยเป็นผู้จดบันทึกให้แก่เจ้าพนักงานก็ตาม
แม้จะเป็นเจ้าพนักงานก็กระทำความผิดตามมาตรานี้ได้ถ้าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เช่น ทำใบรับแจ้งการตายอันเป็นเท็จแล้วนำไปเป็นพยานหลักฐานแจ้งตายต่อนายทะเบียน
การแจ้งที่จะเป็นความผิดต้องเป็นการแจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับแจ้ง
แต่หากเจ้าพนักงานที่ไม่มีหน้าที่แต่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นความผิด
แต่ถ้าเป็นผู้ลงชื่อรับรองในเอกสารที่ผู้อื่นเอาไปแจ้งเท็จก็มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา
๘๓ ประกอบมาตรา ๒๖๗
"เอกสารมหาชน" อาจเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงาน หรือบุคคลอื่นใดที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานทำขึ้นก็ได้ สำหรับ “เอกสารราชการ”
หมายความว่า
เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่และให้หมายรวมถึงสำเนาด้วย
มาตรา ๒๖๘
ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ หรือ
มาตรา ๒๖๗ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้นหรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว
๐๐ แต่ถ้าถ้าเอาไปใช้อย่างกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับความในเอกสารนั้น
เช่น เอาไปพับถุงใส่ของ ไม่ใช่การใช้ตามมาตรานี้ การใช้ตามมาตรานี้ไม่ต้องเป็นการใช้อย่างเอกสารที่แท้จริง
เช่น นำประกาศนียบัตรปลอมออกแสดงต่อสายลับตำรวจดูเป็นตัวอย่าง
เพื่อให้เชื่อถือในฝีมือในการทำการปลอมก็เป็นการใช้ตามมาตรานี้
**** ข้อสังเกต
หากเป็นเอกสารเท็จต้องเป็นเอกสารที่อยู่ในอำนาจของตนที่จะทำเอกสารนั้นได้
แล้วทำขึ้นไม่ตรงต่อความจริง จึงเป็น "เอกสารเท็จ"
แต่ถ้าเป็นเอกสารปลอมต้องเป็นเอกสารที่ผู้กระทำไม่มีอำนาจที่จะทำได้
แต่ทำขึ้นในนามผู้อื่น
๐๐ ข้อควรระวัง
เอกสารเท็จ อาจจะไม่ใช่เอกสารปลอมก็ได้ แต่เอกสารปลอมบางอย่าง
มีข้อความอันเป็นเท็จ(อยู่ในตัว) และเอกสารปลอมบางอย่างก็อาจมีข้อความที่แท้จริงก็ได้
ตัวอย่าง
๑. นายแดงกู้เงินนายขาว ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่ได้ทำสัญญาไว้ นายขาวเกรงว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
นายขาวจึงทำสัญญากู้ขึ้นมาเองฉบับหนึ่ง มีข้อความว่า นายแดงกู้เงินนายขาวไป ๑๐๐,๐๐๐
บาทและลงลายมือชื่อนายแดงเช่นนี้ เป็นเอกสารปลอม แม้จะตรงกับความเป็นจริงก็ตาม (ปลอมแต่ไม่เท็จ)
ตัวอย่าง
๒. สุดาเปิดบัญชีฝากเงินไว้กับธนาคาร กรุงธน โดยใช้ชื่อผู้ฝากว่านภา แล้วเซ็นชื่อนภาลงในคำขอฝากเงิน
เซ็นชื่อในตัวอย่างลายมือชื่อ และให้ธนาคารกรุงธน
ออกเช็คในนามนภา ดังนี้ ไม่เป็นการปลอมเอกสารของผู้ใด
เป็นแต่สุดา ไม่ต้องการใช้ชื่อจริงเท่านั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตาม
มาตรา
๒๖๔ (ฎีกาที่. ๑๕๑/๒๕๐๗)
"เอกสารเท็จ" หรือ "เอกสารซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จ" เป็นเอกสารที่ทำขึ้นมีข้อความเป็นเท็จ
หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ซึ่งผู้ทำเอกสารเท็จจะกระทำโดยมีอำนาจหน้าที่หรือไม่ก็ได้
แต่สาระสำคัญคือไม่มีการกล่าวอ้างว่า ผู้อื่นทำเอกสารนั้น
หรือเป็นเอกสารของผู้ทำเอกสารเอง ไม่ใช่เอกสารของผู้อื่น
ในเรื่องเอกสารเท็จนั้น
ไม่มีบทบัญญัติทั่วไปกำหนดความผิดไว้ดังเช่นกรณีปลอมเอกสาร ซึ่งมีมาตรา ๒๖๔ กำหนดลักษณะทั่วไปของการปลอมเอกสารไว้
แต่เอกสารเท็จนั้นมีบทบัญญัติกำหนดความผิดไว้โดยเฉพาะในบางมาตรา เช่น มาตรา ๑๖๒
(เจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จ) มาตรา ๒๖๗ (แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสาร)
และมาตรา๒๖๙ (ผู้มีวิชาชีพทำคำรับรองเป็นเอกสารเท็จ)
การปรับบทกฎหมาย
ในการปรับบทกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานปลอมเอกสารหรือใช้เอกสารปลอมตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกามีดังนี้
๑. กรณีกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายมาตรา ๒๖๕ หรือ ๒๖๖
คงปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา ๒๖๕ หรือ ๒๖๖ แล้วแต่กรณี
โดยไม่ต้องปรับบทมาตรา ๒๖๔ ด้วย (ฎีกาที่ ๑๗๐๕/๒๕๔๖)
๒. กรณีกระทำความผิดบานใช้เอกสารปลอม ต้องปรับบทมาตรา ๒๖๘
วรรคแรกประกอบมาตรา ๒๖๔ หรือ ๒๖๖ แล้วแต่กรณี (ฎีกาที่ ๑๗๐๕/๒๕๔๖)
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
ฎีกาที่
๒๑๓/๒๕๓๙
การที่จำเลยนำเอาภาพถ่ายของจำเลยเองมาปิดทับลงในสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถของจำเลยถึงแม้จะกระทำไปเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจและบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นต้นฉบับเอกสารที่แท้จริงแต่ในเมื่อเป็นภาพถ่ายของจำเลยและเป็นสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถของจำเลยเองการกระทำของจำเลยย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆแต่ผู้อื่นหรือประชาชนจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารแม้จำเลยจะนำไปใช้ก็ไม่ทำให้จำเลยมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามที่โจทก์ฟ้องไปได้ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามจำเลยผู้ฎีกาก็ยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา
๑๕๙ วรรคสองประกอบมาตรา ๒๒๕
ฎีกาที่ ๖๙๓/๒๕๒๖
รถยนต์ของ
ส.ซึ่งถูกคนร้ายลักไป อ. เคยนำมาซ่อมท่อไอเสียกับจำเลย และแสดงตนว่าเป็นเจ้าของรถ
จำเลยขอยืมรถจาก อ. ไปใช้ แม้รถมีป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปีและป้ายทะเบียนรถยนต์
ซึ่งต่างเป็นเอกสารราชการปลอมเมื่อจำเลยไม่รู้ความจริงดังกล่าว
จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตาม ป.อ.มาตรา ๒๖๘
ฎีกาที่
๑๒๓๗/๒๕๔๔
ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๑ จำเลยไม่มีคู่สมรสเพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับ
ค. แล้วตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๑๕ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๑๔๕๒ การที่จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกันว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส.
นั่นเองการที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับ ส. โดยเชื่อว่าจำเลยไม่เคยสมรสมาก่อนจึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๒๖๗
ฎีกาที่ ๑๔๕๐๕/๒๕๕๗
การปลอมลายมือชื่อของผู้อื่นลงในเอกสารเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก ส่วนการกรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้นั้นเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๒๖๔ วรรคสอง ซึ่งองค์ประกอบของการกระทำในมาตรา ๒๖๔ วรรคแรก และวรรคสองแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ เป็นการปลอมลายมือชื่อหรือเป็นการปลอมข้อความ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การปฏิเสธซึ่งเท่ากับต่อสู้ว่าไม่ได้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ แต่หากทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันนำเอกสารที่มีลายมือชื่อโจทก์และมีข้อความซึ่งข้อความนั้นไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดงโดยไม่ได้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาะระสำคัญ ทั้งทำให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ต่อสู้คดีไปโดยผิดหลง ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง
ฎีกาที่ ๑๔๕๐๕/๒๕๕๗
การปลอมลายมือชื่อของผู้อื่นลงในเอกสารเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก ส่วนการกรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้นั้นเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๒๖๔ วรรคสอง ซึ่งองค์ประกอบของการกระทำในมาตรา ๒๖๔ วรรคแรก และวรรคสองแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ เป็นการปลอมลายมือชื่อหรือเป็นการปลอมข้อความ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การปฏิเสธซึ่งเท่ากับต่อสู้ว่าไม่ได้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ แต่หากทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันนำเอกสารที่มีลายมือชื่อโจทก์และมีข้อความซึ่งข้อความนั้นไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดงโดยไม่ได้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาะระสำคัญ ทั้งทำให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ต่อสู้คดีไปโดยผิดหลง ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง
ขอให้ทุกท่านมีความสุขนะคะ บุญรักษาทุกท่านค่ะ
By กานต์
๑๖/๕/๖๐
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น