วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

ทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหาย



รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายผู้ซื้อต้องผ่อนชำระต่อหรือไม่


มีหลายๆ คนสอบถามผู้เขียนมาบ่อยๆ ว่ารถที่เช่าชื้อถูกลักไป เรายังต้องผ่อนชำระราคาต่อหรือไม่ เหตุเพราะบริษัทไฟแนนซ์ (finance) ที่รับชำระค่าเช่าซื้ออ้างว่าในสัญญาที่เช่าซื้อมีข้อสัญญาหนึ่งที่ระบุว่า “ผู้เช่าซื้อทรัพย์สินยอมรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียจากการใช้ เก็บรักษาที่เช่าซื้อ หรือทรัพย์ที่เช่าซื้อถูกโจรกรรม, สูญหาย ด้วยเหตุใด ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว....” วันนี้ผู้เขียนเลยอยากมาขอเล่าเรื่องสัญญาเช่าซื้อเพิ่มเติมจากที่เคยเล่าเรื่องสิทธิของผู้เช่าซื้อในการขายทอดตลาดรถที่เช่าซื้อไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยในครั้งก่อนนั้นผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึง สัญญาเช่าซื้อที่เลิกกันไปเพราะเหตุทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายหรือถูกทำลาย ในครั้งนี้ผู้เขียนจะได้ยกเหตุผลจากคำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบกับบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาลองให้ศึกษาดูกันนะคะ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “เช่าซื้อ คือ อะไร”


สาระสำคัญของสัญญาเช่าซื้อ
เช่าซื้อ (Hire Purchase) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า เช่าซื้อ คือ “สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว


จากบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ สามารถพิจารณาได้ดังนี้
๑. สัญญาเช่าซื้อมีคู่สัญญา ๒ ฝ่าย คือ ผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อ
๑) ผู้ให้เช่าซื้อ คือ เจ้าของนำเอาทรัพย์สินนั้นออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
๒) ผู้เช่าซื้อ คือ ผู้เช่าที่ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ และจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวเมื่อตนใช้เงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว

***ข้อสังเกต เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาบวกด้วยคำมั่นว่าจะขาย ดังนั้น กรณีใดที่ไม่ได้บัญญัติในเรื่องเช่าซื้อ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติในเรื่องเช่าทรัพย์

๒. วัตถุแห่งสัญญาเช่าซื้อ เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 “เจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า...” แสดงว่า วัตถุแห่งสัญญาเช่าซื้อมิได้จำกัดเฉพาะวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ มิได้จำกัดเฉพาะว่าวัตถุนั้นต้องเป็นสังหาริมทรัพย์แต่อาจจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือวัตถุที่ไม่มีรูปร่างก็ได้

๓. ผู้ให้เช่าซื้อต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อ ซึ่งเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ผู้ให้ซื้อจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้เช่าซื้อ ดังนั้น บุคคลใดที่มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินจะนำทรัพย์สินดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นเช่าซื้อไม่ได้ กรณีไม่เหมือนสัญญาเช่าทรัพย์ซึ่งผู้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เช่า แต่ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ให้เช่าซื้ออาจเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะทำสัญญาเช่าซื้อ และรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ เช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่ง “เจ้าของ” เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น “เจ้าของ” แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคต หาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ “เจ้าของ” ในที่นี่จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อ และหมายความรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาทจากบริษัท ต. แม้จะเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขที่จะได้กรรมสิทธิ์ต่อเมื่อได้ชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาทโดยเจตนาครอบครองใช้สอยอย่างเจ้าของ จะได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกพิพาทเมื่อชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนตามสัญญา โดยมีเงื่อนไขนั้นแล้ว โจทก์จึงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อได้ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น “เจ้าของ” ตามมาตรา ๕๗๒ มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อย่อมสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ (ฎีกาที่ ๓๑๑๑/๒๕๓๙ และฎีกาที่ ๕๘๑๙/๒๕๕๐)


ปัญหาคือ ในระหว่างที่เราเช่าซื้อรถ โดยการผ่อนชำระราคาเป็นงวดๆ นั้น รถยนต์/จักยานยนต์พิพาท ที่ครอบครองอยู่ในระหว่างนั้น ได้ถูกลักไป เราซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อต้องผ่อนชำระราคาต่อไปหรือไม่ ประเด็นนี้ได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาวางแนววินิจฉัยไว้ว่า

“รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปการที่รถยนต์สูญหายย่อมเป็นภัยพิบัติแก่โจทก์เป็นทำนองว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป..... ในข้อนี้ได้ความตามสัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๐ เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ ๙ จึงเป็นงวดประจำวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ ๑ ผิดนัดงวดที่ ๙ นับแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๑ แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๑ จึงไม่ชอบ ทั้งจำเลยทั้งสองยังเบิกความยืนยันว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๑ และได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานโดยโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๗ ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเลิกกันนับแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ ๑ โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๔. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้ การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัยและตามข้อ ๗. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใดๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหายค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หากพฤติการณ์ปรากฏว่าสูงเกินส่วนศาลย่อมกำหนดให้ตามสมควรแก่ความเสียหายได้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายในการติดตามรถตามที่กำหนดในสัญญาและศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โดยถือว่าเป็นเบี้ยปรับนั้น ถือได้ว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องแล้ว" (ฎีกาที่ ๑๐๔๑๗/๒๕๕๑)


เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สัญญาเช่าซื้อได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๗ เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป และได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานต่อเจ้าพนักงานสอบสวนแล้ว ผู้เช่าซื้อจึงไม่จำต้องชำระราคาค่าเช่าซื้ออีก แต่หากผู้เช่าซื้อค้างชำระราคาค่างวดในวันก่อนที่รถยนต์จะถูกลักไป ผู้เช่าซื้อก็ยังมีหน้าที่ต้องชำระราคาค่างวดที่ค้างชำระพร้อมค่าติดตามทวงถามจนถึงวันที่รถยนต์ถูกลักไปให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ ส่วนการตกลงยอมรับผิดชอบตามสัญญาที่ปรากฏนั้น ศาลได้วินิจฉัยว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับ เมื่อสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๘๓ “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป”


ประเด็นที่จะกล่าวต่อไปคือ ผู้เช่าซื้อนำทรัพย์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายแก่บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าซื้อได้หรือไม่ ในกรณีเช่าซื้อนี้ เราพึงระลึกไว้เสมอว่า ทรัพย์ที่เช่านั้น ผู้ให้เช่าซื้อยังเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นอยู่ ผู้เช่าซื้อเป็นเพียงผู้ครอบครองและมีสิทธิ์ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น เมื่อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วเท่านั้น แต่ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ ดังนั้น หากผู้เช่าซื้อนำทรัพย์ที่เช่าซื้อไปขายโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่าซื้อจึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อ


คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๗๒๗/๒๕๔๔

จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม ๓๖ งวดมีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้วจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืนเมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้วแต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่


ต่อไปเรามาพิจารณาสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าซื้อบ้าง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อว่ามีหน้าที่ต่อกันเช่นไรบ้าง โดยให้นำบทบัญญัติในเรื่องซื้อขาย และเช่าทรัพย์ มาใช้กับการเช่าซื้อด้วยในฐานะที่เป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

สิทธิของผู้เช่าซื้อ
๑. มีสิทธิได้รับมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อในสภาพที่ปลอดจากความชำรุดบกพร่อง
๒.ต้องใช้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อตามปกติ หรือตามข้อตกลงในสัญญา
๓.ต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ เช่นวิญญูชนพึงรักษาสงวนทรัพย์ของตนเอง
๔.ไม่ต่อเติม หรือดัดแปลงทรัพย์สินที่เช่าซื้อ
๕.ชำระราคาค่าเช่าซื้อเป็นจำนวนเงินเท่านั้นคราวเท่านี้คราว
๖.ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินที่เช่า อันเนื่องมาจากความผิดผู้เช่าหรือผู้เช่าช่วง
๗.รับผิดในการออกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา หรือซ่อมแซมทรัพย์นั้น ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อ แล้วได้บอกเลิกสัญญากันแล้ว และผู้เช่าซื้อต้องคืนทรัพย์นั้นให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ
๘.มีสิทธิในการฟ้องร้องคดี หรือติดตามเอาทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนจากผู้ที่ไม่มีสิทธิ ผู้เช่าซื้อมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแก่ผู้ที่ทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหาย หรือยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อได้ เนื่องจากผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ ในกรณีที่ต้องคืน


อนึ่ง ในการผิดสัญญาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากว่าสัญญาเช่าซื้อนั้นมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เช่าซื้อมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สิน และมีสิทธิได้รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อนั้นยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในระหว่างที่ผู้เช่าซื้อยังชำระราคาไม่ครบถ้วน ดังนั้น ผู้เช่าซื้อจึงต้องเคารพในกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อจนกว่าจะชำระราคาครบตามข้อตกลง ถ้าผู้เช่าซื้อนำทรัพย์สินไปจำนำและไม่ชำระเงิน ถือว่าผิดสัญญาเช่าซื้อ เจ้าของมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและผู้เช่าซื้อมีความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ได้อีก เนื่องจากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้ออยู่

และในกรณีที่ผู้เช่าซื้อกระทำผิดสัญญา เพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นงวดสุดท้ายนั้น เจ้าของทรัพย์สิน มีสิทธิจะริบบรรดาเงินที่ชำระมาแล้วแต่ก่อน และยึดทรัพย์กลับคืนไปได้ต่อเมื่อรอให้ผู้เช่าซื้อมาชำระราคาเมื่อถึงกำหนดชำระราคาในงวดถัดไป ถ้าไม่มาผู้ให้เช่าซื้อริบเงินได้


คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๖/๒๕๕๑

แม้ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าซื้อ

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าบทความเรื่องนี้คงมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย บุญรักษาค่ะ


By กานต์

มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า

  ตอนที่ ๑           บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามี...