วันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2560

อุ้มบุญหรือการค้า

“อุ้มบุญหรือการค้า

                         อันเนื่องมาจากข่าวที่โด่งดังและสร้างความงุนงงแก่ประชาชนในกรณีที่ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจังหวัดหนองคายจับกุม นายนิธินทน์ ศรีธานิยานันท์  อายุ ๒๕ ปี พร้อมของกลางคือถังไนโตรเจน ภายในบรรจุหลอดใส่อสุจิจำนวน ๖ หลอด ซึ่งเป็นอสุจิของชาวจีนและชาวเวียดนาม ขณะกำลังเดินทางออกนอกประเทศ ณ ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จังหวัดหนองคาย ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของประชาชนส่วนใหญ่คือ การนำเข้าหรือส่งออก น้ำเชื้อหรืออสุจินั้น เป็นความผิดตามกฎหมายด้วยหรือไม่

                         ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘ นั้น ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในมาตรา ๔๑ ไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอซื้อ ขาย นําเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน” ดังนั้น การกระทำตามข่าวดังกล่าวจึงเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ มาตรานี้  ส่วนการ “อุ้มบุญ” หรือการตั้งครรภ์ ในกรณีสามีภริยาที่มีข้อบกพร่องในการมีบุตรนั้น กฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดวิธีการ “อุ้มบุญ” ให้ถูกต้องตามกฎหมายไว้ ซึ่งหมายความว่า ตั้งแต่พระราชบัญญัตินี้ได้ประกาศใช้แล้วประเทศไทยได้อนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์เพื่อให้สามีภริยาที่ไม่สามารถมีบุตรได้เองตามธรรมชาติ ได้มีโอกาสมีบุตรโดยถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะออกพระราชคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์นั้น ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า การ ”อุ้มบุญ” นั้น เป็นการผิดศีลธรรมหรือไม่ ซึ่งบางฝ่ายเห็นว่า การตั้งครรภ์แทน (Surrogacy) เป็นกิจกรรมที่ฝ่าฝืนธรรมชาติของมนุษย์ เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากเนื้อตัวร่างกายโดยมิชอบ ก่อให้เกิดอาชีพรับจ้างตั้งครรภ์ อันเป็นการกระทำไม่ต่างกับการซื้อขายเด็ก ผิดศีลธรรม มีผลกระทบต่อเด็กและสังคมโดยรวม หากภายหลังเด็กคลอดออกมาเป็นการคลอดก่อนกำหนด, เด็กพิการ หรือระหว่างตั้งครรภ์ สามีภริยาที่ให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทนเกิดเปลี่ยนใจภายหลังจะทำอย่างไรต่อเด็กที่เกิดมา หรือคลอดมาปรากฏว่าเป็นแฝดหลายคน แต่สามีภริยานั้น ต้องการบุตรเพียงคนเดียว แฝดที่เหลือจะทำเช่นไร ใครจะดูแล ซึ่งผู้ที่ไม่ เห็นด้วยมีความเห็นว่า เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ[1]

                         ก่อนหน้านั้นการตั้งครรภ์แทนไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องมีความผิดและมีโทษทางอาญา ยกเว้นแต่มีการใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจจนเกิดการซื้อขายเด็ก อันการกระทำความผิดเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทั้งสถานพยาบาล แพทย์ ผู้ซื้อและผู้ขาย ก็ถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน
อีกประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าควรทราบไว้เพื่อเป็นความรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง  “อุ้มบุญ” กับ เด็กหลอดแก้ว ซึ่งมีความแตกต่างกัน ความหมายของ “เด็กหลอดแก้ว” (In Vitro Fertilisation) หมายถึง ขั้นตอน การปฏิสนธิสังเคราะห์ โดยการนำเซลล์ไข่ ออกมาจากร่างกายของผู้หญิง แล้วปล่อยให้สเปิร์ม ทำการปฏิสนธิกับไข่ภายในภาชนะบรรจุของเหลว หลังจากนั้น จึงถ่ายไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วไปยังมดลูกของผู้หญิงเพื่อให้การตั้งครรภ์นั้นสมบูรณ์ ส่วนการ “อุ้มบุญ” คือ การเลือกผู้หญิงที่มาตั้งครรภ์กับอสุจิที่เตรียมไว้ เมื่อไข่และอสุจิปฏิสนธิกันเกิดเป็นตัวอ่อนแล้วจึงทำการผ่าตัดย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก[2]
ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ขึ้นมาบังคับใช้ การ “อุ้มบุญ” หรือการตั้งครรภ์แทนโดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมาย ผู้เขียนได้สรุปมาตราสำคัญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับนี้มาไว้เพื่อศึกษากัน ดังนี้

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘

                        พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ พ.ศ.๒๕๕๘ ในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๘ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
ทางการแพทย์ พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี ผู้เสนอ) ที่ประชุมลงมติสมควรประกาศเป็นกฎหมาย จากนั้นนำขึ้น
ทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๓๘ ก/ หน้า ๑/๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘

@ เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า อุ้มบุญ
เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมโดยทั่วไป เพราะเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยผู้ที่มีบุตรยากให้มีบุตรได้ด้วยวิธีต่างๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอุ้มบุญทั้งหมด ได้แก่ เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์หรือ เด็กอุ้มบุญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งภรรยาไม่อาจตั้งครรภ์ที่ประสงค์จะมีบุตร  โดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆในกระบวนการนี้ ต้องมีความเข้าใจในกฎหมายเรื่องนี้อย่างดี เพราะมีข้อกฎหมายที่มีความสำคัญกับผู้เกี่ยวข้องอย่างละเอียดที่จะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความสงบสุขเรียบร้อยในครอบครัว
                         สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการบำบัดรักษาภาวะ การมีบุตรยากสามารถช่วยให้ผู้ที่มีภาวะ การมีบุตรยากได้โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ อันมีผลทำให้บทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันในเรื่องความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ไม่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ในทางพันธุกรรม ดังนั้นเพื่อกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ให้เหมาะสม ตลอดจนควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

พระราชบัญญัตินี้มีประเด็นที่น่าสนใจ โดยสรุปได้ดังนี้

๑. คำนิยามศัพท์
คำนิยามศัพท์ที่ใช้ในพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ อสุจิหมายความว่า เซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย
ไข่หมายความว่า เซลล์สืบพันธุ์ของเพศหญิง
การผสมเทียมหมายความว่า การนำอสุจิเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงเพื่อให้หญิงนั้นตั้งครรภ์
โดยไม่มีการร่วมประเวณี
เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์หมายความว่า กรรมวิธีใดๆ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่นำอสุจิและไข่ออกจากร่างกายมนุษย์ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ รวมทั้งการผสมเทียม
ตัวอ่อนหมายความว่า อสุจิและไข่ของมนุษย์ซึ่งรวมกันจนเกิดการปฏิสนธิไปจนถึงแปดสัปดาห์
ทารกหมายความว่า ตัวอ่อนของมนุษย์ที่มีอายุเกินกว่าแปดสัปดาห์ ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกมดลูกของมนุษย์
การตั้งครรภ์แทนหมายความว่า การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์  โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้กับสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนตั้งครรภ์ว่าจะให้ทารกในครรภ์เป็นบุตรของสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น

๒. การให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์
                              ๒.๑  ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามและต้องปฏิบัติตามมาตรฐานในการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ ทั้งนี้ ตามที่แพทยสภาประกาศกำหนดโดยให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ  (มาตรา ๑๕)
                               ๒.๒ ก่อนให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์จะต้องจัดให้มีการตรวจและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนและผู้บริจาคอสุจิหรือไข่ที่จะนำมาใช้ดำเนินการ รวมทั้งการป้องกันโรคที่อาจมีผลกระทบต่อเด็กที่จะเกิดมาด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่แพทยสภาประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ (มาตรา ๑๖)

๓. เงื่อนไขในการดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน ตามมาตรา ๒๑ มีดังนี้
                           ๑) สามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี (จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายตามสัญชาติของผู้นั้น)
                            ๒) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ๑)
                           ๓) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ข้อ ๑) ในกรณีที่ไม่มีญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนได้ (ซึ่งเป็นยกเว้นที่สามีภริยานั้นไม่มีญาติสืบสายโลหิต เพื่อป้องกันการรับจ้างตั้งครรภ์)
                           ๔) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าหญิงนั้นมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยา จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายดังกล่าวด้วย

๔. การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนกระทำได้  ๒  วิธี ดังต่อไปนี้ (มาตรา ๒)
                          ๑) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์
                          ๒) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น ทั้งนี้ ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน

๕. การผสมเทียมมีหลักเกณฑ์มีวิธีการดังนี้  การผสมเทียมต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับการผสมเทียมที่แพทยสภากำหนด ส่วนการผสมเทียมโดยใช้อสุจิของผู้บริจาคต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการผสมเทียม (มาตรา ๑๙, ๒๐ )

๖. การรับจ้างตั้งครรภ์นั้นเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๒๔ ห้ามมิให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้ารวมทั้งห้ามกระทำการเป็นคนกลางหรือนายหน้า โดยเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนในการจัดการหรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน (มาตรา ๒๗) และห้ามประกาศโฆษณาไขข่าวให้แพร่หลายด้วยประการใดๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนว่ามีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น หรือมีบุคคลที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน (มาตรา ๒๘ )
                             ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวเบื้องต้นนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนรับจ้างตั้งครรภ์ตามมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้เป็นไปมาตรา 48
๗. เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์ไม่ว่าจะเกิดจาก อสุจิไข่ หรือตัวอ่อนของผู้บริจาค ไม่ว่าจะกระทำโดยการให้ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีซึ่งประสงค์จะมีบุตรเป็นผู้ตั้งครรภ์ หรือให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น ให้เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตร

*** ชายหรือหญิงที่บริจาคอสุจิหรือไข่ซึ่งนำมาใช้ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์หรือผู้บริจาคตัวอ่อนและเด็กที่เกิดจากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่บริจาคดังกล่าว ไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กนี้ มาตรา ๒๙

@การแจ้งเกิดเด็กให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนมีหน้าที่แจ้งการเกิด
ของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

** ในกรณีสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงแก่ความตาย ก่อนเด็กเกิด ไม่อยู่ในประเทศไทย หรือไม่ปรากฏตัวภายหลังจากการคลอดเด็กนั้น ให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีหน้าที่แจ้งการเกิดของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนดังกล่าว (มาตรา ๓๒)

@ ห้ามมิให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์
จะมีบุตรโดยการตั้งครรภ์แทนปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน (มาตรา ๓๓)
๘. การควบคุมการดำเนินการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การแพทย์
                                    ๑) ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์รวมทั้งรับฝาก รับบริจาค ใช้ประโยชน์จากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน หรือทำให้สิ้นสภาพของตัวอ่อน (มาตรา ๓๕)
                                   ๒) ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน (มาตรา ๔๒)

By ณัชกานต์





[1] www.sensiblesurrogacy.com
[2] “คมชัดลึก”,ฉบับประจำวันที่  7/8/57

ไม่มีความคิดเห็น:

มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า

  ตอนที่ ๑           บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามี...