Blog นี้ผู้สร้าง สร้างขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป และสำหรับผู้ที่กำลังศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย แม้ประโยชน์อันใดที่เกิดแก่ทุกท่านจากบทความเหล่านี้ ขอมอบความดีและกุศลทั้งหลายที่พึงมีให้แก่ อาจารย์ที่ประสิทธิประสาทวิชาให้แก่ผู้เขียน กระทั่งถึงผู้ถ่ายทอดวิชาการว่าความในชั้นศาลให้แก่ผู้เขียน บิดา มารดา ญาติสนิทมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ขอกุศลผลบุญนั้น จงดลบันดาลให้ทุกท่านได้พบแต่ความสุขความเจริญตลอดไป ด้วยจิตรคารวะ ณัชกานต์ 089 743 1717
วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560
รุมโทรมหรือสมยอม
“รุมโทรม” หรือ “สมยอม”
ข่าวเกี่ยวกับเด็กประเด็นดังข้ามอาทิตย์ตอนนี้ คงไม่มีข่าวไหนดังเท่ากับข่าว เด็กหญิงอายุ ๑๔ ปีถูกรุมโทรมอีกแล้วคดีนี้พัวพันกับบุคคลหลายคนทั้งบุคคลธรรมดาและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งยังมีข้อหาหลายฐานความผิด อีกทั้งตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมาหลังจากงานเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไป ได้มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเพศต่อเด็กหญิง และเยาวชน ออกมาอย่างไม่เว้นแต่ละวัน ผู้เขียนนั่งชมข่าวไปคิดแง่มุมในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไปด้วย ทำให้นึกอยากถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรเพื่อเก็บไว้อ่านทบทวนและเผยแผ่ให้แก่บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสทำความเข้าใจไปด้วย โดยจะยกเอาความผิดเกี่ยวกับเด็กหญิงที่จังหวัดสุพรรณบุรีมาอธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจะพยายามเขียนให้อ่านเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน เรียงข้อหาความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างง่ายๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจโดยไม่ยากนัก และเป็นการเขียนอธิบายฐานความผิดเกี่ยวกับความผิดทางเพศไปพร้อมกันด้วย
จากประเด็นข่าวที่กล่าวอ้างว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นโดยมารดาของเด็กหญิงได้เข้าร้องเรียนให้ช่วยคลี่คลายคดีกรณีที่ บุตรสาวของตนซึ่งมีอายุเพียง ๑๔ ปี ได้ตกเป็นเหยื่อถูกรุมโทรมในร้านเกมส์แห่งหนึ่ง ซึ่งตนได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนแล้วแต่ คดีไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และมารดาของเด็กหญิงยังออกมาเปิดโปงถึงการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานสอบสวนอีกด้วย โดยอ้างว่า พนักงานสอบสวนพยายามไกล่เกลี่ยให้ยอมความกันและอ้างว่า บุตรสาวของตนให้ความยินยอมมิใช่การข่มขืนใจแต่อย่างใด เหตุการณ์ในครั้งนี้ เมื่อสืบสวนลึกลงไปกลับพบว่ามีการนำตัวเด็กหญิงผู้เคราะห์ไปส่งขายบริการทางเพศ ให้แก่ชายวัยกลางคนอีกด้วย หากความจริงปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง คดีนี้จึงมิใช่การกระทำความผิดเฉพาะกฎหมายอาญาเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายพิเศษอีกด้วย ลองมาดูกันสิว่า เหตุการณ์นี้เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายใด และฐานความผิดใดบ้าง เริ่มจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาก่อน
ประเด็นแรก ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามีบัญญัติไว้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ว่า
มาตรา ๒๗๖ ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุก..........
การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุก..........
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้
มาตรา ๒๗๗ ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสามได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกันและเด็กนั้นไม่ยินยอมหรือได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กอายุกว่าสิบสามปีแต่ไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ให้ศาลปล่อยผู้กระทำผิดนั้นไป
ตามกฎหมายอาญาดังกล่าวเบื้องต้นนี้ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ใด.....” ดังนั้น คำว่า “ผู้ใด” จึงหมายถึงใครก็ได้ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย การข่มขืนกระทำชำเราในปัจจุบันนี้ ผู้กระทำความผิดจึงอาจเป็นเพศใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชายเสมอไป และผู้ถูกกระทำจะเป็นใครก็ได้แม้แต่ภริยาของตนเองก็เป็นความผิดดังจะเห็นได้ตาม วรรคท้ายของมาตราดังกล่าว ซึ่งตามกฎหมายเดิมใช้คำว่า “ชายใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยา.....” อันเป็นการจำกัดความผิดของผู้กระทำผิดให้มีได้เฉพาะผู้มิใช่ภริยา ในปัจจุบันนี้กฎหมายได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ปัจจุบันที่สิทธิระหว่างหญิง-ชายย่อมเท่าเทียมกัน และเป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ อีกด้วย
เมื่อสังเกตตามกฎหมายมาตรานี้ จะเห็นว่าลักษณะของการกระทำความผิดในวรรคสอง ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าการกระทำลักษณะใดที่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย มิใช่การกระทำที่นำอวัยวะเพศชายล่วงเข้าไปในอวัยวะเพศหญิงหนึ่งองคุลีจึงจะถือได้ว่าเป็นการกระชำเรา ดังที่ศาลฎีกาท่านได้ตีความไว้ในคำพิพากษามาก่อน ดังนั้น ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
**ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำอาจเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศกันก็ได้ ผู้กระทำอาจใช้อวัยวะเพศหรือสิ่งอื่นใดในการกระทำก็ได้ เช่น นิ้วหรือปาก หรืออวัยวะเพศเทียมก็ได้ และการกระทำชำเรานี้จะต้องเป็นการกระทำเพื่อเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำไม่ใช่สนองความใคร่ของผู้อื่นหรือเป็นการแสดง
๐๐ที่จำเลยให้ผู้เสียหายอมอวัยวะเพศของตนเพื่อสนองความใคร่เป็นการกระทำชำเราสำเร็จแล้ว หากเพียงให้ใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศเท่านั้น ยังไม่เป็นการกระทำชำเรา (ฎีกาที่ ๑๕๐๙/๒๕๕๓)
@ความคิดขณะทำงานในคดีประเภทนี้คือ ไล่ฐานความผิดทีละฐาน และมักมาสะดุดที่ การกระทำความผิดข่มขืนกระทำชำเรานี้ เป็นความผิดฐานอนาจารด้วยหรือไม่ คำตอบมีดังนี้
การกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา มีความผิดฐานอานาจารรวมอยู่ด้วยในตัวเอง ดังนั้น เมื่อผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแล้ว ความผิดฐานอนาจารย่อมเกลื่อนกลืนไปกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (ฎีกาที่ ๔๐๘๓/๒๕๔๘) ในที่นี้ผู้เขียนจึงขอละเว้นไม่อธิบายถึงลักษณะความผิดของฐานความผิดอนาจารในบทความนี้ เนื่องจากความผิดฐานอนาจารได้เกลื่อนกลืนไปกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแล้ว
ในกรณีของผู้เสียหายตามข่าวมีอายุเพียง ๑๔ ปี ดังนั้น จึงต้องพิจารณา ตามมาตรา ๒๗๗ ด้วย ตามมาตรา ๒๗๗ นี้ที่ระบุว่าอายุไม่เกิน ๑๕ ปี นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบของความผิด ดังนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาด้วย (ตามมาตรา ๕๙ วรรคสาม)
การกระทำชำเราตามมาตรานี้ ไม่ต้องคำนึงว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ หากเป็นการกระทำระหว่างสามีภริยาที่อายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี โดยศาลยินยอมให้สมรสนั้น การกระทำของสามีไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่เป็นความผิดตามมาตรา ๒๗๖ เพราะภริยาไม่ยินยอม และหากเด็กชายอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ร่วมประเวณีกับเด็กหญิงอายุไม่เกิน ๑๕ ปี แม้จะด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงก็มีความผิดตามมาตรานี้ทั้งสองคน และยังอาจไม่ได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา ๗๔ ด้วย ถ้าเด็กชายและเด็กหญิงดังกล่าวมีอายุเกิน ๑๔ ปีแล้วต้องไปอาศัยการสมรสกันโดยศาลอนุญาต จึงอาจได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา ๒๗๗ วรรคท้าย (๒๒๖๙/๒๕๔๔)
การกระทำร่วมกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมนั้น เด็กจะต้องไม่ยินยอมด้วย ส่วนวรรคท้าย เป็นบทยกเว้นโทษ ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลที่มีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี กระทำต่อเด็กอายุกว่า ๑๓ ปี แต่ไม่เกิน ๑๕ ปี โดยเด็กนั้น ต้องยินยอมด้วย ถ้าเด็กไม่ยินยอม แม้ภายหลังศาลจะอนุญาตให้สมรสกันก็ไมเข้าเงื่อนไขในอันที่จะไม่ต้องรับโทษตามมาตรา ๒๗๗ วรรคท้าย หรือการกระทำอันมีลักษณะเป็นการโทรมโดยเด็กไม่ยินยอมก็ไม่ได้รับการยกเว้นโทษเช่นกัน มีข้อสังเกตคือ การที่ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเป็นเพศเดียวกันย่อมไม่อาจสมรสกันได้ ดังนั้น จึงไม่มีกรณีที่จะได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรานี้
การกระทำตามข่าวดังกล่าวที่อ้างว่ามีการรุมโทรมนั้น ลองมาพิจารณาดูกันว่าแบบใดลักษณะใดคือการโทรมหญิง เพราะโทรมหญิงนั้นเป็นลักษณะเหตุที่ทำให้ผู้กระทำต้องได้รับโทษหนักขึ้น และการที่ผู้ต้องหาตามข่าวอ้างว่าพวกตนมิได้รุมโทรม แต่เป็นการชำเราเด็กหญิงต่างเวลาและสถานที่กันนั้นจะเข้าหรือไม่เข้าฐานความผิดในเรื่องโทรมหญิงหรือไม่ การกระทำความผิดในลักษณะโทรมหญิงนั้น มีข้อควรพิจารณาดังนี้
๑. ต้องมีการผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป
๒. แม้คนหนึ่งข่มขืนจนสำเร็จความใคร่ แต่อีกคนหนึ่งแค่พยายามก็ยังถือว่าเป็นการโทรมหญิง (ฎีกาที่ ๓๐๐๗/๒๕๓๒)
๓.ถ้าคนหนึ่งกระทำชำเราเสร็จแต่อีกคนยังกระทำไม่ถึงขั้นพยายามไม่ถือว่าเป็นการโทรมหญิง เช่น ถอดกางเกงรอเป็นต้น
๔. เมื่อได้มีการกระทำอันเป็นลักษณะโทรมหญิง โดยกระทำตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปแล้ว หากยังมีพวกที่ร่วมกระทำด้วยแต่ยังไม่ทันได้ชำเราก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงด้วย
๕. การโทรมหญิงนี้อาจเป็นการกระทำที่ผู้กระทำคนหนึ่งเป็นชายแต่ผู้กระทำอีกคนหนึ่งเป็นหญิงก็ได้
๖. ผู้กระทำคนแรกชำเราโดยใช้อวัยวะเพศกระทำต่ออวัยวะเพศของผู้ถูกกระทำ แต่ผู้กระทำคนที่สองที่ผลัดเปลี่ยนกันทำอาจใช้อวัยวะเพศกระทำกับทวารหนัก หรือช่องปากของผู้ถูกกระทำก็ถือว่าเป็นการโทรมหญิงตามมาตรานี้
๐๐การที่นายจ้างข่มขืนกระทำชำเราหญิงในห้องแล้วออกมาเจอลูกจ้างจึงบอกให้เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราอีก โดยไม่ได้ร่วมกันทำในตอนนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นโทรมหญิง (ฎีกาที่ ๑๙๖๕/๒๕๒๔) แต่ถือว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้ที่เป็นลูกจ้าง (เทียบฎีกาที่ ๑๔๘๙/๒๕๔๓)
เมื่อเราทราบถึงลักษณะของการกระทำความผิดฐานนี้แล้ว เราคงพิจารณาได้ว่า เหตุการณ์ตามข่าวที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้ต้องหาหลายคนนั้น ช่วงใดเวลาใดผู้ต้องหากลุ่มใดมีการกระทำความผิดที่เข้าลักษณะโทรมหญิงบ้าง
ประเด็นที่สอง คือ อายุของเด็กผู้ถูกกระทำ ข่าวที่เกิดขึ้นมีการระบุชัดเจนว่า ผู้ถูกกระทำเป็นเด็กหญิงอายุ ๑๔ ปี ดังนั้น เมื่อเด็กหญิงมีอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปีบริบูรณ์ จึงถือว่าเป็นผู้เสียหายยังเป็นเด็ก เมื่อมีการพาเด็กนั้นไปเสียจากบิดา-มารดา หรือผู้ปกครอง แม้เด็กนั้นจะยินยอมก็เป็นความผิดฐาน “พรากผู้เด็ก”
มาตรา ๓๑๗ ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุก...... ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้นถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก.....
เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “พราก” เสียก่อนว่าการ “พราก” นั้นมีความหมายว่าอย่างไร การ “พราก” หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแลแม้จะชักชวนแนะนำเด็กให้ไปกับผู้กระทำโดยมิได้หลอกลวง และเด็กเต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ ถ้าเด็กไม่ได้อยู่ในความดูแล หรือผู้เยาว์ไม่ได้อยู่ในความดูแลของผู้ใดเลยก็จะมีการพรากเด็กหรือผู้เยาว์ไปจากผู้ดูแลไม่ได้
การกระทำผิดตามมาตรานี้ จะต้องปรากฏว่าผู้ถูกกระทำเป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ความผิดฐานพรากกับความผิดฐานกระทำชำเรา หรือกับพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดคนละกรรมกัน
ตามมาตรา ๓๑๗ วรรคสอง , ๓๑๘ วรรคสอง และ ๓๑๙ วรรคท้าย ผู้รับเด็กไว้จะเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็เป็นความผิด แต่การพรากไปเพื่อไปเป็นภริยาไม่ใช่การพรากไปเพื่ออนาจารไม่มีความผิดตามมาตรา ๓๑๙ (๑๘๐๖/๒๕๓๓) แต่ถ้าไม่มีเหตุอันควรก็ผิดตามาตรา ๓๑๗ วรรคแรกได้
การ “พราก” เด็ก หรือผู้เยาว์ เป็นความผิดตามกฎหมายแม้ว่าเด็ก หรือผู้เยาว์จะเต็มใจและยินยอมไปกับผู้กระทำก็ตาม เพราะเป็นการละเมิดอำนาจปกครองของบิดา-มารดา หรือผู้ปกครองที่ดูแลเด็กนั้น ซึ่งกฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตัวเด็ก หรือผู้เยาว์ผู้ถูกพราก ดังนั้น ผู้เสียหายคือบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดทั้งสองมาตรานี้คือ บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ไม่ใช่เด็ก หรือผู้เยาว์ ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายตามข่าวได้ถูกล่อลวงไปผู้กระทำจึงมีความผิดฐานพรากเด็กด้วยอีกฐานความผิดหนึ่ง นอกเหนือจากความผิดข่มขืนกระทำชำเรา
ประเด็นที่สาม ความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่ออนาจาร อันเนื่องมาจากมีการกล่าวอ้างว่ามีน้องสาวของผู้ต้องหาคนหนึ่งได้พาเด็กผู้เสียหายไปส่งขายบริการทางเพศให้แก่ชายวัยกลางคน โดยได้ติดต่อผ่าน ผู้ต้องหาที่เป็นสาวประเภทสองให้หาลูกค้าเพื่อมาซื้อบริการ
มาตรา ๒๘๒ ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุก.....
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก.....
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก.....
ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น รับตัวบุคคลซึ่งมีผู้จัดหา ล่อไป หรือพาไปตามวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
ผู้เขียนใคร่ขออธิบายฐานความผิดฐานนี้โดยการแยกเป็นให้พิจารณาเป็นข้อๆ ดังนี้
๑. กฎหมายใช้คำว่าชายหรือหญิง ดังนั้น ผู้ที่ถูกพาไปอาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้
๒. แม้ผู้ถูกพาไปจะยินยอมก็เป็นความผิด
๓. ต้องมีเจตนาตามมาตรา ๕๙ และต้องมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และเพื่ออานาจารด้วย
๔. ถ้าพาไปเพื่อสนองความใครของผู้ที่พาไปไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
๕. ถ้าพาไปเพื่ออยู่กินกันฉันท์สามี ภริยา แนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่ผิดตามมาตรานี้
๖. วรรคสองและวรรคสาม เป็นเหตุฉกรรจ์ผู้กระทำจึงต้องรู้ข้อเท็จจริงตามมาตรา ๖๒ วรรคท้ายด้วย
๗. ผู้รับตัวผู้ที่ถูกพาไปกับผู้สนับสนุน กฎหมายให้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกันกับผู้กระทำ
๘. คำว่า “เพื่อสนองความใคร่” ไม่จำต้องเป็นการร่วมประเวณีกันเท่านั้น แม้ไม่มีการร่วมประเวณีก็เป็นความผิด
มาตรา ๒๘๓ ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุก......
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก......
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก........
ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น รับตัวบุคคลซึ่งมีผู้จัดหา ล่อไป หรือพาไปตามวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
ตามมาตรา ๒๘๓ มีข้อพิจารณาดังนี้
๑. ผู้กระทำต้องทำโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจ
๒. ผู้ที่ถูกพาไปจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้
๓. ต้องมีเจตนาและเจตนาพิเศษ
๔. วรรคสองและวรรคสามเป็นเหตุฉกรรจ์ วรรคสองและวรรคสาม เป็นเหตุฉกรรจ์ผู้กระทำจึงต้องรู้ข้อเท็จจริงตามมาตรา ๖๒ วรรคท้ายด้วย ๕. ผู้รับตัวผู้ที่ถูกพาไปกับผู้สนับสนุน กฎหมายให้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกันกับผู้กระทำ
*** ความหมายของคำว่า เพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น มีลักษณะพาไปเพื่อให้ผู้อื่นร่วมประเวณีด้วย ส่วนความหมายของคำว่า เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ไม่จำต้องเป็นการร่วมประเวณีก็เป็นความผิด เช่น พาชายหรือหญิงไปให้ผู้อื่นสัมผัส เนื้อตัว ร่างกาย กอดจูบลูบคลำ อันเป็นการสนองความพอใจในทางเพศก็เป็นความผิดตามมาตรา ๒๘๒,๒๘๓ แล้ว ความผิดตามมาตรา ๒๘๒ หรือ ๒๘๓ มีลักษณะเป็นคนกลางจัดหาชายหรือหญิงไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ถ้าเป็นการกระทำไปเพื่อสำเร็จความใครของผู้กระทำหรือของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเองแล้ว ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
ตามกฎหมายที่ยกมาเบื้องต้นนี้ จึงทำให้ผู้ต้องหาที่พาเด็กหญิงผู้เสียหายไปส่งให้แก่ผู้ต้องหาอีกคนที่ติดต่อหาผู้มาซื้อบริการนั้น มีความผิดในฐานนี้และมีระวางโทษเช่นเดียวกัน
ประเด็นที่สี่ ความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ ในที่นี้ผู้เขียนจะนำบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเฉพาะมาศึกษาทำความเข้าใจกัน เดิมประเทศไทยใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งมุ่งเอาผิดกับผู้ขายบริการทางเพศ ดังเป็นอาชญากรที่ต้องถูกลงโทษทางอาญา และเป็นผู้ที่ต้องเข้ารับการอบรมเพื่อให้เป็น “พลเมืองดี” พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ ใช้บังคับมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็ถูกยกเลิก โดยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ มาใช้บังคับแทน และแม้ว่าการขายบริการทางเพศจะผิดกฎหมาย แต่พระราชบัญญัติฉบับใหม่ได้พัฒนาขึ้นไปกว่าฉบับเดิมคือ มองว่าผู้ให้บริการทางเพศคือ “เหยื่อ” ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ จึงได้กำหนดโทษเบากว่าพระราชบัญญัติฉบับเดิม
ทีนี้เราลองมาดูกันสิว่า เหตุการณ์ตามข่าวที่โด่งดังนั้น ผู้ต้องหากระทำการเช่นใดที่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัตินี้บ้าง
ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เอาผิดแก่ผู้ที่ค้า, เป็นธุระจัดหา, ติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือนร้อนรำคาญแก่สาธารณชน, โฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะในลักษณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่นฯ
มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือนร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับ....
มาตรา ๗ ผู้ใดโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะในลักษณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุก....
มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำชำเราหรือกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่นแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีในสถานการค้าประเวณี โดยบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุก....
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ต้องระวางโทษจำคุก....
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อคู่สมรสของตน โดยมิใช่เพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ผู้กระทำไม่มีความผิด
มาตรา ๙ ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และไม่ว่าการกระทำต่างๆ อันประกอบเป็นความผิดนั้นจะได้กระทำภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุก.....
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก....
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก....
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใดๆ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม หนึ่งในสาม แล้วแต่กรณี
ผู้ใดเพื่อให้มีการกระทำการค้าประเวณี รับตัวบุคคลซึ่งตนรู้อยู่ว่ามีผู้จัดหา ล่อไป หรือชักพาไปตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี
บทบัญญัติตามที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นบทสำคัญในการพิจารณาว่า การกระทำใดเข้าข่ายความผิดฐานค้าหรือเป็นธุระจัดหาให้มีการค้าประเวณี ซึ่งหากพิจารณาตามเหตุการณ์ที่เป็นข่าว จะเห็นได้ว่าหลังจากที่เด็กหญิงผู้เสียหายได้ถูกผู้ต้องหาคนหนึ่งกระทำชำเราแล้ว น้องสาวของผู้ต้องหาคนนี้ได้พาเด็กหญิงผู้เสียหายไปส่งให้แก่ชายวัยกลางคนคนหนึ่งโดยติดต่อให้ผู้ต้องหาที่เป็นสาวประเภทสองหาลูกค้าเพื่อซื้อบริการจากเด็กหญิงผู้เสียหาย โดยที่เด็กหญิงผู้เสียหายมิได้เต็มใจไปด้วย ในวันแถลงข่าวที่เจ้าพนักงานจับกุมน้องสาวของผู้ต้องหาและสาวประเภทสองนั้น ทั้งสองได้แถลงข่าวว่า พวกตนมิได้บังคับให้เด็กหญิงขายบริการแต่เด็กหญิงสมยอมเอง
เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่าสมยอมแล้วจะเห็นได้ว่า
“สมยอม” ( [v’] mutually consent) เป็นคำกิริยา แปลว่า ยอมตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาบางอย่าง
“จำยอม” ( [v’] be unwilling) เป็นคำกิริยา แปลว่า ยอมให้อย่างเสียไม่ได้, จำใจ
หากพิจารณาตามคำแปลของทั้งสองคำจะเห็นได้ว่า ความหมายไม่ได้แตกต่างกันนะนักระหว่าง “สมยอม” กับ “จำยอม”
แต่อย่างไรกรณีในกรณีของเด็กหญิงผู้เสียหายซึ่งมีอายุเพียง ๑๔ ปี กฎหมายได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนทั้งในประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา ๙ วรรคสาม, วรรคสี่, วรรคท้ายแล้ว แม้เด็กจะเต็มใจก็เป็นความผิด โดยเฉพาะการที่ผู้ต้องหาพาเด็กหญิงผู้เสียหายไปในสภาวะที่เด็กหญิงนั้นไม่อาจขัดขืนได้ ผู้ต้องหาทั้งสองจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันเป็นธุระจัดหา, ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี
พระราชบัญญัติฉบับ พ.ศ.๒๕๓๙ นี้ มีลักษณะมุ่งลงโทษนายหน้าและเจ้าของสถานประกอบการมากกว่าผู้ขายบริการ เพราะมีการกำหนดอัตราโทษสำหรับนายหน้าและเจ้าของสถานประกอบการสุงกว่าพระราชบัญญัติฉบับเดิม และตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ยังกำหนดโทษที่สูงขึ้นในกรณีที่สถานประกอบการหรือนายหน้านั้น นำเด็กหรือเยาวชนมาเป็นผู้ขายบริการด้วย อนึ่ง ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าจะเป็นฉบับเดิม พ.ศ.๒๕๐๓ หรือฉบับปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๓๙ ผู้เขียนสังเกตได้ว่า เนื้อหาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ ไม่มีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ซื้อบริการทางเพศ เว้นแต่ การซื้อบริการนั้นได้กระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี หรือเยาวชนอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ผู้ซื้อบริการจึงจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ หรือ ๒๗๗ แล้วแต่กรณี หากผู้ขายบริการอายุเกิน ๑๘ ปี และขายบริการด้วยความสมัครใจมิได้ถูกล่อลวง หรือบังคับ ผู้ซื้อบริการก็ไม่มีความผิด พูดง่ายๆคือ ผู้ขายผิดแต่ผู้ซื้อไม่ผิด เว้นแต่ผู้ขายมีอายุต่ำตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะมีความผิดตามที่กฎหมายนั้นๆ บัญญัติไว้ ประเด็นที่ห้า ความผิดตามพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะนำเสนอเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตามข่าว ซึ่งการที่ผู้ต้องหานำเด็กหญิงผู้เสียหายไปส่งให้ขายบริการทางเพศแก่บุคคลอื่นนั้น นอกจากจะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีแล้ว ยังเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติค้ามนุษย์ด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
๑.กำหนดให้การคุ้มครองผู้แจ้งเหตุการค้ามนุษย์ โดยให้บุคคลที่พบเห็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ สามารถแจ้งแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้ทราบโดยไม่ชักช้า และหากการแจ้งเรื่องดังกล่าวถ้าได้กระทำโดยสุจริต ผู้แจ้งย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญาและทางปกครอง แม้ภายหลังปรากฏว่าไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์
๒.กำหนดให้ทรัพย์ที่ริบได้จากการกระทำความผิดค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้นำทรัพย์ที่ริบได้กึ่งหนึ่งมาชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย และหากยังมีเหลือให้นำเข้ากองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
๓.เพิ่มอำนาจทางปกครองให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายในการเข้าไปตรวจตรา และหากพบการกระทำความผิดค้ามนุษย์ แต่ไม่สามารถชี้แจงหรือพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำความผิดค้ามนุษย์ ให้ปิดสถานประกอบกิจการ โรงงาน อาคาร หรือสั่งห้ามใช้เรือและยานพาหนะ เป็นการชั่วคราว
๔.ปรับปรุงองค์ประกอบการคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยเพิ่มเติมผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายนี้
๕.เพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้น กรณีที่ทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ความตาย และเพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้น เพราะการค้ามนุษย์มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงเพื่อยับยั้งและลดแรงจูงใจใน การค้ามนุษย์
๖.กำหนดให้ค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำส่งคลัง โดยให้ค่าปรับตกเป็นทรัพย์สินของกองทุน
หลายๆคน โดยเฉพาะผู้ที่มิได้เรียนหรือทำงานด้านกฎหมายสงสัยว่า ทำไมตามข่าวเจ้าพนักงานจึงแจ้งข้อหาค้ามนุษย์แก่ผู้ต้องหาด้วย ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า กฎหมายฉบับนี้มุ่งป้องกันและคุ้มครองเกี่ยวกับการกระทำผิดที่ทำต่อ สิทธิและเสรีภาพการใช้ชีวิตของประชาชน ซึ่งเดิมประเทศไทยใช้ พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปรามปราบการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.๒๕๔๐ ไม่ได้กำหนดลักษณะความผิดครอบคลุมถึงการกระทำเพื่อแสวหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลที่ไม่ได้แต่จำกัดเฉพาะและเด็ก และการกระทำด้วยวิธีการอันหลากหลายมากขึ้น เช่น การนำบุคคลเข้ามาค้าประเวณีในราชอาณาจักร หรือส่งออกไปค้านอกราชอาณาจักร การบังคับให้ใช้แรงงาน หรือขอทาน การบังคับตัดอวัยวะ หรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบประการอื่น ซึ่งโดยปกติของมนุษย์เราย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิต มีสิทธิกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของตนเองโดยที่มิได้ละเมิดต่อกฎหมายและศีลธรรม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่มาตั้งแต่เกิด ดังนั้น หากมีบุคคลอื่นมาล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในเนื้อตัวร่างกายของเรา ย่อมเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของเรา ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยได้มีกฎหมายใช้บังคับโดยได้เพิ่มเติมการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดให้ครอบคลุมตามหลักสากลที่ใช้กันทั่วโลก คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ และพระราชบัญญัตินี้ได้แก้ไขปรับปรุงอีก ๓ ครั้ง จนถึงปัจจุบันนี้ได้ประกาศใช้ ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
เหตุการณ์ตามข่าวที่ปรากฏ เมื่อพิจารณาข่าวแล้วจะทราบว่ามีการกระทำความผิดจากบุคคลหลายคน ต่างเวลากัน เราจึงต้องแยกการกระทำความผิดแต่ละฐาน และกลุ่มผู้ต้องหาออกจากกัน ซึ่งตามความผิดฐานค้าประเวณี และค้ามนุษย์นี้ ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาในความผิดนี้คือ ผู้ต้องหาที่เป็นน้องสาวของผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งที่ต้องหาว่าข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงผู้เสียหาย เพราะผู้ต้องหารายนี้ได้ติดต่อผู้ต้องหาที่เป็นสาวประเภทสอง เพื่อให้หาลูกค้าซื้อบริการให้ และเป็นผู้พาเด็กหญิงผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปส่งให้ผู้ต้องหาสาวประเภทสองและลูกค้าที่ติดต่อไว้ และรับเงินค่าซื้อบริการก่อนจะออกไปรอรับเด็กหญิงผู้เสียหายกลับหลังจากให้บริการเสร็จแล้ว หากพิจารณาข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกอบกันแล้ว จะเห็นว่า การกระทำของผู้ที่ถูกกล่าวทั้งสองคนเข้าข่ายความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไป หลอกลวง หรือขู่เข็ญ เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ให้ทำการค้าประเวณี และยังเข้าข่ายความผิดค้ามนุษย์ ซึ่ง มาตรา ๖ มาตรา ๕๒ และ มาตรา ๕๖/๑ วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า
มาตรา ๖ “ผู้ใดกระทำการอย่างได้อย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จําหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กําลังบังคับ ลักพาตัวฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อํานาจโดยมิชอบ ใช้อํานาจครอบงําบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ ขู่เข็ญว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทําความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล หรือ
(๒)เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จําหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัยหรือรับไว้ ซึ่งเด็กถ้าการกระทํานั้นได้กระทําโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์
การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จาก การค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส การนําคนมาขอทาน การตัดอวัยวะเพื่อการค้า การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
การบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามวรรคสอง หมายความว่า การข่มขืนใจให้ทํางานหรือให้บริการโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น
(๒) ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ
(๓) ใช้กําลังประทุษร้าย
(๔) ยึดเอกสารสําคัญประจําตัวของบุคคลนั้นไว้ หรือนําภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่น มาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ
(๕) ทําให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้”
มาตรา ๕๒ “ผู้ใดกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบสองปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงหนึ่งล้านสองแสนบาท
ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทําแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่ถึงสิบแปดปี ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทําแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปีหรือผู้มีกายพิการ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่แปดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดแสนบาทถึงสองล้านบาท
มาตรา ๕๖/๑ วรรคแรก “ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จําหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ ซึ่งบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ให้ทํางาน หรือให้บริการที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงและมีผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจ การเจริญเติบโต หรือพัฒนาการ หรือในลักษณะหรือในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของบุคคลนั้น หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสี่ปี และปรับไม่เกินสี่แสนบาท....”
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติเบื้องต้นจากกฎหมายสองฉบับ จะเห็นได้ว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ โดยเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มาตรา ๕๒ มีบทลงโทษหนักกว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙
ทั้งนี้ความผิดตามพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปราบการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ใช้บริการ หรือผู้ซื้อบริการจากผู้ที่กระทำความผิดจากพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้ ดังนั้น ความผิดของผู้ใช้บริการจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วเบื้องต้น
ประเด็นที่หก พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ (ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเปลี่ยนเพิ่มเติมเป็นฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน) เหตุที่ผู้เขียนหยิบยกพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมาพิจารณาด้วยก็เพราะเนื่องจาก มีกลุ่มเพื่อนของผู้ต้องหาที่ได้กระทำชำเราเด็กหญิงผู้เสียหายร่วมอยู่ในเหตุการณ์และได้บันทึกคลิปวิดีโอไว้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และนำไปเผยแพร่ในสื่อสาธารณะทาง Social media ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ระบุไว้ว่าเป็นความผิด และมีบทลงโทษไว้ในมาตรา ๑๔
มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไมเกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(๑)นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒)นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแกประชาชน
(๓)นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔)นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
เหตุผลที่ประเทศไทยจำเป็นต้องร่างกฎหมายว่าด้วยความผิดคอมพิเตอร์และประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวก็เนื่องจาก ในปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์ได้เป็นส่วนสําคัญของการประกอบกิจการและการดํารงชีวิตของมนุษย์ หากมีผู้กระทําด้วยประการใด ๆ ให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทํางานตามคําสั่งที่กำหนดไว้ หรือทําให้การทํางานผิดพลาดไปจากคําสั่งที่กําหนดไว้ หรือใช้วิธีการใด ๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทําลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพรข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ซึ่งการกระทำที่เพื่อนของผู้ต้องหาที่อยู่ร่วมในการกระทำผิดนั้น ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกภาพเหตุการณ์ ขณะที่ผู้ต้องหากระทำชำเราเด็กหญิงผู้เสียหาย และนำไปเผยแพร่ในสื่อสาธารณะทาง Social media อันเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะลามกอนาจาร และระบบคอมพิวเตอร์นั้น ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เมื่อการกระทำของเพื่อนผู้ต้องหาเป็นการเผยแพร่เข้าสื่อสาธารณะ ผู้กระทำจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
ประเด็นที่เจ็ด ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่า เมื่อมารดาของผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดนั้น เจ้าพนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ แต่กลับพยายามไกล่เกลี่ยให้มารดาผู้เสีย และผู้เสียหายให้รับเงินค่าเสียจากผู้กระทำความผิด ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้วความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี นั้น เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้เพราะมิใช่ความผิดส่วนตัว แต่ถือว่าเป็นความผิดต่อแผ่นดิน อีกทั้งการพาเด็กไปแม้ว่าจะเด็กจะยินยอมก็ยังเป็นความผิดฐานพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา หรือผู้ดูแล และความผิดเหล่านี้ กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ หากแม้ว่าสารดาของเด็กจะยินยอมรับเงินค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิด เจ้าพนักงานก็ยังต้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดต่อไป ดังนั้น เมื่อมีการอ้างว่าเจ้าพนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ เราลองมาดูกันซิว่าเจ้าพนักงานจะมีความผิดตามกฎหมายใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
** มาตรา ๑๕๗ เป็นเสมือนบททั่วไปที่บัญญัติไว้มิให้เจ้าหน้าที่ ที่ทำการทุจริตหลุดพ้นจากความผิด เจ้าหน้าที่ ที่หลุดพ้นจากบทเฉพาะมาก็มักจะมาสะดุดกับมาตรานี้ องค์ประกอบแบ่งออกเป็น ๒ กรณีคือ
๑.เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
๒.เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติโดยทุจริต
“เจ้าพนักงาน” หมายถึง เจ้าพนักงานทุกประเภทไม่เฉพาะเจาะจง การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำที่อยู่ในหน้าที่ ถ้านอกหน้าที่ก็ไม่ผิด และการกระทำที่อยู่ในหน้าที่ หน้าที่นั้นต้องเกิดจากคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และโดยผู้มีอำนาจมอบหมาย หรือมีอำนาจสั่งเท่านั้น เป็นความผิดที่ต้องมีเจตนาพิเศษ แต่หากเป็นความผิดที่มีบทเฉพาะอยู่แล้วต้องลงโทษตามบทเฉพาะนั้น ไม่ต้องปรับมาตรา ๑๕๗ นี้ เพราะบทเฉพาะมีโทษสูงกว่า ต้องใช้บทเฉพาะแต่ถ้าไม่มีบทเฉพาะต้องปรับใช้กับมาตรานี้
ตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า “เจ้าพนักงาน” นั้น ต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ซึ่งเมื่อพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนและรับแจ้งความตามที่ประชาชนได้มา ร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีผู้กระทำความผิดอาญา พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่สอบสวนให้ได้ความกระจ่างเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป เมื่อพนักงานสอบสวนปฏิเสธการสอบสวนและรับแจ้งความ พนักงานสอบสวนผู้นั้นย่อมมีความผิด ฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติน่าที่โดยมิชอบ
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าว พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งเร่งรัดการสอบสวน โดยให้พนักงานสอบสวนเรียกสอบปากคำพยานทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่ถูกข่มขู่ทั้งหมด และให้รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ต้องสงสัยทุกคน นอกจากนี้ให้ทาง กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี กรณีถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมข่มขู่ผู้เสียหายและดำเนินคดีล่าช้า มาปฏิบัติราชการที่ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น
ประเด็นสุดท้าย พระราชบัญญัติคุ้มครองพยาน พ.ศ. ๒๕๔๖ “การคุ้มครองพยาน” คืออะไร ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในคำว่า “พยาน” เสียก่อน ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ได้ให้คำนิยามคำว่า “พยาน” ไว้ว่า
“พยาน” หมายความว่า พยานบุคคลซึ่งจะมาให้หรือได้ให้ข้อเท็จจริง ต่อพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอํานาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาหรือศาลในการดําเนินคดีอาญา รวมทั้งผู้ชํานาญการพิเศษ แต่มิให้หมายความรวมถึงจําเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน
เมื่อฝ่ายผู้เสียหายได้ร้องเรียนว่าถูกข่มขู่ จากฝ่ายผู้ต้องหา เนื่องจากฝ่ายผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง ฝ่ายผู้เสียหายย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอความคุ้มครองต่อเจ้าพนักงานเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง โดยสำนักงานคุ้มครองพยานจะได้ดำเนินการช่วยเหลือและให้ความคุ้มครองตามกฎหมายต่อไป ซึ่งการขอคุ้มครองนั้น ผู้ที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองมีดังนี้
มาตรา ๖ ในกรณีที่พยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัย พนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอํานาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอํานาจฟ้องคดีอาญา ศาล หรือสํานักงานคุ้มครองพยาน แล้วแต่กรณีอาจจัดให้พยานอยู่ในความคุ้มครองตามที่เห็นเป็นการสมควร หรือตามที่พยานหรือบุคคลอื่นใด ซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้องได้ร้องขอ และในกรณีจําเป็นบุคคลดังกล่าวจะขอให้เจ้าพนักงานตํารวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นช่วยให้ความคุ้มครองแก่พยานได้ตามความจําเป็น ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมของพยานด้วย
การแจ้งและวิธีการที่เจ้าพนักงานตํารวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นจะให้ความคุ้มครองแก่พยานตามคําขอและการสิ้นสุดลงซึ่งการคุ้มครองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กําหนดโดยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
การคุ้มครองให้พยานได้รับความปลอดภัย ให้รวมถึงการจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย เว้นแต่พยานจะไม่ให้ความยินยอมและการปกปิดมิให้มีการเปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ภาพ หรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยานได้ ทั้งนี้ตามความเหมาะสมแก่สถานะและสภาพของพยานและลักษณะของคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๗ ในกรณีที่สามีภริยา ผู้บุพการีผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยานซึ่งมีผลต่อการที่พยานจะมาเป็นพยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัยและพยานได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณานํามาตรการทั่วไปในการคุ้มครองพยานมาใช้บังคับแก่บุคคลดังกล่าวได้ตามความจําเป็นที่เห็นสมควร เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะไม่ให้ความยินยอม
มาตรา ๘ พยานในคดีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้อาจได้รับการคุ้มครองตามมาตรการพิเศษได้
(๑) คดีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือกฎหมายว่าด้วย ศุลกากร
(๒) คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา
(๓) คดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือพาไปเพื่อการอนาจาร เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็กหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีหรือความผิดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณีผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณีหรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทําการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี
(๔) คดีความผิดเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม ได้แก่ ความผิดฐานอั้งยี่และซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา และให้หมายความรวมถึงความผิดอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการกระทําร่วมกันโดยกลุ่มอาชญากร ที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบและมีการวางเครือข่ายเป็นขบวนการหรือองค์กรลับอย่างซับซ้อนและเป็นสัดส่วน
(๕) คดีความผิดที่มีอัตราโทษอย่างต่ําให้จําคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น
(๖) คดีซึ่งสํานักงานคุ้มครองพยานเห็นสมควรให้ความคุ้มครองพยาน
**เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรองรับสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นพยานในคดีอาญาให้ได้รับความคุ้มครอง การปฏิบัติที่เหมาะสม และค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ หากฝ่ายผู้เสียหายได้รับการข่มขู่คุกคามจากฝ่ายผู้กระทำความผิดแล้ว ย่อมมีสิทธิร้องขอเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ด้วยจิตคาราวะ By ณัชกานต์ ๒๘/๔/๖๐
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า
ตอนที่ ๑ บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามี...
-
การยื่นคำร้องขอเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ ** ความหมาย คนไร้ความสามารถ คือ เ ป็นบุคคลวิกลจริต และ ๑.ต้องเป็นอย่างมาก คือ วิกลจริตชนิด...
-
เอกสารปลอม/เอกสารเท็จ ในยุคปัจจุบันนี้ มีข่าวนำเสนออยู่บ่อยครั้งว่า มีผู้นำเอาเอกสารส่วนบุคคลของผู้อื่นไปใช้โดยเจ้าของไม่ยิ...
-
"ทรัพย์" ตอนที่ ๒ "ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้" เรื่องทรัพย์ในตอนที่ ๑ ผู้เขียนได้เขียนเรื่องของ ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น