Blog นี้ผู้สร้าง สร้างขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป และสำหรับผู้ที่กำลังศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย แม้ประโยชน์อันใดที่เกิดแก่ทุกท่านจากบทความเหล่านี้ ขอมอบความดีและกุศลทั้งหลายที่พึงมีให้แก่ อาจารย์ที่ประสิทธิประสาทวิชาให้แก่ผู้เขียน กระทั่งถึงผู้ถ่ายทอดวิชาการว่าความในชั้นศาลให้แก่ผู้เขียน บิดา มารดา ญาติสนิทมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ขอกุศลผลบุญนั้น จงดลบันดาลให้ทุกท่านได้พบแต่ความสุขความเจริญตลอดไป ด้วยจิตรคารวะ ณัชกานต์ 089 743 1717
วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
"ค้ำประกัน/จำนอง หนี้ที่ไม่ได้ใช้"
ค้ำประกัน/จำนอง หนี้ที่ไม่ได้ใช้
ปัจจุบันนี้มีหลายคนที่หลวมตัวไปค้ำประกันหรือเอาทรัพย์สินไปจำนองหนี้ให้แก่ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูงเพราะความไว้ใจบางคนก็เพราะความเกรงใจจึงหยิบยื่นความช่วยเหลือไป สุดท้ายเมื่อลูกหนี้ตัวจริงไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำหรือผู้ที่เอาทรัพย์ไปจำนองให้เพื่อเป็นหลักประกันหนี้ต้องเดือดร้อน และถูกฟ้องเป็นคดีความ จนในที่สุดต้องถูกบังคับให้ชำระหนี้แทน วันนี้ผู้เขียนจะเขียนเรื่องทำอย่างไรเมื่อเราถูกบังคับให้รับชำระหนี้แทนลูกหนี้ที่แท้จริง ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับกฎหมายเรื่องนี้กันก่อน
** กฎหมายว่าด้วย "ค้ำประกัน" และ "จำนอง" ที่มีการแก้ไขใหม่ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ.๒๕๕๗ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เป็นต้นไป) นั้น เกิดขึ้นจากความคิดที่ว่า ต้องการที่จะแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการค้ำประกันและจำนองให้ทันสมัยและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น โดยป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืม ใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า ทำสัญญาค้ำประกันและจำนองที่มีข้อตกลง ยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายและเอาเปรียบผู้ค้ำประกันและผู้จำนองจนเกินสมควร เพราะตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อมีการกู้ยืมเงินจากผู้อื่น โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ผู้ที่มักจะถูกรบกวนให้เอาตัวเข้ามาค้ำประกันหนี้ หรือเอาทรัพย์สินมาจดจำนองเพื่อเป็นการรับประกันการชำระหนี้กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้นั้น ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นบุคคลใกล้ตัวหรือผู้ที่ความสนิทสนมใกล้ชิดกับลูกหนี้ อาทิ ครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือพวกพ้อง เป็นต้น ซึ่งบุคคลดังกล่าว มักไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องหรือมีส่วนในการใช้เงินที่ลูกหนี้ไปกู้ยืมมาสักเท่าใดนัก
ในส่วนของค้ำประกัน ตามกฎหมายเดิม บัญญัติให้ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดเสมือน "ลูกหนี้ร่วม" กับลูกหนี้ชั้นต้น ที่เจ้าหนี้สามารถทวงหนี้กับใครก่อนก็ได้ ส่งผลให้ผู้ค้ำประกันถูกฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย และถูกฟ้องล้มละลายกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันเป็นอย่างยิ่ง
ในส่วนของจำนอง ก็คล้ายๆกับค้ำประกันเพราะกฎหมายให้นำหลักการของการค้ำประกันมาใช้บังคับกับการจำนองด้วยโดยอนุโลม เช่น การตกลงผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ ผู้ค้ำประกันจะตกลงกับการผ่อนเวลาด้วยแต่ข้อตกลงดังกล่าวห้ามทำไว้ล่วงหน้า มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ เป็นต้น ซึ่งเท่าที่ผ่านมา เจ้าหนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ สถาบันการเงินต่างๆ หรือผู้ประกอบอาชีพให้กู้ยืมมักจะอาศัยความได้เปรียบในทางการเงินและตามกฎหมายกำหนดข้อตกลงอันเป็นการยกเว้นสิทธิของผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือให้ค้ำประกันหรือผู้จำนองต้องรับผิดเสมือนเป็นลูกหนี้ชั้นต้น ทำให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ประเด็นแรก ค้ำประกันคืออะไร ค้ำประกันคือ สัญญาที่บุคคลภายนอกคนหนึ่ง เข้าทำสัญญากับเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หมายถึงการที่บุคคลคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้ยอมเอาตัวเข้าไปค้ำประกันให้บุคคลอีกคนหนึ่งที่เป็นลูกหนี้ โดยให้สัญญาว่าจะชำระหนี้แทนลูกหนี้หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้นั้น เปรียบได้กับคำสุภาษิตโบราณที่กล่าวไว้ว่า "เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่เอากระดูกมาแขวนคอ" ซึ่งผู้ที่ค้ำประกันหนี้นั้น มิได้รับประโยชน์อันใดจากการเอาตัวเข้าไปผูกพันนั้นเลย และอาจยังต้องถูกบังคับชำระหนี้หากลูกหนี้นั้นไม่ชำระหนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๐ บัญญัติไว้ว่า "อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอก คนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใด อย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้ บังคับคดีหาได้ไม่"
มาตรา ๖๘๑ "อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์
หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกันและระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน เว้นแต่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวตามมาตรา ๖๙๙ จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้
สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น
หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทำด้วยความสำคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้นก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำ ประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทำสัญญาผูกพันตน”
มาตรา ๖๘๑/๑ "ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”
มาตรา ๖๘๕/๑ "บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา ๖๘๑ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา ๖๙๔ มาตรา ๖๙๘ และมาตรา ๖๙๙ เป็นโมฆะ”
*** เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นั้น การทำสัญญาค้ำประกันจะต้องกระทำดังนี้
๑. ระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้
๒. ลักษณะมูลหนี้ที่เข้าค้ำประกัน
๓. จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน
๔. ระยะเวลาที่ค้ำประกัน (กำหนดเวลาสิ้นสุด) กรณีนี้หากเป็นหนี้ที่จะเกิดขึ้นเป็นคราวๆ ในอนาคตมีลักษณะเป็นกิจการเนื่องไปหลายคราว เช่น การค้ำประกันการทำงานของลูกจ้าง การค้ำประกันเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอาจไม่ต้องระบุเรื่องการจำกัดเวลาก็ได้ (แต่ก็ยังต้องระบุมูลหนี้ และวงเงินที่เข้าค้ำประกัน) มาตรานี้ ใช้บังคับหลังจากที่ประกาศใช้แล้วไม่มีผลย้อนหลัง ไม่ใช้บังคับกับสัญญาที่เกิดก่อน ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ประเด็นที่สอง ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะ (มาตรา ๖๘๑/๑) มาตรานี้บัญญัติเพื่อให้ผู้ค้ำประกันมีสถานะเป็นลูกหนี้ชั้นที่สองอย่างแท้จริง ไม่ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสถานะหรือฐานะที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจเอาเปรียบผู้ค้ำประกัน โดยกำหนดให้ข้อตกลงที่ยกเว้นลักษณะนี้เป็นโมฆะ และมาตรานี้ใช้กับสัญญาที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เป็นต้นไป ถ้าสัญญาที่ทำก่อนนี้ ข้อตกลงในลักษณะยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ยังคงใช้ได้
ประเด็นที่สาม ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างจากบทบัญญัติที่มีไว้เพื่อคุ้มครองผู้ค้ำประกัน
มิให้ต้องรับผิดเกินสมควร เป็นโมฆะ (มาตรา ๖๘๕/๑)
คือ ห้ามตกลงแตกต่างจากที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๖๘๑ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา ๖๙๔ มาตรา ๖๙๘ และมาตรา ๖๙๙ ทั้งนี้ โดยมาตรา ๖๘๕/๑
ประเด็นที่สี่ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดเจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวแก่ผู้ค้ำประกัน (มาตรา ๖๘๖) ซึ่งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นั้น ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันในประเด็นว่าหากผู้ค้ำประกันมีโอกาสทราบว่าลูกหนี้ที่ตนไปค้ำประกันเริ่มผิดนัด ผู้ค้ำประกันอาจชำระเงินแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อที่ตนจะไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยหรือความเสียหายอื่นที่อาจมีหากลูกหนี้ผิดนัด โดยมาตรา ๗๓๕ บัญญัติว่า "เมื่อผู้รับจำนองคนใดจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนจึงจะบังคับจำนองได้" ดังนั้น หากเจ้าหนี้ไม่บอกกล่าวตามที่กฎหมายกำหนด มีผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้นั้นนับแต่พ้นเวลาดังกล่าว
**** ข้อสังเกต
๑. เจ้าหนี้ยังใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ไม่ได้ แม้ลูกหนี้จะผิดนัด เจ้าหนี้ต้องทำหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อน ซึ่งการบอกกล่าวเป็นการตั้งสิทธิเรียกร้อง ดังนั้นอายุความสำหรับผู้ค้ำประกันจึงเริ่มนับแต่วันที่หนังสือบอกกล่าวไปถึงผู้ค้ำประกัน
๒. หากเกินกำหนด ๖๐ วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด แล้วเจ้าหนี้ยังไม่ทำหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกัน เจ้าหนี้ก็ยังคงมีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ในส่วนเงินต้นอยู่ (แต่ในส่วนดอกเบี้ยฯ น่าจะเรียกได้ถึงเพียงก่อนผิดนัด บวกอีก ๖๐ วันนับแต่ผิดนัดเท่านั้น)
*** มาตรานี้ ใช้บังคับนับแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ แม้สัญญาเกิดก่อนวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๕๘ ก็ตาม (ถ้าลูกหนี้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๕๘ เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวผู้ค้ำฯ)
๓. หากเจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้ลูกหนี้หรือข้อตกลงที่เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ โดยมาตรา ๖๙๑ บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่เจ้าหนี้ตกลงกับลูกหนี้ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกันรวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตกลงกันนั้น ถ้าลูกหนี้ได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้วก็ดี ลูกหนี้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดไม่ครบถ้วนแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือนั้นแล้วก็ดีหรือลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดนั้นแล้วก็ดี ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากการค้ำประกัน ในการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันดังกล่าว ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ แม้จะล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาชำระหนี้ดังกล่าวในกรณีที่เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้ว ให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงนั้น ทั้งนี้ ข้อตกลงที่ทำขึ้นภายหลังที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว หากในข้อตกลงนั้นมีการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ มิให้ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาตามมาตรา ๗๐๐”
*** ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายได้กำหนดให้สิทธิผู้ค้ำประกันที่จะอาศัยประโยชน์จากข้อตกลงปรับลดหนี้โดยการเข้าชำระหนี้ตามข้อตกลงที่มีการปรับลดนั้นได้ โดยกำหนดให้มีผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดจากความรับผิด ใน ๓ กรณี คือ
๑) ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ครบถ้วนตามจำนวนที่ลด
๒)ลูกหนี้ชำระหนี้ตามจำนวนที่ลด แต่ชำระไม่ครบถ้วน ผู้ค้ำประกันได้ชำระส่วนที่เหลือจนครบ
๓)ลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลด แต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระแทนจนครบ
**** ข้อสังเกต
๑. มาตรานี้มีผลทันที แม้สัญญาเกิดก่อนวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ (ถ้าทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างนับแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘) ดูบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๐
๒. วรรคสอง ข้อตกลงที่เป็นการเพิ่มภาระหนี้แก่ผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ (ไม่มีผลกับสัญญาที่เกิดก่อน ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘)
๓. อนุโลมใช้กับการจำนองด้วย (มาตรา ๗๒๗)
ประเด็นที่ห้า มาตรา ๗๐๐ แก้ไขเรื่องผ่อนเวลา โดยห้ามกำหนดข้อตกลงไว้ล่วงหน้าให้ผู้ค้ำประกันยินยอมในการผ่อนเวลา คือ จะไปกำหนดในสัญญายกเว้นกรณีนี้ไม่ได้ ซึ่งตามกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้โดยหลักแล้ว ยังคงใช้หลักการตามกฎหมายเดิม คือถ้าเจ้าหนี้จะผ่อนเวลาให้ลูกหนี้โดยที่ผู้ค้ำประกันไม่ได้ตกลงด้วย ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิด (ต่างตรงที่เดิม เจ้าหนี้จะเขียนยกเว้นในสัญญาได้ แต่ปัจจุบันจะเขียนยกเว้นเช่นนั้นไม่ได้) หากเจ้าหนี้จะผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ เจ้าหนี้จะต้องเรียกให้ผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมในขณะผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ด้วย และตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่นี้ไม่กระทบกับสัญญาเดิมที่ทำก่อนวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ และมาตรานี้ให้อนุโลมใช้กับการจำนองด้วย (มาตรา ๗๒๗)
ประเด็นที่หก มาตรา ๗๑๔/๑ "บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจำนองที่แตกต่างไปจากมาตรา ๗๒๘ มาตรา ๗๒๙ และมาตรา ๗๓๕ เป็นโมฆะ" ซึ่งมาตรานี้เป็นการบัญญัติเพื่อคุ้มครองผู้จำนอง ให้มีความชัดเจนมากขึ้น แลไม่มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับกับสัญญาจำนองที่ทำก่อน๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ในส่วนของมาตรา ๗๒๗ นั้นให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖๙๑ มาตรา ๖๙๗ มาตรา ๗๐๐ และมาตรา ๗๐๑ มาใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลจำนองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระด้วยโดยอนุโลม โดยแก้จากประกันด้วยบุคคลคนเดียวเป็นบุคคลหลายคนที่จำนองประกันหนี้ที่บุคคลอื่นต้องชำระ และเพิ่มให้ผู้จำนองซึ่งจำนองประกันหนี้ที่บุคคลอื่นต้องชำระนำบทบัญญัติมาตรา ๖๙๑ มาใช้อ้างได้ด้วย และให้สิทธิแก่ผู้จำนองที่จำนองประกันหนี้ที่บุคคลอื่นต้องชำระโดยกำหนดให้ผู้จำนองมีสิทธิที่จะอ้างเหตุหลุดพ้นได้ทำนองเดียวกันกับผู้ค้ำประกัน จำนองที่จำนองประกันหนี้ที่บุคคลอื่นต้องชำระ (อาจจะมีคนเดียวหรือหลายคน) ก็สามารถ ยกมาตรา ๖๙๑, ๖๙๗, ๗๐๐, ๗๐๑ ขึ้นอ้างเพื่อหลุดพ้นจากความรับผิดได้ แม้สัญญาจำนองทำก่อน ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ประเด็นที่หก มาตรา ๗๒๗/๑ "ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองในเวลาที่บังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุด
ข้อตกลงใดอันมีผลให้ผู้จำนองรับผิดเกินที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือให้ผู้จำนองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะมีอยู่ในสัญญาจำนองหรือทำเป็นข้อตกลงต่างหาก"
*** มาตรานี้กำหนดความรับผิดของผู้จำนองที่จำนองประกันหนี้ที่บุคคลต้องชำระ ไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่าราคาทรัพย์ที่จำนอง และกำหนดให้ข้อตกลงที่ให้ผู้จำนองต้องรับผิดเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นโมฆะ
เป็นหลักการใหญ่ในเรื่องการประกันหนี้ด้วยทรัพย์ในลักษณะจำนอง ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่าราคาทรัพย์ที่จำนองประกันหนี้ และในวรรคสอง ได้กำหนดให้ข้อตกลงที่มีผลให้ผู้จำนองรับผิดเกินกว่าทรัพย์ที่จำนอง หรือให้ผู้จำนองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน เป็นโมฆะ
ปัญหาคือ หากเจ้าหนี้ให้ทำสัญญา ๒ สัญญาคือจำนองและค้ำประกันในมูลหนี้เดียว สัญญานั้นจะมีผลอย่างไร ในปัญหานี้สัญญาในส่วนค้ำประกันอาจเป็นโมฆะคงเหลือแต่เฉพาะสัญญาจำนอง มาตรานี้ไม่มีผลย้อนหลัง สัญญาที่ทำก่อน ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ยังคงใช้บังคับได้
ประเด็นที่เจ็ด มาตรา ๗๒๘ "เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้ผู้จำนองทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนั้น ให้ผู้จำนองเช่นว่านั้นหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันดังกล่าว"
มาตรา ๗๒๙ "ในการบังคับจำนองตามมาตรา ๗๒๘ ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไปนี้แทนการขายทอดตลาดก็ได้
(๑) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี และ
(๒) ผู้รับจำนองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นน้อยกว่าจำนวนเงินอันค้างชำระ"
มาตรา ๗๒๘ ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้และผู้จำนองโดยให้เวลาอีก ๑๕ วัน นับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ หากเจ้าหนี้ไม่ส่งภายในเวลา ผู้จำนอง (เป็นผู้ที่เอาทรัพย์ของตนมาจำนองเพื่อประกันหนี้ให้ลูกหนี้ไม่ใช่ตัวลูกหนี้) จะหลุดพ้นจากความรับผิดในส่วนของดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าภาระติดพันฯ สังเกตว่ามาตรานี้ให้กรอบเวลาตามกฎหมายไว้ว่า “เมื่อจะบังคับจำนอง.....” ดังนั้นหากผู้รับจำนองไม่คิดจะบังคับจำนอง ก็ถือว่ายังไม่เริ่มกระบวนการบังคับจำนอง ผู้รับจำนองก็ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือบอกกล่าวลูกหนี้รวมทั้งผู้จำนอง ต่างกับกรณีค้ำประกัน กฎหมายบังคับว่า ๖๐ วันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัดเจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวผู้ค้ำประกัน มิฉะนั้น ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นในส่วนของดอกเบี้ยฯ หลังจากมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ก็ต้องไปฟ้องศาล ซึ่งขั้นตอนนี้เลือกได้ ๒ ทางคือ ฟ้องขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาด ตามมาตรา ๗๒๘ หรือ ขอให้ศาลสั่งให้เอาทรัพย์จำนองหลุด ตาม มาตรา ๗๒๙ ส่วนในมาตรา ๗๒๙ บัญญัติไว้เพื่อ ไม่ให้ตีความว่าทำนองว่าหากขอให้ศาลสั่งให้เอาทรัพย์จำนองหลุด ไม่ต้องบอกกล่าวบังคับจำนอง และกำหนดให้เป็นหน้าที่ผู้รับจำนองที่จะเป็นผู้พิสูจน์ว่าราคาทรัพย์จำนองน้อยกว่าจำนวนหนี้
โดยไม่ว่าเลือกการบังคับจำนองโดยวิธีใดก็ต้องเริ่มจากการบอกกล่าวบังคับจำนองก่อนตาม ๗๒๘ ซึ่งการบังคับเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นสิทธิ
การบังคับจำนองมีเงื่อนไข ๓ ประการคือ
๑.ไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นเหนือทรัพย์เดียวกัน
๒.ค้างดอกเบี้ยเป็นเวลา ๕ ปี
๓.ราคาทรัพย์จำนองน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ ภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้รับจำนองมีหน้าที่พิสูจน์ว่า ราคาทรัพย์นั้นน้อยกว่าเงินที่ค้างชำระ
ประเด็นสุดท้าย หลังจากที่ได้พิจารณาข้อกฎหมายตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มาแล้ว ผู้เขียนจะขออธิบายเรื่องขอบเขตและสิทธิของผู้ค้ำประกันคร่าวๆ ดังนี้
๐๐ ขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกัน จะไม่จำกัดความรับผิดหรือจะจำกัดความรับผิดชอบของตนไว้ในสัญญาค้ำประกันด้วยก็ได้ ถ้าไม่ต้องการรับผิดอะไรบ้าง หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ก็ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เช่น ลูกหนี้กู้เงินเจ้าหนี้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ผู้ค้ำประกันจะจำกัดความรับผิดเฉพาะกรณีที่บุคคลนั้น ทำความเสียหายเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่ไม่รวมถึงประมาทเลินเล่อด้วยก็ได้ เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วก็รับผิดเท่าที่จำกัดไว้ แต่ถ้าไม่จำกัดความรับผิดเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้ ไม่ชำระเงินหรือค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดจนสิ้นเชิงเช่นเดียวกับลูกหนี้ทุกอย่าง เมื่อทำสัญญาประกันแล้วผู้ค้ำประกันต้องผูกพันตามสัญญานั้น เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้รับผิดได้ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด
๐๐ สิทธิของผู้ค้ำประกัน
๑. เมื่อผู้ค้ำประกันถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ มิใช่ผู้ค้ำประกันต้องชำระหนี้ทันทีแต่มีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ ไปเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ ทั้งนี้ภายใต้ข้อยกเว้นบางประการและถ้า เจ้าหนี้ฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับลูกหนี้ก็ยังมีสิทธิพิสูจน์ต่อศาลว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินชำระหนี้ได้และการที่จะบังคับจากลูกหนี้นั้นไม่เป็นการยาก ถ้าผู้ค้ำประกันนำพยานเข้าสืบและฟังได้เช่นนั้น ศาลก็ต้องบังคับเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนเพราะหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องชำระมิใช่เป็นหนี้ของผู้ค้ำประกันเอง ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ ชั้นที่สอง ซึ่งบางกรณีเจ้าหนี้เอาเปรียบลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ในสัญญาสำเร็จรูป จะมีความว่า “ให้ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้” คือเป็นลูกหนี้ร่วมเท่ากับให้ผู้ค้ำประกันรับผิดหนักขึ้น ดังนั้นก่อนเซ็นสัญญาค้ำประกัน จึงต้องพิจารณาว่าจะยอมรับผิดเช่นนั้นหรือไม่ ถ้ายอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ก็ไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยวดังกล่าวข้างต้น
๒. เมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ไม่ว่าชำระแต่โดยดี หรือชำระหนี้โดยถูกบังคับตามคำพิพากษา ผู้ค้ำประกันก็มีสิทธิรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ในอันที่จะเรียกเอาเงินชำระให้เจ้าหนี้ใช้แล้วนั้น คืนจากลูกหนี้ได้ตามจำนวนที่ชำระไปตลอดจนทั้งค่าเสียหายต่าง ๆ เนื่องจากการค้ำประกัน
**** การเป็นผู้ค้ำประกันนั้นมีแต่เสีย เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเซ็นชื่อในสัญญาค้ำประกัน ต้องพิจารณาตัวลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทนให้ดีว่ามีความสามารถชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้แค่ไหน และมีความซื่อสัตย์สุจริตเพียงใด ทั้งต้องพิจารณาข้อความในสัญญาให้รอบคอบ บางทีกำหนดให้ผู้ค้ำประกันรับผิดหนักขึ้น หรือสละสิทธิบางอย่างอันอาจทำให้ ไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ไม่ได้ เมื่อเข้าใจข้อความในสัญญาดีแล้วจึงค่อยลงชื่อในสัญญาค้ำประกัน
๐๐ การพ้นความรับผิดของผู้ค้ำประกัน เมื่อเซ็นชื่อในสัญญาแล้วผู้ค้ำประกันก็มีภาระจะต้องรับผิดต่อเจ้าหน้าที่จนกว่าหนี้ของลูกหนี้ จะระงับไป ตราบใดที่หนี้ของลูกหนี้ยังมีอยู่ผู้ค้ำประกันก็ไม่พ้นความรับผิด แต่มีพฤติการณ์บางอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิด
๐๐ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้ได้จากผู้ค้ำประกัน แต่การที่จะฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้นั้น จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญมิใช่ตกลงกันด้วยปากเปล่าซึ่งฟ้องไม่ได้ ตามธรรมดาถ้าทำสัญญาค้ำประกันตามแบบซึ่งมีขายอยู่ทั่วไป ก็ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเป็นแบบซึ่งทำโดยผู้รู้กฎหมาย แต่ถ้าทำกันเองก็อาจเกิดปัญหาได้ ถ้าเราเป็นเจ้าหนี้ก็ต้องระมัดระวังในข้อนี้ ในเอกสารนั้นต้องมีข้อความอันเป็นสาระสำคัญว่า ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทน มิฉะนั้นอาจฟ้องผู้ค้ำประกันไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นสัญญาค้ำประกันตามกฎหมาย
จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่นี้ ได้คุ้มครองผู้ค้ำประกัน และผู้จำนองมิให้ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบมาเกินไป โดยถูกฟ้องบังคับชำระหนี้มากกว่าจำนวนเงินที่ต้องชำระ และห้ามมิให้มีข้อตกลงยกเว้นกฎหมายเอาไว้ในสัญญา ที่แต่เดิมข้อตกลงที่คู่สัญญาทำกันไว้ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ทำให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้เกินกว่าความเป็นจริง
ขอให้มีความสุขุกท่านนะคะ บุญรักษาค่ะ
By กานต์ ๙/๕/๖๐
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า
ตอนที่ ๑ บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามี...
-
การยื่นคำร้องขอเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ ** ความหมาย คนไร้ความสามารถ คือ เ ป็นบุคคลวิกลจริต และ ๑.ต้องเป็นอย่างมาก คือ วิกลจริตชนิด...
-
เอกสารปลอม/เอกสารเท็จ ในยุคปัจจุบันนี้ มีข่าวนำเสนออยู่บ่อยครั้งว่า มีผู้นำเอาเอกสารส่วนบุคคลของผู้อื่นไปใช้โดยเจ้าของไม่ยิ...
-
"ทรัพย์" ตอนที่ ๒ "ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้" เรื่องทรัพย์ในตอนที่ ๑ ผู้เขียนได้เขียนเรื่องของ ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น