Blog นี้ผู้สร้าง สร้างขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป และสำหรับผู้ที่กำลังศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย แม้ประโยชน์อันใดที่เกิดแก่ทุกท่านจากบทความเหล่านี้ ขอมอบความดีและกุศลทั้งหลายที่พึงมีให้แก่ อาจารย์ที่ประสิทธิประสาทวิชาให้แก่ผู้เขียน กระทั่งถึงผู้ถ่ายทอดวิชาการว่าความในชั้นศาลให้แก่ผู้เขียน บิดา มารดา ญาติสนิทมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ขอกุศลผลบุญนั้น จงดลบันดาลให้ทุกท่านได้พบแต่ความสุขความเจริญตลอดไป ด้วยจิตรคารวะ ณัชกานต์ 089 743 1717
วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
ฉ้อโกงกับคนโกง
ฉ้อโกงกับคนโกง
วันนี้ผู้เขียนขอเล่าเรื่องกฎหมายที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดซักเรื่องหนึ่ง ธรรมดามนุษย์ปุถุชนย่อมมีความเห็นแก่ตัว ด้วยกันทั้งสิ้น เว้นแต่ว่าผู้ใดจะมี หิริโอตัปปะ ความละอายต่อบาปมากน้อยต่างกัน ละอายมากก็เห็นแก่ตัวน้อยหน่อย ละอายน้อยก็เห็นแก่ตัวมากขึ้นเป็นธรรมดา คนบางคนก็แต่งตัวดีมีการศึกษา แต่จิตใจเต็มไปด้วยความคดโกง ทำมาหากินด้วยการเอาเปรียบผู้อื่น วันนี้ผู้เขียนจะมาเล่าเรื่องของการฉ้อโกง มาดูกันว่าอะไรคือ “ฉ้อโกง” และใครเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
เรื่องความผิดฐานฉ้อโกงนี้ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณคือ สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยแต่เดิมกฎหมายเราใช้คำว่า “ฉ้อ” ในการตรากฎหมายไว้ในพระอัยการหลวง ต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ซึ่งเนื้อหาโดยรวมยังคงใช้ตามที่บัญญัติไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพียงแต่รวบรวมหมวดหมู่ให้มาอยู่ในที่เดียวกันเท่านั้น และในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้ออกประกาศ “ลักษณะฉ้อ” ร.ศ. ๑๑๙ ที่มีการวางแนวทางของความผิดฐานฉ้อโกงให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น มีการแบ่งแยกความผิดทางแพ่งและทางอาญาออกจากกัน โดยมีการลงโทษผู้ฉ้อในทางอาญาขณะเดียวกันผู้เสียหายอาจเรียกค่าชดใช้ทางแพ่งในส่วนที่ตนต้องเสียไปได้อีก ซึ่งตามประกาศฉบับนี้วางหลักไว้ในมาตรา ๑ ว่า “ผู้ใดหลอกลวงเอาเงินหรือของจากผู้อื่นโดยจงใจที่จะฉ้อ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๔ เท่า หรือทั้งจำทั้งปรับ”
คำว่า “หลอกลวง” ตามกฎหมายฉบับนี้ ได้อธิบายความหมายไว้ในมาตรา ๒ ว่า หมายถึงการกระทำโดยวาจาก็ดีโดยหนังสือก็ดี กิริยาก็ดีให้เขาเข้าใจว่าการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นไปหรือเกิดขึ้นหรือมีอยู่ ผิดไปจากความจริง แต่การหลอกลวงในการที่ตั้งใจว่าจะทำอะไรในเบื้องหน้านั้น ไม่เรียกว่าหลอกลวง แต่เรียกว่าไม่ทำตามปฏิญาณ นอกจากนี้ในมาตรา ๓ ยังได้อธิบายคำว่า “เอามาได้จากผู้อื่น” ว่า เป็นการเอาไปเองหรือหลอกให้เขาไปให้ผู้อื่น และมีเจตนาที่จะไม่ให้เจ้าของได้คืนไปเลย
ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
การหลอกลวงผู้อื่น คือ การทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด หรือทำให้หลงเชื่อในสิ่งที่ผิดไปจากความเป็นจริง การหลอกลวงที่จะเป็นความฐานฉ้อโกงตามกฎหมายอาญา จะต้องเป็นการหลอกลวงโดย
๑.การแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ
๒.ปกปิดความจริงซึ่งควรแจ้งให้ทราบ
** มาตรา ๓๔๑ ต้องมีเจตนาพิเศษคือ โดยทุจริต ได้แก่การแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการได้ทรัพย์ไปโดยการหลอกลวงเอากรรมสิทธิ์จึงไม่เป็นการลักทรัพย์แต่การหลอกลวงเอาการครอบครองไม่เป็นฉ้อโกงคงเป็นลักทรัพย์อยู่ตามเดิม โดยถือว่าเป็นลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย (ศ.จิตติ ติงศภัทริย์) เช่น การหลอกซื้อผ้า หากเจ้าของติดตามเอาทรัพย์คืนและมีการทำร้ายร่างกายเจ้าของทรัพย์ก็ไม่เป็นชิงทรัพย์ เพราะการหลอกซื้อผ้าเป็นการหลอกเอากรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นฉ้อโกง ไม่ใช่ลักทรัพย์ การใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อยึดถือทรัพย์ไว้ก็ไม่เป็นชิงทรัพย์แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง และฐานทำร้ายร่างกาย
หากผู้กระทำผิดกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตแต่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่า สภาพจิตใจของผู้กระทำในขณะที่แสดงไม่เป็นดังที่แสดงจึงเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงในปัจจุบันอันเป็นความเท็จรวมอยู่ด้วยก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
ความผิดฐานฉ้อโกงกับการผิดสัญญาในทางแพ่ง
การไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือคำรับรองในอนาคตในบางกรณีเป็นปัญหาคาบเกี่ยวว่า เป็นเพียงผิดสัญญาในทางแพ่งหรือเป็นความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงด้วย ในการแบ่งแยกนั้นคงต้องพิจารณาว่าขณะทำสัญญาหรือให้คำรับรองนั้น จำเลยมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ ถ้ามีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือให้คำรับรอง แม้ภายหลังไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาหรือให้คำรับรองนั้นได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ จะถือว่าเป็นการแสดข้อความอันเป็นเท็จไม่ได้ ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง แต่เป็นเพียงผิดสัญญาหรือคำรับรองซึ่งเป็นความรับผิดในทางแพ่งเท่านั้น (ฎีกาที่ ๑๒๒๙/๒๕๓๖)
มาตรา ๓๔๒ ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(๑) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(๒) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
** มาตรา ๓๔๒ (๑) การแสดงตนเป็นคนอื่นหมายถึง เป็นคนอีกคนหนึ่งไม่ใช่เพียงแต่หลอกลวงหรือทำให้ผู้อื่นเข้าใจฐานะของตนผิดไปเท่านั้น และแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่มีตัวตนจริงๆ ก็ตาม
(๒) ความเบาปัญญาของเด็กนั้นหมายความว่า เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อันเป็นสภาพธรรมดาของเด็กทั่วไปมิใช่ว่าเด็กนั้นจะต้องโง่กว่าเด็กตามปกติ ส่วนความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวงนั้นหมายถึง ผู้มีภาวะแห่งจิตต่ำกว่าปกติ เช่น คนชรา คนป่วย คนสติไม่ปกติ คนวิกลจริต เป็นต้น
มาตรานี้เป็นเหตุให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ดังนั้น ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงตามมาตรา ๖๒ วรรคท้ายด้วย
มาตรา ๓๔๓ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔๒ อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
** มาตรา ๓๔๓ การแสดงเจตนาเท็จต่อประชาชนไม่ถือจำนวนผู้เสียหายว่ามากหรือน้อย แต่ถือเจตนาแสดงเท็จ เป็นสำคัญ และเมื่อมีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนทั่วไปแล้ว แม้ภายหลังจะมีการบอกต่อกันเป็นทอดๆ ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
ฎีกาที่ 5292/2540
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยต้นเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้งเพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอดๆ เมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลยจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้จะไม่มีการประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นการฉ้อโกง ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว จำเลยกับพวกมิได้เป็นผู้รับอนุญาตให้จัดหางานมิได้เป็นกรรมการหุ้นส่วนหรือผู้จัดการของผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหางานซึ่งเป็นนิติบุคคล ประกอบกับฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่ายังไม่มีตำแหน่งงานหรืออัตรางานในประเทศบาร์เรนตามที่โฆษณาชักชวนแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายอย่างจริงจังเป็นเพียงอุบายหลอกลวงอ้างเรื่องการจัดหางานเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบค่าบริการให้จำเลยเท่านั้นไม่ต่างกับการหลอกลวงโดยอ้างเหตุอื่น ๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต
หลังจากทราบมาตราที่เกี่ยวข้องและคำอธิบายไปบ้างแล้ว ต่อไปเรามาดูกันว่าใครคือผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในความผิดฐานฉ้อโกง
ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔, ๕, ๖ ทั้งนี้ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) ซึ่งผู้เสียหายตามมาตรา ๒(๔) นี้ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดอาญาเท่านั้น หากไม่ใช่ความผิดอาญาแล้วไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ และผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงนี้ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑. ผู้เสียหายโดยนิตินัย หมายความว่า เป็นผู้เสียหายตามความเป็นจริง ซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกฉ้อโกง
๒.ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด หรือเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
๓. การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงนั้นมิได้มีผลสืบเนื่อง หรือมีสาเหตุมาจากตน
ประเด็นแรก เป็นผู้เสียหายเพราะได้รับ เสียหาย อย่างไรจึงถือว่าได้รับความเสียหาย ....จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จชักชวนโจทก์ร่วมให้นำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารล่วงหน้ารายละ ๒,๐๐๐ บาท จากยอดเบี้ยเลี้ยงทหารที่สามารถเบิกจ่ายได้จริงรายละ ๒,๖๐๐ บาท ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารและมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารรวม ๑๑๘ ราย และมอบเงินรวม ๒๓๖,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อห้ามการซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหาร ดังนั้น การซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหารที่จำเลยหลอกโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่กิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามแต่เป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยเพื่อจูงใจให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและยินยอมมอบเงินให้จำเลย ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎีกาที่ ๔๐๐๕/๒๕๕๑)
@ จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จำเลยกล่าวความเท็จแก่โจทก์ว่า ตนสามารถซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารได้ทั้งๆ ที่ความจริงจำเลยไม่สามารถซื้อได้ จึงเป็นการหลอกลวงโจทก์ และการหลอกลวงเช่นว่านั้น ทำให้จำเลยได้เงินไปจากโจทก์ เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว จะทราบว่าการซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารนั้นไม่มีข้อห้ามมิให้มีการซื้อขายอันมีวัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามแต่อย่างใด โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง ต่างกับกรณีธนาคารซึ่งเป็นผู้รับฝากเงิน ซึ่งธนาคารย่อมมีอำนาจเอาเงินที่รับฝากตามจำนวนไปใช้จ่ายหรือหาประโยชน์ได้ เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนเงินแก่ผู้ฝากให้ครบถ้วนตามจำนวนที่ฝาก หากธนาคารจ่ายเงินให้จำเลยไปเพราะถูกจำเลยหลอกลวงด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เช่นนี้ต้องถือว่าธนาคารผู้รับฝากเป็นผู้เสียหาย ผู้รับฝากเงินไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ (ฎีกาที่ ๘๗/๒๕๐๖ (ประชุมใหญ่))
ประเด็นที่สอง ผู้เสียหายต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ส.และสามีมิได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและทางราชการก็มิได้ยึดทรัพย์สินของ ส.การที่ ส. มอบเงินจำนวน ๓๐๕,๐๐๐ บาทแก่จำเลยสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงของจำเลยด้วยข้อความอันเป็นเท็จ มิใช่ ส. หรือสามีกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว ส. มอบเงินให้แก่จำเลยเพื่อให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อให้ ส. หรือสามีพ้นผิดจากความผิด จึงถือไม่ได้ว่า ส. ได้ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ส. ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงได้ (ฎีกาที่ ๔๒๑๒/๒๕๕๐)
ตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวนี้มีข้อเท็จจริงประกอบว่า ส. สงสัยว่า สามีของตนติดพันหญิงอื่น จึงนำเรื่องปรึกษาจำเลย จำเลยยืนยันว่าสามีของ ส. มีความสัมพันธ์กับ ม. ซึ่งมีสามีเป็นคนญี่ปุ่น สามีของ ม. เป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ เจ้าพนักงานตำรวจกำลังสืบหาที่อยู่ของ ม. เพื่อยึดทรัพย์สิน และจะตรวจยึดทรัพย์ของ ส. ด้วย หากนางสวนิตไม่ต้องการถูกยึดทรัพย์สิน นางสวนิตต้องนำเงินไปให้พันตำรวจตรี น.เพื่อนของจำเลยเพื่อฆ่าสามีของ ส. โดยต้องจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท หรือมอบเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ผ่านจำเลยให้แก่พันตำรวจตรี น. เพื่อมอบแก่นายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือสามีของตนออกจากกระบวนการค้ายาเสพติด ส. หลงเชื่อมอบเงิน ๓๐๕,๕๐๐๐ บาท (เป็นค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ๕,๐๐๐ บาท) แก่จำเลย ความจริงไม่มีข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างเกิดขึ้นจริง หากแต่จำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวง ส. ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จมาแต่ต้น ซึ่ง ส. และสามี ไม่ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และไม่ได้จะถูกยึดทรัพย์ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะให้เงินจำเลยเพื่อไปวิ่งเต้นเจ้าพนักงานให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ แต่ที่ ส. ให้เงินจำเลยไปเพราะถูกจำเลยหลอกลวงด้วยการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ ดังนั้น ส. จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกจำเลยหลอกลวงนั่นเอง
ประเด็นที่สาม หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเป็นผู้เสียหายเพราะผู้แทนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดไม่ฟ้องร้องตนเอง โดยปกติแล้ว เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ผู้แทนของนิติบุคคลจะเป็นผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีแทนนิติบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้กระทำผิดอาญาเสียเองย่อมไม่จัดการแทนนิติบุคคล โดยฟ้องร้องกล่าวหาตนเองต่อศาล ดังนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้น และโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๖๙ ได้บัญญัติให้ผู้ถือหุ้นฟ้องคดีได้ หากกรรมการทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี จึงถือได้ว่าผู้ถือหุ้นในบริษัทเป็นผู้เสียหาย
ประเด็นที่สี่ กรณีไม่ใช่ผู้เสียหาย กฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิด และผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงนั้นจะต้องได้รับความเสียหายอันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการถูกหลอกลวงนั้นโดยตรง
จำเลยพูดจาหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ ๑ มิได้หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ ๒ หรือมีเจตนาให้ได้ทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ ๒ การที่โจทก์ร่วมที่ ๒ รับฟังเรื่องราวจากโจทก์ร่วมที่ ๑ แล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริง และประสงค์จะร่วมลงทุนกับโจทก์ร่วมที่ ๑ โดยโอนเงินผ่านธนาคารเข้าบัญชีโจทก์ร่วมที่ ๑ เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยนั้น ไม่ได้เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยต่อโจทก์ร่วมที่ ๒ โจทก์ร่วมที่ ๒ จึงไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎีกาที่ ๖๙๖๙/๒๕๕๕)
ข้อสังเกต คดีนี้หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ ๑ ว่าจะยกที่ดินและมีญาติของจำเลยจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมที่ ๑ หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยไป ซึ่งจำเลยมีเจตนากล่าวข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ ๑ เท่านั้น จำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ ๒ หรือเจตนาให้ได้ทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ ๒ แต่อย่างใด จึงไม่อาจถือได้ว่าการที่โจทก์ร่วมที่ ๒ รับฟังเรื่องราวดังกล่าวจากโจทก์ร่วมที่ ๒ อีกทอดหนึ่ง แล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริงเช่นเดียวกับโจทก์ร่วมที่ ๑ และประสงค์ร่วมลงทุนกับโจทก์ร่วมที่ ๑ ด้วย จึงได้โอนเงินผ่านธนาคารเข้าบัญชีโจทก์ร่วมที่ ๑ เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลย จะเห็นได้ว่า จำเลยไม่ได้แสดงเจตนากระทำการใด หรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่โจทก์ร่วมที่ ๒ เลย แต่โจทก์ร่วมที่ ๒ เชื่อในคำบอกเล่าของโจทก์ร่วมที่ ๑ ที่ถูกจำเลยหลอกลวงมาเท่านั้น กรณีนี้ยังไม่ถือว่า โจทก์ร่วมที่ ๒ เป็นผู้เสียหาย
ประเด็นที่ห้า เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ประเด็นนี้ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าพนักงาน ซึ่งผู้ให้สินบนถือว่าเป็นผู้ใช้ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หากมีเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนจริง ผู้ให้ก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานเรียกรับสินบน
เราลองมาดูฎีกาต่อไปนี้ว่า อย่างไรเป็นผู้มีส่วนร่วมการกระทำผิด
จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยสามารถวิ่งเต้นพนักงานอัยการและผู้พิพากษาล้มคดีให้แก่โจทก์ได้ และเรียกเอาเงินเพื่อนำไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายกฟ้อง โจทก์หลงเชื่อได้มอบเงินจำนวน ๕๘,๐๐๐ บาท แก่จำเลยไป การกระทำของโจทก์มีวัตถุประสงค์เป็นการร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน อันอาจถือได้ว่าโจทก์ใช้ให้จำเลยกระทำความผิดแม้โจทก์จะไม่ทราบว่าจำเลยมิได้นำเงินไปเป็นค่าวิ่งเต้นคดีก็ตาม โจทก์ก็มิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงได้ (ฎีกาที่ ๕๑๗๒/๒๕๕๔)
ข้อสังเกต โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากันก่อนเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ทั้งสองถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายจำเลยหลอกลวงโจทก์ทั้งสองว่าจะช่วยวิ่งเต้นล้มคดีให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยจะต้องเสียค่าวิ่งเต้น พนักงานอัยการและผู้พิพากษารวมเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นความเท็จ โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อจึงได้จ่ายเงินค่าวิ่งเต้นให้แก่จำเลยไปการกระทำของโจทก์ทั้งสองดังนี้ มีวัตถุประสงค์เป็นการร่วมกับจำเลยในการนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน อันอาจถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองใช้ให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย
โจทก์ประสงค์จะได้ป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีปลอมมาติดรถและมอบเงินให้จำเลยไปจัดทำ ซื้อ หรือหาป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีปลอมมาให้ ดังนี้ การทำหรือใช้ป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีปลอมเป็นความผิดต่อกฎหมาย ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ใช้ให้จำเลยกระทำผิดด้วย โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยชอบ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้ (ฎีกาที่ ๑๕๗๓/๒๕๒๐)
ข้อสังเกต หากโจทก์ต้องการเสียภาษีและต่อทะเบียนรถอย่างถูกต้อง แต่จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่า จำเลยจะนำเงินที่โจทก์มอบให้ไปเสียภาษีและต่อทะเบียนรถให้ แล้วจำเลยไม่นำเงินไปดำเนินการตามที่โจทก์ต้องการเช่นนี้ จึงจะถือว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์จึงจะเป็นผู้เสียหายโดยตรง
บุญรักษาค่ะทุกท่าน ราตรีสวัสดิ์
By กานต์
๒/๕/๖๐
๐๑.๐๐ น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า
ตอนที่ ๑ บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามี...
-
การยื่นคำร้องขอเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ ** ความหมาย คนไร้ความสามารถ คือ เ ป็นบุคคลวิกลจริต และ ๑.ต้องเป็นอย่างมาก คือ วิกลจริตชนิด...
-
เอกสารปลอม/เอกสารเท็จ ในยุคปัจจุบันนี้ มีข่าวนำเสนออยู่บ่อยครั้งว่า มีผู้นำเอาเอกสารส่วนบุคคลของผู้อื่นไปใช้โดยเจ้าของไม่ยิ...
-
"ทรัพย์" ตอนที่ ๒ "ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้" เรื่องทรัพย์ในตอนที่ ๑ ผู้เขียนได้เขียนเรื่องของ ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น