วิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนและมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา
บทความครั้งก่อนผู้เขียนได้เขียนเรื่อง การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน, การคุ้มครองเด็ก
และความรุนแรงในครอบครัว โดยผู้เขียนได้สอดแทรก
เนื้อหาเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ไว้ในเนื้อหาบางส่วนด้วย ไหนๆ ผู้เขียนก็เขียนเรื่องของเด็กและเยาวชนแล้ว
วันนี้จึงอยากมาเขียนเรื่องวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน
และวิธีการเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็กเสียให้จบกระบวนการสำหรับเด็ก
โดยผู้เขียนจะเขียนวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสรุป เพื่อมิให้เนื้อหายืดยาวเกินไปนัก
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงยังประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเหตุผลที่ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้
คือ โดยทีปัจจุบันได้มีการแยกศาลยุติธรรม ออกจากกระทรวงยุติธรรม
โดยมีสํานักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม สมควรปรับปรุง กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวให้สอดคล้องกับอํานาจหน้าที่และโครงสร้างใหม่ประกอบกับสมควรปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิสวัสดิภาพ
และวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งในส่วนของกระบวนการ พิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัว
เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ : หมายเหตุท้ายประกาศ
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับคำนิยามตามพระราชบัญญัตินี้เสียก่อน คำนิยามนี้มีบัญญัติไว้ในมาตรา
๔ โดยให้ความหมายต่างๆ ไว้ดังนี้
(๑) เด็ก หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์
(๒) เยาวชน หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์
(๓)
คดีเยาวชนและครอบครัว หมายความว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณา
พิพากษาตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) คดีครอบครัว
หมายความว่าคดีแพ่งที่ฟูองหรือร้องขอต่อศาล หรือกระทำการใดๆในทางศาล
เกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัวซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียน
ครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว
(๕) คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ
หมายความว่า คดีที่ฟูองหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใดๆ
ในทางศาลเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กหรือบุคคลในครอบครัว
ซึ่งจะต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองเด็ก กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับ
การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กหรือบุคคลในครอบครัว
(๖) คดีธรรมดา
หมายความว่าคดีอื่น ๆ นอกจากคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
(๗)
ศาลเยาวชนและครอบครัว หมายความว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด
หรือแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
(๘) ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
หมายความว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
ศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวและศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
จะเห็นว่าคำนิยามตาม
(๑) และ (๒) นั้น ได้ระบุเกณฑ์อายุของเด็กและเยาวชนไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาว่า
ผู้ที่กระทำความผิดทางอาญานั้นเป็นเด็ก หรือเยาวชนหรือไม่ เมื่อได้ทราบแล้วว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำของเด็ก
หรือเยาวชน เราก็จะทราบถึงวิธีพิจารณาความและเขตอำนาจศาล
ซึ่งหากความผิดที่เกิดจากการกระทำจากเด็ก หรือเยาวชนแล้ว ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคือ
ศาลเยาวชนและครอบครัว ที่เด็ก หรือเยาวชนนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ การกระทำความผิดในคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด
ให้ถืออายุเด็ก หรือเยาวชนในวันที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น (มาตรา ๕) ซึ่งหมายความว่า
เมื่อมีผู้กล่าวหาว่า ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น
เราต้องพิจารณาจากอายุของผู้กระทำว่า อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
ซึ่งต้องนับในวันที่ความผิดเกิดขึ้น
เมื่อเด็ก
หรือเยาวชนได้กระทำความผิดทางอาญาแล้ว การสอบสวนบุคคลดังกล่าวนี้ กฎหมายได้กำหนดห้ามมิให้จ้าพนักงานจับกุมเด็กซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด
ยกเว้นแต่เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับ หรือมีคำสั่งของศาล
และการจับกุมเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๖๖ และห้ามมิให้ควบคุม คุมขัง กักขัง
คุมความประพฤติหรือใช้มาตรการอันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือเป็นจำเลย
เว้นแต่มีหมาย หรือมีคำสั่งศาลหรือเป็นกรณีการควบคุมตัวเท่าที่จำเป็น ซึ่งเจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งแก่เด็ก
หรือเยาวชนนั้นว่า เขาต้องถูกจับ
และต้องแจ้งข้อกล่าวหารวมทั้งสิทธิต่างๆตามกฎหมายให้ทราบ
หากมีหมายจับต้องแสดงหมายจับให้แก่ผู้ถูกจับ แล้วนำตัวเด็ก
หรือเยาวชนนั้นไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนที่ถูกจับทันที และหากในขณะถูกจับกุม
มีบิดา มารดา หรือ ผู้ปกครองหรือผู้แทนองค์กรซึ่งเด็ก หรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย
ในขณะนั้น ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งเหตุแห่งการจับให้บุคคลดังกล่าวทราบ
และในกรณีความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูง ตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จำคุกจําคุกไม่เกินห้าปี เจ้าพนักงานพนักงานผู้จับจะ สั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้นําตัวเด็ก
หรือเยาวชนนั้นไปยังที่ทําการของพนักงานสอบสวนก็ได้
แต่ถ้าในขณะนั้นไม่มีบุคคลดังล่าวอยู่กับผู้ถูกจับให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งให้บุคคลดังกล่าวคนใด
คนหนึ่งทราบถึงการจับกุมในโอกาสแรกเท่าที่สามารถกระทําได้ และหากผู้ ถูกจับประสงค์จะ
ติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบุคคลเหล่านั้น ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อการจับกุมและอยู่ในวิสัยที่จะ
ดําเนินการได้ ให้เจ้าพนักงานผู้จับดําเนินการให้โดยไม่ชักช้า (มาตรา ๖๙)
ดังนั้น ในการจับกุมและควบคุมเด็ก
หรือยาวชน เจ้าพนักงานต้องกระทําโดยละมุนละม่อมโดยคํานึงถึงศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์และไม่เป็นการประจานเด็กหรือเยาวชนจนเกินไป
และห้ามมิให้ใช้วิธีการควบคุมเกินกว่าที่จําเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือเพื่อความปลอดภัยของเด็ก
หรือเยาวชนผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น รวมทั้งมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่เด็กไม่ว่ากรณีใด
ๆ เว้นแต่มีความจําเป็นเพื่อ ป้องกันการหลบหนี หรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กที่ถูกจับ หรือผู้อื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่จับทําบันทึก
การจับกุม โดยแจ้งข้อกล่าวหา และรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้เด็ก
หรือเยาวชนที่ถูกจับทราบ แต่ห้ามไม่ให้เจ้าพนักงานถามคําให้การเด็ก
หรือเยาวชนที่ถูกจับ หากขณะทําบันทึกดังกล่าวมีบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือผู้แทน
องค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยในขณะนั้น ต้องกระทําต่อหน้าบุคคลดังกล่าว และจะให้ลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วยก็ได้
ถ้อยคําต่างๆ
ของเด็กหรือเยาวชนในชั้นจับกุมมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานเพื่อ พิสูจน์ความผิดของเด็กหรือหรือเยาวชน
แต่ศาลสามารถนํามาฟังเป็นคุณแก่เด็กหรือเยาวชนได้ และเมื่อได้นำเด็ก หรือเยาวชน
มายังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแล้ว ให้นำตัวเด็ก
หรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุม ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง หากเด็ก
หรือเยาวชนนั้นมีบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลหรือองค์การซึ่งเด็ก หรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย
และบุคคลหรือองค์การดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังสามารถปกครองดูแลเด็กหรือเยาวชนนั้นได้
ให้พนักงานสอบสวนมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้แก่บุคคลดังกล่าวไปปกครองดูแล โดยสั่งให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังศาลภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง และหากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเด็กหรือเยาวชนจะไม่ไปศาล
พนักงานสอบสวนจะให้บุคคลดังกล่าวประกันตัวเด็ก หรือเยาวชนนั้นก็ได้ และเมื่อเจ้าพนักงานนำตัวเด็ก หรือเยาวชนไปศาล
กฎหมายกำหนดให้ศาลตรวจสอบว่าเป็นเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่
การจับและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการจับเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ก็ให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป ถ้าเด็กหรือเยาวชนยังไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย
ให้ศาลแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเด็ก
หรือเยาวชน
ในกรณีที่เด็ก
หรือเยาวชนมีบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลหรือองค์การซึ่งเด็ก หรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย
ศาลอาจให้บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ดูแลเด็กหรือเยาวชนในระหว่างการดำเนินคดีโดยจะกำหนดให้บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่นำตัวเด็ก
หรือเยาวชนนั้นไปพบพนักงานสอบสวนหรือพนักงานคุมประพฤติหรือศาล แล้วแต่กรณี และหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำของเด็กหรือเยาวชนมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง
หรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมเด็ก หรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ในสถานพินิจหรือในสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามเห็นสมควรก็ได้
และหากเยาวชนนั้นมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่น
หรือมีอายุเกินยี่สิบปีบริบูรณ์แล้ว ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมไว้ในเรือนจำหรือสถานที่อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หากเราพิจารณาวิธีการสอบสวนดังกล่าวที่ผู้เขียนสรุปย่อๆ
มาให้จะเห็นได้ว่า กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองแก่เด็ก และเยาวชนที่กระทำความผิด
โดยให้เจ้าพนักงานปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดอย่างเหมาะสม ที่สำคัญหากเด็ก
หรือเยาวชนนั้น ไม่มีที่ปรึกษากฎหมายศาลต้องตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้ด้วย และก่อนที่ศาลมีคำสั่งควบคุมหรือคุมขังเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือซึ่งเป็นจำเลยทุกครั้ง
ให้ศาลสอบถามเด็กหรือเยาวชนหรือที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนนั้นว่าจะมีข้อคัดค้านหรือไม่
ซึ่งหมายถึงว่า ก่อนที่จะดำเนินกระบวนการใดๆ ต่อศาล ไม่ว่าการตรวจสอบการจับกุม
การไต่สวน จำต้องจัดให้เด็ก หรือเยาวชนนั้นมีที่ปรึกษากฎหมาย เพื่อให้เด็ก
หรือเยาวชนนั้น ได้รับคำปรึกษาจากที่ปรึกษากฎหมายเป็นเบื้องต้น ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
เพื่อให้เด็กได้รับการปฏิบัติ และได้รับการพิจารณาคดีด้วยความเหมาะสม
มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา
เมื่อได้ศึกษาถึงวิธีพิจารณาคดีไปในเบื้องต้น
แล้วพระราชบัญญัตินี้ยังกำหนดมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดด้วย
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป้าหมายของการดำเนินคดีแก่บุคคลที่กระทำการอัน
กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด คือ การนำตัวผู้กระทำผิดนั้นมาฟ้องลงโทษ
ดังนั้นกระบวนการทุกขั้นตอนในวิธีพิจารณาความอาญาไม่ว่าจะเป็น การจับ ควบคุม
สอบสวน ฟ้องคดี และการพิจารณาพิพากษาของศาล
ย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความจริงจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยาน หลักฐานต่างๆ
ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่
และควรจะได้รับโทษอย่างไร
ส่วนในการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กและเยาวชน
ซึ่งกระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดนั้น
มิได้มีเป้าหมายจำกัดเพียงวัตถุประสงค์ของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไปข้างต้น แต่รวม
ถึงการค้นหาสาเหตุแห่งการกระทำผิด สภาพแวดล้อมและสภาพของ เด็กและเยาวชน
อันเป็นเหตุให้เขาเหล่านั้นกระทำผิด
ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าพนักงานหรือศาลทราบถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้
และหาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนเหล่านั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงเขาให้กลับตัวเป็นคนดี
เนื่องจากการที่บุคคลแต่ละคนกระทำผิดย่อมมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป
ดังนั้นวิธีการแก้ไขจึงต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมแก่ผู้กระทำผิดเฉพาะรายซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการที่เหมือนกัน
หรือต้องใช้การลงโทษเสมอไป ด้วยเหตุนี้
กฎหมายเกี่ยวกับความผิดเด็กและเยาวชนของไทยจึงมีบทบัญญัติให้ศาลใช้วิธีการสำหรับเด็กแทนการลงโทษได้
แต่เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นพลเมืองที่จะต้องเติบโตเป็นกำลังของ สังคมในอนาคต
การดำเนินคดีอาญาแก่เด็กและเยาวชนจึงต้องมีหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ
เพื่อปกป้องและคุ้มครองความเสียหายจากการที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกดำเนินคดีอาญาในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลย
จึงได้ตรากฎหมายขึ้นมาใหม่
คือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔
และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ เสีย ซึ่งแนวคิดในการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญามองว่าเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิดมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไปโดยสมัยก่อนมองว่าการที่เด็กและเยาวชนกระทำความผิดนั้นเป็นเพราะด้วยฐานะยากจนหรือด้วยความคึกคะนองการลงโทษเด็กด้วยวิธีเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่กระทำความผิดอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตกับเด็กหรือเยาวชนในการอยู่ร่วมกับสังคมและเมื่อพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ของเด็กหรือเยาวชนแล้วสังคมย่อมมีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดแรงกระตุ้นของเด็กหรือเยาวชนในการกระทำความผิด
เมื่อสังคมเป็นสังคมที่เสียระเบียบ (Social Disorganization) จึงเป็นพื้นฐานของการก่ออาชญากรรมและการกระทำคามผิดของเด็กอีก
และสาเหตุหนึ่งคือความยากจน ร่อนเร่
หิวโหยและที่สำคัญคือการไม่ได้รับการศึกษาตามสมควรจึงทำให้มีเวลาว่างเวลาทำให้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามรวมถึงการถูกชักจูงไปในทางที่ผิด
ส่วนการแสดงออกของเด็กที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมนั้นล้วนแต่เป็นการโต้ตอบจากแรงผลักดัน
ภายในที่โต้ตอบสิ่งแวดล้อมภายนอกเท่านั้น
เช่นการต้องการแสดงตนเหนือผู้อื่นในรูปแบบของการเป็นผู้นำหรือหัวหน้า (Ego)
อัน เป็นการระบายออกแก่ตนเอง
หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการตามมาตรา
๘๖, ๙๐, ๙๑ และ ๙๒
ข้อ ๑ ต้องหาว่ากระทำความผิดมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามเมื่อรับแจ้งการจับกุมหรือการแจ้งข้อกล่าวหาเด็กหรือเยาวชนจากพนักงานสอบสวนไม่ต้องรอให้ปรากฏตามสำนวนการสอบสวนว่าเด็กหรือเยาวชนได้กระทำผิดดังในกฎหมายฉบับปี
๒๔๙๔ และความผิดที่ต้องหามีอัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม
โดยให้ดูจากอัตราโทษอย่างสูงตามที่มีกำหนดในกฎหมายยังไม่ต้องพิจารณาไปถึงโทษที่อาจได้ลด
เช่น การได้ลดมาตราส่วนโทษเพราะความผิดที่ต้องหายังกระทำไม่สำเร็จจึงอยู่ในขั้นพยายามกระทำผิดหรือได้รับการลดโทษด้วยเหตุแห่งอายุอัตราโทษนั้นนำมาพิจารณาเฉพาะโทษจำคุก
ส่วนโทษปรับนั้นจะมีด้วยหรือไม่ก็ตาม ไม่ต้องนำเกณฑ์โทษปรับมาประกอบการพิจารณาใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญานี้
ข้อ ๒ การได้รับโทษจำคุก
หมายถึง การรับโทษจำคุกจริงตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุกและในความผิดที่รับโทษนั้นมิใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ดังนั้นหากเด็กหรือเยาวชนไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยรับโทษจำคุกแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยประมาท
หรือความผิดลหุโทษย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาให้นำมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญามาใช้
หากศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่รอการลงโทษไว้ ต้องถือว่าไม่เคยรับโทษจำคุก หรือศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแต่เปลี่ยนโทษเป็นฝึกอบรมก็เช่นกันถือว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นไม่เคยได้รับโทษจำคุก
ข้อ ๓ เด็กหรือเยาวชนต้องสำนึกในการกระทำก่อนฟ้องคดีการแก้ไขต้องเริ่มจากผู้กระทำต้องรู้ว่าสิ่งที่ตนทำลงนั้นเป็นสิ่งผิดซึ่งความรู้สึกผิดจะก่อให้เกิดการพัฒนาพฤติกรรมให้ดียิ่งขึ้น อะไรเป็นข้อบ่งชี้ว่าเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำ
ความหมายในพจนานุกรม สำนึก แปลว่า "รู้สึก หรือ รู้ตัวว่าผิดแล้วไม่คิดจะทำต่อไป"
ซึ่งในทางปฏิบัติจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการตัดสินใจ แค่รับสารภาพว่ากระทำผิดจริง
หรือรับสารภาพตามข้อกล่าวหาเพียงพอหรือไม่ การรับสารภาพอาจมิได้มาจากการสำนึกก็ได้
แต่ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำมาพิจารณาต่อว่า สารภาพด้วยสำนึกหรือไม่ และการสารภาพแล้วมีข้อบ่งชี้ใดที่จะน่าเชื่อว่าเขารู้ตัวว่าผิดแล้ว
และไม่คิดจะทำต่อไป เช่น การเยียวยาผู้เสียหาย คำมั่นว่าจะไม่กระทำเช่นนั้นอีก ผู้ดำเนินงานต้องอ่านพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนให้ออก
ดูพฤติการณ์แวดล้อมว่าน่าเชื่อเพียงใดแต่ก็ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ขั้นตอนในการสำนึกอาจแสดงตั้งแต่ชั้นสอบถามปากคำ
หรือแสดงออกในขั้นตอนของการประชุมจัดทำแผน
ซึ่งก็ยังอยู่ในห้วงเวลาก่อนการฟ้องคดีแต่โดยปกติการสำนึกต้องเป็นข้อที่พนักงานคุมประพฤติต้องใช้ประกอบในการพิจารณาเสนอใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา
จึงควรอยู่ในช่วงการถามปากคำ
ข้อ ๔ ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ
เห็นว่าเด็กหรือเยาวชนอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้องนั้น มีข้อเท็จจริงที่ต้องคำนึงถึงได้แก่
อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สภาพร่างกาย สภาพจิต อาชีพ ฐานะ
และสาเหตุแห่งการกระทำผิด ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับข้อเท็จจริง ตามมาตรา
๓๖ (๑)
ข้อ ๕ เมื่อผู้อำนวยการสถานพินิจฯ
ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเด็กหรือ เยาวชนอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง ก็จะมีคำสั่งให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา
ซึ่งก็จะต้องมีการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู เป้าหมายในการจัดทำแผนได้แก่
๕.๑ แก้ไขปรับเปลี่ยนความประพฤติ
๕.๒ บรรเทา ทดแทน หรือชดเชยความเสียหาย
๕.๓ สร้างความปลอดภัยของชุมชนและสังคม
ข้อ ๖ การจัดทำแผนต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย
และเด็กหรือเยาวชนประเด็นนี้มีการ ตีความว่าหากในคดีไม่มีผู้เสียหายก็ไม่สามารถใช้มาตรการพิเศษนี้ได้แต่บางศาลก็ตีความว่าการที่จะต้อง
ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย หมายถึงเฉพาะคดีที่มีผู้เสียหายเท่านั้น
หากไม่มีผู้เสียก็สามารถดำเนินการ ได้ ซึ่งประเด็นปัญหานี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขอแก้ไขกฎหมาย
ข้อ ๗ เสนอความเห็นประกอบแผนให้พนักงานอัยการพิจารณา กฎหมายกำหนดเพียงให้เสนอความเห็นประกอบแผน
ดังนั้น การจะเสนอความเห็นก็ต้อง มีข้อเท็จจริงก่อนจึงจะมีความเห็นและมีแผนได้
โดยข้อเท็จจริงต้องมีครบทุกเรื่องตามมาตรา ๓๖ (๑) พนักงานอัยการจึงจะสามารถพิจารณาได้ว่าแผนนั้นเหมาะสมหรือไม่
ข้อ ๘ ในการพิจารณาสั่งของพนักงานอัยการอาจสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งคือ
๘.๑ ไม่เห็นชอบให้แก้ไขแผน
หรือให้ดำเนินคดีปกติ
๘.๒ เห็นชอบให้ดำเนินการตามแผน
การเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการจะมีการนำเสนอสองครั้ง
ครั้งแรกเป็นการเสนอความเห็น ประกอบแผน ครั้งที่สองเป็นการเสนอผลการดำเนินการตามแผน
และเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนอาจกลับตน เป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง การรายงานต่อศาลก็รายงานสองครั้งเช่นกัน
ครั้งแรกรายงานเมื่อพนักงานอัยการเห็นชอบกับ แผนครั้งที่สองรายงานเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้นเป็นไปตามกฎหมายอาจมีรายละเอียดยิ่งขึ้นตามระเบียบที่อธิบดี
กำหนด คือ “ระเบียบกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนว่าด้วยหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขในการ จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู พ.ศ.๒๕๔๕"
มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา
ม.๙๐-๙๑
มาตรา ๙๐
เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษ
อย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินยี่สิบปี
ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม
ถ้าปรากฏว่าเด็กหรือเยาวชนไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำ
คุกมาก่อน เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ก่อนมีคำพิพากษา
หากเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำและผู้เสียหายยินยอมและโจทก์ไม่คัดค้าน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพฤติการณ์แห่งคดีไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกิน สมควร
และศาลเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนอาจกลับตนเป็นคนดีได้
และผู้เสียหายอาจได้รับการชดเชยเยียวยาตามสมควรหากนำวิธีจัดทำแผนแก้ไขบำบัด ฟื้นฟู
ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของเด็กหรือเยาวชนและต่อผู้เสียหายมากกว่าการ
พิจารณาพิพากษา
ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรจัดให้มีการ
ดำเนินการเพื่อจัดทำแผนดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชน บิดา มารดา
ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยปฏิบัติ
แล้วเสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่ที่ศาลมีคำสั่ง
หากศาลเห็นชอบด้วยกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้ดำเนินการตามนั้นและให้มีคำสั่ง
จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว หากศาลไม่เห็นชอบ ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
มาตรา
๙๑
การประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา ๙๐
ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจ หรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ประสานการประชุม
โดยให้มีผู้เข้าร่วมประชุมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๗ ทั้งนี้
พนักงานอัยการจะเข้าร่วมประชุมด้วยก็ได้
หลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขในการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา ๙๐
ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
มาตรา ๙๒
ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูที่ศาลเห็นชอบฝ่าฝืน
หรือไม่ปฏิบัติตามหรือมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู นั้น
ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลสั่ง
หลักเกณฑ์
๑.คดีอาญาซึ่งมีโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินยี่สิบปี
๒.เด็กหรือเยาวชนไม่เคยได้รับโทษจำคุก
โดนคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้น ประมาทหรือลหุโทษ
๓.หากเด็กหรืเยาวชนสำนึกในการกระทำและผู้เสียหายยินยอม
๔.โจทก์ไม่คัดค้าน
๕.ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพฤติการณ์แห่งคดีไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร
๖.ศาลเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนอาจกลับตัวเป็นคนดีได้
๗.ผู้เสียหายอาจได้รับการชดเชยเยียวยาตามสมควร
๘.
หากทำวิธีจัดทำแผนแก้ไขเยาวชนอาจกลับตัวเป็นคนดีได้
๙.ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจ
หรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรจัดให้มีการดำเนินการเพื่อจัดทำแผนดังกล่าว โดยมีเงื่อนไข
ให้เด็กหรือเยาวชน บิดา มารดา ผู้ปกครอง
บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยปฏิบัติเสนอต่อศาลภายใน ๙๐ วันหากศาลเห็นชอบให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว แล้วดำเนินการตามแผนฟื้นฟู
เมื่อครบถ้วนให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีและให้สิทธินำคดีมาฟ้องเป็นอันระงับหากไม่เห็นชอบก็ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
: แหล่งข้อมูลอ้างอิง
(สง่าลีนะมิตร, กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำ ความผิดของเด็กและเยาวชน (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง (๒๕๒๒), น.๑๗)
อธิราช มณีภาค (๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕)สาเหตุแห่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนรวมถึงวิธีป้องกันและแก้ไข,สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐,จาก http://www.elib.coj.go.th/Article/c2535_7_11.pdf
วิมัย ศรีจันทรา, ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน, http://www2.djop.go.th สืบค้นเมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐
ขอให้มีความสุขและบุญรักษาทุกท่านค่ะ
By กานต์
๒๖/๕/๖๐, ๑๐.๐๕ น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น