วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เด็กและเยาวชนกับการกระทำความผิด และความคุ้มครอง


เด็กและเยาวชนกับการกระทำความผิด และความคุ้มครอง


          จากการที่ผู้เขียนได้เดินทางไปทำงานทางด้านคดี หรือได้มีโอกาสรับฟังการบรรยายกฎหมายในสถานที่ต่างๆ มักมีผู้มาปรึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนบ่อยครั้ง ทำให้ผู้เขียนอยากเขียนกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนบ้าง เนื่องจากปัจจุบันนี้โลกเรามีวิวัฒนาการก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้ง่าย และโยงใยไปได้ทั่วโลก สิ่งที่สำคัญสำหรับเด็ก/เยาวชนในยุคนี้คือ การสื่อสารที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายดาย เพียงแค่กดจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น นอกจากนั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีขีดจำกัด ทำให้เด็กและเยาวชน เข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสมได้โดยง่าย ทั้งความรุนแรง สื่อลามกอานาจารต่างๆ รวมถึงค่านิยมผิดๆ ที่นำเสนอออกสื่อสาธารณะทั่วไป ปัญหาอย่างหนึ่งของเด็ก/เยาวชนปัจจุบันนี้ คือการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนว่าตนเองเป็นคนทันสมัยและไม่เชย ซึ่งการใช้สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยดูเหมือนจะเป็นแฟชั่นที่นิยม และหากไม่มีใช้อาจดูเหมือนเชยและไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่ง การใช้สื่อเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูทีวี การเล่นวิดีโอเกม การใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯทำให้เด็ก/เยาวชนพลาดสิ่งสำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การทำการบ้าน หรืออาจละเลยงานที่ตนต้องรับผิดชอบ

                      ในโอกาสที่ผู้เขียนได้รับการอบรมเพื่อสอบเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายคดีเด็กและเยาวชนจากศาลเยาวชนและครอบครัวที่ร่วมมือกับสภาทนายความในพระราชนูปถัมภ์จัดขึ้นเพื่อให้ทนายความที่เข้ารับการอบรมได้ศึกษากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน และศึกษาจิตวิทยาเด็กในเบื้องต้น นอกเหนือจากการเป็นทนายความอาชีพ ผู้เขียนจึงสนใจค้นคว้าปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเพิ่มเติมนอกเหนือจากการทำงานคดีปกติ และได้หยิบยกเรื่องของเด็กขึ้นทำรายงานเพื่อนำเสนอในระดับบัณฑิตศึกษาอยู่เสมอ วันนี้ผู้เขียนจะขอยกบทความบางส่วนที่ ท่าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนไว้มาให้ทุกท่านได้ลองศึกษากัน


จิตวิทยาการเลี้ยงดูเด็ก (Psychological aspect of child rearing)

                    สิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์นั้น แบ่งได้เป็น ๒ พวกใหญ่ๆคือสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย (physical needs) เช่น อาการ อากาศสำหรับหายใจ อุณหภูมิที่เหมาะสมเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย เป็นต้น

                   สิ่งจำเป็นสำหรับจิตใจ (psychological needs) ที่จะทำให้มนุษย์นั้นอยู่อย่างปกติสุข สามารถเป็นคนที่มีคุณภาพ คือ สามารถประกอบการงานให้เป็นประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว และสังคม ถ้าเด็กได้รับแต่สิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายอย่างครบบริบูรณ์ แต่ขาดสิ่งจำเป็นสำหรับจิตใจ เราก็อาจได้เด็กที่รูปร่างแข็งแรงสูงใหญ่ตามเกณฑ์มาตรฐานทุกประการ แต่อาจมีท่าทางไม่เป็นสุข หงอยเหงา ไม่ร่าเริงแจ่มใส เชื่องซึม หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบทำลาย หรือไม่สามารถรับผิดชอบได้ตามวัย เช่น ไม่สามารถเรียนหนังสือได้ ฉะนั้นควบคู่กับแนะนำว่าเด็กอายุเท่าใด ต้องให้นมแบบไหน อาหารเสริมอะไร ฉีดวัคซีนอะไร ก็ควรจะให้ความรู้พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กอายุเท่าใดมีลักษณะนิสัยตามธรรมชาติอย่างไร และเด็กต้องการตอบสนองต่อความต้องการทางจิตใจอย่างไรถึงจะเหมาะสมเพื่อทำสุขภาพจิตดีควบคู่กับการมีสุขภาพกายดี


การอบรมเด็ก (Discipline technique of children)

                     ผู้ที่เคยเลี้ยงดูเด็ก คงทราบดีทุกคนว่า ไม่ว่าเด็กคนหนึ่งจะเป็นเด็กดีเพียงใดก็ตาม ในบางครั้งบางคราวก็ยังอาจมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมเกิดขึ้นได้ ซึ่งผู้ใหญ่จำเป็นต้องมีวิธีการที่จะแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสมและสามารถควบคุมตัวเอง ให้มีความประพฤติที่สังคมยอมรับได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้ใหญ่คอยควบคุมในเวลาต่อมา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการในเด็กมักได้แก่ การไม่เชื่อฟังเมื่อห้ามปราม เช่น การปีนป่ายไปบนที่สูง การไม่ยอมทำอะไรบางอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการให้ทำ เช่น ทำการบ้าน เก็บของเล่นเข้าที่ ทำงานที่ได้รับมอบหมาย พฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง เช่น ตีน้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย การทำลายสิ่งของเมื่อโกรธหรือถูกขัดใจ
                     พ่อแม่จำนวนมากไม่ทราบว่าจะจัดการอย่างไรกับพฤติกรรมเหล่านี้ของลูกถึงจะให้ผลดีกับเด็ก ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์มีมากขึ้น แต่พ่อแม่ทั่วไปมักจะยังไม่ได้รับประโยชน์จากความรู้นี้มีแต่นักวิชาการและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตเด็กจำนวนหนึ่งเท่านั้น ความรู้ความเข้าใจให้การอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ถูกต้องสมควรได้รับการเผยแพร่ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ วิธีการตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กทำได้ดังนี้

                    ๑.การใช้เหตุผล (Reasoning) การให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาซึ่งเด็กสามารถเข้าใจ มักจะสามารถแก้ไขพฤติกรรมได้ในเด็กยิ่งเล็กการให้เหตุผลต้องแบบง่าย สั้น ไม่พูดยืดยาว เช่น มีดเล่นไม่ได้เพราะจะบาดมือหนู หนูไม่ปีนขึ้นที่สูงเดี๋ยวจะตกลงมาเจ็บ

                    ๒. การใช้ท่าทีที่หนักแน่นและจริงจัง (Firmness) เวลาที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กทำอะไรแล้วเด็กอิดเอื้อน ไม่ยอมทำ วิธีหนึ่งที่ได้ผลคือต้องพูดให้หนักแน่นและจริงจังว่าให้ทำเดี๋ยวนี้ อาจต้องใช้ท่าทีประกอบด้วย เช่น ลุกขึ้นจูงมือเด็กให้ไปทำสิ่งที่ต้องทำ เช่น เด็กอิดเอือนไม่ยอมทำการบ้านแม้จะพูดเตือนแล้วหลายครั้ง แม่ต้องแสดงให้เห็นว่าแม่หมายถึงว่าลูกต้องทำการบ้านแล้วโดยบอกด้วยเสียงที่หนักแน่นว่าเอาสมุดการบ้านออกมาแล้วนั่งลงทำเดี๋ยวนี้เลย ถ้าเด็กไม่ยอมลุกก็ต้องจูงมือไปเอาสมุด ดินสอมานั่งลงให้ทำและเฝ้าให้ทำถ้าจำเป็น

                    ๓. การใช้สิ่งทดแทน (Alternative response) เวลาห้ามไม่ให้เด็กทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ควรสอนเด็กไปด้วยว่าสิ่งไหนที่ทำแทนได้ เช่น เด็กเล่นของแหลมอยู่จะเอาจากมือเด็กก็ให้เอาของอื่นที่น่าสนใจกว่ามาให้เด็กแทน ไม่ควรหยิบของแหลมจากมือเด็กเฉยๆ ซึ่งเด็กจะร้องอาละวาดต่อ หรือเห็นเด็กขีดเขียนฝาผนังบ้านอยู่ห้ามไม่ให้ทำเพราะสกปรกบ้าน ก็ควรหากระดาษมาให้เด็กได้เขียนแทน เป็นต้น

                    ๔. ให้สามารถแสดงความคิดเห็นและความรู้สึก (Freedom to discuss ideas and feelings) ควรให้เด็กรู้สึกว่าเมื่อมีความคิดเห็นอย่างไรก็สามารถพูดออกมาได้อย่างอิสระ หรือมีความรู้สึกอย่างไรก็สามารถพูดคุยชี้แจงได้ เช่น เด็กอาจต้องการตัดสินใจเองในการเลือกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช่แม่เลือกให้ แล้วเด็กต้องใช้ทั้งที่ไม่ชอบไม่ถูกใจ

                    ๕. การให้รางวัล (Positive reinforcement) เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว เพื่อให้พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นอีกไม่หายไป ผู้ใหญ่ควรให้รางวัลสำหรับพฤติกรรมนั้น อาจเป็นการกล่าวชมด้วยวาจา แสดงกิริยาชื่นชมพอใจในพฤติกรรมนั้น เช่น โอบกอด ลูบหัว ปัญหาคือผู้ใหญ่มักจะละเลยไม่กล่าวคำชมเชยเด็ก เพราะเห็นเป็นพฤติกรรมธรรมดาๆ เช่นเด็กยอมแปรงฟันเอง แต่งตัวเอง แต่จะดุว่าหรือติเตียนเด็กเมื่อเด็กไม่ยอมช่วยตัวเอง การให้รางวัลเด็กอาจให้ได้อีกแบบคือ ให้เมื่อเด็กหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (Omission training) เช่น กล่าวชมเชย หรือให้รางวัลแบบอื่นเมื่อลูกสองคนเล่นกันด้วยดีไม่ทะเลาะไม่ตีกันในช่วงตลอดสองวันที่ผ่านมา

                    ๖. การเลิกให้ความสนใจ (Ignoring) เป็นธรรมชาติของเด็กทุกคนที่ต้องการได้รับความสนใจจากผู้อื่น ฉะนั้น เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เราอาจใช้วิธีเลิกให้ความสนใจขณะที่เด็กกำลังกระทำพฤติกรรมนั้น และให้ความสนใจหรือให้รางวัลกับเด็กที่มีพฤติกรรมที่เราต้องการแทน ตัวอย่าง เช่น ลูกคนหนึ่งกินอาหารดีอีกคนไม่ค่อยยอมกินเล่นไปเรื่อยๆ แม่ก็อาจชมคนที่กินอาหารดีแต่เฉยๆ ไม่แสดงความสนใจกับลูกคนที่ไม่ยอมกินแต่เขี่ยอาหารเล่นอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องดุว่า

                    ๗. การเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ให้กับเด็ก (Positive model) ผู้ใหญ่โดยเฉพาะพ่อแม่ควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก พฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์นั้นมาเรียนรู้ภายหลัง ไม่ใช่ถ่ายทอดตามพันธุกรรมอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ เด็กจะเอาอย่างผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด โดยดูจากการกระทำของผู้ใหญ่มากกว่าการสั่งสอนด้วยวาจา เช่นพูดสอนว่าการพูดปดเป็นสิ่งไม่ดีห้ามทำ แต่พอมีคนที่พ่อแม่ไม่ต้องการพบมาพบ ก็ใช้ลูกออกไปบอกว่า พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน การกระทำแบบนี้ก็เท่ากับสอนลูกว่าที่จริงพูดปดได้

                    ๘. การลงโทษ (Punishment) โดยทั่วไปจะพยายามไม่ใช้การลงโทษ นอกจากวิธีอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ผลสิ่งสำคัญที่สุดคือเวลาใช้การทำโทษนี้ผู้ใช้ต้องไม่ใช้ด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด ไม่ชอบเด็ก เพราะจะทำให้เด็กยิ่งต่อต้าน เวลาใช้ควรแสดงให้เด็กเห็นว่าเราต้องการเพียงหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเท่านั้นและพร้อมที่จะหยุดการลงโทษเมื่อเด็กคิดว่าสามารถควบคุมตัวเองให้ไม่ประพฤติ ไม่เหมาะสมอีก การลงโทษมีตั้งแต่เบาๆ จนไปถึงระดับที่รุนแรงขึ้น

                              ๘.๑ การดุว่า การดุว่าด้วยวาจาในเด็กบางคนก็ได้ผลดี สามารถหยุดการกระทำอันไม่สมควรของเด็ก ควรใช้เมื่อการบอกห้าม และการใช้เหตุผลไม่ได้ผลแล้ว

                              ๘.๒ แยกเด็กออกไปอยู่ตามลำพัง เช่น เด็กนักเรียนคนหนึ่งคุยมากขณะเรียน รบกวนคนอื่นบ่อยๆ ก็อาจแยกเด็กไปนั่งคนเดียว หันหน้าเข้ามุมห้อง ทำให้เด็กไม่สนุก เบื่อที่เด็กทั่วไปจะไม่ชอบอย่างมาก

                              ๘.๓ การปรับ ให้เด็กรับผิดชอบกับของเสียหายที่เด็กทำไป เช่น เด็กคนหนึ่งโกรธแม่ที่ขัดใจ แล้ววิ่งไปถอนต้นไม้ของแม่ที่เพิ่งปลูก จึงให้แม่หักเงินค่าขนมเด็กทีละเล็กละน้อยชดใช้ค่าต้นไม้ที่ซื้อมา

                              ๘.๔ การตี การตีอาจทำให้เด็กหยุดประพฤติที่ไม่พึงประสงค์ได้บางครั้ง แต่การใช้กำลังกับเด็กมีข้อเสียด้วย คือ ถ้าใช้บ่อยๆ จะทำลายความสัมพันธ์ ระหว่าง เด็กและผู้ใหญ่ และเด็กจะใช้วิธีรุนแรงและใช้กำลังบ้าง เพราะเอาอย่างผู้ใหญ่และรู้สึกคับข้องใจที่ผู้ใหญ่ใช้วิธีรุนแรงกับตน เช่น อาจไปชกต่อยเพื่อนที่โรงเรียนบ่อยๆ จนเป็นปัญหาเกิดขึ้น [ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณมหาวิทยาลัยมหิดล]

          จากบทความดังกล่าวที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมา เป็นการเลี้ยงดูเด็กในเชิงจิตวิทยา ซึ่งผู้ปกครองต้องปลูกฝังเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเล็กๆ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้มักเกิดขึ้นกับเด็ก/เยาวชนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งผ่านช่วงเวลาในวัยเด็กมาแล้ว ที่พบเสมอคือความรุนแรงในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังทำร้ายร่างกายกัน การใช้สารเสพย์ติด หรือการรวมกลุ่มกันกระทำความผิดต่างๆ ซึ่งจากการศึกษาปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนจะพบว่า ความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยที่ใกล้ตัวของเด็ก หรือเยาวชนทั้งสิ้น และหากมองย้อนถึงต้นต่อปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่นตามหน้าหนังสือพิมพ์จะพบว่า หลายกรณีผู้ก่อเหตุเคยตกเป็นผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมาก่อน การตอกย้ำด้วยความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามได้ส่งผลสะสมต่อทัศนะคติของเด็ก หรือเยาวชนนั้น และเมื่อถูกกระตุ้นจนเกิดความกดดันมากๆ ก็จะตอบสนองออกมาด้วยวิธีการที่รุนแรง  ทั้งนี้ การรังแกกันเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งด้วยความก้าวร้าวรุนแรงในกลุ่มเด็ก หรือเยาวชน ซึ่งพฤติกรรมรังแกกันจะมีในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการทำร้ายจิตใจด้วยการล้อเลียน ดูถูกเหยียดหยามเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และการลงโทษด้วยความรุนแรงโดยครู พบอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อเด็กในระยะสั้น คือเป็นผลเสียต่อการเรียนและสุขภาพจิต โดยในระยะยาวอาจมีผลต่อการปรับตัวในสังคมอันนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวและต่อต้านสังคมในเด็กซึ่งจะกระทำต่อผู้อื่นต่อๆ ไปอีก  ซึ่งความรุนแรงในสังคมมีในรูปแบบต่าง  อาทิเช่น  การลักทรัพย์  การระบาดของสิ่งเสพย์ติด  ซึ่งได้แพร่เข้าไปตามโรงเรียน  หรือการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง  เป็นต้น

การเกิดความรุนแรงในสังคม  มีสาเหตุดังนี้

                    ๑. ความขัดแย้งของประชาชนในเรื่องสิทธิมนุษย์ชน  ด้านมนุษยธรรมและความเป็นพลเมือง

                   ๒. การนำเสนอเรื่องที่ใช้ความรุนแรงจากสื่อมวลชน  เช่น  โทรทัศน์  ภาพยนตร์  อินเทอร์เน็ต  ซึ่งสื่อที่กล่าวมาล้วนมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในสังคมได้

                   ๓. รูปแบบของการพนัน  เช่น  สลากกินแบ่ง(หวยบนดิน)  บ่อน  การพนัน  ฟุตบอลและมวย  เป็นต้น  ซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรง  ได้แก่  การอยากรวยโดยไม่ต้องประกอบอาชีพ   และการแสวงหาความสนุก  เพลิดเพลินโดยปราศจากความสำนึกผิดชอบ

                  ๔. มีพฤติกรรมก้าวร้าว  พฤติกรรมความรุนแรง

                  ๕. มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม  การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย  โดยมีการกระทำผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น

                  ๖. พฤติกรรมการเล่นพนันฟุตบอลของเด็กและเยาวชน

                  ๗. พฤติกรรมการใช้สารเสพติด  และการหนีโรงเรียน

                  ๘. พฤติกรรมการยกพวกตีกันของนักศึกษาระหว่างสถาบัน

                  ๙. อาชญากรรม  สงครามและการก่อการร้าย

                  ๑๐.ธุรกิจการค้าบริการทางเพศ  ปัญหาโสเภณีเด็ก

                  ๑๑.การค้าสารเสพติด

                  ๑๒.การก่ออาชญากรรมทางเพศ  ข่มขืนแล้วทำร้ายจนเสียชีวิต


ผลกระทบจากความรุนแรงในวัยรุ่น

                  ๑. ผลกระทบระยะสั้น ความรุนแรงในวัยรุ่นจะก่อให้เกิดผลกระทบระยะสั้น คือ ขาดความพร้อมในการเรียนหนังสือ การเรียนตกต่ำ เรียนไม่ทันเพื่อน มีความเสี่ยงที่จะต้องหยุดเรียนกลางคัน มีเจตคติต่อต้านสังคม มีความก้าวร้าวและวิตกกังวล ได้รับการปฏิเสธ จากการเข้ากลุ่มเพื่อน

                  ๒. ผลกระทบระยะยาว ความรุนแรงในวัยรุ่นจะก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาว คือ การทำผิดกฎหมาย มีประวัติที่มัวหมอง มีคดีติดตัว มีปัญหาเรื่องความประพฤติ ระเบียบวินัยกับโรงเรียนถูกพักการเรียน หรือถูกไล่ออก เกิดความซึมเศร้ารุนแรง เสพสารเสพติดและ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น เป็นภาระแก่สังคม
                    
                จากผลกระทบดังกล่าวทำให้ เด็กโต มักแยกตัว เงียบ หรืออาจมีพฤติกรรมถดถอย อ้อนหรืออาละวาด ก้าวร้าว อาจมีความวิตกกังวล กลัวถูกทิ้ง ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกผิด โทษตัวเองเรื่อยๆ หรือหวาดผวาง่าย ตกใจกลัวเสียงเล็กๆน้อยๆ ฝันร้าย นอนไม่หลับ เด็กหลายรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงทั้งสุขนิสัยการกิน การนอน หรือการขับถ่าย ปัสสาวะรดที่นอน ไม่ไว้วางใจผู้ใหญ่  ส่วนในวัยรุ่น อาจมีปัญหาการเรียนไม่ดี หรือติดสารเสพติด มักแก้ปัญหาโดยความก้าวร้าว โทษคนอื่น และอาจหนีออกจากบ้าน เด็กมักรู้สึกตนเองหมดหนทาง  ในเด็กหญิงมักเก็บกดและซึมเศร้า แต่เด็กชายมักแสดงความก้าวร้าว การสัมผัสความรุนแรงในบ้านทำให้เด็กรับรู้ว่าในโลกนี้ไม่มีความปลอดภัย และตัวเขาเองไม่มีคุณค่าพอที่จะได้รับการปกป้อง
เด็กแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่อความรุนแรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุ ความคิด ความรู้สึก ความรุนแรงของเหตุการณ์ ความใกล้ชิดหรือความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ระยะเวลาที่เผชิญกับความรุนแรง ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้กระทำหรือผู้ที่ถูกกระทำ ควรเปิดโอกาสให้เด็กบอกเล่าถึงความกลัว ความรู้สึก โดยไม่ตัดสินเขา บอกให้เขาทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา พยายามให้เขามีโอกาสทำกิจกรรมตามวัย สอนให้เด็กหามุมปลอดภัยหรือมุมสงบสำหรับผ่อนคลายเมื่อเขาเกิดความรู้สึกท่วมท้นจากสิ่งที่เกิดขึ้น

               จากการค้นคว้า และศึกษาบทความดังที่กล่าวมาเบื้องต้น ผู้เขียนจึงใคร่นำเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมาเพื่อให้ได้ศึกษากัน

อันดับแรก กฎหมายสิทธิเด็ก กฎหมายสิทธิเด็ก มีที่มาจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กำหนดสิทธิพื้นฐานของเด็กไว้ ๔ ประการ คือ

 ๑. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด เป็นสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูทั้งทางร่างกาย จิตใจ ตลอดจนที่อยู่อาศัยให้เกิดความปลอดภัย และต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพจากบริการทางการแพทย์

 ๒.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา เด็กทุกคนต้องได้รับสิทธิรับการศึกษาที่ดี ได้รับโภชนาการที่เหมาะสม

 ๓. สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง เป็นสิทธิที่เด็กทุกคนจะได้รับความคุ้มครองให้รอดพ้นจากการทารุณทุกรูปแบบ เช่น การทำร้าย การนำไปขาย ใช้แรงงานเด็ก หรือแสวงหาประโยชน์มิชอบจากเด็ก

 ๔. สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม มีสิทธิที่จะแสดงออกและแสดงความคิดเห็นต่อสังคมในเรื่องที่มีผลกระทบกับเด็ก กฎหมายสิทธิเด็กดังกล่าวปัจจุบันหลายประเทศได้ยอมรับและนำมาอนุวัติบัญญัติเป็นกฎหมายภายในของแต่ละประเทศสมาชิกเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยก็รับหลักการดังกล่าวมาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในชื่อว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖  พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพและป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กไว้หลายประการ ครอบคลุมสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้างต้น โดยสรุปประเด็นสำคัญดังนี้

           ๔.๑ คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ดำเนินการและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็กเพื่อดำเนินการให้การคุ้มครองสิทธิเด็กเกิดเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
     ๔.๒ การปกป้องคุ้มครองเด็ก กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ของผู้ปกครองและบุคคลผู้เกี่ยวข้องให้ต้องปฏิบัติต่อเด็กที่เหมาะสมไว้อย่างชัดเจน และผู้ฝ่าฝืนย่อมมีโทษทั้งทางปกครองและทางอาญา เช่น ผู้ปกครอง กฎหมายกำหนดหน้าที่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน ตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ 

อันดับสอง กฎหมายเด็กและเยาวชน ซึ่งในที่นี้จะนำกรณีที่เด็ก หรือเยาวชนกระทำความผิดมาให้ศึกษากัน การพิจารณาความหมายของเด็กกระทำผิดพิจารณาแยกได้เป็นสองส่วน
                       ๑. เกณฑ์อายุ
                           ขั้นต่ำ: อายุต่ำกว่า 7 ปีลงมาไม่มีความผิดอาญา
                           ขั้นสูง: อายุไม่เกิน 18 ปีขณะกระทำความผิดอยู่ในเกณฑ์ศาลคดีเด็กและเยาวชน


                       ๒. เกณฑ์การกระทำผิด

                           ผิดกฎหมายอาญา
                           เป็นความผิดของเด็กโดยเฉพาะ

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ตามพระราชบัญญัตินี้มุ่งคุ้มครองเด็ก ตามความหมายของพระราชบัญญัตินี้ คือบุคคล ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ซึ่งมีบทนิยาม ดังนี้

"เด็กเร่ร่อน" คือ เด็กที่ไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือมีแต่ไม่เลี้ยงดูหรือไม่สามารถเลี้ยงดูได้ จนเป็นเหตุให้เด็กต้องเร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ หรือเด็กที่มีพฤติกรรมใช้ชีวิตเร่ร่อนจนน่าจะเกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพของตน

"เด็กกําพร้า" คือ เด็กที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต เด็กที่ไม่ปรากฏบิดามารดา หรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้เด็กที่อยู่ในสภาพยากลำบากคือ เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนหรือบิดามารดาหย่าร้าง ทิ้งร้าง ถูกคุมขัง หรือแยกกันอยู่และได้รับความลำบาก หรือเด็กที่ต้องรับภาระหน้าที่ในครอบครัวเกินวัย หรือกําลังความสามารถ และสติปัญญา หรือเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

"เด็กพิการ"  คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สมอง สติปัญญา หรือจิตใจ ไม่ว่าความบกพร่องนั้นจะมีมาแต่กําเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง

"เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด" คือ เด็กที่ประพฤติตนไม่สมควร เด็กที่ประกอบอาชีพหรือคบหาสมาคมกับบุคคลที่น่าจะชักนำไปในทางกระทําผิดกฎหมาย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำไปไปในทางเสียหาย

"นักเรียน" คือ เด็กซึ่งกําลังศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา หรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน

"นักศึกษา" คือ เด็กซึ่งกําลังศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน

"บิดามารดา" คือ บิดามารดาของเด็กไม่ว่าจะสมรสกันหรือไม่

"ผู้ปกครอง" คือ บิดามารดา ผู้อนุบาล ผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้หมายความรวมถึงพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ผู้ปกครองสวัสดิภาพ นายจ้าง ตลอดจนบุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดูหรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย

"ครอบครัวอุปถัมภ์" คือ บุคคลที่รับเด็กไว้อุปการะเลี้ยงดูอย่างบุตร

"การเลี้ยงดูโดยมิชอบ"  คือ การไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน หรือพัฒนาเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กําหนดในกฎกระทรวง จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

"ทารุณกรรม" คือ การกระทําหรือละเว้นการกระทําด้วยประการใด ๆ จนเป็นเหตุให้เด็กเสื่อมเสียเสรีภาพหรือเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ การกระทําผิดทางเพศต่อเด็ก การใช้ให้เด็กกระทำกระทำ หรือประพฤติในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจหรือขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

"สืบเสาะและพินิจ" คือ การค้นหาและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุคคลและนํามาวิเคราะห์ วินิจฉัยหลักวิชาการทางสังคมสงเคราะห์ แพทย์ จิตวิทยา กฎหมาย และหลักวิชาการอื่นที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและครอบครัวของบุคคลนั้น

"สถานรับเลี้ยงเด็ก" คือ สถานที่รับเลี้ยงและพัฒนาเด็กที่มีอายุไม่เกินหกปีบริบูรณ์และมีจํานวนตั้งแต่หกคนขึ้นไป ซึ่งเด็กไม่เกี่ยวข้องเป็นญาติกับเจ้าของหรือผู้ดําเนินการสถานรับเลี้ยงเด็กดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสถานพยาบาลหรือโรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชน

"สถานแรกรับ"  คือสถานที่รับเด็กไว้อุปการะเป็นการชั่วคราวเพื่อสืบเสาะ และพินิจเด็ก และครอบครัว เพื่อกําหนดแนวทางในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพที่เหมาะสมแก่เด็กแต่ละราย

"สถานสงเคราะห์" คือ สถานที่ให้การอุปการะเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กที่จําต้องได้รับการสงเคราะห์ ซึ่งมีจํานวนตั้งแต่หกคนขึ้นไป

"สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ" คือ สถานที่ให้การศึกษา อบรม ฝึกอาชีพ เพื่อแก้ไขความประพฤติบําบัด รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจแก่เด็กที่พึงได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ

"สถานพัฒนาและฟื้นฟู" คือ สถานที่ โรงเรียน สถาบัน หรือศูนย์ที่จัดขึ้นเพื่อให้การบําบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการศึกษา แนะแนว และการฝึกอบรมอาชีพแก่เด็กที่จําต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพเป็นกรณีพิเศษ

"สถานพินิจ"  คือ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัด และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนของแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว

                   เมื่อเราทราบถึงบทนิยามดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้เขียนขอเสนอการปฏิบัติต่อเด็ก เพื่อให้ได้ศึกษากันว่า เราพึงปฏิบัติต่อเด็กอย่างไร


ผู้ปกครองต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้
             (๑) ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานพยาบาล หรือไว้กับบุคคลที่รับจ้างเลี้ยงเด็ก หรือที่สาธารณะ หรือสถานที่ใด โดยเจตนาที่จะไม่รับเด็กกลับคืน
              (๒) ละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใดๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพ หรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม 
              (๓) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิต หรือสุขภาพอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก 
              (๔) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของเด็ก
              (๕)ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ

             บุคคลทั่วไป กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คือ   

                            (๑) กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

                            (๒) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิต หรือการรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

                            (๓) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด

                              (๔) โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการ หรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว 

                              (๕) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทาน หรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก 

                              (๖) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก

                              (๗) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก

                              (๘) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใด หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า

                              (๙) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด

                             (๑๐) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์

                             (๑๑) ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

            กฎหมายคุ้มครองเด็กมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากมีกฎหมายอื่นที่มีโทษหนักกว่าต้องลงโทษตามกฎหมายนั้น เช่น การทารุณเด็กได้รับอันตรายสาหัสหรือตายก็ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ซึ่งมีโทษจำคุกหกเดือนถึงสิบปี หรือโทษประหารชีวิต แล้วแต่กรณี

            นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดหน้าที่ของผู้พบเห็นหรือประสบพฤติการณ์ที่มีการทำทารุณกรรมต่อเด็กให้รีบแจ้งหรือรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจค้นและมีอำนาจแยกตัวเด็กจากครอบครัวของเด็กเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กได้โดยเร็วที่สุด และกฎหมายก็บัญญัติคุ้มครองผู้แจ้งเหตุที่กระทำโดยสุจริตให้ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองแต่อย่างใด  [แหล่งข้อมูล สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์]


อันดับสาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕ มาศึกษากัน ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะขอยกมาเฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนเท่านั้น
                    ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจ เกี่ยวกับความหมายของการกระทำความรุนแรงในครอบครัวกันก่อนนะคะ  

"ความรุนแรงในครอบครัว" หมายความว่า การกระทำใด ๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายอันเกิดอันตรายแก่ จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือสุขภาพในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดธรรมนองคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท
            จากความหมายของบทนิยามความรุนแรงในครอบครัวสามารถแยกออกได้ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการกระทำความรุนแรงโดยตรงกับส่วนที่เป็นการใช้อำนาจครอบงำผิดธรรมนองคลองธรรม และโดยความหมายและองค์ประกอบข้างต้น เป็นบทนิยามของความรุนแรงในครอบครัว ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐  ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการบัญญัติไว้อย่างกว้างๆ ไม่ได้จำกัดว่าการกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำในลักษณะใด เช่น เป็นการใช้กำลังทำร้าย หรือใช้วาจา แต่หมายความรวมไว้ทุกๆ การกระทำที่ได้กระทำออกมา ซึ่งต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลในครอบครัวเท่านั้น หากเป็นการกระทำความรุนแรงแต่ไม่ได้กระทำต่อบุคคลในครอบครัว ก็จะไม่ตกอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้

คำนิยาม  มาตรา ๓ ความรุนแรงในครอบครัวหมายความว่า การกระทำใด ๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึง การกระทำโดยประมาท
 “บุคคลในครอบครัวหมายความว่า คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตร บุตรบุญธรรม สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุคคลใด ๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน
ศาลหมายความว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์หมายความว่า ค่าทดแทนความเสียหายเบื้องต้นสำหรับเงินหรือทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวสูญเสียไป โดยผลของการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และให้หมายความรวมถึง รายได้ที่สูญเสียไป ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการหาที่อยู่ใหม่ และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น
นักจิตวิทยาหมายความว่า นักจิตวิทยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
นักสังคมสงเคราะห์หมายความว่า นักสังคมสงเคราะห์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
พนักงานเจ้าหน้าที่หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้หมายความรวมถึง พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
พนักงานสอบสวนหมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีให้เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในท้องที่ใดไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี ให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นพนักงานสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                  ให้ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น หากการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้
                  *** จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า บุคคลผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวนั้น หมายความรวมถึง คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตร บุตรบุญธรรม สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุคคลใด ๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งกฎหมายมิได้จำกัดเฉพาะบุคคลที่เป็นสามีภริยา หรือบุตรเท่านั้น แต่รวมถึงคู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสและบุตรบุญธรรมด้วย (มาตรา ๓) และหากมีการกระทำความผิดแล้ว พระราชบัญญัตินี้ บัญญัติให้เป้นความผิดอันยอมความได้ เนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว และเพื่อรักษาสัมพันธภาพในครอบครัวให้คงสถานะดังเดิม จึงได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น หากการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้  จะสังเกตได้ว่า พระราชบัญญัตินี้ได้ให้ความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะ มาตรา ๒๙๕ เท่านั้น ที่ยอมความได้ แต่ไม่รวมถึงความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗  (มาตรา ๔ วรรคสอง)
มาตรา ๕ ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
                      การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง
มาตรา ๖ การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ อาจกระทำโดยวาจา เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด
                      เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้พบเห็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือได้รับแจ้งตามมาตรา ๕ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ที่เกิดเหตุ เพื่อสอบถามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือบุคคลอื่นที่อยู่ในสถานที่นั้น เกี่ยวกับการกระทำที่ได้รับแจ้ง รวมทั้งให้มีอำนาจจัดให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ และขอรับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์
                     ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวประสงค์จะดำเนินคดี ให้จัดให้ผู้นั้นร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ร้องทุกข์แทนได้
                     หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
                      *** เมื่อผู้ใดพบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวแล้ว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยการแจ้งนั้นจะแจ้งด้วยวาจา เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด ที่สามารถสื่อสารไปถึงพนักงานเจ้าที่ได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับการแจ้งนั้นแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ที่เกิดเหตุ เพื่อสอบถามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือบุคคลอื่นที่อยู่ในสถานที่นั้น เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ได้รับแจ้ง และมีอำนาจจัดให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ และขอรับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ได้ด้วย ส่วนบุคคลที่ถูกกระทำความรุนแรงมีความประสงค์จะดำเนินคดี ให้จัดให้ผู้นั้นร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ร้องทุกข์แทนได้ ซึ่งหากเรารับข้อมูลข่าวสารบ้านเมืองจากสื่อต่างๆ จะพบว่า การกระทำความผิดต่างๆ ที่ปรากฏออกมาจากสื่อ เป็นความผิดที่เกิดจากการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นการกระความผิดอาญาอันเนื่องมาจากความผิดหวังในความรัก ความหึงหวง การทำร้ายร่างกายระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างอดีตสามีภริยา   การทำร้ายร่างเด็กเล็กๆ ที่เป็นบุตรติดมาจากอดีตสามี  ซึ่งบางครั้งเป็นสาเหตุให้เด็กนั้นบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ความตาย และในบางกรณีกลับปรากฏว่า มารดาของเด็กเองเป็นผู้ปกปิดข้อความจริงว่าลูกของตนถูกสามีใหม่ทำร้ายร่างกาย เนื่องจากเกรงว่าจะถูกสามีใหม่ทอดทิ้ง
               หากจะพูดถึงแนวทางในการป้องกันการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและสังคมแล้ว การปลูกฝังความรักและความเข้าใจกันในครอบครัว  พูดจากันด้วยเหตุผล  เห็นใจผู้อื่นอ่อนแอกว่า  ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรง  เช่น  การดื่มสุรา  การคบชู้  เล่นการพนัน การทะเลาะเบาะแว้งมีเรื่องกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มักก่อให้เกิดความรุ่นแรงได้  ควรจัดการกับอารมณ์และความเครียด เพราะเมื่อเกิดอารมณ์ไม่ดีอาจก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงได้ มีค่านิยมที่ถูกต้อง เช่น ผู้ชายไม่ถืออำนาจและทำรุนแรงกับผู้หญิง  ไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รู้จักใช้ถุงยางอนามัย และไม่ก่อคดีข่มขืน และประการสุดท้ายคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องให้ความร่วมมือ  โดยควบคุมและป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

๐๐๐ วันนี้ผู้เขียน เขียนบทความเรื่องนี้ในเชิงจิตวิทยาและสังคมมากกว่ากฎหมาย ก็เพียงเพื่อต้องการให้เราเข้าใจในบทบาทของตนเองในฐานะที่เป็นตัวอย่างให้คนรุ่นใหม่ได้เจริญรอยตาม แม้นผู้เขียนได้มีโอกาสได้เขียนบทความอีกครั้ง ผู้เขียนจะพยายามนำเสนอการพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน ในศาลเยาวชนและครอบครัวโดยผ่านมุมมองของผู้เขียนในฐานะที่สวมบทบาทที่ปรึกษากฎหมายเด็กอีกโสตหนึ่ง แม้นบทความบท นี้ จะเอื้อประโยชน์ประการใดบ้าง ผู้เขียนขอส่งประโยชน์นั้นให้แก่ อาจารย์ทุกๆท่านที่ได้ประสิทธิประสาทความรู้ให้แก่ผู้เขียน และแม้นมีข้อบกพร่องประการใด ผู้เขียนขอน้อมรับไว้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อยังประโยชน์สูงสุดแก่ทุกๆ ท่านต่อไป บุญรักษาค่ะ

By กานต์
๒๓/๕/๒๕๖๐, ๐.๑๕ น.
: ที่มาแหล่งข้อมูล
: ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ, มหาวิทยาลัยมหิดล
: สำนักงานพัฒนาความั่นคงและสังคมของมนุษย์
: อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า

  ตอนที่ ๑           บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามี...