ละเมิดตามกฎหมายแพ่ง
วันนี้ผู้เขียนจะมาเล่ากฎหมายเรื่อง
"ละเมิด" "ละเมิด" คืออะไร ละเมิดคือ การล่วงเกิน
หรือฝ่าฝืนจารีตประเพณี หรือที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ (กิริยา) จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต
ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิ [พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน]
มาตรา
๔๒๐
"ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี
แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี
ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" ดังนั้น การกระทำใดจะเป็นละเมิดต้องประกอบด้วยหลักดังต่อไปนี้
๑. กระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ซึ่งหมายถึงการประทุษร้าย ต่อบุคคลโดยผิดกฎหมายด้วยการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่ห้ามไว้
หรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำหรือตนมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องกระทำ
และโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เช่น ฆ่าผู้อื่น, ทำร้ายร่างกายผู้อื่น,ขับรถโดยประมาทชนคนตาย หรือทำให้ทรัพย์สินของเขาเสียหาย เป็นต้น
๒. กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ กระทำโดยจงใจ
คือการกระทำโดยรู้สำนึกและในขณะเดียวกันก็รู้ว่าจะทำให้เขาเสียหาย
เช่น เจตนาที่จะฆ่า หรือมีเจตนาร้ายร่างกาย หรือมีเจตนาลักเอาทรัพย์ของผู้อื่น ฯลฯ
อย่างไรก็ดี การกระทำโดยจงใจในเรื่องละเมิดนั้น ถือหลักน้อยกว่าความผิดทางอาญา สำหรับความผิดทาอาญานั้น การกระทำต้องกระทำโดยรู้สำนึกในการที่ทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลด้วย
[ดร.เกียรติขจร
วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค๑, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๘] ส่วนจงใจในเรื่องละเมิดบางกรณีไม่ผิดในทางอาญาแต่เป็นละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เขา
เช่น จำเลยรื้อห้องน้ำ
ห้องครัวซึ่งโจทย์ปลูกล้ำออกไปนอกที่เช่าของวัดโดยวัดต้องการจะขุดคูได้บอกให้โจทย์รื้อแล้วโจทย์ไม่ยอมรื้อการที่จำเลยรื้อแล้วกองไว้หลังบ้านโจทย์มิได้เจตนาชั่วร้ายทำให้ทรัพย์ของโจทย์อันตรายเสียหายไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แต่เป็นละเมิด
เพราะรู้ว่าแล้วว่าการรื้อนั้นจะทำให้ทรัพย์ของโจทย์เสียหาย
คำพิพากษาฎีกาที่
๓๘๖๙/๒๕๓๑
จำเลยขับรถยนต์โดยสารแซงรถยนต์บรรทุกของโจทก์และชน
รถยนต์บรรทุกของโจทก์ในขณะที่รถยนต์บรรทุกของโจทก์กำลังเลี้ยวขวา
แม้รถยนต์บรรทุกไม่ได้เลี้ยวตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด แต่การที่
รถยนต์บรรทุกของโจทก์ขับชิดทางด้านซ้ายตลอดมาจนกระทั่งเกิดเหตุ
ไม่ได้ขับชิดทางด้านขวาของเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนในขณะให้สัญญาณไฟ
เลี้ยวขวาเพื่อเป็นการเตรียมที่จะเลี้ยวขวา ดังนี้ รถยนต์บรรทุก
ของโจทก์มีส่วนประมาท ก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย
โจทก์จึงควรมีส่วนรับผิดในค่าเสียหายที่รถยนต์โดยสารก่อขึ้น หนึ่งในสาม
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๕๗/๒๕๓๑
การที่จำเลยขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย
จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และรถจักรยานยนต์
ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิด
ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓(๔) ประกอบด้วย มาตรา ๑๕๗ และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส
อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ การกระทำของ
จำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๐๐ อันเป็นบทหนัก เมื่อเกิดเหตุชนแล้ว
จำเลยได้หลบหนีและไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหาย ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียง
ทันที เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้เสียหายได้ขับ
รถจักรยานยนต์ชนรถยนต์คันที่จำเลยเป็นผู้ขับขี่ตัดหน้าซึ่งเป็น
การกระทำโดยเจตนาของจำเลยแยกต่างหากจากการกระทำครั้งแรก อันเป็นเรื่องต่างกรรม
จำเลยจึงต้องมีครั้งแรก
อันเป็นเรื่องต่างกรรม จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๘, ๑๖๐ วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง
คำว่า "ประมาทเลินเล่อ" ในกฎหมายแพ่ง หมายความถึง การกระทำที่ขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายนั้น
และหมายความถึงการไม่ป้องกันผลที่เกิดขึ้นโดยประมาทเลินเล่อแม้ตนเองไม่ได้กระทำให้เกิดผลนั้นขึ้น ระดับความระมัดระวังของบุคคลต้องถือระดับของวิญญูชน
หรือบุคคลธรรมดา
ตัวอย่าง นายดำขับรถยนต์ไปถึงสี่แยกที่มีรถร่วมด้วยทางด้วยความเร็ว
และไม่ได้ชะลอความเร็วของรถลง จึงได้เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันอื่นได้รับความเสียหาย
และคนขับรถยนต์คันนั้นได้รับบาดเจ็บดังนี้จึงถือว่า นายดำกระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อ
๓. กรณีที่ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย
โดยปกติผู้กระทำต้องรับผิดเฉพาะการกระทำของตน แต่ในเรื่องละเมิดนั้น ถ้าได้มีการกระทำละเมิดร่วมกัน
หรือแม้มิได้ร่วมแต่เป็นผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการกระทำละเมิดดังนี้บุคคลเหล่านี้จะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายนั้น
มาตรา ๔๓๒ "ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด
ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น
ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้นคนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย"
อนึ่ง
บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย
ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น
ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์
ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าในบางกรณีแม้จะไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดหรือยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการกระทำละเมิดแต่กฎหมายบัญญัติให้ต้องร่วมผิดกับผู้ละเมิด
ซึ่งมีได้แก่กรณีต่อไปนี้
๑) มาตรา
๔๒๕ ที่บัญญัติว่า "นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น"
มาตรา
๔๒๖ นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น
ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น
ซึ่งเรื่องนายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลละเมิดซึ่งเกิดจากการกระทำในทางการที่จ้างนี้มีกรณีที่ผู้เสียหายพึงต้องระมัดระวังคือ
เมื่อมีการเจรจาค่าเสียหาย อย่ารีบตัดสินใจเจรจาประนีประนอมยอมความกับลูกจ้าง เพราะถ้าประนีประนอมยอมความกับลูกจ้างไปแล้วหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดก็ระงับสิ้นไปเนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญา อันเป็นเหตุให้นายจ้างพ้นจากความรับผิดผู้เสียหายจะฟ้องนายจ้างให้ร่วมรับผิดในมูลหนี้ละเมิดกับลูกจ้างก็ไม่ได้
เพราะหนี้ละเมิดระงับไปแล้วจะฟ้องให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมก็ไม่ได้
เพราะนายจ้างมิได้เป็นคู่สัญญา หากลูกจ้างไม่มีทรัพย์สินจะชำระหนี้
ผู้เสียหายก็สูญเปล่าไม่ได้รับการชำระหนี้ ปัญหาในเรื่องนี้ต้องแก้ไขด้วยการให้นายจ้างตกลงเป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความร่วมกับลูกจ้างโดยมีบุคคลค้ำประกันเพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญาด้วย
และหากนายจ้างได้ชำระค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว
นายจ้างก็มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายนั้นจากลูกจ้างที่ทำละเมิดได้ ตามมาตรา ๔๒๖
โดยตามมาตรา ๔๒๗
ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๔๒๕, ๔๒๖ มาใช้ในเรื่องของตัวการต้องรับผิดชอบกับตัวแทนในผลละเมิดซึ่งตัวแทนได้กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทนโดยอนุโลม
๒) มาตรา ๔๒๙ "บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด
บิดามารดาหรือผู้ อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย
เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล
ซึ่งทำอยู่นั้น"
บิดามารดาของผู้เยาว์หรือผู้อนุบาลของผู้วิกลจริตจะต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่ผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตกระทำเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า
ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลแล้ว ดังนั้น ในยุคปัจจุบันนี้
จะเห็นว่ามีเหตุเยาวชนชาย-หญิง ซึ่งเป็นผู้เยาว์ออกมารวมกลุ่มกันเพื่อแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ตามถนนหลวง
หรือรวมกลุ่มกันกระทำความผิดกฎหมายต่างๆ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย
เช่นนี้ บิดามารดาก็ต้องรับผิดร่วมกับเยาวชนเหล่านั้นในเหตุละเมิด
เว้นแต่บิดามารดาพิสูจน์ได้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลอย่างดีแล้ว
(ภาระการพิสูจน์ตกแก่บิดามารดา หรือผู้ดูแล)
๓) มาตรา ๔๓๐
"ครูบาอาจารย์
นายจ้างหรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี
ชั่วคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน
ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร"
ครูอาจารย์
นายจ้างหรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ หรือชั่วครั้งคราวจะต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน
ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าครูบาอาจารย์นายจ้างหรือบุคคลอื่นมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร จะเห็นว่ามาตรานี้ แตกต่างจากมาตรา ๔๒๙ เพราะมาตรา ๔๒๙
หากบิดามารดา ผู้อนุบาลพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายจากมูลละเมิดที่ผู้เยาว์
หรือผู้วิกลจริตก่อขึ้น แต่มาตรา ๔๓๐ นี้ ครูอาจารย์
นายจ้างหรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถนั้น
ไม่มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าตนได้ดูแลระมัดระวังตามสมควรแล้ว
ภาระการพิสูจน์ในเรื่องตกแก่ฝ่ายผู้เสียหายที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า
บุคคลดังกล่าวในมาตรานี้ ไม่ได้ดูแลและใช้ความระมัดระวังตามสมควร หากฝ่ายผู้เสียหายพิสูจน์ไม่ได้
ครูอาจารย์ นายจ้างหรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถนั้นก็ไม่ต้องรับผิด
๔) มาตรา
๔๓๓ "ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ท่านว่าเจ้าของสัตว์
หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหา
เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิด
และ วิสัยสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
อนึ่ง
บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้นจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้เร้าหรือ
ยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้า หรือยั่วสัตว์นั้นๆ
ก็ได้"
ตามมาตรานี้ เจ้าของสัตว์ หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายอันเกิดจากสัตว์
เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
และหากข้อเท็จจริงปรากฏกว่าบุคคลที่ได้รับความเสียหายเป็นผู้ยั่วสัตว์นั้น
หรือเอาสัตว์อื่นมาเร้ายั่วสัตว์ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
เจ้าของสัตว์ที่ก่อความเสียหายก็สามารถเรียกเอาค่าเสียหายจากบุคคลนั้นในเหตุละเมิดได้เช่นกัน
ในการพิจารณาว่า การกระทำใดทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายนี้ ให้พิจารณาความรับผิดว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดกฎหมายหรือไม่
และความเสียหายเกิดจากการกระทำผิดนั้นหรือไม่ ถ้าบุคคลนั้นทำผิดกฎหมายและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายบุคคลนั้นก็ต้องรับผิดจากฐานละเมิด
๐๐๐
ต่อไปเรามาดูค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการละเมิดกันว่ามีอะไรบ้าง
มาตรา ๔๓๘
"ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น
ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง
ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหาย ต้องเสียไปเพราะละเมิด
หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหาย
อันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย"
ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการละเมิด
อันพึงจะได้รับนั้นถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล โดยศาลจะเป็นผู้กำหนดค่าสินไหมทดแทนโดยจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิด ซึ่งตามปกติค่าสินไหมทดแทนได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะการละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินรวมทั้งค่าเสียหายอันพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ
อันได้ก่อขึ้นนั้น แต่บางกรณีกฎหมายกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้โดยเฉพาะดังมาตราต่างๆ
ต่อไปนี้
มาตรา
๔๔๕ ในกรณีทำให้เขาถึงตาย
หรือให้เสียหายแก่ร่างกาย หรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี
ถ้าผู้ต้องเสียหาย มีความผูกพันตามกฎหมาย จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคล
ภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้
ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหม
ทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก เพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย
มาตรา
๔๔๖ ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี
ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่า
สินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้
สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่
สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธิ นั้นแล้ว
อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหาย
เพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรม แก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้
มาตรา
๔๔๗ บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อผู้ ต้องเสียหายร้องขอ
ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามควรเพื่อทำให้
ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหายหรือทั้งให้ใช้ค่า
เสียหายด้วยก็ได้
มาตรา
๔๔๘ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น
ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการ
ละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับ
แต่วันทำละเมิด
แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิด
มีโทษตามกฎหมาย ลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมา นั้นไซร้
ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
**ซึ่งเราอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
๑. ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ทำให้เขาถึงตายผู้ทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังนี้
(๑) ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น เช่นค่ารถบรรทุกศพ
ค่าโลงศพค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้วัด ค่าดอกไม้ค่าใช้จ่ายในการบำเพ็ญกุศล
(๒) ค่าขาดไร้อุปการะต้องเป็นกรณีค่าขาดอุปการะตามกฎหมายเช่นบิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์บุตรมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
เป็นต้น
(๓) ค่าขาดแรงงาน ถ้าผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกแก่ครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอก ผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าขาดแรงงานให้แก่บุคคลภายนอกด้วย
(๔) ถ้ายังไม่ตายทันที เรียกค่ารักษาพยาบาล และค่าประโยชน์ทำมาหากินได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานได้
๒.
ค่าสินไหมทดแทนในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยผู้ทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย
(๑) ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็น
(๒) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างเจ็บป่วย
(๓) ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงาน
ทั้งเวลาปัจจุบันและอนาคต
เช่นผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจนพิการไม่สามารถประกอบการงานได้
(๔) ค่าเสียหายที่ขาดแรงงานในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของคนภายนอก
(๕) ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน เช่น ค่าสินไหมที่ต้องตัดขา หน้าเสียโฉมติดตัว
ขาพิการ ค่าเสียอนามัยที่ต้องนอนทรมาน เป็นต้น
ส่วนมาตรา
๔๒๕ นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด
ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแยกพิจารณาได้ดังนี้
๑. นายจ้างลูกจ้าง เกิดขึ้นโดยผลของสัญญาที่เรียกว่าสัญญาจ้างแรงงานซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๕๗๕ ที่ว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น
คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง
และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” หมายความว่า ความเป็นนายจ้างลูกจ้างนั้น
กฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือต้องมีแบบหรือต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร
ฉะนั้น ความเป็นนายจ้างลูกจ้างจึงอาจทำด้วยวาจาสัญญาก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เมื่อมีคดีเกิดขึ้นสู่ศาลฝ่ายนายจ้างเขาก็จะปฏิเสธทันทีว่า
เขาไม่ใช่นายจ้าง
เหตุที่อ้างเช่นนี้ก็เพื่อเขาจะได้ไม่ต้องรับผิดร่วมกับผู้ทำละเมิดนั้นเอง ฉะนั้น
ในการพิจารณาว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างกันหรือไม่ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตัวนายจ้างเขามีอำนาจควบคุม
บังคับบัญชาหรือสั่งการหรือไม่
ดังนั้น
การพิจารณาว่าอย่างไรคือความเป็นนายจ้างและลูกจ้าง ก็คือ
๑) สัญญาจ้างแรงงานเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย
แม้กฎหมายจะมิได้กำหนดแบบเอาไว้ แค่การตกลงกันด้วยวาจาก็ถือว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงานได้
๒) ลูกจ้างตกลงกระทำการงานให้แก่นายจ้าง
ไม่ว่าจะเป็นการมอบหมายให้กระทำหรือปฏิบัติตามคำสั่งก็ตาม
๓) นายจ้างตกลงจะให้สินจ้าง
สินจ้างคือผลประโยชน์ตอบแทนที่ลูกจ้างพึงจะได้รับรับจากการทำงานให้นายจ้าง
ซึ่งอาจจะจ่ายให้เป็นรายวัน รายเดือน และมิได้หมายความเฉพาะตัวเงินเท่านั้น
แต่ให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ เช่น จ่ายเป็นค่าอาหาร
จ่ายเป็นค่าที่อยู่อาศัยก็ได้ ฯลฯ
๔)
นายจ้างมีอำนาจควบคุม และบังคับบัญชาลูกจ้าง
๒. ทางการที่จ้างนั้น ก็คือ ดูจากกรณีที่นายจ้างสั่งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติ
และกรณีที่ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ไปเองเพื่อที่จะให้งานที่ได้รับมอบหมายนั้นสำเร็จลุล่วงไป
กรณีที่นายจ้างสั่งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติ หมายความว่า
นายจ้างสั่งหรือมอบหมายให้ทำอะไรย่อมเป็นทางการที่จ้างทั้งหมด
แม้งานที่สั่งหรือมอบหมายนั้นจะมิใช่งานในหน้าที่ประจำก็ตาม
ถ้านายจ้างสั่งแล้วย่อมถือว่าเป็นทางการที่จ้างทั้งสิ้น และในกรณีที่ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ไปเอง
เพื่อที่จะให้งานที่ได้รับมอบหมายนั้นสำเร็จลุล่วงไป
หมายความว่าเป็นงานที่นายจ้างมิได้สั่งโดยตรง
แต่เป็นเรื่องของลูกจ้างได้ปฏิบัติหน้าที่ไปเอง ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของลูกจ้างที่ว่านั้นทำไปเพื่อที่จะทำให้งานที่ได้รับมอบหมายนั้นสำเร็จลุล่วงไป
ก็ถือได้ว่าเป็นทางการที่จ้าง
๓. ความรับผิดของนายจ้าง
โดยทั่วไปหากจะให้นายจ้างร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างกระทำนั้น
จะต้องได้ความว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างกัน และเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นนั้นลูกจ้างได้กระทำไปในขณะที่ทำการงานให้แก่นายจ้าง
หรือกระทำไปในทางการที่จ้าง
๔. สิทธิไล่เบี้ยของนายจ้าง นายจ้างจะไล่เบี้ยได้ก็แต่เฉพาะค่าสินไหมทดแทนที่นายจ้างต้องรับผิดแทนลูกจ้างไป
ถ้าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นซึ่งมิใช่ผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด
นายจ้างจะไล่เบี้ยไม่ได้
ความรับผิดของเจ้าหน้าที่ในเหตุละเมิด
๐๐๐๐๐
เมื่อเราได้ศึกษาในเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว
ต่อไปผู้เขียนจะขอเสนอเรื่อง "ความรับผิดของเจ้าหน้าที่ในเหตุละเมิด"
เป็นลำดับต่อไป เรื่องของความรับผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเหตุละเมิดนี้
ได้บัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่,
การฟ้องคดีละเมิดอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่, การเรียกร้องและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ. 2539 นี้ มีประเด็นสำคัญที่แยกพิจารณาได้ดังนี้
ประเด็นแรก กำหนดความรับผิดของเจ้าหน้าที่หรือความรับผิดของหน่วยงานที่มีต่อผู้เสียหาย
มาตรา ๕ "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่
ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง
แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง"
มาตรา ๖ ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่
เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว
ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้
มาตรา ๗
ในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐ
ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่าเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดหรือต้องร่วมรับผิด
หรือในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดหรือต้องร่วมรับผิด
หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีสิทธิขอให้ศาลที่พิจารณาคดีนั้นอยู่เรียกเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ
แล้วแต่กรณี เข้ามาเป็นคู่ความในคดี
ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องมิใช่ผู้ต้องรับผิด
ให้ขยายอายุความฟ้องร้องผู้ที่ต้องรับผิดซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีออกไปถึงหกเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุด
๐๐๐๐ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้เกิดความรับผิดขึ้นตามมาตราต่างๆ
ข้างต้นเมื่อได้มีการทำ “ละเมิด” ต่อผู้เสียหายโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
โดยผลของการละเมิดดังกล่าวเป็นผลให้ “เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด”
กับ “หน่วยงานของรัฐ” มีความรับผิดในมูลละเมิดดังกล่าว
แต่กฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขการใช้สิทธิในการฟ้องคดี เพื่อเรียกร้องสินไหมทดแทนไว้คือ
ให้ผู้เสียหายฟ้องคดีได้เฉพาะหน่วยงานของรัฐเท่านั้น โดยไม่อาจฟ้องตัวเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดนั้นได้
แต่ถึงแม้ว่าจะฟ้องคดีละเมิดต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดไม่ได้
แต่หากหน่วยงานของรัฐที่ร่วมรับผิดนั้นอาจใช้สิทธิขอให้ศาลที่พิจารณาคดีเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดนั้นมาเป็นคู่ความในคดีก็ได้
แต่ถ้าในการทำละเมิดดังกล่าว
หากเป็นการทำละเมิดไปโดยไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่
ในกรณีเช่นนี้ผู้ที่ต้องรับผิดในมูลละเมิดนั้นก็คือ “เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด”
เท่านั้น หน่วยงานของรัฐไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
***
หากมีกรณีฟ้องผิดไป คือฟ้องหน่วยงานของรัฐแทนที่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ พระราชบัญญัตินี้ได้ขยายอายุความการฟ้องคดีละเมิด
ออกไปอีก ๖
เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้อง
หลักกฎหมายในการพิจารณาว่าการกระทำเป็น “ละเมิด”
หรือไม่ ใช้หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ดังกล่าวหมายถึง กระทรวง ทบวง กรม
ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค
ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย
และหน่วยงานที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดว่าให้เป็น “หน่วยงานของรัฐ”
ตามกฎหมายนี้
ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีการทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
ผู้เสียหายสามารถดำเนินการเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายดังกล่าวได้สองทางคือ
๑.
ใช้สิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล หรือ
๒.เรียกร้องขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
แทนการฟ้องคดีต่อศาล ตามมาตรา ๑๑ ที่กำหนดว่า
"ในกรณีที่ผู้เสียหายเห็นว่า
หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดตามมาตรา ๕
ผู้เสียหายจะยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ตนก็ได้......ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาคำขอที่ได้รับตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน......" โดยการยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อหน่วยงานของรัฐ
โดยให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาคำขอให้เสร็จภายใน ๑๘๐ วัน และอาจขยายได้อีกไม่เกิน ๑๘๐
วัน
๐๐๐๐พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดเงื่อนไขการใช้สิทธิไล่เบี้ยระหว่างเจ้าหน้าที่กับหน่วยงานของรัฐ
กรณีที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายไปแล้วด้วย
ประเด็นที่สอง กำหนดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อหน่วยงานของรัฐที่เสียหาย
ในพระราชบัญญัตินี้กำหนดเงื่อนไขความรับผิดในมูลละเมิดของเจ้าหน้าที่ไว้อีกประการหนึ่งก็คือ
เป็นการทำละเมิดของ “เจ้าหน้าที่” ต่อ “หน่วยงานของรัฐ” โดยรัฐเป็นผู้เสียหายจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้กำหนดผลในทางกฎหมายไว้
๒ ประการ ได้แก่
๐ ประการแรก กรณีที่การทำละเมิดเกิดจากการปฏิบัติในหน้าที่ เมื่อเกิดกรณีเจ้าหน้าที่คนใดได้ปฏิบัติราชการโดยจงใจ
หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แล้วเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ
กรณีเช่นนี้ เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นต้องรับผิดต่อหน่วยงานของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐมีอำนาจในการมีคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนหรือบางส่วนก็ได้
โดยอาจคำนึงถึงส่วนรับผิดชอบของหน่วยงานโดยไม่ต้องฟ้องศาล หากเป็นกรณีที่มีผู้ทำละเมิดที่เป็นเจ้าหน้าที่มีหลายคน
ก็ไม่นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมในมูลละเมิดมาใช้บังคับกับการเรียกให้เจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย
การชำระค่าสินไหมทดแทนของเจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดดังกล่าวสามารถผ่อนชำระได้
โดยคำนึงถึงรายได้ ฐานะครอบครัว ความรับผิดชอบ และพฤติการณ์ต่างประกอบกัน และหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้เสียหายต้องใช้สิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน
๒ ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือภายใน
๑ ปี
นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ต้องรับผิด
๐
ประการที่สอง กรณีที่เป็นการทำละเมิดอันมิได้เกิดจากการปฏิบัติในหน้าที่ ในกรณีเจ้าหน้าที่ใดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำการใดที่ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติในหน้าที่
เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย
ถือว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย หากหน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะต้องรับผิด
ต้องใช้สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน ๒ ปี
นับแต่วันที่หน่วยงานรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือภายใน ๑ ปี
นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ต้องรับผิด โดยการใช้
สิทธิเรียกร้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้
เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
****
ละเมิด เป็นความรับผิดทางแพ่งเมื่อมีข้อพิพาท จึงต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรม
ในกรณีที่ผู้ทำละเมิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐการฟ้องร้องก็ต้องฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดโดยตรง
ไม่ต้องคำนึงว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่หรือไม่ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินกิจการต่างๆ
ของหน่วยงานของรัฐ อันเป็นกระทำตามหน้าที่ และถูกฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ทำให้บางกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่กล้าตัดสินใจ
เพราะเกรงว่าอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ.๒๕๓๙ ออกใช้บังคับ เพื่อคุ้มครองการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่
โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิด
ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว
หรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น ดังนั้น
การฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำตามตามหน้าที่
จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งหากเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำละเมิด
อันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐต้องเป็นผู้รับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐนั้นได้กระทำไป
ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
แต่ถ้าไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง
จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้
๐๐๐ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เขตอำนาจศาล
อันเนื่องมาจากการดำเนินการเพื่อให้มีการการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
จากการการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติหน้าที่ หรือการไล่เบี้ยสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด
ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ส่วนกรณีที่เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
มีเฉพาะกรณีที่การทำละเมิดของเจ้าหน้าที่เกิดจากการปฏิบัติงาน
อันไม่เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ตัวอย่างคดีนอกเขตอำนาจศาลปกครอง
๐๐๐๐๐
คำวินิจฉัยที่ ๔๒/๒๕๕๘ คดีที่เอกชนฟ้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ในสังกัด
กรณีเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำการโดยประมาทเลินเล่อละเลยไม่ดูแลเด็กเล็กตามหน้าที่ปล่อยให้ผู้ฟ้องคดีที่
๑ รับประทานขนมเอง โดยไม่ได้ตัดขนมเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นเหตุให้ขนมติดคอผู้ฟ้องคดีที่
๑ ทำให้พลัดตกจากเก้าอี้ศีรษะกระแทกพื้นได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพ
ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เห็นว่า
แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะในการจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองแต่ความรับผิดเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่นั้นจะต้องเป็นหน้าที่ที่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งเท่านั้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลักษณะของพฤติกรรมต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้าง
เป็นการกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอนของครูผู้ดูแลเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่
๑ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เป็นหน้าที่โดยทั่วไปของครูผู้ดูแลเท่านั้น
มิใช่การกล่าวอ้างถึงการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะในการจัดการศึกษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่
๑ แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
เอกสารอ้างอิง ศ.ศักดิ์ สนองชาติ, 2546, คำอธิบายโดยย่อ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย ละเมิด และความรับผิดในทางละเมิด, กรุงเทพมหานคร:
สนพ.นิติบรรณาการ
สุจิต ปัญญาพฤกษ์, 2550, หลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กรุงเทพมหานคร
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ. ๒๕๓๙,
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย
: แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
คำบรรยายเนติบัณฑิต สมัยที่ ๖๒
สุขสันต์ในวันหยุด บุญรักษาทุกท่านนะคะ
By กานต์ ๑๓/๕/๖๐ 😉
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น