วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562

“สมคิด” ฆาตกรต่อเนื่องในมุมมองของ “อาชญาวิทยา”


Somkid the Ripper

เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ ผู้เขียนฟังรายงานข่าวทั้งจาก โทรทัศน์ และจากสื่อโซเซียลด้านอื่นๆ ว่า มีผู้พบศพผู้หญิง อายุ ๕๑ ปี ถูกฆาตกรรมในสภาพเปลือยท่อนล่างที่คอถูกพันด้วยเทปใส ที่ข้อเท้าถูกมัดด้วยสายชาร์จโทรศัพท์ ภายในบ้านแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ หมู่ ๑๙ ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น โดยเหตุเกิดตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ทุกครั้งที่มีข่าวฆาตกรรม ผู้เขียนก็เงี่ยงหูฟังข่าวทุกครั้ง ครั้งนี้ขณะที่กำลังนั่งอ่านหนังสือเพื่อเตรียมเข้ารับการทดสอบวิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก็ได้ฟังรายงานข่าวนี้พอดี ก่อนอื่นต้องรับสารภาพว่าผันตัวเองจากนักกฎหมายธรรมดาๆ เข้ามาเรียนระดับปริญญาโท สาขาอาชญาวิทยาและการบังคับใช้กฎหมาย ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจนี้ก็เพื่อเป็นนักอาชญาวิทยา ด้วยความชอบส่วนตัวล้วนๆ ไม่มีเหตุผลใดมาชนะคำถามที่ถามตัวเองมาตลอดที่ทำอาชีพทนายความว่า ทำไมคนบางคนจึงกลายเป็นอาชญากรได้ ?? ตามวิสัยทนายความเมื่อมีคำถามต้องหาคำตอบ จึงต้องมาค้นหาคำตอบในที่ๆ พึงมี

                    ตอนได้ยินข่าวผู้เขียนก็ไม่ได้ให้ความสนใจอะไรมากไปกว่า อาชญากรรมเกิดขึ้นได้ทุกวันยิ่งสังคมสมัยนี้ อาชญากรรมหาง่ายเหมือนเดินไปซื้อขนมปังใน 7-11 แต่มาสะดุดหูตอนเจ้าหน้าที่ให้ข่าวว่า ผู้กระทำความผิดมีลักษณะการกระทำผิดคล้ายๆ กับนายสมคิด พุ่มพวง ตอนได้ยินชื่อนี้ผู้เขียนสะดุดหูเล็กน้อยและพยายามนึกว่าเคยได้ยินชื่อนี้ที่ไหน พอเจ้าหน้าที่เอ่ยถึง ฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าหญิงสาวหลายรายในปี พ.ศ.๒๕๔๘ จึงนึกขึ้นได้ ว่ายุคนั้นประเทศไทยเกิดมีฆาตกรต่อเนื่อง ฉายาว่า คิด เดอะ ริปเปอร์ (Somkid the Ripper) ขึ้นมา อาจกล่าวได้ว่าสมคิด พุ่มพวง คือฆาตกรต่อเนื่องรายที่ ๓ ของประเทศไทย ซึ่งหากนับจาก นายบุญเพ็ง (บุญเพ็ญ หีบเหล็ก : The Murderer Iron Box) ที่เป็นฆาตกรต่อเนื่องรายแรก ที่มีพฤติกรรมหลอกลวงสาวใหญ่ แม่หม้ายให้หลงรักแล้วหลอกเอาทรัพย์สิน เมื่อได้ทรัพย์สินมาก็ทำลายหลักฐานด้วยการฆ่าเจ้าทรัพย์และหั่นศพใส่ไว้ในหีบเหล็กแล้วจึงเอาไปถ่วงน้ำ  เพื่ออำพรางคดี ซึ่งมีสาวใหญ่ผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นเหยื่อของบุญเพ็งมากถึง ๗ ศพ บุญเพ็งได้รับโทษประหารชีวิตด้วยการตัดคอ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ นับว่าเป็นการประหารชีวิตโดยการตัดคอเป็นคนสุดท้ายในประเทศไทย มาถึงรายที่ ๒ คือ ซีอุย (Thailand Cannibal) ชายชาวจีน ที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทย ในช่วง พ.ศ.๒๔๗๐-๒๕๐๒ ซีอุยถูกประหารชีวิตฐานฆ่าเด็ก เขาถูกจับกุมฐานฆ่าเด็กชายสมบุญ บุญยกาญจน์ที่ จังหวัดระยองในปี ๒๕๐๑ ต่อมาตำรวจสืบสวนจนได้คำรับสารภาพจากซีอุยว่าก่อคดีอีกอย่างน้อย ๖ คดีในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๕๐๑  แบ่งเป็นที่ประจวบคีรีขันธ์ ๔ คดี กรุงเทพมหานครและนครปฐมแห่งละ ๑ คดี ศาลอุทธรณ์ตัดสินประหารชีวิตเฉพาะคดีฆ่าเด็กชายสมบุญ บุญยกาญจน์ อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนในขณะนั้นเขียนว่าศพในคดีที่ซีอุยรับสารภาพมีการหั่นศพและอวัยวะภายในหายไป ทำให้มีข่าวลือกันว่าซีอุยเป็นมนุษย์กินคน  ในทีนี้ผู้เขียนจะขอวิเคราะห์พฤติกรรมเฉพาะรายของนายสมคิด พุ่มพวงซึ่งเป็นฆาตกรต่อเนื่องรายที่ ๓
ปูมหลังครั้งวัยเยาว์[1]

                    จากการขุดคุ้ยประวัติ สมคิด พุ่มพวง ของสื่อมวลชนหลายแขนง ครั้งตอนที่ถูกจับกุมฐานฆาตกรรมหญิงสาว ๕ ราย ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ว่า สมคิด พุ่มพวงในวัยเยาว์ มีชื่อเล่นว่าแดง เกิดและโตที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่จำความได้เขาไม่เคยเห็นหน้าแม่ พ่อบอกว่าแม่ตายไปแล้ว ต่อมาพ่อพาเขาย้ายไปอยู่บ้านแม่เลี้ยงที่ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เขาจึงไม่เคยมีแม่แท้ๆ ที่คอยเลี้ยงดูและอบรมเขา เขาใช้ชีวิตอยู่กับพ่อ และอาศัยอยู่ที่บ้านภริยาใหม่ของพ่อ ซึ่งเขาไม่ใคร่จะถูกกับภริยาใหม่ของพ่อเขานัก โดยข่าวระบุว่า พ่อเขามีพฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรงในครอบครัวเสมอ เมื่อเขาเรียนชั้นประถม ๒ เริ่มมีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย เขาขโมยจักรยานของครูจนต้องออกจากโรงเรียนจึงเรียนหนังสือไม่จบชั้นประถม  ต่อมาเมื่อเขาอายุ ๘ ขวบ พ่อพาเขาไปฝากป้ากับลุงเขยให้ช่วยเลี้ยงดูแทน ทั้งสองก็เลี้ยงดูมาจนโต โดยพ่อมาเยี่ยมบ้างเป็นบางครั้ง สมคิดเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย ดื้อรั้น แต่เวลาพูดกับผู้หญิงมักมีคารมคมคายและหว่านล้อมเก่ง เขาเป็นคนไม่ยอมคน จึงมักมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับวัยรุ่นคนอื่นๆ อยู่เนืองๆ พอเข้าสู่วัยรุ่นก็เริ่มเป็นนักเลงหัวไม้ และนิสัยลักเล็กขโมยน้อย ก็ยังเป็นนิสัยติดตัวของเขาจนลุงกับป้าที่เลี้ยงดูเขามาเอือมระอาทั้งขโมยเงินป้า ขโมยของเพื่อน แล้วยังขโมยจักรยานยนต์เพื่อนบ้านไปจำนำ โดยทำทีเป็นขอไปนอนค้างด้วย แล้วยืมรถขี่ออกไปซื้อของแล้วหายไป ต่อมาสมคิดได้งานทำเป็นคนคุมงานที่โรงไม้แห่งหนึ่งใน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ผู้จัดการโรงไม้ให้สมคิดเอาเช็ค ๕๐,๐๐๐  บาทไปขึ้นเงินที่ธนาคาร แต่สมคิดกลับเอาเงินทั้งหมดไปใช้เอง ในที่สุดป้ากับลุงเขยก็ทนไม่ไหว จึงไล่สมคิดออกจากบ้าน แล้วจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นเขาอีกเลย แม้แต่เมื่อพ่อถูกยิงเสียชีวิต เขาก็ไม่ได้มางานศพ ไม่มีใครรู้ว่าสมคิดไปอยู่ที่ไหน จนกระทั่งได้เห็นข่าวว่าสมคิดเป็นฆาตกรต่อเนื่อง อีกแหล่งก็อ้างว่า สมคิดไปสมัครเป็นอาสาทหารพรานหลายปี ก่อนที่พ่อเขาจะเสียชีวิต เมื่อครั้งที่เขาถูกจับกุมในปี พ.ศ.๒๕๔๘ เขาจึงให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนว่าเขาไม่มีพ่อแม่ พ่อแม่ตายหมด และไม่มีพี่น้อง สมคิดมีคดีติดตัวหลายคดีก่อนที่จะมาโด่งดัง ในฉายา คิด เดอะ ริปเปอร์ คดีสำคัญที่ทำให้คนพอจะรู้จักสมคิดคือ คดีฆาตกรรมผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร โดยอ้างว่ารู้เห็นว่าใครเป็นผู้กระทำ แต่สุดท้ายก็ถูกศาลมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกฐานเป็นพยานเท็จเป็นเวลา ๖ เดือน



ภูมิหลังกับแนวโน้มอาชญากร

ในมุมของอาชญาวิทยา[2] หากพิจารณาจากภูมิหลังยามวัยเยาว์ของของ สมคิดนั้น อาจกล่าวได้ว่า  การกระทำผิดของบุคคลนั้น นอกจากการลงมือกระทำเพราะถูกกดดันจากสังคม ที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักอาชญาวิทยาว่า คือทฤษฎีอาชญาวิทยาแนวสังคมวิทยา (Sociological theories of crime) ทฤษฎีกลุ่มนี้เชื่อว่า ปัจจัยภายนอกร่างกายมนุษย์ เช่น สภาพแวดล้อมทางสังคม เป็นสาเหตุที่ทำให้คนมีพฤติกรรมอาชญากรรม แต่เมื่อพิจารณาในรายของสมคิดแล้ว อาจต้องนำแนวคิดด้านจิตวิทยามาอธิบายพฤติกรรมอาชญากรรมของเขาด้วย  โดยแนวคิดด้านจิตวิทยามีความเชื่อว่า พฤติกรรมอาชญากรรมเกิดจากความผิดปกติทางด้านจิตใจของบุคคล ดังนั้น อาชญากรรมจึงเป็นผู้ที่มีความผิดปกติและความกดดันทางด้านจิตใจ แนวคิดนี้จึงเป็นการอธิบายอาชญากรรมด้วยลักษณะทางจิตและบุคลิกภาพของบุคคล นักอาชญาวิทยาแนวจิตวิทยาที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคือ ซิกมันด์ ฟรอยด์  (Sigmund Freud) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ และเป็นเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โดยหลักการพื้นฐานของทฤษฎีจิตวิเคราะห์คือ พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนมากเกิดจากจิตภาคและชีวภาค โครงสร้างทฤษฎีนี้มีองค์ประกอบ ๓ ส่วนคือ
                   อิด (Id) ส่วนที่เกี่ยวกับสัญชาตญาณที่ผลักดันให้บุคคลมีพฤติกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เปรียบได้เหมือนความชั่วร้ายในตัวบุคคลที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด
                  อัตตา (Ego) คือส่วนที่ตระหนักถึงความเป็นจริงของบุคคล มีหน้าที่ในการประสานความต้องการของอิดกับส่วนควบคุมของอภิอัตตา อันจะนำมาสู่การแสดงออกของพฤติกรรมของบุคคล
                  อภิอัตตา (Superego) เป็นส่วนที่อยู่ตรงข้ามกับอิด  หากอิดเปรียบได้กับความชั่วร้าย อภิอัตตาก็เปรียบเหมือนกับส่วนของคุณธรรมหรือความดี

                  หากเปรียบว่า อิด (id) คือความชั่วร้าย และอภิอัตรา (Superego) คือความดี อัตรา (Ego) คือตัวประสานระหว่างอิดกับอภิอัตรา เพื่อควบคุมความสมดุลของพฤติกรรมของบุคคล ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่ถูกแสดงออกมานั้น เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความไม่สมดุลกันระหว่าง อิด อัตตา และอภิอัตตา

                นอกจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์แล้วยังมีทฤษฎีบุคลิกภาพที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มของแนวคิดอาญาวิทยาแนวจิตวิทยา โดยทฤษฎีบุคลิกภาพนั้นมองว่าบุคลิกภาพเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมอาชญากรรม จากแนวคิดนี้อาชญากรจึงเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพแตกต่างจากบุคคลธรรมดา ซึ่งความผิดปกตินี้สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ลักษณะความผิดปกติทางบุคลิกภาพเหล่านี้เป็นอาการของพวกต่อต้านสังคมหรือพวกจิตผันผวน คนเหล่านี้จะมีปัญหาในเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสังคม  ดร.ฮาร์เวย์ เครคเลย์ ได้อธิบายถึงลักษณะของคนที่มีอาการจิตผันผวนหรือต่อต้านสังคมไว้ดังนี้ เช่น เห็นแก่ตัวไม่เข้าสังคมไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นชอบเป็นศัตรูกับคนอื่นไม่คำนึงถึงสิทธิของคนอื่นมีความผูกพันกับสังคมต่ำ, ชอบตำหนิคนอื่น, ขาดความรับผิดชอบไม่มีความรู้สึกหรือไร้อารมณ์ชอบโกหกไม่มีความเสียใจในการกระทำผิดของตน เป็นต้น

               หากพิจารณาจากแนวทฤษฎีที่กล่าวมาเบื้องต้น โดยเฉพาะทฤษฎีบุคลิกภาพ จะเห็นได้ว่า สมคิด พุ่มพวง มีลักษณะตามที่ ดร.ฮาร์เวย์ เครคเลย์ ได้อธิบายไว้ มากกว่า ๓ ลักษณะ คือ สมคิดไม่เข้าสังคม, ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น (พิจารณาได้จากสิ่งที่เขากระทำการไปแม้ว่าผู้หญิงรายที่ ๖ เป็นผู้ที่เขาจะแต่งงานด้วย) มีความผูกพันกับสังคมต่ำ (เขาไม่สนใจชีวิตของครอบครัว พ่อหรือพี่น้อง ใช้ชีวิตเหมือนคนไม่มีญาติ) ,ขาดความรับผิดชอบไม่มีความรู้สึกหรือไร้อารมณ์ (เขาไม่รู้สึกว่าเขารักใคร เหมือนคนที่ไม่เคยมีความรัก), ไม่มีความเสียใจในการกระทำผิดของตน ซึ่งจากการที่เขากระทำความผิดครั้งก่อนมา ๕ ราย  และถูกจับจนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำนานถึง ๑๔ ปี ก่อนได้รับการอภัยโทษออกมา เขาก็กลับมาทำพฤติกรรมเดิม โดยไม่ได้คิดถึงความผิดครั้งก่อนของตนเอง นอกจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และทฤษฎีบุคลิกภาพแล้ว  ทฤษฎีความกดดันทางสังคมก็เป็นแนวคิดที่นำมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการกระทำของฆาตกรรายนี้ได้เช่นกัน

               ทฤษฎีความกดดันทั่วไป (General strain theory) ซึ่งพัฒนามาจาก ทฤษฎีความกดดันทางสังคมที่มีแนวคิดว่า อาชญากรรมนั้นเกิดมากในสังคมชนชั้นต่ำ (Lowe Class) หรือกลุ่มคนยากจน การที่สังคมยกย่องคนที่ประสบความสำเร็จ มีบ้าน มีรถ มีงานทำ ทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนในสังคม คนในสังคมจึงมีความฝันที่จะสำเร็จตามเป้าหมาย  แต่อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหรือความฝันนั้นมีไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจากโครงสร้างทางชนชั้นของสังคม  คนที่อยู่ในชนชั้นนั้นก็จะมีโอกาสดีกว่าชนชั้นต่ำในการประกอบอาชีพ หรือหาวิธีการอื่นๆที่ถูกต้องในการที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และภายใต้ข้อจำกัดนี้ทำให้คนชนชั้นต่ำถูกปิดกั้นโอกาสที่จะใช้วิธีการที่ถูกต้องในการที่จะบรรลุเป้าหมาย เมื่อต้องการบรรลุเป้าหมายเช่นเดียวกับคนอื่นในสังคม  จึงทำให้เกิดแรงกดดันทางสังคมขึ้น ทฤษฎีความกดดันนี้ แบ่งออกได้ ๓ กลุ่ม คือ

              ๑.ความผิดหวังจากเป้าหมายที่ตั้งไว้
              ๒.การถูกพรากจากสิ่งที่รัก
               ๓.การเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ชอบ

              ในกรณีของสมคิดนี้ ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า สมคิดจะเข้าข่ายในทฤษฎีความกดดันทั่วไปในข้อที่ ๓ คือ การเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ชอบ จะเห็นได้ว่า เมื่อถูกจับกุมใน ๕ คดีก่อนหน้านั้น เขาได้ให้ปากคำกับเจ้าพนักงานสอบสวนว่า เหยื่อเหล่านั้นเรียกร้องเอาเงินค่าตัวเพิ่มขึ้นจากที่เคยตกลงกัน จึงทำให้เขาบันดาลโทสะ ส่วนเหยื่อรายล่าสุดนี้ เขาให้เหตุผลในการฆ่าว่า ทะเลาะกันอย่างรุนแรงเลยพลั้งมือฆ่าเหยื่อจนเสียชีวิต เมื่อพิจารณาจากการให้ปากคำของสมคิด จะเห็นได้ว่า เมื่อเขาเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ เขาจะขาดการควบคุมตัวเอง แต่ในทฤษฎีความกดดันทั่วไปนั้น เน้นอธิบายพฤติกรรมอาชญากรรมจากกระบวนการทางสังคมมากกว่าโครงสร้างทางสังคม ซึ่งมีหลักการทั่วไปว่า อาชญากรรมนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการปรับตัวจากแรงกดดันที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตในสังคม หากมองในแง่ของ สมคิด พุ่มพวง  แล้ว  สมคิดไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะได้กระทำความผิดขโมยรถจักรยานของครูจึงถูกไล่ออกจากโรงเรียน หากมองในแง่ของการแก้ไข บำบัดแล้ว หากเขาได้ถูกขัดเกลาให้เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาอาจไม่กลายเป็นอาชญากรต่อเนื่องอย่างปัจจุบันก็ได้ การที่เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะเหตุขโมยจักรยานอาจกล่าวได้ว่า เป็นการผลักเด็กชายคนหนึ่งออกไปเผชิญกับสังคมภายนอก ที่ตีตราเข้าว่าเป็นคนไม่ดี ประกอบกับขาดการอบรมเลี้ยงดูที่ดีจึงทำให้เขาถลำลึกลงไปในเส้นทางของอาชญากรเรื่อยๆ ประกอบอาชีพเลี้ยงตนด้วยการหลอกลวง 

               อีกทฤษฎีหนึ่งที่สามารถนำมาอธิบายพฤติกรรมของสมคิดได้คือ ทฤษฎีควบคุมตนเอง (Self- Control) ซึ่งอธิบายว่าผู้ที่มีการควบคุมตนเองต่ำมีโอกาสจะกระทำผิดหรือก่ออาชญากรรมได้สูง การควบคุมตนเองไม่ได้หมายความว่า พฤติกรรมของตัวเองถูกกำหนดและผู้ที่มีการควบคุมตนเองต่ำ นอกจากจะมีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรมสูงแล้วยังมีการกระทำอื่นๆ ที่เบี่ยงเบนและเสี่ยงสูงด้วย  ก็อทเฟรดสัน และเฮิสชิ อธิบายว่าการมีการควบคุมตนเองต่ำได้แก่ลักษณะต่อไปนี้คือ

               ๑.กระตุ้นง่าย (Impulsive)
               ๒.ชอบการเสี่ยง (Risk – taker)
               ๓.ไม่คงที่และไม่มีจุดยืน (Unstable and unfocused)
               ๔.ไม่อดทน (Impatient)
               ๕.เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง (Self – centered)


              ทฤษฎีสุดท้ายที่ผู้เขียนจะนำมาวิเคราะห์ก็คือ ทฤษฎีการควบคุมทางสังคม (Social control theory) เพราะคนทั่วไปต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนย่อมมีความชั่วร้ายและมีแนวโน้มที่จะทำความชั่วตลอดเวลา แต่หากมนุษย์มีระเบียบปฏิบัติยอมอยู่ในกรอบกฎระเบียบของสังคมทำให้ไม่กล้าที่จะกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ทางสังคม โดย เฮอร์ชี่ (Travis Herschi) นักอาชญาวิทยาได้ระบุว่า สิ่งนั้นคือ พันธะทางสังคม (Social bonds)


             ทฤษฎีการควบคุมทางสังคม เป็นทฤษฎีทางกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการขัดเกลานั้น ต้องเริ่มมาจากครอบครัวเป็นพื้นฐาน คือการปลูกฝังเลี้ยงดูที่ดี สอนให้เด็กอยู่ในกฎเกณฑ์ของสังคมไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังโดย พ่อ แม่ หรือ สมาชิกในครอบครัว  รวมถึงครูอาจารย์ที่โรงเรียนด้วย ตามประวัติของสมคิด เขาไม่มีแม่ มีพ่อก็เหมือนไม่มี เข้าโรงเรียนก็กระทำความผิดจนถูกไล่ออก พอไปอยู่กับลุงและป้า ก็เกเร จนลุงและป้าไล่ออกจากบ้าน หากมองในแง่ของการบำบัดแก้ไข แม้ว่าสมคิดจะไม่มีแม่ แต่หากได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อ และได้รับโอกาสจากครูและโรงเรียนที่มีความตั้งใจจะแก้ไขเขาให้ได้รับโอกาสในการกลับตัวกลับใจแทนที่จะผลักไสเขาออกไปจนถูกสังคมตีตราว่าเป็นคนเลว จนเขาไม่มีโอกาสแก้ไขในสิ่งที่กระทำลงไป สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาก้าวไปสู่เส้นทางของอาชญากรอย่างเต็มตัว 
               
            หากพิจารณาตามแนวทฤษฎีอาชญาวิทยาแล้ว อาจกล่าวได้ว่า สมคิด พุ่มพวง คือฆาตกรโรคจิตโดยแท้จริง

ย้อนรอยคดีฆาตกรรมของนายสมคิด พุ่มพวง

วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๘  คดีแรก นายสมคิด ได้ก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์ น.ส.วารุณี พิมพะบุตร อายุ ๒๕ ปี นักร้องคาเฟ่ในห้องพัก โรงแรมใน ต.มุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร ภายหลังศาลตัดสินโทษประหารชีวิต แต่รับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ ฆ่า น.ส.ผ่องพรรณ ทรัพย์ชัย ในโรงแรมที่ ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง โทษประหารชีวิต ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๘  ก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์ นางพัชรีย์ อมตนิรันดร์ นักร้องคาเฟ่ ในห้องพักโรงแรมชื่อดัง ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง โทษจำคุกตลอดชีวิต
วันทิ่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ ก่อเหตุฆ่า น.ส.พรตะวัน ปังคะบุตร หมอนวดแผนโบราณ ที่โรงแรมใน อ.เมืองอุดรธานี โทษจำคุกตลอดชีวิต
วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๘ ก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์ น.ส.สมปอง พิมพรภิรมย์ อายุ ๒๕ ปี หมอนวดแผนโบราณ ถูกนายสมคิดลวงเข้าพักในแมนชั่นแห่งหนึ่ง ต.ชุมเห็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โทษประหารชีวิต แต่รับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ นายสมคิด ถูกจับกุมที่ จ.ชัยภูมิ ขณะกำลังนำสาวคนหนึ่งเข้าโรงแรม หลังนายสมคิด ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ทั้ง ๕ คดี ก็ได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวาง ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มิถุนายน๒๕๔๘ ต่อมาได้ขอย้ายกลับภูมิลำเนา มาควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำจังหวัดหนองคาย
วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขณะที่นายสมคิด ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำ เป็นนักโทษที่มีความประพฤติดี เรียบร้อย จนได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม และได้รับการลดโทษตามกระบวนการทางกฎหมายเรื่อยมาตามลำดับ จนกระทั่งพ้นโทษ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ หลังใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ นาน ๑๔  ปี
วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ฆ่าเปลือยนางรัศมี อายุ ๕๑ ปี แม่บ้านในโรงแรมแห่งหนึ่งใน ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ต่อมาวันที่ ๑๙ ธันวาคม ถูกจับกุมได้ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

*** บทความวันนี้ ยาวที่สุดตั้งแต่เขียนมา และเป็นการเขียนในมุมมองของอาชญาวิทยาโดยแท้ หากมีความบกพร่องประการใดผู้เขียนขอน้อมรับคำติชมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป และหากแม้บทความนี้ยังประโยชน์แก่ผู้ใด ผู้เขียนมอบความดีความชอบนั้นให้แก่ คณาจารย์ในคณะสังคมศาสตร์ สาขาอาชญาวิทยาและการบังคับใช้กฎหมาย โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้ประสาทความรู้ในศาสตร์ด้านนี้ให้แก่ผู้เขียน ขอบุญกุศลนั้นได้บังเกิดแก่ท่านทั้งหลายเทอญ

ด้วยจิตคารวะ “ณัชกานต์”



[1] https://news.thaipbs.or.th
[2] พ.ต.ท.ดร.เสกสัณ เครือคำ, อาชญากรรม อาชญาวิทยา และงานยุติธรรมทางอาญา, เพชรเกษมการพิมพ์

ไม่มีความคิดเห็น:

มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า

  ตอนที่ ๑           บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามี...