"ทรัพย์" ตอนที่ ๓
"การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์"
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ มี ๒ ประเภท
๑. การได้มาโดยทางนิติกรรม
๒. การได้มาโดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมหรือการได้มาโดยผลของกฎหมาย
*** ซึ่งการได้มาโดยผลของกฎหมายนั้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเรื่อง การได้มาโดยหลักส่วนควบ เช่น ที่งอกริมตลิ่ง มาอธิบายเป็นกรณีศึกษา ดังนี้
มาตรา ๑๓๐๘ ที่ดินแปลงใด
เกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอก ย่อมเป็น ทรัพย์สิน ของเจ้าของที่ดิน แปลงนั้น(ตามหลักส่วนควบ)
โดยที่งอกริมตลิ่งมีลักษณะ ดังนี้
ก. ที่งอกริมตลิ่งต้องเป็นที่ซึ่งในฤดูน้ำตามปกติน้ำท่วมไม่ถึง
ข. ที่งอกริมตลิ่งจะต้องเป็นที่งอกจากที่ดินที่เป็นประธานออกไปในแม่น้ำ
ลักษณะของการงอกจะต้องเป็นการงอกโดยธรรมชาติ
มาตรา ๑๓๐๘ ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง
ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๙/๒๕๓๕
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาล
จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารเลขที่ ๕๔/๘
รุกล้ำเข้าไปในลำรางสาธารณะที่ตื้นเขินกลายสภาพเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาล
เนื้อที่ ๔.๔ ตารางวา
ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว
เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ
ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วโจทก์ไม่ต้องแสดงโฉนดหรือหลักฐานแห่งที่ดินว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อย่างไร
เพราะการเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่เป็นไปตามสภาพของที่ดิน
และโจทก์ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้องว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ทั้งหมดมีเนื้อที่เท่าใดจำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำตั้งแต่เมื่อใด
มีเขตกว้างยาวเท่าใดเพราะเป็นรายละเอียดที่คู่ความอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา
ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ลำรางสาธารณประโยชน์สำหรับระบายน้ำจากภูเขาซึ่งมีมานานแล้วเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน
แม้ต่อมาจะไม่มีสภาพเป็นทางระบายน้ำต่อไปและไม่มีราษฎรใช้ประโยชน์เมื่อยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ตามมาตรา ๘ ประมวลกฎหมายที่ดิน
ที่ดินนั้นยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่เช่นเดิม ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึงที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น
มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง
โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตเทศบาลตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย
จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๑/๒๔๗๗
ที่ดินซึ่งตื้นเขินขึ้นเป็นเกาะในหนองนำสาธารณะ
แม้ภายหลังที่ริมฝั่งตื้นเขินเชื่อมติดกับที่ดินของผู้อื่นที่อยู่ริมหนอง
ก็ไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งเพราะไม่ได้งอกออกจากริมตลิ่ง
คงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่
ค.
ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานจะต้องติดกับที่งอกโดยตรง โดยไม่มีอะไรมากั้นขวาง
ที่งอกริมตลิ่งสังเกตได้ ดังนี้
๑)
สิทธิในการครอบครองที่งอกริมตลิ่งนั้นจะต้องดูลักษณะของที่ดินเดิม กล่าวคือ หากที่ดินเดิมเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ที่งอกที่เกิดจากที่ดินดังกล่าวก็จะเป็นกรรมสิทธิ์
แต่ถ้าที่ดินเดิมเป็นเพียงสิทธิครอบครองที่งอกที่เกิดจากที่ดินนั้นก็ไม่ใช่กรรมสิทธิ์แต่ได้เพียงสิทธิครอบครอง
๒) ที่ดินที่มีที่งอกไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน
เจ้าของที่ดินก็ได้ที่งอกนั้นตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๘๙/๒๕๒๓
เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งน้ำท่วมถึงได้เปลี่ยนสภาพเป็นที่น้ำท่วมไม่ถึงมาได้
๔-๕ ปี ที่พิพาทอยู่หน้าที่ดินโจทก์ด้านริมแม่น้ำและมีทางเดินเล็ก ๆ
เรียบริมแม่น้ำอันเป็นทางเดินในที่ดินมีโฉนดของโจทก์ หรืองอกจากที่ดินของโจทก์
ทางเดินนี้แม้ชาวบ้านจะอาศัยใช้เป็นทางสัญจรไปมาก็หาใช่ทางสาธารณะไม่ หากจะเป็นก็เพียงทางภารจำยอม
ต้องถือว่าทางเดินดังกล่าวเป็นที่ดินของโจทก์
ที่พิพาทติดกับทางเดินจึงเป็นที่งอกจากที่ดินมีโฉนดของโจทก์และเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๓๐๘ ถึงแม้ต่อมาโจทก์จะอุทิศที่ดินที่เป็นทางเดินให้เป็นถนนสาธารณะก็หาทำให้ที่พิพาทที่เป็นที่งอกซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้วเปลี่ยนแปลงไปไม่
และจะถือว่าเป็นที่งอกจากที่สาธารณะมิได้
***
ฎีกาเรื่องนี้ข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าเจตนาจะยกให้เฉพาะส่วนที่อยู่ในโฉนดเท่านั้น
ที่งอกซึ่งอยู่นอกโฉนดไม่มีเจตนายกให้ จึงไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
แต่ถ้าข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่ายกให้ทั้งที่อยู่ในโฉนดและที่งอกที่เกิดขึ้นใหม่
ที่ดินทั้งหมดก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไป
๓)
ที่งอกนั้นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์
เปรียบเทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๙/๒๕๔๓ ซึ่งวินิจฉัยว่า
เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนนเมื่อ ๔ ถึง ๕ ปี
มานี้ ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกที่เชื่อมติดกับที่ดินของจำเลยที่ ๑
ที่งอกพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ด้วย เมื่อโจทก์ครอบครองยังไม่ถึง ๑๐
ปี โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๘๒
มาตรา ๑๓๐๙ "เกาะที่เกิดในทะเลสาบ
หรือในทางน้ำหรือในเขตน่านน้ำของประเทศก็ดี และท้องทางน้ำที่เขินขึ้นก็ดี
เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน"
มาตรา ๑๓๑๐
บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้
ท่านว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น ๆ
แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่ผู้สร้าง
แต่ถ้าเจ้าของที่ดินสามารถแสดงได้ว่า มิได้มีความประมาทเลินเล่อ
จะบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้นและเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป
และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมก็ได้
เว้นไว้แต่ถ้าการนี้จะทำไม่ได้โดยใช้เงินพอสมควรไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างซื้อที่ดินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามราคาตลาดก็ได้
***
ข้อสังเกตตามมาตรา ๑๓๑๐
๑.ต้องเป็นการสร้างโรงเรือนทั้งหลังในที่ดินของผู้อื่น
หรืออย่างน้อยที่สุดส่วนใหญ่ของโรงเรือนที่สร้างนั้นจะต้องอยู่ในที่ดินของผู้อื่น
๒.การสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นกรณีของการสร้างโดยสุจริตหรือไม่สุจริต
ผู้สร้างกับเจ้าของที่ดินจะต้องไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ ต่อกัน
หากผู้สร้างมีนิติสัมพันธ์กับเจ้าของที่ดินก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรานี้
๓.
โรงเรือนที่สร้างนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดินของผู้อื่นผลของการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นตามมาตรา
๑๓๑๐เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น แต่จะต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นแก่ผู้สร้าง
แต่ถ้าเจ้าของที่ดินแสดงได้ว่าไม่ได้มีความประมาทเลินเล่อ
ก็มีสิทธิที่จะให้ผู้สร้างรื้อถอนออกไปพร้อมทั้งทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมได้ความสุจริตตามมาตรา
๑๓๑๐ นั้น จะต้องมีมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนกว่าจะสร้างเสร็จ
ทั้งนี้ มาตรา ๑๓๑๐ จะใช้กับที่ดินที่เป็นของเอกชนเท่านั้น
ในกรณีที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะอ้างมาตรา ๑๓๑๐ ไม่ได้
มาตรา ๑๓๑๑
บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตไซร้
ท่านว่าบุคคลนั้นต้องทำที่ดินให้เป็นตามเดิมแล้วส่งคืนเจ้าของ
เว้นแต่เจ้าของจะเลือกให้ส่งคืนตามที่เป็นอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าของที่ดินต้องใช้ราคาโรงเรือนหรือใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นแล้วแต่จะเลือก
***
ข้อสังเกตตามมาตรา ๑๓๑๑
๑) เป็นการสร้างโรงเรือนส่วนใหญ่ในที่ดินของผู้สร้างเองหรือในที่ดินที่ผู้สร้างมีสิทธิที่จะสร้างได้
คงมีแต่เพียงส่วนน้อยหรือบางส่วนของโรงเรือนเท่านั้นที่ไปรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น
๒)
เป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นนั้น
การรุกล้ำนั้นต้องเกิดตั้งแต่แรกหรือเป็นการรุกล้ำมาตั้งแต่ขณะแรกที่ทำการสร้าง
ถ้าตอนแรกไม่รุกล้ำต่อมามีการต่อเติมรุกล้ำเข้าไปใที่ดินของผู้อื่น
ก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๑๒
๓)
ความแตกต่างระหว่างมาตรา ๑๓๑๒ กับ ๑๓๑๔ คือ มาตรา ๑๓๑๔
ไม่ใช่การสร้างรุกล้ำแต่เป็นการที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคาหรือปลูกสร้างอย่างอื่นมีผลทำให้น้ำฝนตกลงไปยังทรัพย์สินอื่นที่ติดกัน
แต่ตัวสิ่งปลูกสร้างหรือก่อสร้างนั้นไม่ได้รุกล้ำ ส่วนมาตรา ๑๓๑๒
เป็นเรื่องที่บางส่วนของตัวโรงเรือนเองหรือบางส่วนของโรงเรือนรุกล้ำ
๔)
กรณีเครื่องอุปกรณ์บางอย่างหรือเครื่องอำนวยความสะดวกบางอย่างมาติดตั้งประกอบกับโรงเรือน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนของโรงเรือนที่จะถือว่าเป็นการรุกล้ำ
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๓๖/๒๕๓๙
เสากำแพงที่แยกต่างหากจากเสาโรงเรือน ไม่ใช่ส่วนหนึ่ง
ของโรงเรือนอันจะถือเป็นโรงเรือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒
วรรคแรกฉะนั้นจำเลยจะอ้างว่าก่อสร้างกำแพงรุกล้ำโดยสุจริตไม่ต้องรื้อถอนตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่
๕)
กรณีสร้างโรงเรือนในที่ดินแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดิน
แล้วปรากฏว่ามีบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน
ซึ่งมีแนวฎีกาวางไว้ว่าสามารถที่จำนำมาตรา ๑๓๑๒ มาใช้บังคับได้โดยอาศัยมาตรา
๔
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๔๘/๒๕๑๒
จำเลยมิได้เป็นผู้สร้างตึกพร้อมกันสาดที่พิพาทหากแต่เจ้าของที่ดินเป็นผู้สร้างในที่ดินของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย
เพราะขณะสร้างยังมิได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นสองแปลง ดังนั้น ถ้าจะบังคับให้รื้อ
ก็มีผลเท่ากับจำเลยเป็นผู้สร้าง ตามมาตรา ๑๓๑๒ วรรคสอง ย่อมไม่เป็นธรรม
เพราะแม้จำเลยเป็นผู้สร้างรุกล้ำเอง ถ้าโดยสุจริต
กฎหมายยังยอมให้จำเลยมีสิทธิใช้ที่ดินในส่วนที่รุกล้ำได้
แล้วไฉนถ้าจำเลยมิได้เป็นผู้สร้างรุกล้ำเอง
แต่การที่สร้างนั้นเป็นการสร้างโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งยิ่งกว่าเป็นการสร้างโดยสุจริตเสียอีก
แล้วกลับจะถูกบังคับให้รื้อถอน เพราะไม่มีสิทธิจะใช้
กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ เมื่อเป็นช่องว่างแห่งกฎหมาย ดังนี้
จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔
มาใช้สำหรับกรณีนี้ไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกมาปรับคดีได้จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งก็คือ
มาตรา๑๓๑๒ วรรคแรก คือ
จำเลยมีสิทธิใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำเข้าไปนั้นได้
โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อ แต่มีสิทธิที่จะเรียกเงินเป็นค่าที่จำเลยใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ต่อไป
ตลอดจนการที่จะดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมผลของการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต
มาตรา ๑๓๑๒
บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้
ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น
แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น
และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด
เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้
ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป
และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้
โปรดพิจารณาตามคำพิพากษาฎีกาดังต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๑/๒๕๐๕
ปลูกสร้างเรือนในที่ดินของตน ตัวเรือนไม่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น
แต่ชายคาได้รุกล้ำเข้าไปโดยสุจริตนั้นย่อมเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๑๒ ไม่ใช่ มาตรา ๑๓๔๑ เพราะตาม มาตรา๑๓๔๑
หมายถึงทำหลังคาหรือการปลูกสร้างอย่างอื่นโดยมิได้รุกล้ำที่ดินของผู้อื่น
แต่เมื่อฝนตกน้ำฝนได้ไหลลงไปยังที่ดินหรือทรัพย์สินของผู้อื่นที่ติดต่อกันในกรณีปลูกเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามมาตรา
๑๓๑๒ นั้น เจ้าของโรงเรือนมีสิทธิขอให้จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้
โดยไม่ต้องรอจนเกิน ๑๐ ปี
*** ข้อสังเกต การจดทะเบียนการใช้ที่ดินเป็นภาระจำยอมเป็นการจดทะเบียนโดยอาศัยสิทธิที่มาตรา
๑๓๑๒ ให้ไว้ ไม่ใช่เป็นการได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความ ๑๐ ปี
เมื่อไม่ใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ ๑๐ ปี
ก่อนจึงจะไปจดทะเบียนได้มาคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๑๓/๒๕๓๔ โจทก์จะบังคับให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนระเบียงพิพาทได้ก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสามก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒วรรคสอง
แต่เมื่อจำเลยทั้งสามซื้อตึกแถวพร้อมระเบียงพิพาทที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว
โดยไม่ปรากฏว่าระเบียงได้สร้างรุกล้ำโดยไม่สุจริต
ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้สืบสิทธิของผู้สร้างระเบียงพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต
โจทก์จึงมีสิทธิเพียงแต่จะได้ค่าใช้ที่ดินและยังมีหน้าที่จดทะเบียนภาระจำยอมให้จำเลยทั้งสามด้วย
ทั้งนี้โดยนัย ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒ วรรคแรก แต่โจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินเป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์
ศาลจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยใช้เงินดังกล่าวได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๐๙/๒๕๔๐
จำเลยร่วมที่ ๑ และที่ ๒
ปลูกสร้างบ้านรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ ๑ และที่ ๒
จึงต้องทำที่ดินให้เป็นตามเดิมแล้วส่งคืนเจ้าของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๓๑๑
และจำเลยผู้สืบสิทธิของเจ้าของเดิมผู้ปลูกสร้างบ้านโดยไม่สุจริตย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๑๒
เช่นกันถ้าต่อมาโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมดเจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมก็ได้
และถ้าสลายไปเฉพาะส่วนที่รุกล้ำทั้งหมด ก็เพียงพอที่จะขอให้เพิกถอนได้เช่นเดียวกัน
มาตรา ๑๓๑๒ วรรคสอง
เป็นเรื่องของการสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตเจ้าของที่ดินมีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้สร้างโรงเรือนรุกล้ำรื้อถอนในส่วนที่รุกล้ำนั้นออกไปก็ได้
หรือจะเรียกร้องเอาค่าใช้ที่ดินโดยยอมให้ส่วนที่รุกล้ำนั้นเป็นภาระจำยอมของผู้ก่อสร้าง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐๔/๒๕๑๗
ที่ดินและอาคารของโจทก์และของจำเลยร่วมอยู่ติดกันโดยต่างรับซื้อมาจากบุคคลอื่นกันสาดของอาคารที่จำเลยร่วมซื้อได้รุกล้ำที่ดินที่โจทก์ซื้ออยู่ก่อนแล้ว
ต่อมาจำเลยร่วมได้สร้างห้องน้ำบนกันสาดนั้น
อันเป็นการใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำเข้าไปนั้นสืบต่อจากเจ้าของเดิมโดยจำเลยร่วมมิได้ขออนุญาตต่อผู้ใด
ถือได้ว่าจำเลยร่วมได้สร้างห้องน้ำขึ้นโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๓๑๒ และ ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยร่วมใช้สิทธิโดยอำนาจปรปักษ์เกินกว่า
๑๐
ปีแล้วกันสาดและห้องน้ำเหนือที่ดินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในภารจำยอมโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้จำเลยรื้อห้องน้ำบนกันสาดนั้นเจ้าของที่ดินมีเงื่อนไขสร้างโรงเรือนในที่ดินนั้น
มาตรา ๑๓๑๓
ถ้าผู้เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีเงื่อนไขสร้างโรงเรือนในที่ดินนั้น และ
ภายหลังที่ดินตกเป็นของบุคคลอื่นตามเงื่อนไขไซร้
ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย ลาภมิควรได้มาใช้บังคับ
“เจ้าของที่ดินมีเงื่อนไข” ทั้งนี้ความหมายของมาตรา ๑๓๑๓ อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทคือ
๑.
เป็นเจ้าของที่ดินที่มีเงื่อนไขบังคับหลัง (สิ้นผลเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จ)
๒.
เป็นเจ้าของที่ดินที่มีเงื่อนไขห้ามโอนตามมาตรา ๑๗๐๐
หรือเรียกว่าข้อกำหนดห้ามโอนสร้างสิ่งอื่น ปลูกต้นไม้
หรือธัญชาติในที่ดินของผู้อื่น
@ เนื้อหาในเรื่อง "ทรัพย์" นี้ค่อนข้างจะยาว ผู้เขียนเองก็พยายามจะเขียนให้ย่นย่อและให้เข้าใจได้ง่าย
แต่ก็ไม่อยากตัดย่อยออกเป็นหลายตอนมากนัก จึงได้เขียนต่อเนื่องกันโดยแบ่งออกเป็นสามตอน
และคาดหวังไว้ว่าอาจมีประโยชน์แก่ทุกท่านที่เข้ามาอ่านได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
ด้วยจิตคารวะ
By
กานต์
๕๑๖/๖๐, ๑๒.๕๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น