วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

จดหมายจากข่าว "เรื่องเล่าเล็กๆ"


                          หลายวันมานี้ มีข่าวที่โด่งดังที่สุดในประเทศ และผู้เขียนเชื่อว่า ข่าวนี้ก็โด่งดังในต่างประเทศเช่นกัน หลังจากนั่งเสพข่าวในหลายๆ ทาง จนเบื่อ ผู้เขียนจึงไป Search หาในอากู๋  Google ว่าฆาตรกรคนใดที่เป็นต้นฉบับของการฆ่าหั่นศพในโลกนี้ ผู้เขียนจึงได้ทราบว่า คดีที่มีเหตุฆ่าหั่นศพครั้งแรกในโลกเกิดขึ้นที่รัฐคิงส์แลนด์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งผู้ที่เป็นตัวการคือ มิสซิสแคทเธอรีน เฮย์  ซึ่งเป็นภรรยาของเหยื่อผู้ถูกฆ่าแล้วหั่นศพ จากการอ่านและพิจารณาปูมหลังของผู้กระทำความผิดแล้ว ผู้เขียนแอบคิดว่า ระหว่างผู้กระทำความผิดลักษณะนี้คนแรกของโลก กับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้หญิงลักษณะนี้คนแรกในประเทศไทย แทบจะไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ต่างกันในกาลเวลาเท่านั้น

                  ในขณะที่ผู้เขียน เขียนบทความเรื่องนี้ หูก็ได้ยินเสียงรายงานข่าวจากสถานี โทรทัศน์เกี่ยวกับคดี ฆ่าหั่นศพที่ผู้ต้องหาเป็นสาวสวยตลอดเวลา ไม่ว่าจะเปลี่ยนช่องสถานีไปช่องใด  ทุกๆ เพจข่าว แม้แต่ในสื่อ Social Media ก็เสนอข่าวทุกแง่มุม ซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และรวดเร็ว ผู้เขียนมิได้ต่อต้านการนำเสนอความคิดเห็นของประชาชนที่มีสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ แต่สิ่งที่ผู้เขียนแอบเป็นกังวลคือสื่อ การนำเสนอทุกแง่มุมในชีวิตจนมากเกินไป และไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ  โดยเฉพาะเมื่อผู้เสนอข่าว เสนอว่าผู้ต้องหาหญิงผู้นั้น มีบุตรชาย อายุประมาณ ๗-๘ ปี ที่มีกับสามีเก่า ผู้เขียนอาจคิดเกินกว่าเหตุ แต่ด้วยการทำงานที่ผู้เขียนต้องคลุกคลีกับเด็ก จึงกังวลเรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบของคนที่อยู่รอบข้างของผู้ต้องหามากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่เป็นบุตรชายของผู้ต้องหา วันนี้ผู้เขียนจึงอยากเขียนความคิดของผู้เขียนเองในเรื่องของเด็กที่เป็นบุตรของผู้ต้องหามากกว่า ขออนุญาตไม่เขียนเรื่องกฎหมายซักครั้งหนึ่งนะคะ

                  สิ่งที่ผู้เขียนอยากสื่อตอนนี้คือ  ภาพจิตใจและความคิดของเด็ก ข่าวที่โด่งดัง (เหมือนจะทั่วโลก)ในเรื่องของแม่ตัวเองนั้น เด็กจะรู้สึกเช่นไร เด็กอายุ ๗-๘ ปี สมัยปัจจุบันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า เค้าเข้าถึงโลก Social มากกว่าเรา และสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ยิ่งสื่อขุดคุ้ยแม่เค้าที่เป็นผู้ต้องหามากเท่าไหร่ ยิ่งมีผลกระทบต่อตัวเด็กมากเท่านั้น ความเชื่อมั่นในตัวของเด็กจะหมดสิ้นไป พ่อติดคุกคดียาเสพติด แม่ต้องหาว่าฆ่าแล้วหั่นศพ คลื่นชีวิตของผู้เป็นพ่อและแม่กำลังซัดกระทบเข้าหาผู้ที่เป็นลูก โดยที่ไม่มีสื่อสำนักใดตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ ทุกๆ คนต้องการนำเสนอข่าวด้วยความรวดเร็ว (เป็นธรรมหรือไม่ ???) อนาคตของเด็กคนหนึ่งต่อไปจะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครสนใจ ทุกคนสนใจแค่มีข่าว ขายข่าว เสพข่าว และแสดงความคิดเห็น แต่ผู้เขียนกลับมองข้ามผู้ต้องหาสาวคนนี้ไป เพราะสำหรับผู้ต้องหาคนนี้แล้วแทบไม่เหลืออะไรให้เป็ความหวังสำหรับตนเองหรือใครอีก แต่ผู้เขียนมองไปถึงเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ คนนั้น คนที่พวกเรากำลังทำลายชีวิตเขาโดยไม่รู้ตัว อนาคตเขาอีกกี่ปีกว่าที่เขาจะเติบโต เขาจะฝ่าฟันมรสุมที่ติดไว้ในใจ เสมือนตราบาปที่เขาไม่ได้กระทำไปได้นานแค่ไหน และเราจะรู้มั้ยว่า เขาจะเข้มแข็งพอจนฝ่าฟันความจริงเรื่องนี้ไปเป็นคนดีในสังคมได้ สิ่งที่ผู้เขียนตระหนักในใจตอนนี้คือ เด็กคนหนึ่งซึ่งเกิดมาโดยไม่มีความผิดอะไร กำลังจะถูกผลักลงไปในความทรงจำที่โหดร้ายโดยที่เขาไม่ได้กระทำ ทุกๆ ข่าว ทุกๆไลพ์ ที่หลายๆ คนในโลก Social ขุดคุ้ยบันทึกไว้ ความเลวร้ายที่ผู้เป็นแม่ได้กระทำลงไปมันจะตามมาหลอกหลอนเขาตลอดเวลา และตลอดชีวิตเขา  สิ่งเหล่านี้จะปลุกฝังความเกลียดชังต่อสังคมให้กับเขาในอนาคต และอาจทำให้เขาเป็นเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางความรู้สึกต่อต้านสังคม ซึ่งในความเป็นจริงคนที่ทำความผิดต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนทำ มันเป็นธรรมดาของโลก แต่คนที่ไม่ได้ทำความผิดทำไมจึงต้องมารับผลในการกระทำนั้น คนคนหนึ่งกว่าจะเกิดและเติบโตมาเป็นพลเมืองที่ดี ใช้เวลายาวนานเกือบชั่วชีวิตของตน แต่บางครั้งกับบางคนเขาไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะโอกาสนั้นมันถูกทำลายไปเสียจนหมดสิ้นตั้งแต่ยังอ่อนเดียงสา ในความเป็นจริงในสังคมปัจจุบันนี้ คนเราเห็นแก่ตัวมากขึ้น สิ่งที่สำคัญสุดคือ ทัศนคติ หากเราทุกคนในโลกนี้คิดว่า การเป็นฆาตรกร อยู่ในสายเลือด และทุกคนในครอบครัวมีสัญชาตญานของฆาตรกร ฆาตรกรก็ย่อมเป็นฆาตรกรอยู่วันยังค่ำ ในเมื่อโลกนี้คงไม่มีคำว่า การให้  "โอกาส"

ท้ายที่สุดของบทความขี้บ่นนี้ ผู้เขียนอยากบอกว่า เด็ก คือ ความบริสุทธิ์ ที่เค้าได้เกิดมา ทุกอย่างที่เค้าจะเป็น หรือเป็น ล้วนเกิดจากน้ำมือของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และสภาพแวดล้อมทั้งสิ้น เราล่ะจะเลือกให้เค้าเป็นอะไร "โอกาส" ของคนเรามีอยู่ทุกที่รอบตัวเรา เราจะมองเห็นและไขว่คว้า หรือหยิบยื่นให้ใครก็แล้วแต่ใจของเราที่จะเลือก


ด้วยจิตรคารวะ


By กานต์ 

วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

"ทรัพย์" ตอนที่ ๓ "การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์"


"ทรัพย์" ตอนที่ ๓ "การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์"

การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ มี ๒ ประเภท

๑. การได้มาโดยทางนิติกรรม
๒. การได้มาโดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมหรือการได้มาโดยผลของกฎหมาย 

*** ซึ่งการได้มาโดยผลของกฎหมายนั้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเรื่อง  การได้มาโดยหลักส่วนควบ เช่น ที่งอกริมตลิ่ง มาอธิบายเป็นกรณีศึกษา ดังนี้

มาตรา ๑๓๐๘ ที่ดินแปลงใด เกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอก ย่อมเป็น ทรัพย์สิน ของเจ้าของที่ดิน แปลงนั้น(ตามหลักส่วนควบ) โดยที่งอกริมตลิ่งมีลักษณะ ดังนี้

                   ก. ที่งอกริมตลิ่งต้องเป็นที่ซึ่งในฤดูน้ำตามปกติน้ำท่วมไม่ถึง
                   ข. ที่งอกริมตลิ่งจะต้องเป็นที่งอกจากที่ดินที่เป็นประธานออกไปในแม่น้ำ ลักษณะของการงอกจะต้องเป็นการงอกโดยธรรมชาติ

มาตรา ๑๓๐๘  ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๙/๒๕๓๕

                 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาล จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารเลขที่ ๕๔/๘ รุกล้ำเข้าไปในลำรางสาธารณะที่ตื้นเขินกลายสภาพเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาล เนื้อที่ ๔.๔ ตารางวา ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วโจทก์ไม่ต้องแสดงโฉนดหรือหลักฐานแห่งที่ดินว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อย่างไร เพราะการเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่เป็นไปตามสภาพของที่ดิน และโจทก์ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้องว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ทั้งหมดมีเนื้อที่เท่าใดจำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำตั้งแต่เมื่อใด มีเขตกว้างยาวเท่าใดเพราะเป็นรายละเอียดที่คู่ความอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ลำรางสาธารณประโยชน์สำหรับระบายน้ำจากภูเขาซึ่งมีมานานแล้วเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้ต่อมาจะไม่มีสภาพเป็นทางระบายน้ำต่อไปและไม่มีราษฎรใช้ประโยชน์เมื่อยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา ๘ ประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินนั้นยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่เช่นเดิม ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึงที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตเทศบาลตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๑/๒๔๗๗

                   ที่ดินซึ่งตื้นเขินขึ้นเป็นเกาะในหนองนำสาธารณะ แม้ภายหลังที่ริมฝั่งตื้นเขินเชื่อมติดกับที่ดินของผู้อื่นที่อยู่ริมหนอง ก็ไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งเพราะไม่ได้งอกออกจากริมตลิ่ง คงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่

                   ค. ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานจะต้องติดกับที่งอกโดยตรง โดยไม่มีอะไรมากั้นขวาง
 ที่งอกริมตลิ่งสังเกตได้ ดังนี้

                        ๑) สิทธิในการครอบครองที่งอกริมตลิ่งนั้นจะต้องดูลักษณะของที่ดินเดิม กล่าวคือ หากที่ดินเดิมเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ที่งอกที่เกิดจากที่ดินดังกล่าวก็จะเป็นกรรมสิทธิ์ แต่ถ้าที่ดินเดิมเป็นเพียงสิทธิครอบครองที่งอกที่เกิดจากที่ดินนั้นก็ไม่ใช่กรรมสิทธิ์แต่ได้เพียงสิทธิครอบครอง
                        ๒) ที่ดินที่มีที่งอกไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน เจ้าของที่ดินก็ได้ที่งอกนั้นตามกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๘๙/๒๕๒๓

                  เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งน้ำท่วมถึงได้เปลี่ยนสภาพเป็นที่น้ำท่วมไม่ถึงมาได้ ๔-๕ ปี ที่พิพาทอยู่หน้าที่ดินโจทก์ด้านริมแม่น้ำและมีทางเดินเล็ก ๆ เรียบริมแม่น้ำอันเป็นทางเดินในที่ดินมีโฉนดของโจทก์ หรืองอกจากที่ดินของโจทก์ ทางเดินนี้แม้ชาวบ้านจะอาศัยใช้เป็นทางสัญจรไปมาก็หาใช่ทางสาธารณะไม่ หากจะเป็นก็เพียงทางภารจำยอม ต้องถือว่าทางเดินดังกล่าวเป็นที่ดินของโจทก์ ที่พิพาทติดกับทางเดินจึงเป็นที่งอกจากที่ดินมีโฉนดของโจทก์และเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๘ ถึงแม้ต่อมาโจทก์จะอุทิศที่ดินที่เป็นทางเดินให้เป็นถนนสาธารณะก็หาทำให้ที่พิพาทที่เป็นที่งอกซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้วเปลี่ยนแปลงไปไม่ และจะถือว่าเป็นที่งอกจากที่สาธารณะมิได้

*** ฎีกาเรื่องนี้ข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าเจตนาจะยกให้เฉพาะส่วนที่อยู่ในโฉนดเท่านั้น ที่งอกซึ่งอยู่นอกโฉนดไม่มีเจตนายกให้ จึงไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ถ้าข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่ายกให้ทั้งที่อยู่ในโฉนดและที่งอกที่เกิดขึ้นใหม่ ที่ดินทั้งหมดก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไป

                         ๓) ที่งอกนั้นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์
                             

เปรียบเทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๙/๒๕๔๓ ซึ่งวินิจฉัยว่า เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนนเมื่อ ๔ ถึง ๕ ปี มานี้ ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกที่เชื่อมติดกับที่ดินของจำเลยที่ ๑ ที่งอกพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ด้วย เมื่อโจทก์ครอบครองยังไม่ถึง ๑๐ ปี โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๘๒

มาตรา ๑๓๐๙  "เกาะที่เกิดในทะเลสาบ หรือในทางน้ำหรือในเขตน่านน้ำของประเทศก็ดี และท้องทางน้ำที่เขินขึ้นก็ดี เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน"

มาตรา ๑๓๑๐  บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น ๆ แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่ผู้สร้าง
               แต่ถ้าเจ้าของที่ดินสามารถแสดงได้ว่า มิได้มีความประมาทเลินเล่อ จะบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้นและเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมก็ได้ เว้นไว้แต่ถ้าการนี้จะทำไม่ได้โดยใช้เงินพอสมควรไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างซื้อที่ดินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามราคาตลาดก็ได้  

*** ข้อสังเกตตามมาตรา ๑๓๑๐
                         ๑.ต้องเป็นการสร้างโรงเรือนทั้งหลังในที่ดินของผู้อื่น หรืออย่างน้อยที่สุดส่วนใหญ่ของโรงเรือนที่สร้างนั้นจะต้องอยู่ในที่ดินของผู้อื่น
                         ๒.การสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นกรณีของการสร้างโดยสุจริตหรือไม่สุจริต ผู้สร้างกับเจ้าของที่ดินจะต้องไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ ต่อกัน หากผู้สร้างมีนิติสัมพันธ์กับเจ้าของที่ดินก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรานี้
                         ๓. โรงเรือนที่สร้างนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดินของผู้อื่นผลของการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นตามมาตรา ๑๓๑๐เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น แต่จะต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นแก่ผู้สร้าง แต่ถ้าเจ้าของที่ดินแสดงได้ว่าไม่ได้มีความประมาทเลินเล่อ ก็มีสิทธิที่จะให้ผู้สร้างรื้อถอนออกไปพร้อมทั้งทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมได้ความสุจริตตามมาตรา ๑๓๑๐ นั้น จะต้องมีมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนกว่าจะสร้างเสร็จ
ทั้งนี้ มาตรา ๑๓๑๐ จะใช้กับที่ดินที่เป็นของเอกชนเท่านั้น ในกรณีที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะอ้างมาตรา ๑๓๑๐ ไม่ได้

มาตรา ๑๓๑๑  บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นต้องทำที่ดินให้เป็นตามเดิมแล้วส่งคืนเจ้าของ เว้นแต่เจ้าของจะเลือกให้ส่งคืนตามที่เป็นอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าของที่ดินต้องใช้ราคาโรงเรือนหรือใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นแล้วแต่จะเลือก

*** ข้อสังเกตตามมาตรา ๑๓๑๑  

                            ๑) เป็นการสร้างโรงเรือนส่วนใหญ่ในที่ดินของผู้สร้างเองหรือในที่ดินที่ผู้สร้างมีสิทธิที่จะสร้างได้ คงมีแต่เพียงส่วนน้อยหรือบางส่วนของโรงเรือนเท่านั้นที่ไปรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น
                            ๒) เป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นนั้น การรุกล้ำนั้นต้องเกิดตั้งแต่แรกหรือเป็นการรุกล้ำมาตั้งแต่ขณะแรกที่ทำการสร้าง ถ้าตอนแรกไม่รุกล้ำต่อมามีการต่อเติมรุกล้ำเข้าไปใที่ดินของผู้อื่น ก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๑๒
                           ๓) ความแตกต่างระหว่างมาตรา ๑๓๑๒ กับ ๑๓๑๔ คือ มาตรา ๑๓๑๔ ไม่ใช่การสร้างรุกล้ำแต่เป็นการที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคาหรือปลูกสร้างอย่างอื่นมีผลทำให้น้ำฝนตกลงไปยังทรัพย์สินอื่นที่ติดกัน แต่ตัวสิ่งปลูกสร้างหรือก่อสร้างนั้นไม่ได้รุกล้ำ ส่วนมาตรา ๑๓๑๒ เป็นเรื่องที่บางส่วนของตัวโรงเรือนเองหรือบางส่วนของโรงเรือนรุกล้ำ
                             ๔) กรณีเครื่องอุปกรณ์บางอย่างหรือเครื่องอำนวยความสะดวกบางอย่างมาติดตั้งประกอบกับโรงเรือน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนของโรงเรือนที่จะถือว่าเป็นการรุกล้ำ

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๓๖/๒๕๓๙

                          เสากำแพงที่แยกต่างหากจากเสาโรงเรือน ไม่ใช่ส่วนหนึ่ง ของโรงเรือนอันจะถือเป็นโรงเรือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒ วรรคแรกฉะนั้นจำเลยจะอ้างว่าก่อสร้างกำแพงรุกล้ำโดยสุจริตไม่ต้องรื้อถอนตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่

                            ๕) กรณีสร้างโรงเรือนในที่ดินแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดิน แล้วปรากฏว่ามีบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน ซึ่งมีแนวฎีกาวางไว้ว่าสามารถที่จำนำมาตรา ๑๓๑๒ มาใช้บังคับได้โดยอาศัยมาตรา ๔

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๔๘/๒๕๑๒ 

                   จำเลยมิได้เป็นผู้สร้างตึกพร้อมกันสาดที่พิพาทหากแต่เจ้าของที่ดินเป็นผู้สร้างในที่ดินของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะขณะสร้างยังมิได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นสองแปลง ดังนั้น ถ้าจะบังคับให้รื้อ ก็มีผลเท่ากับจำเลยเป็นผู้สร้าง ตามมาตรา ๑๓๑๒ วรรคสอง ย่อมไม่เป็นธรรม เพราะแม้จำเลยเป็นผู้สร้างรุกล้ำเอง ถ้าโดยสุจริต กฎหมายยังยอมให้จำเลยมีสิทธิใช้ที่ดินในส่วนที่รุกล้ำได้ แล้วไฉนถ้าจำเลยมิได้เป็นผู้สร้างรุกล้ำเอง แต่การที่สร้างนั้นเป็นการสร้างโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งยิ่งกว่าเป็นการสร้างโดยสุจริตเสียอีก แล้วกลับจะถูกบังคับให้รื้อถอน เพราะไม่มีสิทธิจะใช้ กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ เมื่อเป็นช่องว่างแห่งกฎหมาย ดังนี้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ มาใช้สำหรับกรณีนี้ไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกมาปรับคดีได้จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งก็คือ มาตรา๑๓๑๒ วรรคแรก คือ จำเลยมีสิทธิใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำเข้าไปนั้นได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อ แต่มีสิทธิที่จะเรียกเงินเป็นค่าที่จำเลยใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ต่อไป ตลอดจนการที่จะดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมผลของการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต

มาตรา ๑๓๑๒  บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้
               ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้

โปรดพิจารณาตามคำพิพากษาฎีกาดังต่อไปนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๑/๒๕๐๕

                  ปลูกสร้างเรือนในที่ดินของตน ตัวเรือนไม่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แต่ชายคาได้รุกล้ำเข้าไปโดยสุจริตนั้นย่อมเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๑๒ ไม่ใช่ มาตรา ๑๓๔๑ เพราะตาม มาตรา๑๓๔๑ หมายถึงทำหลังคาหรือการปลูกสร้างอย่างอื่นโดยมิได้รุกล้ำที่ดินของผู้อื่น แต่เมื่อฝนตกน้ำฝนได้ไหลลงไปยังที่ดินหรือทรัพย์สินของผู้อื่นที่ติดต่อกันในกรณีปลูกเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามมาตรา ๑๓๑๒ นั้น เจ้าของโรงเรือนมีสิทธิขอให้จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้ โดยไม่ต้องรอจนเกิน ๑๐ ปี

*** ข้อสังเกต การจดทะเบียนการใช้ที่ดินเป็นภาระจำยอมเป็นการจดทะเบียนโดยอาศัยสิทธิที่มาตรา ๑๓๑๒ ให้ไว้ ไม่ใช่เป็นการได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความ ๑๐ ปี เมื่อไม่ใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ ๑๐ ปี ก่อนจึงจะไปจดทะเบียนได้มาคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๑๓/๒๕๓๔ โจทก์จะบังคับให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนระเบียงพิพาทได้ก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสามก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒วรรคสอง แต่เมื่อจำเลยทั้งสามซื้อตึกแถวพร้อมระเบียงพิพาทที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าระเบียงได้สร้างรุกล้ำโดยไม่สุจริต ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้สืบสิทธิของผู้สร้างระเบียงพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต โจทก์จึงมีสิทธิเพียงแต่จะได้ค่าใช้ที่ดินและยังมีหน้าที่จดทะเบียนภาระจำยอมให้จำเลยทั้งสามด้วย ทั้งนี้โดยนัย ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒ วรรคแรก แต่โจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินเป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์ ศาลจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยใช้เงินดังกล่าวได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๐๙/๒๕๔๐ 

                    จำเลยร่วมที่ ๑ และที่ ๒ ปลูกสร้างบ้านรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ ๑ และที่ ๒ จึงต้องทำที่ดินให้เป็นตามเดิมแล้วส่งคืนเจ้าของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๑ และจำเลยผู้สืบสิทธิของเจ้าของเดิมผู้ปลูกสร้างบ้านโดยไม่สุจริตย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๑๒ เช่นกันถ้าต่อมาโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมดเจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมก็ได้ และถ้าสลายไปเฉพาะส่วนที่รุกล้ำทั้งหมด ก็เพียงพอที่จะขอให้เพิกถอนได้เช่นเดียวกัน
มาตรา ๑๓๑๒ วรรคสอง เป็นเรื่องของการสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตเจ้าของที่ดินมีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้สร้างโรงเรือนรุกล้ำรื้อถอนในส่วนที่รุกล้ำนั้นออกไปก็ได้ หรือจะเรียกร้องเอาค่าใช้ที่ดินโดยยอมให้ส่วนที่รุกล้ำนั้นเป็นภาระจำยอมของผู้ก่อสร้าง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐๔/๒๕๑๗ 

                 ที่ดินและอาคารของโจทก์และของจำเลยร่วมอยู่ติดกันโดยต่างรับซื้อมาจากบุคคลอื่นกันสาดของอาคารที่จำเลยร่วมซื้อได้รุกล้ำที่ดินที่โจทก์ซื้ออยู่ก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยร่วมได้สร้างห้องน้ำบนกันสาดนั้น อันเป็นการใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำเข้าไปนั้นสืบต่อจากเจ้าของเดิมโดยจำเลยร่วมมิได้ขออนุญาตต่อผู้ใด ถือได้ว่าจำเลยร่วมได้สร้างห้องน้ำขึ้นโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒ และ ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยร่วมใช้สิทธิโดยอำนาจปรปักษ์เกินกว่า ๑๐ ปีแล้วกันสาดและห้องน้ำเหนือที่ดินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในภารจำยอมโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้จำเลยรื้อห้องน้ำบนกันสาดนั้นเจ้าของที่ดินมีเงื่อนไขสร้างโรงเรือนในที่ดินนั้น

มาตรา ๑๓๑๓ ถ้าผู้เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีเงื่อนไขสร้างโรงเรือนในที่ดินนั้น และ ภายหลังที่ดินตกเป็นของบุคคลอื่นตามเงื่อนไขไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย ลาภมิควรได้มาใช้บังคับ

เจ้าของที่ดินมีเงื่อนไข” ทั้งนี้ความหมายของมาตรา ๑๓๑๓ อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทคือ

                  ๑. เป็นเจ้าของที่ดินที่มีเงื่อนไขบังคับหลัง (สิ้นผลเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จ)
                  ๒. เป็นเจ้าของที่ดินที่มีเงื่อนไขห้ามโอนตามมาตรา ๑๗๐๐ หรือเรียกว่าข้อกำหนดห้ามโอนสร้างสิ่งอื่น ปลูกต้นไม้ หรือธัญชาติในที่ดินของผู้อื่น


@ เนื้อหาในเรื่อง "ทรัพย์" นี้ค่อนข้างจะยาว ผู้เขียนเองก็พยายามจะเขียนให้ย่นย่อและให้เข้าใจได้ง่าย แต่ก็ไม่อยากตัดย่อยออกเป็นหลายตอนมากนัก จึงได้เขียนต่อเนื่องกันโดยแบ่งออกเป็นสามตอน และคาดหวังไว้ว่าอาจมีประโยชน์แก่ทุกท่านที่เข้ามาอ่านได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

ด้วยจิตคารวะ
By กานต์

๕๑๖/๖๐, ๑๒.๕๔

"ทรัพย์" ตอนที่ ๒ "ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้"


"ทรัพย์" ตอนที่ ๒ "ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้"

          เรื่องทรัพย์ในตอนที่ ๑ ผู้เขียนได้เขียนเรื่องของ "อสังหาริมทรัพย์" ไปแล้ว และก่อนหน้านั้นก็ได้เขียนเรื่องการได้อสังหาริมทรัพย์ โดยการครอบครอบปรปักษ์ไปแล้วเช่นกัน แต่ผู้เขียนยังไม่เคยอธิบายเรื่องของ "ทรัพย์" มาก่อน วันนี้เลยอยากจะเขียนเรื่อง "ทรัพย์" มาให้อ่านกัน ซึ่ง "ทรัพย์" นั้น แบ่งได้เป็น ๒ ชนิดคือ
      ๑. "ทรัพย์แบ่งได้"  หมายความว่า ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัวทรัพย์แบ่งไม่ได้ ทรัพย์แบ่งได้ มีองค์ประกอบดังนี้

                       (๑) ต้องเป็นทรัพย์ที่สามารถแยกออกจากกันได้
                       (๒) เมื่อแยกออกจากกันได้แล้วไม่เสียสภาพรูปทรงไป

      ๒."ทรัพย์แบ่งไม่ได้" หมายความว่า ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้  นอกจากเปลี่ยนแปลงสภาวะของทรัพย์ และหมายความถึงทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นทรัพย์ที่แบ่งแยกไม่ได้ด้วย ทรัพย์แบ่งไม่ได้ มีความหมาย ๒  คือ

                      (๑) ทรัพย์แบ่งไม่ได้โดยสภาพ
                      (๒) ทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าแบ่งไม่ได้


ทรัพย์บางอย่างที่ถือว่าเป็นทรัพย์ และเป็นทรัพย์ที่แบ่งแยกไม่คือ

                      (๑) หุ้นเป็นทรัพย์แบ่งแยกไม่ได้ตามมาตรา ๑๑๑๘ วรรคหนึ่ง
                      (๒) ส่วนควบ ภาระจำยอม และสิทธิจำนอง แบ่งไม่ได้

ประเด็นแรก "ทรัพย์นอกพาณิชย์" หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์นอกพาณิชย์มีความหมาย ๒ ประการ คือ

                              ๑. ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้
                               ๒. ทรัพย์ที่โอนแก่กันไม่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทรัพย์นอกพาณิชย์ที่กฎหมายห้ามโอนจะต้องมีอยู่ ๒ ประการ คือ
                               ๒.๑ ต้องเป็นการห้ามโอนโดยกฎหมายบัญญัติไว้
                               ๒.๒ ลักษณะของการห้ามโอนจะต้องเป็นการห้ามโอนโดยถาวร
*** ประเภทของทรัพย์นอกพาณิชย์นั้นมีหลายประการ อาจแยกได้ดังต่อไปนี้
                            (๑) สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์จะสละหรือโอนไม่ได้
                            (๒) ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์
                           (๓) ทรัพย์นอกพาณิชย์ที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายห้ามโอนเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการห้ามโอนโดยนิติกรรมก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ การห้ามโอนโดยมีกำหนดระยะเวลา เช่น การห้ามโอนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพหรือประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ใช่เป็นการห้ามโอนโดยถาวรจึงไม่เป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ กรณีนี้มีปัญหาว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ก่อนว่าพอพ้นกำหนดเวลาแล้วค่อยโอนกัน ข้อสัญญาดังกล่าวจะใช้บังคับได้หรือไม่ ในกรณีเช่นนี้มีข้อพิจารณาว่า

                             ๓.๑ ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ห้ามโอนก็เป็นโมฆะ
                             ๓.๒ ถ้าข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าไม่เป็นการจงใจหลีกเลี่ยง ก็ไม่เป็นโมฆะ

ตัวอย่าง  

ข้อ ๑. นาย กรกิจ มีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นาย สมพร โดยมีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน เมื่อนาย กรกิจ ยังไม่ได้มีการส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวภายในระยะเวลาห้ามโอน ๑๐ ปี จึงถือว่าไม่ได้จงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ

 ข้อ ๒. นายสุนัยมีที่ดินเป็น น.ส.๓ ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นางวิภาภายในระยะเวลาห้ามโอน โดยได้มีการชำระเงินกันแล้วและนายสุนัยได้มอบที่ดินให้นางวิภาเข้าครอบครองแล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่านายสุนัยจะจดทะเบียนโอนให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จึงเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยชัดแจ้ง สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ

ข้อ ๓. นางสายเจ้าของที่ดินทำสัญญาซื้อขายที่ดินให้กับนายหนุ่ยในระยะเวลาห้ามโอน ตามกฎหมาย สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจส่งมอบการครอบครองที่ดินแก่กันได้ นายหนุ่ยจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่หากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว นางสายได้สละเจตนาครอบครองหรือนางสายได้มีการมอบการครอบครองให้แก่นายหนุ่ยแล้ว เช่นนี้นายหนุ่ยก็มีสิทธิครอบครอง แต่ถ้านางสายยังไม่ได้สละเจตนา ครอบครองหรือมิได้มีการมอบการครอบครองให้แก่นายหนุ่ย แม้นายหนุ่ยจะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ต่อมาก็ถือว่านายหนุ่ยครอบครองแทนนางสาย เมื่อถือว่านายหนุ่ยเป็นผู้ครอบครองที่ดินแทนนางสาย หากนายหนุ่ยโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก ก็จะเข้าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เพราะถือว่าบุคคลภายนอกครอบครองที่ดินแทนนางสายเช่นเดียวกัน แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหนุ่ยเข้าครอบครองที่ดินนับแต่ได้ซื้อจากนางสายมาตลอดแม้ในระยะเวลาห้ามโอน นายหนุ่ยยังไม่ได้สิทธิครอบครอง แต่เมื่อนายหนุ่ยครอบครองที่ดินตลอดมาจนล่วงระยะเวลาห้ามโอนแล้วเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปีเศษ และเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของนายหนุ่ยตลอดมาโดยไม่มีผู้อื่นเข้ามายุ่งเกี่ยว การแย่งการครอบครองการครอบครองที่ดินของนายหนุ่ยดังกล่าวจึงเป็นการยึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตนแล้ว นายหนุ่ยย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๖๗

ประเด็นที่สอง "ส่วนควบของทรัพย์"  หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป และโดยปกติเจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น เช่น ไม้ยืนต้น ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ แต่หากเป็นไม้ล้มลุกหรือธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดิน

ประเด็นที่สาม "ทรัพย์ติดกับที่ดิน" ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย
  

ที่นี้เราลองมาดูองค์ประกอบของส่วนควบกันบ้าง  
๑. เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของตัวทรัพย์ มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ
                      ๑.๑ โดยสภาพของตัวทรัพย์เอง
                      ๑.๒ โดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
ตัวอย่าง
                     ๑)  บ้านเป็นสาระสำคัญของที่ดิน ดังนั้น บ้านจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน และครัวตามจารีตประเพณีก็เป็นสาระสำคัญของตัวเรือน เพราะบ้านย่อมต้องมีครัว
                      ๒) เครื่องจักรทำน้ำโซดาและอุปกรณ์ทำน้ำโซดาไม่ได้เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของที่ดิน ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน เป็นเพียงสังหาริมทรัพย์ธรรมดา ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่ใดก็ได้

๒. ทรัพย์ที่มารวมกันเป็นส่วนควบนั้นไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

*** ข้อยกเว้นเรื่องส่วนควบ

                            ๑) ไม้ล้มลุกและธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดิน
                            ๒) ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดิน หรือโรงเรือนนั้น เช่น การปลูกสร้างอาคารจัดการแสดงสินค้าเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือ การปลูกสร้าง

ตัวอย่าง

นายชัยตกลงให้นายชายปลูกต้นสนในที่ดินของนายชัย โดยเมื่อต้นสนโตเต็มที่แล้วก็จะตัดขายเอาเงินมาแบ่งกัน ต้นสนจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ดังนั้น แม้นายชัยจะนำที่ดินไปจำนองให้แก่นายสด นายก็ไม่สดมีสิทธิบังคับเอาจากต้นสนของนายชาย ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก นายชายมีสิทธิขอกันส่วนได้  ส่วนในกรณีที่โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นไม่เป็นส่วนควบเพราะเข้า ข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๔๖ ผู้มีสิทธิปลูกสร้างยังเป็นเจ้าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่ แต่จะยกขึ้นต่อสู้กับผู้รับจำนองโดยสุจริตไม่ได้ เพราะสิทธินั้นไม่ได้จดทะเบียน ผู้รับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นได้ เพราะผู้รับจำนองเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้รู้เห็นด้วย เว้นแต่ผู้รับจำนองนั้นไม่สุจริต

๓. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นได้ใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้น โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดินที่ปลูกสร้างลงไปนั้น ซึ่งสิทธิ ที่จะปลูกสร้างในที่ดินของผู้อื่นมีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ
                    ๓.๑ สิทธิตามสัญญา    ซึ่งสิทธิตามสัญญานี้จะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ จะทำโดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายก็ได้ เช่น เจ้าอาวาสปลูกเรือนในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดโดยใช้เงินของผู้อื่นซึ่งมีศรัทธาถวายเพื่อเป็นที่พักอาศัยของคนมาทำบุญ เรือนจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน,  นายไก่เช่าที่ดินนายเป็ดเพื่อปลูกสร้างโรงเรือน โรงเรือนนั้นไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน, ปลูกตึกแถวลงในที่ดินโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินมีกำหนด ๑๕ ปี แล้วจึงให้ตึกแถวนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน เมื่อยังไม่ครบ ๑๕ ปี ตึกแถวก็ยังไม่เป็นส่วนควบ กรรมสิทธิ์จึงยังไม่ตกเป็นเจ้าของที่ดิน, นายหมูสร้างทางเท้าและคันหินลงในที่ดินของนายห่าน โดยนายห่านยินยอมเป็นสิทธิตามสัญญา นายห่านจะเลิกเสียเมื่อใดก็ได้  เมื่อนายห่านบอกเลิกสัญญาแล้ว นายหมูก็ไม่มีสิทธิใช้ต่อไป ทางเท้าและคันหินนั้นก็ไม่เป็นส่วนควบ เพราะเป็นการปลูกสร้างลงในที่ดินของนายห่านโดยอาศัยสิทธิที่นายห่านยินยอมให้ทำได้ หรือผู้จะขายที่ดินยอมให้ผู้จะซื้อเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินที่จะขาย ถือว่าผู้จะซื้อเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้จะขายในอันที่จะปลูกบ้านได้ บ้านไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน เป็นต้น

                   ๓.๒ สิทธิในที่ดินของผู้อื่นในลักษณะที่เป็นทรัพยสิทธิ ใครเป็นเจ้าของส่วนควบ กรณีที่เป็นทรัพย์สินเดียวมักไม่มีปัญหา แต่ปัญหาจะอยู่ที่มีการนำเอาทรัพย์หลายสิ่งมารวมกันจนเป็นส่วนควบ กฎหมายจึงได้กำหนดให้เจ้าของทรัพย์ประธานเป็นเจ้าของส่วนควบ เช่น
                             ๑) ตัวถังรถยนต์เป็นทรัพย์ประธาน
                             ๒) ที่ดินเป็นทรัพย์ประธานของบ้าน และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนี้รวมถึงที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ และสิทธิครอบครองด้วย
*** เรามาดูข้อยกเว้นกันบ้างว่า อะไรคือข้อยกเว้นหลักที่ว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานย่อมเป็นเจ้าของส่วนควบด้วยนั้น
                             ๑) การสร้างโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือปลูกต้นไม้ในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต บุคคลนั้นต้องทำที่ดินให้เป็นตามเดิมแล้วส่งคืนเจ้าของ เว้นแต่เจ้าของที่ดินจะยอมให้ส่งคืนเช่นนั้น แต่เจ้าของที่ดินต้องใช้ราคา (มาตรา ๑๓๑๑ และ มาตรา ๑๓๑๔) 
                             ๒) การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ซึ่งมาตรา ๑๓๑๒ วรรคหนึ่งกำหนดให้คนสร้างโรงเรือนที่รุกล้ำเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างนั้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๗๖๔/๕๒

                     โจทก์จำเลยและผู้เช่าอื่นมีข้อตกลงระหว่างกันว่าผู้เช่าซื้อที่ดินส่วนที่มีห้องแถวที่ตนเช่าปลูกสร้างอยู่และที่ดินแต่ละแปลงให้แนวตัดตรงตามแนวโฉนดที่ดิน ถ้าห้องเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวที่ดินของผู้เช่าอื่น ต้องรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำเมื่อผู้เช่าอื่นปลูกสร้างใหม่ ถ้ายังไม่มีการปลูกสร้างอาคารใหม่ก็ให้อยู่กันตามสภาพเดิมไปก่อน ข้อตกลงดังกล่าวบังคับได้และผูกพันโจทก์จำเลย เมื่อโจทก์จำเลยซื้อที่ดินโจทก์จะปลูกสร้างอาคารใหม่แทนห้องเช่าเดิมบนที่ดินที่ซื้อ แต่มีสิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ โจทก์บอกกล่าวจำเลยแล้ว จำเลยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงรื้อสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ และเมื่อมีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเช่นนี้ มิใช่กรณีต้องนำ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒ มาปรับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา ๔
                            ๓) ถ้าเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ว่าทรัพย์ใดเป็นทรัพย์ประธาน มาตรา ๑๓๑๖ บัญญัติให้ทุกคนเป็นเจ้าของในทรัพย์ใหม่ที่รวมเข้ากันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของเจ้าของทรัพย์ตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง เป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนกันอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๘๔/๒๕๓๙

                         ข้อกำหนดที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อตามที่ระบุไว้ใน สัญญาเช่าซื้อก็คือราคารถยนต์ที่ยึดคืนมาขายได้น้อยกว่าราคาที่เช่าซื้อที่ จำเลยต้องรับผิดนั่นเองข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธี หนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับซึ่งศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ถ้าเห็นว่าสูงเกินส่วน ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาไม่ใช่ค่าเช่าซื้อหรือเงินอื่นใดที่ค้างชำระ ดังที่สัญญาเช่าซื้อระบุไว้ให้เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ ๑.๗๕ ต่อเดือน หากแต่เป็นหนี้เงินซึ่งโจทก์สามารถเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๔๔ วรรคหนึ่งเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์เป็นผู้นำกระบะบรรทุกมาติดตั้ง ประกอบเข้ากับรถยนต์ที่เช่าซื้อกระบะบรรทุกดังกล่าวจึงเป็นส่วนควบของรถยนต์ ที่เช่าซื้อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์อันถือได้ว่าเป็นเจ้าทรัพย์เป็นประธาน ย่อมเป็นเจ้าของกระบะบรรทุกที่ติดตั้งประกอบเข้ากับรถยนต์ที่เช่าซื้อ แต่ผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่ากระบะรถบรรทุกนั้นให้แก่จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นเจ้าของ ทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๑๖ วรรคสอง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๕/๒๕๓๔

                   โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยทั้งสอง แต่ในหนังสือขายที่ดินระบุว่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างดังนี้ บ้านพิพาทจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง โดยไม่จำต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก เมื่อโจทก์ทั้งสองครอบครองบ้านพิพาทซึ่งเป็นของตนเองเช่นนี้ จึงไม่เป็นครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิในบ้านพิพาทของโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใดโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง

*** สรุปกรรมสิทธิ์ในส่วนควบ

                                  ๑. กรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธานตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง มีความสำคัญหรือมีอำนาจเหนือกว่าคนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในส่วนควบมาในลักษณะของกรรม สิทธิ์โดยทั่วๆ ไป
                                  ๒. เจ้าของทรัพย์เป็นประธานเป็นเจ้าของส่วนควบตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง ซึ่งเป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน
                                  ๓. การก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินในกรรมสิทธิ์ในตัวส่วนควบแยกต่างหากออกจากกรรมสิทธิ์จากทรัพย์ที่เป็นประธานนั้นจะมีผลผูกพันบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้ก่อตั้งขึ้นมาในลักษณะที่เป็นสิทธิเหนือพื้นดินตามมาตรา ๑๔๑๐
                                  ๔. การก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๑๒๙๙ คือต้องจด
ทะเบียน ถ้าไม่จดทะเบียนก็ไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิ แต่แม้จะมิได้จดทะเบียนก็สามารถบังคับได้ในฐานะบุคคลสิทธิ์ แต่จะใช้ต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้

ต่อไปเรามาศึกษากันถึงเรื่อง "อุปกรณ์" อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น  อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราวก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

*** องค์ประกอบของการเป็นอุปกรณ์

                           ๑. อุปกรณ์จะต้องมีทรัพย์ที่เป็นประธาน
                           ๒. อุปกรณ์จะต้องเป็นสังหาริมทรัพย์
                           ๓. อุปกรณ์จะต้องไม่มีสภาพรวมกับทรัพย์ที่เป็นประธานจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้
                           ๔. อุปกรณ์ต้องไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่เป็นประธานด้วยกันหรือมีความสำคัญเท่ากัน
                           ๕. อุปกรณ์จะต้องเป็นทรัพย์ที่เป็นเจ้าของเดียวกันกับทรัพย์ที่เป็นประธาน
                           ๖. อุปกรณ์จะต้องเป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ๒ ประการ คือ ๑) พิจารณาจากปกตินิยมเฉพาะถิ่น  ๒)พิจารณาจากเจตนาของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน
                           ๗. อุปกรณ์ต้องใช้ประจำเป็นอาจิณกับทรัพย์ที่เป็นประธานเพื่อประโยชน์ในการจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน


ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๑๔/๒๕๔๕
                     จำเลยนำวิทยุเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์ เครื่องเสียงมาสู่รถที่เช่าซื้อก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยมิใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานคือรถที่เช่าซื้อทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗ วรรคท้าย สัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลงต่อเติม ติดหรือตั้งอยู่ในตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สิ่งนั้นจะตกเป็นส่วนหนึ่งของตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทันที มีที่มาจากปัญหาซึ่งมักจะเกิดแก่โจทก์ที่ต้องพิพาทกับผู้เช่าซื้อในกรณีที่ผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อ เติม ติดหรือตั้งกับทรัพย์ที่เช่าซื้อและจะเอาสิ่งของนั้นคืน เมื่อต้องคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ แต่การรื้อสิ่งของที่ว่านั้นออกไปจะทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายได้ ฉะนั้น ลำพังการที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวมาสู่ตัวรถที่เช่าซื้อ ย่อมไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากจะต้องรื้อออกไป จึงไม่อยู่ในขอบแห่งข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์ไม่อาจยกมาเป็นเหตุไม่คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลย

                         ๘. อุปกรณ์จะต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธานนำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดหรือปรับเข้าไว้หรือกระทำด้วยประการใดในฐานะเป็นเครื่องใช้เพื่อประโยชน์ในการดูแลใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน

ประเด็นต่อไปคือ "ดอกผล" ดอกผลมีอยู่ ๒ ชนิด คือ

                              ๑. ดอกผลธรรมดา ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และสามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น
                             ๒. ดอกผลนิตินัย ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งสาระสำคัญของดอกผลนิตินัยมี ดังนี้
                              ๑. ดอกผลนิตินัยต้องเป็นทรัพย์หรือเป็นประโยชน์
                              ๒. ดอกผลนิตินัยต้องเป็นทรัพย์ที่ตกได้แก่เจ้าของทรัพย์
                              ๓. ดอกผลนิตินัยจะต้องตกได้แก่ผู้เป็นเจ้าของแม่ทรัพย์เป็นการตอบแทนจากการที่ผู้อื่นได้ใช้ตัวทรัพย์นั้น
                              ๔. ดอกผลนิตินัยจะต้องเป็นดอกผลที่ตกได้แก่เจ้าของทรัพย์เป็นครั้งคราว
ทั้งนี้ ผลกำไรที่ได้จากการขายทรัพย์ไม่ใช่ดอกผลนิตินัย แต่ผลกำไรที่ได้จากการแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนหรือเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในบริษัท ถือว่าเป็นดอกผลนิตินัย

*** ผู้ที่มีสิทธิในดอกผล คือ เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และเป็นเจ้าของดอกผลของตัวทรัพย์นั้น ไม่ว่าจะเป็นดอกผลนิตินัยหรือดอกผลธรรมดา

ในมาตรา ๔๙๒ กำหนดให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ ไถ่ทรัพย์นั้น หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้วแต่กรณี เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมีการไถ่ทรัพย์หรือวางทรัพย์เพื่อไถ่ทรัพย์นั้น ผู้รับซื้อฝากก็ไม่ต้องคืนดอกผลให้แก่ผู้ขายฝาก


*** ข้อยกเว้นที่ผู้อื่นมีสิทธิในดอกผล

๑. เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ เช่น
               ๑.๑ ดอกผลของสินส่วนตัวเป็นสินสมรส (มาตรา ๑๔๗๔ (๓))
               ๑.๒ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่ (มาตรา ๔๑๕ วรรคหนึ่ง)
               ๑.๓ ถ้าจะต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่ผู้มีสิทธิเอาคืน ผู้นั้นไม่ต้องคืนดอกผลคราบเท่าที่ยังสุจริตอยู่ เมื่อใดรู้ว่าจะต้องคืนก็ถือว่าไม่สุจรติแล้ว (มาตรา ๑๓๗๖)
๒. มีข้อตกลงไว้เป็นอย่างอื่น
๓. บุคคลที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นมีสิทธิเอาดอกผลไปชำระหนี้ที่เจ้าของทรัพย์เป็นหนี้ตน (หักหนี้)

ต่อไปเป็นเรื่อง "ทรัพยสิทธิ" ทรัพยสิทธิคืออะไร "ทรัพยสิทธิ" คือ  สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินหรือเป็นสิทธิที่อยู่เหนือทรัพย์สินนั้นอันจะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้โดยตรงและการก่อตั้งทรัพยสิทธิได้นั้นจะต้องมีกฎหมายรองรับ
"บุคคลสิทธิ" คือ สิทธิเกิดขึ้นจากสัญญาเป็นหลัก เป็นสิทธิที่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญานั้นก่อตั้งขึ้น บังคับได้แต่เฉพาะตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีเท่านั้น


                                           ข้อแตกต่างระหว่างทรัพยสิทธิกับบุคคลสิทธิ

                             ทรัพยสิทธิ                  
                                  บุคคลสิทธิ  
๑. ทรัพยสิทธิเป็นสิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินโดยตรง ใช้ยันได้กับทุกคน ในการจำหน่าย จ่าย โอน ติดตามเอาทรัพย์นั้นหรือห้ามคนอื่นเข้าเกี่ยวข้อง
๑. บุคคลสิทธิเป็นสิทธิที่มีอยู่เหนือตัวบุคคล ใช้บังคับได้แต่เฉพาะตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีและผู้สืบสิทธิของคู่กรณีเท่านั้น ลักษณะของบุคคลสิทธิเป็นเรื่องให้กระทำการ งดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์สิน
๒. การก่อตั้งทรัพยสิทธิจะต้องมีกฎหมายรองรับ
๒. บุคคลสิทธิโดยทั่วไปจะก่อตั้งขึ้นมาโดยนิติกรรมสัญญา แต่บางกรณีสิทธิที่เป็นบุคคลสิทธิอาจจะเกิดจากการที่มีกฎหมาย รองรับว่ามีบุคคลสิทธิได้ ซึ่งเรียกว่านิติเหตุ
๓. ทรัพย์สิทธิก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไปที่จะต้องยอมรับนับถือ ที่จะต้องเคารพคนที่ เป็นเจ้าของทรัพยสิทธิหรือคนที่ทรงทรัพยสิทธินั้น
๓. บุคคลสิทธิใช้บังคับได้แต่เฉพาะคู่กรณีหรือผู้สืบสิทธิของคู่กรณีเท่านั้น

๔. ทรัพยสิทธิเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยังคงใช้หรือคงมีอยู่ตลอดไป ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้ในเวลาต่อมาก็ตาม
๔. บุคคลสิทธิต้องใช้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าไม่ใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะบังคับใช้ไม่ได้ซึ่งเราเรียกว่าอายุความการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ "ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

มาตรา ๑๓๐๐ "ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียน สิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"

ซึ่งในกรณีที่เป็นสัญญาเสร็จเด็ดขาดที่เหลือเฉพาะแต่เพียงไปจดทะเบียนโอนให้แก่กันเท่านั้น คนที่มีสิทธิตามสัญญาก็ถือว่าอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน เป็นสิทธิประเภท "ทรัพยสิทธิ"  แต่ถ้าเป็นสัญญาประเภท "จะ" คนที่มีสิทธิตามสัญญาเป็นเพียง "บุคคลสิทธิ" ไม่ถือว่าอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนอันจะอ้างมาตรา ๑๓๐๐ มาเพิกถอนการโอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ ถ้าจะเพิกถอนก็ต้องไปอาศัยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา ๒๓๗การฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา ๑๓๐๐

*** การเพิกถอนการโอนของเจ้าหนี้หรือบุคคลซึ่งอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิ์ของตนได้อยู่ก่อนนั้นมีเงื่อนไขอยู่ ๒ ประการ คือ

            ๑) การจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์จะต้องทำให้บุคคลซึ่งอยู่ในฐานะที่จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนนั้นเสียเปรียบ
             ๒) ผู้ที่รับโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไปจะต้องไม่สุจริตหรือไม่เสียค่าตอบแทน

**** ในเรื่องของการเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิ์ของตนได้อยู่ก่อนนั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยตีความว่าการจำนองก็อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๐๐ นี้เช่นกัน และการอ้างประโยชน์จากมาตรา ๑๓๐๐ ที่จะขอให้เพิกถอนการโอนนั้นจะต้องมีการตั้งประเด็นไว้ในคดีด้วย ซึ่งการตั้งประเด็นนั้นจะต้องทำโดยคำคู่ความซึ่งอาจอยู่ในคำฟ้อง คำให้การหรือคำให้การแก้ฟ้องแย้งหรือฟ้องแย้งก็ได้ มาตรา ๑๒๙๙ และ ๑๓๐๐ ใช้บังคับกับการเปลี่ยนแปลง การระงับ และการกลับคืนมาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๐๑มาตรา ๑๒๙๙ มาตรา ๑๓๐๐ และมาตรา ๑๓๐๑ ใช้บังคับกับเรือที่มีระวางตั้งแต่ ๕ ตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะด้วยตามมาตรา ๑๓๐๒ บุคคลหลายคนเรียกร้องเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกัน

"สังหาริมทรัพย์" คือ ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย

มาตรา ๑๔๐สังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย

มาตรา ๑๓๐๓ "ถ้าบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันไซร้ ท่านว่าทรัพย์สินตกอยู่ในครอบครองของบุคคลใด บุคคลนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าบุคคลอื่นๆ แต่ต้องได้ทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและได้การครอบครองโดยสุจริตท่านมิให้ใช้มาตรานี้บังคับถึงสังหาริมทรัพย์ซึ่งระบุไว้ในมาตราก่อนและในเรื่องทรัพย์สินหาย กับทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำผิด"

ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว หมายความว่า สังหาริมทรัพย์อยู่ในความครอบครองของใคร คนนั้นก็จะมีสิทธิในสังหาริมทรัพย์นั้นดีกว่า โดยมีเงื่อนไขอยู่ ๒ ประการ คือ
                       ๑. คนที่มีสังหาริมทรัพย์อยู่ในความครอบครองจะต้องได้สังหาริมทรัพย์มาโดยมีค่าตอบแทน
                       ๒. การครอบครองที่ได้มานั้นจะต้องได้มาโดยสุจริตมาตรา ๑๓๐๓ วรรคหนึ่ง ไม่นำมาใช้กับสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้
                       ก) สังหาริมทรัพย์ประเภทพิเศษ ได้แก่ เรือที่มีระวางตั้งแต่ ๕ ตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะ
                       ข) ทรัพย์สินหาย
                       ค) ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำผิด

*** การได้สังหาริมทรัพย์มาโดยเสียค่าตอบแทนและได้การครอบครองโดยสุจริตนั้น จะต้องเป็นการได้มาจากคนที่มีสิทธิที่จะโอนทรัพย์นั้นได้ ซึ่งเป็นไปตามผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ถ้าคนที่โอนทรัพย์ให้นั้นไม่มีอำนาจที่จะโอนทรัพย์ แม้ผู้รับโอนจะได้รับโอนมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็จะอ้างประโยชน์ตามมาตรา ๑๓๐๓ ไม่ได้ 

ประเด็นต่อไปเรามาดู "ทรัพย์สินของแผ่นดิน" กัน  ทรัพย์สินของแผ่นดินแบ่งทรัพย์สินออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

                            ๑. ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์ก็ได้ หรือจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ได้
                           ๒. ทรัพย์สินของแผ่นดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งทรัพย์ใดจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะต้องมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
                               (๑) เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
                               (๒) จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา ๑๓๐๔ ได้แก่
                              (๒.๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
                              (๒.๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวงทะเลสาบ
                              (๒.๓) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่าป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์

ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่จำต้องขึ้นทะเบียนว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเสมอไป เพราะทรัพย์สินของแผ่นดินที่จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพของทรัพย์สินนั้นเองว่าได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ และการสิ้นไปของสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สภาพหรือสถานะของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอาจจะมีการเพิกถอนได้ แต่การเพิกถอนสภาพของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะทำได้ก็โดยมีกฎหมายเฉพาะ เมื่อมีการเพิกถอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้วที่ดินแปลงนั้นก็จะกลับมาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามธรรมดาไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกต่อไป ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดินถ้าเป็นการเพิกถอนสภาพเพราะไม่ใช้ หรือจะไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นก็จะทำโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้าเป็นการโอนก็จะต้องทำโดยพระราชบัญญัติ แต่ถ้านำไปจัดสรรซึ่งมีกฎหมายเฉพาะให้อำนาจก็ทำโดยพระราชกฤษฎีกาการหมดสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

การสิ้นสภาพไปของสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

                           ๑. สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นได้มีการเลิกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์โดยเด็ดขาดหรือเลิกสงวนไว้เพื่อสาธารณประโยชน์โดยเด็ดขาด ถ้าเพียงแต่เลิกใช้เพียงชั่วคราว ก็ยังไม่สิ้นสภาพ ยังมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่
                          ๒. สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นถูกทำลายไปทั้งหมด
                          ๓. สาธารณสมบัติของแผ่นดินถูกโอนหรือเวนคืนไปเป็นของเอกชนโดยชอบด้วยกฎหมาย

***ผลของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
                        ๑. จะโอนแก่กันไม่ได้เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา
                        ๒. ห้ามยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดิน
                        ๓. ห้ามยึดทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๔๔/๒๕๔๕

                         ทรัพย์สินของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์นั้นว่าราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ทางราชการจะไม่ได้ทำหลักฐานหรือขึ้นทะเบียนไว้ ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายที่ไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินและไม่อาจโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา

ข้อสังเกตทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมี ดังนี้

                                       (๑) ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอาจจะทำสัญญาจะซื้อจะขายได้ เนื่องจากยังไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์กัน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์กันได้แล้ว ก็ไม่อาจทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเพื่อให้มีการโอนกรรมสิทธิ์กันได้
                                       (๒) ที่ดินที่ถูกเวนคืนไปแล้วเมื่อไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเวนคืนภายในเวลา ๕ ปี กฎหมายกำหนดให้ต้องคืนเจ้าของไป การคืนนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะเพราะกรณีนี้ไม่ใช่เป็นการโอนให้แก่กันตามมาตรา ๑๓๐๕ แต่เป็นการโอนกลับคืนมาโดยเงื่อนไขของกฎหมาย
                                       (๓) ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะเอาไปให้เช่าไม่ได้ ถ้าเอาไปให้เช่าสัญญาเช่านั้นไม่มีผล จะฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าไม่ได้ และจะฟ้องขับไล่ก็ไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจฟ้อง
                                       (๔) สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือสงวนไว้ซึ่งสาธารณประโยชน์ คือ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าไปใช้สอยได้ และในระหว่างประชาชนด้วยกันนั้นคนที่เข้าไปใช้สอยอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่าคนอื่น ถ้าคนมาทีหลังไปรบกวนสิทธิ คนที่ใช้ก่อนก็มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองได้ รวมถึงเรียกค่าเสียหายได้ด้วย แต่ถ้าคนที่ใช้อยู่ก่อนเอาไปให้เช่าสิทธินั้นก็หมดไป จะใช้สิทธิปลดเปลื้องทุกข์หรือเอาคืนไม่ได้

สิทธิในการครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

                     ๑) สิทธิที่ว่านี้คือสิทธิในการใช้สอยเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามีกรรมสิทธิ์ดีกว่าหรือมีสิทธิครอบครองดีกว่าแต่อย่างใด
                     ๒) ผู้ที่จะฟ้องใช้สิทธิปลดเปลื้องทุกข์หรือเอาคืน จะต้องเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษ
                     ๓) คนที่เข้าไปใช้ก่อนมีสิทธิดีกว่าตราบเท่าที่ยังคงครอบครองยึดถือหรือใช้สอยอยู่ ดังนั้นถ้านำไปให้คนอื่นเช่าหรือทำประโยชน์สิทธินั้นก็สิ้นผลไป

คำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๔๒/๒๕๐๖

                      ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น ผู้ใดจะอยู่มาช้านานเท่าใดก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ แต่ถ้าหากบุคคลอื่นเข้ามากั้นรั้วปลูกเรือนแพและสิ่งอื่นๆกีดขวางหน้าที่ดินของเจ้าของที่ดินที่ติดกับที่ชายตลิ่งเต็มหมด จนไม่สามารถใช้สอยชายตลิ่งเข้าออกสู่ลำแม่น้ำได้แล้ว ย่อมถือว่าเจ้าของที่ดินนั้นได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ มีสิทธิฟ้องขับไล่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๘/๒๕๑๐

                       โจทก์มีบ่อน้ำกินคือบ่อพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ใช้บ่อน้ำบ่อนี้เสมอมาจำเป็นแก่ความเป็นอยู่ของโจทก์ จำเลยกระทำการให้น้ำในบ่อไม่มีให้โจทก์ใช้เช่นเคย ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์เสียหายเป็นพิเศษมีอำนาจฟ้องคดีได้

***แม้จะไม่ได้เข้าไปครอบครองยึดถือหรือไปใช้ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยตรง แต่เมื่อใช้อยู่แล้วต่อมาถูกรบกวนการครอบครองหรือการใช้ตามปกติ ถือว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายเป็นพิเศษมีสิทธิฟ้องได้ เช่น บ้านอยู่ติดลำน้ำสาธารณะแล้วมีคนมาทำรั้วกั้นให้ออกไปไม่ได้ หรือมีคนขึงลวดหนามเข้าไป
ในทางสาธารณะทำให้ไม่สามารถใช้รถผ่านไปได้ เป็นต้น แต่ถ้าไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษก็ไม่มีอำนาจฟ้อง

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

ผู้เขียนได้แบ่งเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์นี้ออกเป็น ๓ ตอน ตอนที่ ๓ คือ เรื่อง "การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์" ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ทั้งสามตอนนี้ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับทรัพย์ได้ครบทุกประเด็น และย่อเนื้อหาทั้งหมดลงมาให้กระชับมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หวังว่าคงมีประโยชน์ต่อทุกท่านบ้างพอสมควร "ด้วยจิตคารวะ"

By กานต์ 
๕/๖/๖๐, ๑๓.๑๙


มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า

  ตอนที่ ๑           บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามี...