วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า

 ตอนที่ ๑

          บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามีอาชีพทนายความ และมักเขียนบทความเกี่ยวกับกฎหมาย หรือข่าวอาชญากรรมและนำมาเสนอในแง่ของอาชญาวิทยา หลังจากหยุดเขียนบทความลง Blog ไปหลายปีเนื่องจากเหตุผลส่วนตัว แต่เมื่อ ๒-๓ วันมานี้ ข้าพเจ้าได้รับการร้องขอจากอาจารย์ของข้าพเจ้าให้เรียบเรียงเรื่องราวในทิเบต และมุมมองของข้าพเจ้าเพื่อนำไปสอนนักศึกษาสาขาสังคมศาสตร์ ในการนี้ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสนำข้อมูลที่เรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟังในแบบสบายๆ อาจเป็นแนววิชาการนิดหน่อย แต่สำหรับท่านที่สนใจเรื่องราวของชนชาติทิเบตท่านตกตะลึงในสิ่งที่โลกภายนอกไม่รู้ หรืออาจรู้เพียงเล็กน้อย ขอแจ้งให้ทราบก่อนว่า ข้าพเจ้าไม่เคยไปทิเบต รู้จักทิเบตแต่เพียงในหนังสือสมัยเรียนมัธยม ซึ่งน้อยนิดมากรู้เพียงว่า ทิเบตเป็นเมืองที่กล่าวได้ว่า “หลังคาโลก” เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในที่สูงที่สุดในโลก อากาศแห้งแล้ง และมีหิมะ แค่นี้ที่ข้าพเจ้ารู้จักทิเบต อีกเรื่องคือ ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งปรากฏในนิยาย “เพชรพระอุมา” ที่ข้าพเจ้าติดงอมแงมสมัยเด็ก ๆ

         ไม่มีเหตุผลอันใดที่ทำให้ข้าพเจ้าสนใจทิเบตเป็นพิเศษ เพียงแต่ในระยะหลังมานี้ข้าพเจ้าสนใจเมือง “เฉิงตู” เมืองหลวงของมณฑลเฉฉวน ของประเทศจีน เป็นเมืองน้องแพนด้า ใช่ “แพนด้า” ของประเทศจีนมีศูนย์เพาะพันธุ์แพนด้ายักษ์อยู่ที่เมืองนี้ เฉิงตู มีภูเขา “สี่ดรุณนี” ที่สวยมาก ๆ มันปรากฏในซีรียส์จีนโบราณหลายเรื่องที่ข้าพเจ้าเคยผ่านตามาตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยความสอดรู้สอดเห็นของข้าพเจ้า จากเมืองเฉิงตูข้าพเจ้าก็ศึกษาไปรอบๆ มณฑล ข้าพเจ้าพบ “หมู่บ้านทิเบต” และนั้นทำให้ข้าพเจ้าพบว่า ทิเบตไม่ใช่ “ประเทศ” เหมือนที่ข้าพเจ้ารับรู้มาตลอด แต่ทิเบตกลายเป็นส่วนหนึ่งจีนคอมมิวนิตส์ หลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็เริ่มศึกษา เริ่มเรียนรู้ เริ่มสนใจในเรื่องราวของชาวทิเบตอย่างแท้จริง ประกอบกับข้าพเจ้าต้องทำข้อมูลการบรรยายทำให้สนใจลึกซึ้งเข้าไปอีก สิ่งที่ข้าพเจ้าค้นพบกลับทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกหดหู่ใจในชะตากรรมของประชาชนชาวทิเบต แต่ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป สิ่งข้าพเจ้าจะถ่ายทอดนี้อาจไม่ถูกใจรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์เท่าไหร่ และนั่นอาจทำให้ข้าพเจ้าไม่อาจไปเที่ยวประเทศจีนได้ ซึ่งข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า พวกเขาจะสนใจข้าพเจ้าหรือไม่ ถึงอย่างไร ข้าพเจ้าก็ยังยินดีที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง และมุมมองของข้าพเจ้าให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่หลังม่านไม้ไผ่

         ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอปูพื้นฐานเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ทุกท่านได้ทราบไว้เป็นเบื้องต้นไว้ในตอนที่ ๑ นี้เสียก่อน เพื่อให้การศึกษาในตอนต่อ ๆ ไป จะได้เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น หลังจากจบตอนนี้แล้วข้าพเจ้าจะไล่ไทม์ไลน์เรื่องราวในทิเบตให้ท่านได้ศึกษากันต่อไป  

ภูมิภาคและพื้นที่

ทิเบตเป็นภูมิภาคในเอเชียตะวันออกครอบคลุมมีพื้นที่ประมาณ 2,500,00 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นบ้านเกิดของชาวทิเบตและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกหลายชนเผ่า ปัจจุบันมีชาวฮั่นและชาวหุยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้จำนวนมากเช่นกัน[1] ทิเบตเป็นภูมิภาคที่อยู่สูงที่สุดในโลกมีระดับความสูงเฉลี่ย 4,380 เมตร (14,000 ฟุต)[2] ยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในโลก โดยอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 8,848.86 เมตร (29, 032 ฟุต)[3]

การก่อตั้ง

            จักรวรรดิทิเบตถูกก่อตั้งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยอยู่ในช่วงสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยกินพื้นที่ไปไกลกว่าที่ราบสูงทิเบต สภาพแบ่งแยกปั่นป่วนในภูมิภาคกลางของจีนที่ดำเนินมาเป้นเวล่กว่า 300 ปี ได้สิ้นสุดลง ขณะที่วีรบุรุษซงแจ็นโป ราชวงศ์ยาร์ลุง ของชนชาติทิเบตได้สถาปนาจักรดิวรรดิทิเบตอย่างเป็นทางการ และตั้งเมืองหลวงที่นครลาซา ในช่วงปกครองประเทศ พระเจ้าซงแจ็นกัมโป ได้ศึกษาเทคโนโลยีทางการผลิตและผลงานทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ทันสมัยของ ราชวงศ์ถัง และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรในด้านต่างๆ กับราชวงศ์ถัง ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 หลังจากทิเบตได้รวมเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนเป็นต้นมา แม้ว่าจีนจะมีหลายราชวงศ์ที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปกครองประเทศ แต่ทิเบตก้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนตลอดมาไม่ว่าในราชวงศ์ใด 

      เมื่อระยะเริ่มต้นของการแตกสลายจักรวรรดินี้ถูกแบ่งออกเป็นหลายดินแดน โดยฝั่งทิเบตตะวันตกและกลางเรียกว่า “อวีจัง” ถูกรวมอยุ่ภายใต้รัฐบาลทิเบตในลาซ่า. ซีกาเจ และพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนภุมิภาคคัมและอัมโตอยู่ทางฝั่งตะวันออกมีการกระจายอำนาจทางการเมืองของชนเผ่ามากขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของจีน พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกผนวชเข้ากับมณฑลเสฉวน และมณฑลชิงไห่ของจีน ชายแดนปัจจุบันของทิเบตถูกกำหนดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18[4]

           หลังการปฎิวัติซินไฮ่ต่อราชวงค์ชิงใน ค.ศ. 1912 กองทัพราชวงศ์ชิงถูกสั่งให้ปลดอาวุธและคุ้มกันไม่ให้เขาไปพื้นที่ทิเบต ต่อมาภูมิภาคนี้ได้ประกาศเอกราชใน ค.ศ.1913 แต่รัฐบาลจีนไม่ยอมรับ[5] ภายหลังลาซาควบคุมส่วนตะวันตกของซีคางไว้ ภูมิภาคนี้ยังคงสถานะปกครองตนเองจนถึง ค.ศ.1951 หลังยุทธการซัมโต ทิเบตถูกยึดครองและผนวกเข้ากับประเทศจีน และรัฐบาลทิเบตก่อนหน้านี้ถูกยกเลิกใน ค.ศ.1959 หลังการก่อกำเริบล้มเหลว[6]
       
          ปัจจุบัน ประเทศจีนบริหารทิเบตตอนกลางและตะวันตกในฐานะเขตการปกครองตนเองทิเบต ส่วนฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่เป็นเขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยในมณพลเสฉวนม มณฑลชิงไห่ และมณฑลใกล้เคียงพื้นที่นี้มีความตึงเครียดกับสถานะทางการเมืองของทิเบต และกลุ่มผู้คัดค้านที่ยังพลัดถิ่น[7] และมีรายงานว่าผู้ประท้วงชาวทิเบตในทิเบตถูกจับและทรมาน[8]


[1] Altitude sickness may hinder ethnic integration in the worlds places Princeton Universitt. 1 July 2013.

[2] Witt, J.H. (24 February 2010) “Geology of the TibetanPlateau” 

[3] US Deartment of Commerce, National Oceanic and Atmospheric Administration. What is the highest point on Earth as measured from Earth’s center

[4] Goldstein, Melvyn, C., Change, Conflict and Continuity among a Community of Nomadic Pastort: A Case Study from Western Tibet, 1950-1990, 1994: What is Tibet? – Fact and Fancy, pp. 79-87

[5] Clark, Gregory, In fer of China, 1969, saying: ‘Tibet, although enjoying independence at certain periods of its history, had never been recognized by any single foreign power ar an independent stats. The closest it has ever come to such recognition was the British formula of 1943: suzerainty, combined with autonomy and the right to anter into diplomatic relations’

[6] Q&A: China and the Tibetans” BBC New (ภาษาอังกฤษแบบบริติช) สิงหาคม 15, 2011 

[7] Regions and territories: Tibet`” BBC New. ธันวาคม 11, 2010

[8] Wong, Edwaed (กุมภาพันธ์ 18, 1009). China Adds to Security Forces in Tibet Amid Calls for a Boycott” The New York Time. ISSN 0362-4331


วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565

“รักนี้ชั่วนิจนิรันดร์ ย้อนรอยคดีฆ่าหั่นศพ”

          หายหน้าหายตาไปหลายปี ไม่มีเวลามาเขียนบทความหรือให้ความรู้ทางด้านกฎหมายมานานมาก เนื่องจากติดภาระกิจทั้งการงานและการเรียน จำได้ว่าครั้งล่าสุดนั้นได้เขียนบทความเกี่ยวกับฆาตรกรต่อเนื่อง นายสมคิด พุ่มพวง ในมุมมองอาชญาวิทยาก็เป็นเวลาเกือบสามปีแล้ว ในวันนี้ก็จะขออนุญาตเขียนบทความในมุมมองของอาชญาวิทยาเกี่ยวกับข่าวฆ่าหั่นศพที่กำลังสร้างความตกตะลึงและสยองขวัญแก่คนในประเทศในขณะนี้อีกซักครั้ง บทความนี้อาจจะยาวซักหน่อยเนื่องจากผู้เขียนพยายามที่จะเขียนให้ครอบคลุมทฤษฎีทางอาชญาวิทยา และกลุ่มทฤษฎีจิตวิเคราะห์ให้มากที่สุดเพื่ออธิบายถึงการกระทำของผู้กระทำความผิด 
           
ลำดับเหตุการณ์

           เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ช่วงสายขณะที่แม่บ้านของ "คอนโด" แห่งหนึ่งในย่านสำโรงเหนือ ถนนเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปรากการ จังหวัดสมุทรปราการ กำลังจะเข้าไปทำความสะอาดห้องพักห้องหนึ่งนั้นแต่เปิดห้องผิด ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครอยู่ภายในห้องพัก เมื่อเปิดห้องเข้าไป ก็ได้กลิ่นคาวเลือดและในห้องน้ำมีการเปิดน้ำทิ้งไว้ จึงสงสัยว่าห้องนี้ต้องเกิดเรื่องไม่ดีแน่นอน จึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เบื้องต้นทราบว่าเมื่อวันที่ 28 กันยายน นายชาญวิทย์ กับ น.ส.อรนันท์ หรือพิน  อายุ 30 ปี เป็นผู้มาเช่าห้องพักห้องดังกล่าว เมื่อตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดสามารถบันทึกภาพขณะนายชาญวิทย์ เดินออกมาจากลิฟท์ พร้อมถุงขนาดใหญ่ 2 ใบ เดินถือออกประตูเลี้ยวไปทางขวาซึ่งเป็นที่จอดรถ แต่ไม่พบ น.ส.อรนันท์ เดินออกมาจากห้องแต่อย่างใด ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาตรวจสอบห้องพักดังกล่าว จึงพบกับนายชาญวิทย์ วงศ์สหาก หรือ ดอน วัย 35 ปี นั่งอยู่บนเตียงในห้องพัก จากการสอบถามก็ ยอมรับว่าก่อเหตุฆ่าหั่นศพ น.ส.อรนันท์ และนำชิ้นศพไปฝั่งไว้ที่อื่น จากการตรวจสอบภายในห้องมีพบคราบเลือด และการทำความสะอาดที่พื้นห้องน้ำ และตรวจร่องรอยหาพยานหลักฐานต่างๆ และตรวจสอบภายในรถยนต์เก๋ง ฮอนด้า ซิตี้ สีขาว ทะเบียน ฎล-8211 กรุงเทพมหานคร ที่ นายชาญวิทย์ ใช้ในการขนศพเพื่อนำไปอำพราง ก่อนควบคุมตัว นายชาญวิทย์ มาสอบสวน ที่ สภ.สำโรงเหนือ ก่อนจะคุมตัวพาไปชี้จุดที่นำ ชิ้นส่วนร่าง น.ส.อรนันท์ มาฝัง บริเวณริมถนนประเสริฐมนูกิจ บริเวณตอม่อทางด่วนฉลองรัช ทิศทางมุ่งหน้ารามอินทรา แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพหมานคร โดยพบว่ามีดินที่ถูกขุดและกลบใหม่ เจ้าหน้าที่จึงขุดลงไปพบถุงดำหลายใบถูกฝังอยู่ ภายในพบว่าเป็นชิ้นส่วนมนุษย์ถูกตัดเป็น 7 ส่วน โดยใบแรก เป็นท่อนแขนซ้าย ใบที่สอง ส่วนหัว ใบที่สาม ส่วนขาซ้าย ตั้งแต่หัวเข่า ใบที่สี่ส่วนแขนขวา ข้อศอกลงมา ใบที่ห้า ส่วนขาขวา หัวเข่า ใบที่หก ส่วนลำตัว ต้นคอถึงเอว และใบที่เจ็ด ส่วนท่อนล่าง เอวถึงหัวเข่า

พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์แถลงว่า คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาไม่นานก็สามารถจับกุมคนร้ายได้ จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อวานนี้(1ต.ค.) ประมาณ 10.00 น. ตำรวจสภ.สำโรงเหนือ ได้รับแจ้งจากแม่บ้านของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งภายในซอยสุขุมวิท 115 ว่าพบความผิดปกติเชื่อว่าน่าจะมีเหตุฆาตกรรม เจ้าหน้าที่จึงเดินทางไปตรวจสอบ ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่พบนายชาญวิทย์ผู้ต้องหาขับรถเก๋ง Honda ย้อนกลับมายังที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่จึงคุมตัวและซักถามโดยนายชาญวิทย์ รับสารภาพว่า ได้มาเปิดห้องพักกับแฟนสาว คือ นางสาวอรนันท์ ผู้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 28 กันยายน จากนั้นได้ใช้อาวุธมีดซึ่งเตรียมมาลงมือแทงนางสาวอรนันท์เป็นจำนวนหลาย 10 แผลจนถึงแก่ความตาย ซึ่งนายชาญวิทย์ วางแผนตระเตรียมมาล่วงหน้า ส่วนสาเหตุเนื่องจาก ผู้ต้องหาหึงหวงผู้ตายที่เริ่มจะตีจาก แม้ว่านายชาญวิทย์จะมีครอบครัวอยู่แล้วก็ตาม จากนั้นผู้ต้องหาก็ได้อยู่กับศพ 1 คืน ก่อนลงมือชำแหละร่างผู้ตายออกเป็นชิ้นส่วน 7 ชิ้น ใส่ถุงดำและใส่ถุงขนาดใหญ่ โดยนำไปฝังดินไว้ที่ใต้ทางด่วน ถนนประเสริฐมนูกิจ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงนำตัวไปชี้จุดที่บริเวณทิ้งศพ ตามที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง จนพบร่างผู้เสียชีวิต

        พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ ยังบอกอีกว่า ผู้ต้องหามีการเตรียมการที่จะฆ่าผู้ตายมานานหลายเดือนโดยมีการไปขุดหลุมฝังศพรอไว้ คือใต้ทางด่วนประเสริฐมนูกิจ ยืนยันผู้ต้องหาไม่มี อาการทางประสาทแต่อย่างใด[1]

            จากคำสารภาพของนายชาญวิทย์ เปิดเผยว่าคบหากับน้องพิณมานานกว่า 2 ปี แล้ว และยอมรับว่าทั้งรักทั้งหลงฝ่ายหญิงมาก ก่อนเกิดเหตุได้มาเช่าห้องอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 5 วัน แต่ก็ต้องทะเลาะกันอย่างรุนแรง เพราะเกิดจากความหึงหวง ไม่อยากให้น้องพิณไปไหนไม่มีใคร และต้องการเปิดตัวว่าเป็นแฟนกันที่ต้องฆ่าเนื่องจากระเคะระคายว่าฝ่ายหญิงพยายามตีตัวออกห่างและเกิดมีปากเสียงกัน จึงใช้อาวุธมีดที่เตรียมมาก่อเหตุฆ่าจนเสียชีวิต ส่วนการชำแหละศพ ซ่อนเร้นอำพรางนั้น ได้แนวทางมาจากการดูภาพยนตร์ฆาตกรรมแนวสืบสวนสอบสวนฆ่าหั่นศพของฝรั่ง จึงนำมาเลียนแบบในการก่อเหตุ วิธีการคือมีการใช้มีดปลายแหลมแทงตามลำตัวของผู้ตายกว่า 10 แผล ส่วนวิธีการหั่นศพ ใช้ขวานที่มีความคมสับตามข้อต่อ ทำให้ชิ้นส่วนศพขาดในทันที ที่สำคัญคือแผนการทั้งหมดไม่ได้เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ แต่เกิดจากการวางแผนของนายชาญวิทย์ที่เตรียมการมากว่า 3 เดือนแล้ว และขุดหลุมเตรียมไว้ก่อนที่จะก่อเหตุ 1 เดือน กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญคนทั้งประเทศ[2]

             ความเบื้องต้นมาจากข่าวสะเทือนขวัญของคนไทยทั้งประเทศที่มีเหตุการณ์ฆ่าหั่นศพเกิดขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยมีคดีทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งล้วนเริ่มต้นมาจากความรักมาก่อน จนกระทั่งในที่สุดกลับลงเอยด้วยความตาย

ย้อนรอยคดีฆ่าหั่นศพที่เกิดจากความรัก[3]

             คดีแรกของประเทศไทยคือ เมื่อปี 2541 "เสริม สาครราษฎร์" นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 2 ในขณะนั้น ก่อเหตุ "ฆ่าหั่นศพ" น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี แฟนสาวรุ่นพี่ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปี 5 ซึ่งสาเหตุเกิดจาก นายเสริม ถูก  น.ส.เจนจิรา บอกเลิกจึงโกรธ วางแผนชวนมาที่ห้องพัก เพื่อปรับความเข้าใจ แต่ฝ่ายหญิงยืนยันที่จะเลิก จึงใช้ปืนจ่อยิงที่ศีรษะจนเสียชีวิต จากนั้นใช้มีดผ่าตัดชำแหละศพ แยกชิ้นส่วนอวัยวะทิ้งลงชักโครก นำกะโหลกศีรษะทิ้งแม่น้ำบางปะกง คดีนี้นายเสริม รับสารภาพ ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่จำคุกจริง 13 ปี 9 เดือน เพราะขณะอยู่ในเรือนจำ ปฏิบัติตัวดี ได้รับการอภัยโทษ 5 ครั้ง

คดีที่สองได้แก่ คดีเมื่อปี 2544 โดยในคดีนั้นผู้ต้องหาเป็นถึงนายแพทย์ และเหยื่อก็ไม่ใช่คนอื่นไกลแต่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ต้องหาเองและก็เป็นแพทย์เช่นเดียวกันกับผู้ต้องหา คดีสะเทือนขวัญนี้ถือเป็นสุดยอดแห่งการฆาตกรรมซ่อนเงื่อนอีกหนึ่งคดี ที่ต้องต่อสู้กันมายาวนาน ตั้งแต่ต้นปี 2544 ในคดีที่ นพ.วิสุทธิ์ ตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าชำแหละศพ พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร หรือโรงพยาบาลรถไฟ ภรรยาของตนเอง ซึ่งกว่าตำรวจจะได้หลักฐาน และกุญแจไขปริศนาคดี จนนำไปสู่การจับกุมนพ.วิสุทธิ์ นั้นซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งนัก

สำหรับตัว นพ.วิสุทธิ์ เองนั้น นับว่าได้สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการแพทย์ไทย เพราะได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในการทางแพทย์มาจัดการฆ่าและชำแหละภรรยาตัวเองอย่างแยบยล จนแทบจะไม่เหลือชิ้นส่วนไว้ให้เป็นหลักฐาน จึงถือเป็นการท้าทายฝีมือทีมสืบสวนสอบสวน ก่อนจะรวบรวบพยานหลักฐานจนสามารถคลี่คลายคดีและนำตัว นพ.วิสุทธิ์ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลได้ในที่สุด

คดีที่สามได้แก่ “คดีฆ่าหั่นศพสาวเล็บแดง” คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 ชาวบ้านในตำบลสำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นคนพบชิ้นส่วนมนุษย์ถูกทิ้งไว้ในพงหญ้าใกล้กับปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านในบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งที่สำโรงเหนือ และแถวถนนสุขุมวิทสายเก่า พบชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์ โดยศพของเหยื่อนั้นมีลักษณะเด่นคือทาเล็บสีแดง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบก็พบว่าอวัยวะที่พบในสถานที่ต่าง ๆ มาจากคนเดียวกันคือ น.ส.สมยศ นมัสการ ภายหลังจากที่สืบสวนคดีก็ได้รู้ว่าคนร้ายคือ นายธานี พ่อแก้ว แฟนเก่าของสมยศ โดยเหตุแห่งการฆาตกรรมสยองในครั้งนี้มาจากความหึงหวง ภายหลังจากที่พบศพของ น.ส. สมยศ ได้สามวัน ตำรวจก็ได้เข้าจับกุมตัวนายธานีทันที ทั้งนี้นายธานีก็ได้รับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุจริง โดยหลักฐานที่ตำรวจพบหลังเข้าจับกุมคือรูปวาดของนายธานีที่วาดภาพ น.ส.สมยศ ไว้เพื่อวางแผนว่าจะชำแหละส่วนใดของศพก่อน สุดท้ายแล้วหลังถูกจับกุมตัว ศาลชั้นต้นก็ได้ตัดสินลงโทษนายธานีด้วยการให้ประหารชีวิต

ปิดท้ายกันด้วย คดี "เปรี้ยวหั่นศพ" เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2560  มีผู้พบศพหญิงสาวถูกหั่นเป็น 2 ท่อน ถูกฝังดินในป่าบ้านโนนสง่า ต.คำม่วง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจนพบว่า ผู้ตายคือ น.ส.วาริสรา กลิ่นจุ้ย หรือน้องแอ๋ม อายุ 23 ปี สาวคาราโอเกะ  จึงแกะรอยไล่ตั้งแต่ร้านคาราโอเกะ ตรวจ"กล้องวงจรปิด" จนได้เบาะแสมีรถต้องสงสัยมารับน้องแอ๋ม ที่หน้าปากซอยหอพัก ก่อนที่จะพบเป็นศพถูกหั่น ต่อมาตำรวจขอศาลจังหวัดขอนแก่นออกหมายจับ น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือ เปรี้ยว, น.ส.กวิตา ราชดา หรือ เอิร์น, น.ส.อภิวันทน์ สัตยบัณฑิต หรือ แจ้, นายวศิน นามพรม และต่อมาออกหมายจับ น.ส.จิดารัตน์ พรหมคุณ หรือ เบนซ์ อีกคน ส่วนนายวศิน ถูกจับได้ที่ สปป.ลาว ขณะที่ เปรี้ยว เอิร์น และแจ้ หนีไปกบดานที่พม่า แต่ต่อมาทางการพม่า จับกุมตัวทั้ง 3 คน ส่งให้เจ้าหน้าที่ไทยดำเนินคดี ส่วนสาเหตุที่ลงมือฆ่าหั่นศพ เนื่องจากมีปัญหาหนี้สินเก่าที่ยืมไปประมาณ 3-4 หมื่นบาท และเรื่องคดียาเสพติด 

คดี "ฆ่าหั่นศพ" หากสังเกตดูจะพบว่าส่วนใหญ่ เริ่มต้นมาจากความรัก ก่อนจะกลับกลายเป็นความแค้น จากนั้นจึงเกิดบันดาลโทสะ เลยลงมือฆ่าแล้วหั่นศพทิ้ง เพื่อขนย้ายไปทิ้งได้สะดวกและ "อำพรางคดี" แต่แท้จริงแล้วมันกลับสะท้อนถึงความเสื่อมโทรมในสังคม คุณธรรม และศีลธรรม

ในกรณีของนายชาญวิทย์ หรือดอน วงศ์สหาก ได้เกิดประเด็นข้อสงสัยของสังคม ถึงพฤติกรรมของนายดอน ทีให้การกับตำรวจถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุ ซึ่งนายดอนพูดจาเหมือนกลับไม่สะทกสะท้านในความผิดและยังมีบางช่วงที่นายดอนยิ้ม ขณะตอบคำถามของตำรวจจนถูกตั้งข้อสังเกตุว่า นายดอนเป็นไซโคพาธ หรือมีอาการทางจิตหรือไม่นั้น รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโทดอกเตอร์ กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าจากการดูพฤติกรรมของผู้ต้องหาแล้วไม่ใช่เป็นคนที่ป่วยทางจิต คือ คนบ้าหรือคนที่พูดไม่รู้เรื่อง แต่เป็นลักษณะของคนที่มีบุคคลิคต่อต้านสังคมไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดี หรือสำนึกผิดในการกระทำเพราะผู้ต้องหาสามารถตอบคำถามได้และพูดจารู้เรื่อง อีกทั้งผู้ต้องหายังมีการวางแผนมานานถึง 3 เดือนที่จะก่อเหตุมีการวางแผนที่จะลงมือก่อเหตุ ซึ่งแตกต่างจากคนที่ป่วยทางจิต[4]

มุมมองทางอาชญาวิทยาในคดีนายชาญวิทย์หรือดอน วงศ์สหาก 

 ทฤษฎีอาชญาวิทยาแนวสังคมวิทยา  (Sociological theories of crime) ในมุมของอาชญาวิทยา[5] การกระทำผิดของบุคคลนั้น นอกจากการลงมือกระทำเพราะถูกกดดันจากสังคม ที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักอาชญาวิทยาว่า คือทฤษฎีอาชญาวิทยาแนวสังคมวิทยา (Sociological theories of crime) ทฤษฎีกลุ่มนี้เชื่อว่า ปัจจัยภายนอกร่างกายมนุษย์ เช่น สภาพแวดล้อมทางสังคม เป็นสาเหตุที่ทำให้คนมีพฤติกรรมอาชญากรรม เมื่อพิจารณาในกรณีของนายชาญวิทย์ หรือดอนแล้ว จะเห็นว่า นายชาญวิทย์เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวพอสมควร ดังนั้น จึงไม่อาจนำทฤษฎีแนวสังคมวิทยามาวิเคราะห์ได้อย่างสมบูรณ์นัก แต่ต้องนำแนวคิดด้านจิตวิทยามาอธิบายพฤติกรรมอาชญากรรมของเขาด้วย

         โดยแนวคิดด้านจิตวิทยามีความเชื่อว่า พฤติกรรมอาชญากรรมเกิดจากความผิดปกติทางด้านจิตใจของบุคคล ดังนั้น อาชญากรรมจึงเป็นผู้ที่มีความผิดปกติและความกดดันทางด้านจิตใจ แนวคิดนี้จึงเป็นการอธิบายอาชญากรรมด้วยลักษณะทางจิตและบุคลิกภาพของบุคคล นักอาชญาวิทยาแนวจิตวิทยาที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคือ ซิกมันด์ ฟรอยด์  (Sigmund Freud) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ และเป็นเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โดยหลักการพื้นฐานของทฤษฎีจิตวิเคราะห์คือ พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนมากเกิดจากจิตภาคและชีวภาค โครงสร้างทฤษฎีนี้มีองค์ประกอบ ๓ ส่วนคือ

อิด (Id) ส่วนที่เกี่ยวกับสัญชาตญาณที่ผลักดันให้บุคคลมีพฤติกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เปรียบได้เหมือนความชั่วร้ายในตัวบุคคลที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด

อัตตา (Ego) คือส่วนที่ตระหนักถึงความเป็นจริงของบุคคล มีหน้าที่ในการประสานความต้องการของอิดกับส่วนควบคุมของอภิอัตตา อันจะนำมาสู่การแสดงออกของพฤติกรรมของบุคคล

อภิอัตตา (Superego) เป็นส่วนที่อยู่ตรงข้ามกับอิด  หากอิดเปรียบได้กับความชั่วร้าย อภิอัตตาก็เปรียบเหมือนกับส่วนของคุณธรรมหรือความดี

หากเปรียบว่า อิด (id) คือความชั่วร้าย และอภิอัตรา (Superego) คือความดี อัตรา (Ego) คือตัวประสานระหว่างอิดกับอภิอัตรา เพื่อควบคุมความสมดุลของพฤติกรรมของบุคคล ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่ถูกแสดงออกมานั้น เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความไม่สมดุลกันระหว่าง อิด อัตตา และอภิอัตตา

ทฤษฎีบุคลิกภาพ   (Theories of Personality) นักจิตวิทยาได้พยายามอธิบายพัฒนาการความเป็นมาของบุคลิกภาพ ซึ่งแนวความคิดในการพยายามอธิบายพัฒนาการของบุคลิกภาพของแต่ละกลุ่มมีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ส่วนที่แตกต่างกันนั้นเนื่องมาจากนักจิตวิทยาแต่ละกลุ่มมีความเชื่อในธรรมชาติของมนุษย์ที่แตกต่างกัน ซึ่งจัดแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

            1. กลุ่มจิตวิเคราะห์ (The Psychoanalytic Model) มีความเชื่อว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์ มีความต้องการที่จะสนองความสุขของตนเอง และมีความก้าวร้าวติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งความต้องการ ดังกล่าวมักไม่สอดคล้องกับการยอมรับของสังคมโดยทั่วไป มนุษย์จึงต้องเก็บความต้องการนั้นไว้ในจิตใต้สํานึกซึ่งจะเป็นพลังผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์

2. กลุ่มพฤติกรรมนิยม (The Behavioristic Model) มีความเชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นสิ่งที่สามารถคาดคะเนได้เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการตอบสนองเงื่อนไขซึ่งเกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม โดยธรรมชาติมนุษย์มีทั้งความดีและความชั่วร้าย แต่พฤติกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้มนุษย์มีความสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองไปตามเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อม

3. กลุ่มมนุษยนิยม (The Humanistic Model) มีความเชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์มีแต่ความดี มีความต้องการที่จะพัฒนาไปข้างหน้า และมนุษย์เป็นผู้กำหนดพฤติกรรมของตนเอง มีอิสระในการเลือกกระทำพฤติกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง

ทฤษฎีบุคลิกภาพ ถือว่าอยู่ในกลุ่มของแนวคิดอาชญาวิทยาแนวจิตวิทยา โดยทฤษฎีบุคลิกภาพนั้นมองว่าบุคลิกภาพเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมอาชญากรรม จากแนวคิดนี้อาชญากรจึงเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพแตกต่างจากบุคคลธรรมดา ซึ่งความผิดปกตินี้สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ลักษณะความผิดปกติทางบุคลิกภาพเหล่านี้เป็นอาการของพวกต่อต้านสังคมหรือพวกจิตผันผวน คนเหล่านี้จะมีปัญหาในเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสังคม  ดร.ฮาร์เวย์ เครคเลย์ ได้อธิบายถึงลักษณะของคนที่มีอาการจิตผันผวนหรือต่อต้านสังคมไว้ดังนี้ เช่น เห็นแก่ตัว, ไม่เข้าสังคม, ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น, ชอบเป็นศัตรูกับคนอื่น, ไม่คำนึงถึงสิทธิของคนอื่น, มีความผูกพันกับสังคมต่ำ, ชอบตำหนิคนอื่น, ขาดความรับผิดชอบ, ไม่มีความรู้สึกหรือไร้อารมณ์, ชอบโกหก, ไม่มีความเสียใจในการกระทำผิดของตน เป็นต้น

ในกรณีของนายชาญวิทย์นี้ อาจนำแนวคิดด้านจิตวิทยาในกลุ่มของทฤษฎีบุคลิกภาพ (Theories of Personality) มาอธิบายได้โดยเฉพาะในกลุ่มจิตวิเคราะห์ (The Psychoanalytic Model) มีความเชื่อว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์ มีความต้องการที่จะสนองความสุขของตนเอง และมีความก้าวร้าวติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งความต้องการดังกล่าวมักไม่สอดคล้องกับการยอมรับของสังคมโดยทั่วไป เพราะนายชาญวิทย์ต้องการที่จะคบหานางสาวอรนันท์ต่อไปทั้ง ๆ ที่นายชาญวิทย์นั้นก็มีครอบครัวแล้ว การที่นายชาญวิทย์ต้องการที่จะคบหานางสาวอรนันท์ต่อไปเป็นความต้องการที่จะสนองความสุขของตนเอง โดยที่ทราบดีอยู่แล้วว่าสังคมไม่อาจยอมรับได้ โดยเฉพาะตัวของนางสาวอรนันท์เอง ที่พอทราบว่านายชาญวิทย์มีครอบครัวอยู่แล้วจึงพยายามตีตัวออกห่าง ทำให้นายชาญวิทย์ซึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าวซ่อนอยู่ในตัวไม่สามารถระงับความผิดหวังของตัวเองได้จึงลงมือกระทำการอย่างอย่างโหดเหี้ยม ทั้งนี้ การตระเตรียมการมาก่อนหลายเดือนโดยเลียนแบบพฤติกรรมการฆ่าหั่นศพมาจากภาพยนตร์ในต่างประเทศนั้น ตรงกับทฤษฎีบุคลิกภาพในกลุ่มพฤติกรรมนิยม (The Behavioristic Model) ที่กล่าวไว้ว่า พฤติกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้มนุษย์มีความสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองไปตามเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อม

นพ.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงกรณีของกลุ่มที่มีพฤติกรรมฆ่าหั่นศพว่า ผู้ที่กระทำการฆ่าหั่นศพมีความผิดปกติทางจิต จากการศึกษาการฆ่าหั่นศพในหลายๆคดีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ก่อเหตุมีภาวะของจิตใจที่เหี้ยมโหดโดยไม่รู้ตัว โดยสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้[ุ6]

กลุ่มแรกเกิดจากความเคยชินจากประสบการณ์ในชีวิต เช่น แพทย์ หรือ คนที่ทำงานเกี่ยวกับการฆ่า ชำแหละสัตว์ อย่างที่ผ่านมาเคยเกิดคดีฆ่าหั่นศพจากคนอาชีพเหล่านี้มาแล้ว เพราะทำจนเกิดความเคยชิน จึงไม่ได้มีความรู้สึกแตกต่างหากจะทำการชำแหละกับมนุษย์

กลุ่มที่ 2 เรียกว่า ทรูม่า (TRAUMA) คือ คนที่มีบาดแผลในใจที่เคยถูกทำร้าย เขาจะเก็บความเจ็บปวดเอาไว้ข้างใน และต้องการแก้แค้น ต้องการระบายความรู้สึกที่เก็บซ่อนอยู่ออกมา ซึ่งคนพวกนี้เคยถูกทำร้ายมาก่อน อย่างกรณีฆ่าหั่นศพที่จังหวัดสงขลา ฆาตกรเคยเห็นเหตุการณ์ที่พ่อแม่ของเขาถูกฆ่าต่อหน้าต่อตาและเขาถูกคนร้ายนำเชือกมารัดคอ เมื่อโตขึ้นเขานำความเจ็บปวดในวัยเด็กมาระบายออกโดยการฆ่าหั่นศพผู้อื่น ด้วยการนำเชือกมารัดคอเหมือนที่เขาเคยโดนในวัยเด็ก และฆ่าหั่นศพเพื่อระบายความเจ็บปวดที่เขาซ่อนอยู่ในจิตใจ

กลุ่มที่ 3 ภาวะการขาดสติชั่ววูบ หรือ โรคจิตเฉียบพลัน คือเกิดจากความแค้นจนทำให้ขาดสติ จึงได้ลงมือฆ่าหั่นศพ สับศพเป็นชิ้น ๆ เพื่อบรรเทาโทสะคนก่อเหตุจะมองว่าการฆ่าหั่นศพในขณะนั้นเขาได้รับชัยชนะ อย่างในกรณี นายเดวิท ที่ถูกฆ่าหั่นศพ โดยนายอาตูร์ ผู้ต้องหาในคดีฆ่าหั่นศพ อาจมีเรื่องของเงินจำนวนมากเข้ามาพัวพัน อาจเกิดจากการโกงกันหรือทวงหนี้กัน รวมถึงอาจมีเหตุการณ์ในอดีตที่ทำให้นายอาตูร์ มีความเจ็บปวดอย่างรุนแรง และต้องการแก้แค้นนายเดวิท ผู้ตาย จึงได้ใช้วิธีฆ่าหั่นศพ เพื่อชำระแค้นและอำพรางศพ

สอดคล้องกับข้อมูลของ ดร.นัทธี จิตสว่าง ผู้เชี่ยวชาญอาชญาวิทยากระบวนการยุติธรรมกรมราชทัณฑ์และการวิจัยเชิงคุณภาพ เปิดเผยว่า พฤติกรรมของคนที่ฆ่าหั่นศพ ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเบียนเบนไปจากคนปกติ จากที่ผ่านมาผู้ที่ทำการฆ่าหั่นศพส่วนใหญ่ต้องการที่จะปกปิดความผิดของตนเองโดยการหั่นศพและนำศพไปทิ้ง ซึ่งคนที่สามารถหั่นศพจะต้องมีจิตใจที่แตกต่างจากคนปกติ คือมีความเยือกเย็นมากกว่าการฆาตกรทั่วไป ส่วนวิธีการอำพรางศพยังมีวิธีอื่นๆที่ฆาตกรสามารถทำได้ แต่คนที่เลือกวิธีการฆ่าหั่นศพอาจกระทำด้วยความแค้น ความสะใจ ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งคนที่กระทำวิธีนี้มีความผิดปกติหรือมีบุคลิกที่ผิดจากคนทั่วไป โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ก่อเหตุหลังจากที่เขาฆ่าหั่นศพ คนพวกนี้ไม่ได้มีความรู้สึกผิดไปกับสิ่งที่ทำลงไป และไม่รู้สึกเสียใจ ซึ่งคนที่ฆ่าหั่นศพหากมองภายนอกจะเหมือนคนทั่วไปใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติ ไม่แสดงความผิดปกติอะไรออกมา แต่จะเป็นความรู้สึกที่ซ่อนเก็บไว้ในจิตใจเบื้องลึก ซึ่งในความสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคมเขาไม่ได้มีการแสดงพฤติกรรมว่าเป็นคนโหดเหี้ยม แต่อาจจะมีนิสัยที่เงียบขรึมในบางราย ซึ่งคนปกติทั่วไปไม่สามารถที่จะรับรู้ถึงสิ่งที่เขาซ่อนเก็บไว้ข้างในจนกระทั่งสิ่งที่เขาซ่อนในจิตใจมันผลักออกมาให้เขากระทำออกมาด้วยการฆ่าหั่นศพ 

จากข้อมูลของ นพ.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และ ดร.นัทธี จิตสว่าง ผู้เชี่ยวชาญอาชญาวิทยากระบวนการยุติธรรมกรมราชทัณฑ์และการวิจัยเชิงคุณภาพ สอดคล้องกับพฤติกรรมของนายชาญวิทย์ ในแง่ที่ว่า เป็นการกระทำด้วยความโกรธแค้นจนทำให้ขาดสติ จึงได้ลงมือฆ่าหั่นศพ สับศพเป็นชิ้นๆเพื่อบรรเทาโทสะ ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งคนที่กระทำวิธีนี้มีความผิดปกติหรือมีบุคลิกที่ผิดจากคนทั่วไป โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ก่อเหตุหลังจากที่เขาฆ่าหั่นศพ คนพวกนี้ไม่ได้มีความรู้สึกผิดไปกับสิ่งที่ทำลงไป และไม่รู้สึกเสียใจ ดังที่นายชาญวิทย์ให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจย่างไม่สะทกสะท้านไม่รู้สึกผิดแต่อย่างใด

หากพิจารณาตามแนวทฤษฎีอาชญาวิทยาแล้ว นายชาญวิทย์ หรือดอน วงศ์สหาก มิใช่มาตกรโรคจิตที่เสพติดการฆ่าคนแต่อย่างใด เพราะเขามิได้ฆ่าเหตุเพราะว่าเขาชื่นชอบในการฆ่า หรือไม่ได้ฆ่าเพราะเป็นผู้ป่วยทางจิตที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองได้กระทำอะไรลงไป ในกรณีนี้นายชาญวิทย์ได้วางแผนและตระเตรียมการณ์ทุกอย่างไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นผู้ป่วยทางจิต แต่หากมองในมุมมองของอาชญาวิทยาอาจถือว่า นายชาญวิทย์เป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder หรือ ASPD) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตรูปแบบหนึ่งทำให้บุคคลนั้นมีนิสัยแข็งกระด้าง ก้าวร้าว ไม่เคารพในสิทธิของผู้อื่นและมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง โดยผู้ที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคมมักไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจของผู้อื่น ยึดถือความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก และมักไม่พอใจเมื่อต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ขัดแย้งกับความต้องการของตน

๐ บทความวันนี้เป็นการเขียนในมุมมองของอาชญาวิทยา หากมีความบกพร่องประการใดผู้เขียนขอน้อมรับคำติชมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป และหากแม้บทความนี้ยังประโยชน์แก่ผู้ใด ผู้เขียนมอบความดีความชอบนั้นให้แก่ คณาจารย์ในคณะสังคมศาสตร์ สาขาอาชญาวิทยาและการบังคับใช้กฎหมาย โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้ประสาทความรู้ในศาสตร์ด้านนี้ให้แก่ผู้เขียน ขอบุญกุศลนั้นได้บังเกิดแก่ท่านทั้งหลายเทอญ

 

ด้วยจิตคารวะ “ณัชกานต์”




[1] https://www.topnews.co.th/news/446460

[2] https://www.sanook.com/news/8633542/

[3] https://thethaiger.com/th/news/675830/

[4] บทสัมภาษณ์จาก https://ch3plus.com/news/crime/middaynews/313780 

[5] พ.ต.ท.ดร.เสกสัณ เครือคำอาชญากรรม อาชญาวิทยา และงานยุติธรรมทางอาญาเพชรเกษมการพิมพ์                     
[6] https://www.nationtv.tv/news/378488923          


วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562

“สมคิด” ฆาตกรต่อเนื่องในมุมมองของ “อาชญาวิทยา”


Somkid the Ripper

เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ ผู้เขียนฟังรายงานข่าวทั้งจาก โทรทัศน์ และจากสื่อโซเซียลด้านอื่นๆ ว่า มีผู้พบศพผู้หญิง อายุ ๕๑ ปี ถูกฆาตกรรมในสภาพเปลือยท่อนล่างที่คอถูกพันด้วยเทปใส ที่ข้อเท้าถูกมัดด้วยสายชาร์จโทรศัพท์ ภายในบ้านแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ หมู่ ๑๙ ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น โดยเหตุเกิดตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ทุกครั้งที่มีข่าวฆาตกรรม ผู้เขียนก็เงี่ยงหูฟังข่าวทุกครั้ง ครั้งนี้ขณะที่กำลังนั่งอ่านหนังสือเพื่อเตรียมเข้ารับการทดสอบวิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก็ได้ฟังรายงานข่าวนี้พอดี ก่อนอื่นต้องรับสารภาพว่าผันตัวเองจากนักกฎหมายธรรมดาๆ เข้ามาเรียนระดับปริญญาโท สาขาอาชญาวิทยาและการบังคับใช้กฎหมาย ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจนี้ก็เพื่อเป็นนักอาชญาวิทยา ด้วยความชอบส่วนตัวล้วนๆ ไม่มีเหตุผลใดมาชนะคำถามที่ถามตัวเองมาตลอดที่ทำอาชีพทนายความว่า ทำไมคนบางคนจึงกลายเป็นอาชญากรได้ ?? ตามวิสัยทนายความเมื่อมีคำถามต้องหาคำตอบ จึงต้องมาค้นหาคำตอบในที่ๆ พึงมี

                    ตอนได้ยินข่าวผู้เขียนก็ไม่ได้ให้ความสนใจอะไรมากไปกว่า อาชญากรรมเกิดขึ้นได้ทุกวันยิ่งสังคมสมัยนี้ อาชญากรรมหาง่ายเหมือนเดินไปซื้อขนมปังใน 7-11 แต่มาสะดุดหูตอนเจ้าหน้าที่ให้ข่าวว่า ผู้กระทำความผิดมีลักษณะการกระทำผิดคล้ายๆ กับนายสมคิด พุ่มพวง ตอนได้ยินชื่อนี้ผู้เขียนสะดุดหูเล็กน้อยและพยายามนึกว่าเคยได้ยินชื่อนี้ที่ไหน พอเจ้าหน้าที่เอ่ยถึง ฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าหญิงสาวหลายรายในปี พ.ศ.๒๕๔๘ จึงนึกขึ้นได้ ว่ายุคนั้นประเทศไทยเกิดมีฆาตกรต่อเนื่อง ฉายาว่า คิด เดอะ ริปเปอร์ (Somkid the Ripper) ขึ้นมา อาจกล่าวได้ว่าสมคิด พุ่มพวง คือฆาตกรต่อเนื่องรายที่ ๓ ของประเทศไทย ซึ่งหากนับจาก นายบุญเพ็ง (บุญเพ็ญ หีบเหล็ก : The Murderer Iron Box) ที่เป็นฆาตกรต่อเนื่องรายแรก ที่มีพฤติกรรมหลอกลวงสาวใหญ่ แม่หม้ายให้หลงรักแล้วหลอกเอาทรัพย์สิน เมื่อได้ทรัพย์สินมาก็ทำลายหลักฐานด้วยการฆ่าเจ้าทรัพย์และหั่นศพใส่ไว้ในหีบเหล็กแล้วจึงเอาไปถ่วงน้ำ  เพื่ออำพรางคดี ซึ่งมีสาวใหญ่ผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นเหยื่อของบุญเพ็งมากถึง ๗ ศพ บุญเพ็งได้รับโทษประหารชีวิตด้วยการตัดคอ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ นับว่าเป็นการประหารชีวิตโดยการตัดคอเป็นคนสุดท้ายในประเทศไทย มาถึงรายที่ ๒ คือ ซีอุย (Thailand Cannibal) ชายชาวจีน ที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทย ในช่วง พ.ศ.๒๔๗๐-๒๕๐๒ ซีอุยถูกประหารชีวิตฐานฆ่าเด็ก เขาถูกจับกุมฐานฆ่าเด็กชายสมบุญ บุญยกาญจน์ที่ จังหวัดระยองในปี ๒๕๐๑ ต่อมาตำรวจสืบสวนจนได้คำรับสารภาพจากซีอุยว่าก่อคดีอีกอย่างน้อย ๖ คดีในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๕๐๑  แบ่งเป็นที่ประจวบคีรีขันธ์ ๔ คดี กรุงเทพมหานครและนครปฐมแห่งละ ๑ คดี ศาลอุทธรณ์ตัดสินประหารชีวิตเฉพาะคดีฆ่าเด็กชายสมบุญ บุญยกาญจน์ อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนในขณะนั้นเขียนว่าศพในคดีที่ซีอุยรับสารภาพมีการหั่นศพและอวัยวะภายในหายไป ทำให้มีข่าวลือกันว่าซีอุยเป็นมนุษย์กินคน  ในทีนี้ผู้เขียนจะขอวิเคราะห์พฤติกรรมเฉพาะรายของนายสมคิด พุ่มพวงซึ่งเป็นฆาตกรต่อเนื่องรายที่ ๓
ปูมหลังครั้งวัยเยาว์[1]

                    จากการขุดคุ้ยประวัติ สมคิด พุ่มพวง ของสื่อมวลชนหลายแขนง ครั้งตอนที่ถูกจับกุมฐานฆาตกรรมหญิงสาว ๕ ราย ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ว่า สมคิด พุ่มพวงในวัยเยาว์ มีชื่อเล่นว่าแดง เกิดและโตที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่จำความได้เขาไม่เคยเห็นหน้าแม่ พ่อบอกว่าแม่ตายไปแล้ว ต่อมาพ่อพาเขาย้ายไปอยู่บ้านแม่เลี้ยงที่ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เขาจึงไม่เคยมีแม่แท้ๆ ที่คอยเลี้ยงดูและอบรมเขา เขาใช้ชีวิตอยู่กับพ่อ และอาศัยอยู่ที่บ้านภริยาใหม่ของพ่อ ซึ่งเขาไม่ใคร่จะถูกกับภริยาใหม่ของพ่อเขานัก โดยข่าวระบุว่า พ่อเขามีพฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรงในครอบครัวเสมอ เมื่อเขาเรียนชั้นประถม ๒ เริ่มมีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย เขาขโมยจักรยานของครูจนต้องออกจากโรงเรียนจึงเรียนหนังสือไม่จบชั้นประถม  ต่อมาเมื่อเขาอายุ ๘ ขวบ พ่อพาเขาไปฝากป้ากับลุงเขยให้ช่วยเลี้ยงดูแทน ทั้งสองก็เลี้ยงดูมาจนโต โดยพ่อมาเยี่ยมบ้างเป็นบางครั้ง สมคิดเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย ดื้อรั้น แต่เวลาพูดกับผู้หญิงมักมีคารมคมคายและหว่านล้อมเก่ง เขาเป็นคนไม่ยอมคน จึงมักมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับวัยรุ่นคนอื่นๆ อยู่เนืองๆ พอเข้าสู่วัยรุ่นก็เริ่มเป็นนักเลงหัวไม้ และนิสัยลักเล็กขโมยน้อย ก็ยังเป็นนิสัยติดตัวของเขาจนลุงกับป้าที่เลี้ยงดูเขามาเอือมระอาทั้งขโมยเงินป้า ขโมยของเพื่อน แล้วยังขโมยจักรยานยนต์เพื่อนบ้านไปจำนำ โดยทำทีเป็นขอไปนอนค้างด้วย แล้วยืมรถขี่ออกไปซื้อของแล้วหายไป ต่อมาสมคิดได้งานทำเป็นคนคุมงานที่โรงไม้แห่งหนึ่งใน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ผู้จัดการโรงไม้ให้สมคิดเอาเช็ค ๕๐,๐๐๐  บาทไปขึ้นเงินที่ธนาคาร แต่สมคิดกลับเอาเงินทั้งหมดไปใช้เอง ในที่สุดป้ากับลุงเขยก็ทนไม่ไหว จึงไล่สมคิดออกจากบ้าน แล้วจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นเขาอีกเลย แม้แต่เมื่อพ่อถูกยิงเสียชีวิต เขาก็ไม่ได้มางานศพ ไม่มีใครรู้ว่าสมคิดไปอยู่ที่ไหน จนกระทั่งได้เห็นข่าวว่าสมคิดเป็นฆาตกรต่อเนื่อง อีกแหล่งก็อ้างว่า สมคิดไปสมัครเป็นอาสาทหารพรานหลายปี ก่อนที่พ่อเขาจะเสียชีวิต เมื่อครั้งที่เขาถูกจับกุมในปี พ.ศ.๒๕๔๘ เขาจึงให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนว่าเขาไม่มีพ่อแม่ พ่อแม่ตายหมด และไม่มีพี่น้อง สมคิดมีคดีติดตัวหลายคดีก่อนที่จะมาโด่งดัง ในฉายา คิด เดอะ ริปเปอร์ คดีสำคัญที่ทำให้คนพอจะรู้จักสมคิดคือ คดีฆาตกรรมผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร โดยอ้างว่ารู้เห็นว่าใครเป็นผู้กระทำ แต่สุดท้ายก็ถูกศาลมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกฐานเป็นพยานเท็จเป็นเวลา ๖ เดือน



ภูมิหลังกับแนวโน้มอาชญากร

ในมุมของอาชญาวิทยา[2] หากพิจารณาจากภูมิหลังยามวัยเยาว์ของของ สมคิดนั้น อาจกล่าวได้ว่า  การกระทำผิดของบุคคลนั้น นอกจากการลงมือกระทำเพราะถูกกดดันจากสังคม ที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักอาชญาวิทยาว่า คือทฤษฎีอาชญาวิทยาแนวสังคมวิทยา (Sociological theories of crime) ทฤษฎีกลุ่มนี้เชื่อว่า ปัจจัยภายนอกร่างกายมนุษย์ เช่น สภาพแวดล้อมทางสังคม เป็นสาเหตุที่ทำให้คนมีพฤติกรรมอาชญากรรม แต่เมื่อพิจารณาในรายของสมคิดแล้ว อาจต้องนำแนวคิดด้านจิตวิทยามาอธิบายพฤติกรรมอาชญากรรมของเขาด้วย  โดยแนวคิดด้านจิตวิทยามีความเชื่อว่า พฤติกรรมอาชญากรรมเกิดจากความผิดปกติทางด้านจิตใจของบุคคล ดังนั้น อาชญากรรมจึงเป็นผู้ที่มีความผิดปกติและความกดดันทางด้านจิตใจ แนวคิดนี้จึงเป็นการอธิบายอาชญากรรมด้วยลักษณะทางจิตและบุคลิกภาพของบุคคล นักอาชญาวิทยาแนวจิตวิทยาที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคือ ซิกมันด์ ฟรอยด์  (Sigmund Freud) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ และเป็นเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โดยหลักการพื้นฐานของทฤษฎีจิตวิเคราะห์คือ พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนมากเกิดจากจิตภาคและชีวภาค โครงสร้างทฤษฎีนี้มีองค์ประกอบ ๓ ส่วนคือ
                   อิด (Id) ส่วนที่เกี่ยวกับสัญชาตญาณที่ผลักดันให้บุคคลมีพฤติกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เปรียบได้เหมือนความชั่วร้ายในตัวบุคคลที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด
                  อัตตา (Ego) คือส่วนที่ตระหนักถึงความเป็นจริงของบุคคล มีหน้าที่ในการประสานความต้องการของอิดกับส่วนควบคุมของอภิอัตตา อันจะนำมาสู่การแสดงออกของพฤติกรรมของบุคคล
                  อภิอัตตา (Superego) เป็นส่วนที่อยู่ตรงข้ามกับอิด  หากอิดเปรียบได้กับความชั่วร้าย อภิอัตตาก็เปรียบเหมือนกับส่วนของคุณธรรมหรือความดี

                  หากเปรียบว่า อิด (id) คือความชั่วร้าย และอภิอัตรา (Superego) คือความดี อัตรา (Ego) คือตัวประสานระหว่างอิดกับอภิอัตรา เพื่อควบคุมความสมดุลของพฤติกรรมของบุคคล ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่ถูกแสดงออกมานั้น เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความไม่สมดุลกันระหว่าง อิด อัตตา และอภิอัตตา

                นอกจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์แล้วยังมีทฤษฎีบุคลิกภาพที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มของแนวคิดอาญาวิทยาแนวจิตวิทยา โดยทฤษฎีบุคลิกภาพนั้นมองว่าบุคลิกภาพเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมอาชญากรรม จากแนวคิดนี้อาชญากรจึงเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพแตกต่างจากบุคคลธรรมดา ซึ่งความผิดปกตินี้สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ลักษณะความผิดปกติทางบุคลิกภาพเหล่านี้เป็นอาการของพวกต่อต้านสังคมหรือพวกจิตผันผวน คนเหล่านี้จะมีปัญหาในเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสังคม  ดร.ฮาร์เวย์ เครคเลย์ ได้อธิบายถึงลักษณะของคนที่มีอาการจิตผันผวนหรือต่อต้านสังคมไว้ดังนี้ เช่น เห็นแก่ตัวไม่เข้าสังคมไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นชอบเป็นศัตรูกับคนอื่นไม่คำนึงถึงสิทธิของคนอื่นมีความผูกพันกับสังคมต่ำ, ชอบตำหนิคนอื่น, ขาดความรับผิดชอบไม่มีความรู้สึกหรือไร้อารมณ์ชอบโกหกไม่มีความเสียใจในการกระทำผิดของตน เป็นต้น

               หากพิจารณาจากแนวทฤษฎีที่กล่าวมาเบื้องต้น โดยเฉพาะทฤษฎีบุคลิกภาพ จะเห็นได้ว่า สมคิด พุ่มพวง มีลักษณะตามที่ ดร.ฮาร์เวย์ เครคเลย์ ได้อธิบายไว้ มากกว่า ๓ ลักษณะ คือ สมคิดไม่เข้าสังคม, ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น (พิจารณาได้จากสิ่งที่เขากระทำการไปแม้ว่าผู้หญิงรายที่ ๖ เป็นผู้ที่เขาจะแต่งงานด้วย) มีความผูกพันกับสังคมต่ำ (เขาไม่สนใจชีวิตของครอบครัว พ่อหรือพี่น้อง ใช้ชีวิตเหมือนคนไม่มีญาติ) ,ขาดความรับผิดชอบไม่มีความรู้สึกหรือไร้อารมณ์ (เขาไม่รู้สึกว่าเขารักใคร เหมือนคนที่ไม่เคยมีความรัก), ไม่มีความเสียใจในการกระทำผิดของตน ซึ่งจากการที่เขากระทำความผิดครั้งก่อนมา ๕ ราย  และถูกจับจนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำนานถึง ๑๔ ปี ก่อนได้รับการอภัยโทษออกมา เขาก็กลับมาทำพฤติกรรมเดิม โดยไม่ได้คิดถึงความผิดครั้งก่อนของตนเอง นอกจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และทฤษฎีบุคลิกภาพแล้ว  ทฤษฎีความกดดันทางสังคมก็เป็นแนวคิดที่นำมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการกระทำของฆาตกรรายนี้ได้เช่นกัน

               ทฤษฎีความกดดันทั่วไป (General strain theory) ซึ่งพัฒนามาจาก ทฤษฎีความกดดันทางสังคมที่มีแนวคิดว่า อาชญากรรมนั้นเกิดมากในสังคมชนชั้นต่ำ (Lowe Class) หรือกลุ่มคนยากจน การที่สังคมยกย่องคนที่ประสบความสำเร็จ มีบ้าน มีรถ มีงานทำ ทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนในสังคม คนในสังคมจึงมีความฝันที่จะสำเร็จตามเป้าหมาย  แต่อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหรือความฝันนั้นมีไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจากโครงสร้างทางชนชั้นของสังคม  คนที่อยู่ในชนชั้นนั้นก็จะมีโอกาสดีกว่าชนชั้นต่ำในการประกอบอาชีพ หรือหาวิธีการอื่นๆที่ถูกต้องในการที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และภายใต้ข้อจำกัดนี้ทำให้คนชนชั้นต่ำถูกปิดกั้นโอกาสที่จะใช้วิธีการที่ถูกต้องในการที่จะบรรลุเป้าหมาย เมื่อต้องการบรรลุเป้าหมายเช่นเดียวกับคนอื่นในสังคม  จึงทำให้เกิดแรงกดดันทางสังคมขึ้น ทฤษฎีความกดดันนี้ แบ่งออกได้ ๓ กลุ่ม คือ

              ๑.ความผิดหวังจากเป้าหมายที่ตั้งไว้
              ๒.การถูกพรากจากสิ่งที่รัก
               ๓.การเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ชอบ

              ในกรณีของสมคิดนี้ ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า สมคิดจะเข้าข่ายในทฤษฎีความกดดันทั่วไปในข้อที่ ๓ คือ การเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ชอบ จะเห็นได้ว่า เมื่อถูกจับกุมใน ๕ คดีก่อนหน้านั้น เขาได้ให้ปากคำกับเจ้าพนักงานสอบสวนว่า เหยื่อเหล่านั้นเรียกร้องเอาเงินค่าตัวเพิ่มขึ้นจากที่เคยตกลงกัน จึงทำให้เขาบันดาลโทสะ ส่วนเหยื่อรายล่าสุดนี้ เขาให้เหตุผลในการฆ่าว่า ทะเลาะกันอย่างรุนแรงเลยพลั้งมือฆ่าเหยื่อจนเสียชีวิต เมื่อพิจารณาจากการให้ปากคำของสมคิด จะเห็นได้ว่า เมื่อเขาเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ เขาจะขาดการควบคุมตัวเอง แต่ในทฤษฎีความกดดันทั่วไปนั้น เน้นอธิบายพฤติกรรมอาชญากรรมจากกระบวนการทางสังคมมากกว่าโครงสร้างทางสังคม ซึ่งมีหลักการทั่วไปว่า อาชญากรรมนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการปรับตัวจากแรงกดดันที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตในสังคม หากมองในแง่ของ สมคิด พุ่มพวง  แล้ว  สมคิดไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะได้กระทำความผิดขโมยรถจักรยานของครูจึงถูกไล่ออกจากโรงเรียน หากมองในแง่ของการแก้ไข บำบัดแล้ว หากเขาได้ถูกขัดเกลาให้เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาอาจไม่กลายเป็นอาชญากรต่อเนื่องอย่างปัจจุบันก็ได้ การที่เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะเหตุขโมยจักรยานอาจกล่าวได้ว่า เป็นการผลักเด็กชายคนหนึ่งออกไปเผชิญกับสังคมภายนอก ที่ตีตราเข้าว่าเป็นคนไม่ดี ประกอบกับขาดการอบรมเลี้ยงดูที่ดีจึงทำให้เขาถลำลึกลงไปในเส้นทางของอาชญากรเรื่อยๆ ประกอบอาชีพเลี้ยงตนด้วยการหลอกลวง 

               อีกทฤษฎีหนึ่งที่สามารถนำมาอธิบายพฤติกรรมของสมคิดได้คือ ทฤษฎีควบคุมตนเอง (Self- Control) ซึ่งอธิบายว่าผู้ที่มีการควบคุมตนเองต่ำมีโอกาสจะกระทำผิดหรือก่ออาชญากรรมได้สูง การควบคุมตนเองไม่ได้หมายความว่า พฤติกรรมของตัวเองถูกกำหนดและผู้ที่มีการควบคุมตนเองต่ำ นอกจากจะมีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรมสูงแล้วยังมีการกระทำอื่นๆ ที่เบี่ยงเบนและเสี่ยงสูงด้วย  ก็อทเฟรดสัน และเฮิสชิ อธิบายว่าการมีการควบคุมตนเองต่ำได้แก่ลักษณะต่อไปนี้คือ

               ๑.กระตุ้นง่าย (Impulsive)
               ๒.ชอบการเสี่ยง (Risk – taker)
               ๓.ไม่คงที่และไม่มีจุดยืน (Unstable and unfocused)
               ๔.ไม่อดทน (Impatient)
               ๕.เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง (Self – centered)


              ทฤษฎีสุดท้ายที่ผู้เขียนจะนำมาวิเคราะห์ก็คือ ทฤษฎีการควบคุมทางสังคม (Social control theory) เพราะคนทั่วไปต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนย่อมมีความชั่วร้ายและมีแนวโน้มที่จะทำความชั่วตลอดเวลา แต่หากมนุษย์มีระเบียบปฏิบัติยอมอยู่ในกรอบกฎระเบียบของสังคมทำให้ไม่กล้าที่จะกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ทางสังคม โดย เฮอร์ชี่ (Travis Herschi) นักอาชญาวิทยาได้ระบุว่า สิ่งนั้นคือ พันธะทางสังคม (Social bonds)


             ทฤษฎีการควบคุมทางสังคม เป็นทฤษฎีทางกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการขัดเกลานั้น ต้องเริ่มมาจากครอบครัวเป็นพื้นฐาน คือการปลูกฝังเลี้ยงดูที่ดี สอนให้เด็กอยู่ในกฎเกณฑ์ของสังคมไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังโดย พ่อ แม่ หรือ สมาชิกในครอบครัว  รวมถึงครูอาจารย์ที่โรงเรียนด้วย ตามประวัติของสมคิด เขาไม่มีแม่ มีพ่อก็เหมือนไม่มี เข้าโรงเรียนก็กระทำความผิดจนถูกไล่ออก พอไปอยู่กับลุงและป้า ก็เกเร จนลุงและป้าไล่ออกจากบ้าน หากมองในแง่ของการบำบัดแก้ไข แม้ว่าสมคิดจะไม่มีแม่ แต่หากได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อ และได้รับโอกาสจากครูและโรงเรียนที่มีความตั้งใจจะแก้ไขเขาให้ได้รับโอกาสในการกลับตัวกลับใจแทนที่จะผลักไสเขาออกไปจนถูกสังคมตีตราว่าเป็นคนเลว จนเขาไม่มีโอกาสแก้ไขในสิ่งที่กระทำลงไป สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาก้าวไปสู่เส้นทางของอาชญากรอย่างเต็มตัว 
               
            หากพิจารณาตามแนวทฤษฎีอาชญาวิทยาแล้ว อาจกล่าวได้ว่า สมคิด พุ่มพวง คือฆาตกรโรคจิตโดยแท้จริง

ย้อนรอยคดีฆาตกรรมของนายสมคิด พุ่มพวง

วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๘  คดีแรก นายสมคิด ได้ก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์ น.ส.วารุณี พิมพะบุตร อายุ ๒๕ ปี นักร้องคาเฟ่ในห้องพัก โรงแรมใน ต.มุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร ภายหลังศาลตัดสินโทษประหารชีวิต แต่รับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ ฆ่า น.ส.ผ่องพรรณ ทรัพย์ชัย ในโรงแรมที่ ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง โทษประหารชีวิต ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๘  ก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์ นางพัชรีย์ อมตนิรันดร์ นักร้องคาเฟ่ ในห้องพักโรงแรมชื่อดัง ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง โทษจำคุกตลอดชีวิต
วันทิ่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ ก่อเหตุฆ่า น.ส.พรตะวัน ปังคะบุตร หมอนวดแผนโบราณ ที่โรงแรมใน อ.เมืองอุดรธานี โทษจำคุกตลอดชีวิต
วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๘ ก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์ น.ส.สมปอง พิมพรภิรมย์ อายุ ๒๕ ปี หมอนวดแผนโบราณ ถูกนายสมคิดลวงเข้าพักในแมนชั่นแห่งหนึ่ง ต.ชุมเห็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โทษประหารชีวิต แต่รับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ นายสมคิด ถูกจับกุมที่ จ.ชัยภูมิ ขณะกำลังนำสาวคนหนึ่งเข้าโรงแรม หลังนายสมคิด ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ทั้ง ๕ คดี ก็ได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวาง ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มิถุนายน๒๕๔๘ ต่อมาได้ขอย้ายกลับภูมิลำเนา มาควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำจังหวัดหนองคาย
วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขณะที่นายสมคิด ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำ เป็นนักโทษที่มีความประพฤติดี เรียบร้อย จนได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม และได้รับการลดโทษตามกระบวนการทางกฎหมายเรื่อยมาตามลำดับ จนกระทั่งพ้นโทษ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ หลังใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ นาน ๑๔  ปี
วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ฆ่าเปลือยนางรัศมี อายุ ๕๑ ปี แม่บ้านในโรงแรมแห่งหนึ่งใน ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ต่อมาวันที่ ๑๙ ธันวาคม ถูกจับกุมได้ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

*** บทความวันนี้ ยาวที่สุดตั้งแต่เขียนมา และเป็นการเขียนในมุมมองของอาชญาวิทยาโดยแท้ หากมีความบกพร่องประการใดผู้เขียนขอน้อมรับคำติชมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป และหากแม้บทความนี้ยังประโยชน์แก่ผู้ใด ผู้เขียนมอบความดีความชอบนั้นให้แก่ คณาจารย์ในคณะสังคมศาสตร์ สาขาอาชญาวิทยาและการบังคับใช้กฎหมาย โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้ประสาทความรู้ในศาสตร์ด้านนี้ให้แก่ผู้เขียน ขอบุญกุศลนั้นได้บังเกิดแก่ท่านทั้งหลายเทอญ

ด้วยจิตคารวะ “ณัชกานต์”



[1] https://news.thaipbs.or.th
[2] พ.ต.ท.ดร.เสกสัณ เครือคำ, อาชญากรรม อาชญาวิทยา และงานยุติธรรมทางอาญา, เพชรเกษมการพิมพ์

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

จดหมายจากข่าว "เรื่องเล่าเล็กๆ"


                          หลายวันมานี้ มีข่าวที่โด่งดังที่สุดในประเทศ และผู้เขียนเชื่อว่า ข่าวนี้ก็โด่งดังในต่างประเทศเช่นกัน หลังจากนั่งเสพข่าวในหลายๆ ทาง จนเบื่อ ผู้เขียนจึงไป Search หาในอากู๋  Google ว่าฆาตรกรคนใดที่เป็นต้นฉบับของการฆ่าหั่นศพในโลกนี้ ผู้เขียนจึงได้ทราบว่า คดีที่มีเหตุฆ่าหั่นศพครั้งแรกในโลกเกิดขึ้นที่รัฐคิงส์แลนด์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งผู้ที่เป็นตัวการคือ มิสซิสแคทเธอรีน เฮย์  ซึ่งเป็นภรรยาของเหยื่อผู้ถูกฆ่าแล้วหั่นศพ จากการอ่านและพิจารณาปูมหลังของผู้กระทำความผิดแล้ว ผู้เขียนแอบคิดว่า ระหว่างผู้กระทำความผิดลักษณะนี้คนแรกของโลก กับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้หญิงลักษณะนี้คนแรกในประเทศไทย แทบจะไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ต่างกันในกาลเวลาเท่านั้น

                  ในขณะที่ผู้เขียน เขียนบทความเรื่องนี้ หูก็ได้ยินเสียงรายงานข่าวจากสถานี โทรทัศน์เกี่ยวกับคดี ฆ่าหั่นศพที่ผู้ต้องหาเป็นสาวสวยตลอดเวลา ไม่ว่าจะเปลี่ยนช่องสถานีไปช่องใด  ทุกๆ เพจข่าว แม้แต่ในสื่อ Social Media ก็เสนอข่าวทุกแง่มุม ซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และรวดเร็ว ผู้เขียนมิได้ต่อต้านการนำเสนอความคิดเห็นของประชาชนที่มีสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ แต่สิ่งที่ผู้เขียนแอบเป็นกังวลคือสื่อ การนำเสนอทุกแง่มุมในชีวิตจนมากเกินไป และไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ  โดยเฉพาะเมื่อผู้เสนอข่าว เสนอว่าผู้ต้องหาหญิงผู้นั้น มีบุตรชาย อายุประมาณ ๗-๘ ปี ที่มีกับสามีเก่า ผู้เขียนอาจคิดเกินกว่าเหตุ แต่ด้วยการทำงานที่ผู้เขียนต้องคลุกคลีกับเด็ก จึงกังวลเรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบของคนที่อยู่รอบข้างของผู้ต้องหามากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่เป็นบุตรชายของผู้ต้องหา วันนี้ผู้เขียนจึงอยากเขียนความคิดของผู้เขียนเองในเรื่องของเด็กที่เป็นบุตรของผู้ต้องหามากกว่า ขออนุญาตไม่เขียนเรื่องกฎหมายซักครั้งหนึ่งนะคะ

                  สิ่งที่ผู้เขียนอยากสื่อตอนนี้คือ  ภาพจิตใจและความคิดของเด็ก ข่าวที่โด่งดัง (เหมือนจะทั่วโลก)ในเรื่องของแม่ตัวเองนั้น เด็กจะรู้สึกเช่นไร เด็กอายุ ๗-๘ ปี สมัยปัจจุบันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า เค้าเข้าถึงโลก Social มากกว่าเรา และสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ยิ่งสื่อขุดคุ้ยแม่เค้าที่เป็นผู้ต้องหามากเท่าไหร่ ยิ่งมีผลกระทบต่อตัวเด็กมากเท่านั้น ความเชื่อมั่นในตัวของเด็กจะหมดสิ้นไป พ่อติดคุกคดียาเสพติด แม่ต้องหาว่าฆ่าแล้วหั่นศพ คลื่นชีวิตของผู้เป็นพ่อและแม่กำลังซัดกระทบเข้าหาผู้ที่เป็นลูก โดยที่ไม่มีสื่อสำนักใดตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ ทุกๆ คนต้องการนำเสนอข่าวด้วยความรวดเร็ว (เป็นธรรมหรือไม่ ???) อนาคตของเด็กคนหนึ่งต่อไปจะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครสนใจ ทุกคนสนใจแค่มีข่าว ขายข่าว เสพข่าว และแสดงความคิดเห็น แต่ผู้เขียนกลับมองข้ามผู้ต้องหาสาวคนนี้ไป เพราะสำหรับผู้ต้องหาคนนี้แล้วแทบไม่เหลืออะไรให้เป็ความหวังสำหรับตนเองหรือใครอีก แต่ผู้เขียนมองไปถึงเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ คนนั้น คนที่พวกเรากำลังทำลายชีวิตเขาโดยไม่รู้ตัว อนาคตเขาอีกกี่ปีกว่าที่เขาจะเติบโต เขาจะฝ่าฟันมรสุมที่ติดไว้ในใจ เสมือนตราบาปที่เขาไม่ได้กระทำไปได้นานแค่ไหน และเราจะรู้มั้ยว่า เขาจะเข้มแข็งพอจนฝ่าฟันความจริงเรื่องนี้ไปเป็นคนดีในสังคมได้ สิ่งที่ผู้เขียนตระหนักในใจตอนนี้คือ เด็กคนหนึ่งซึ่งเกิดมาโดยไม่มีความผิดอะไร กำลังจะถูกผลักลงไปในความทรงจำที่โหดร้ายโดยที่เขาไม่ได้กระทำ ทุกๆ ข่าว ทุกๆไลพ์ ที่หลายๆ คนในโลก Social ขุดคุ้ยบันทึกไว้ ความเลวร้ายที่ผู้เป็นแม่ได้กระทำลงไปมันจะตามมาหลอกหลอนเขาตลอดเวลา และตลอดชีวิตเขา  สิ่งเหล่านี้จะปลุกฝังความเกลียดชังต่อสังคมให้กับเขาในอนาคต และอาจทำให้เขาเป็นเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางความรู้สึกต่อต้านสังคม ซึ่งในความเป็นจริงคนที่ทำความผิดต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนทำ มันเป็นธรรมดาของโลก แต่คนที่ไม่ได้ทำความผิดทำไมจึงต้องมารับผลในการกระทำนั้น คนคนหนึ่งกว่าจะเกิดและเติบโตมาเป็นพลเมืองที่ดี ใช้เวลายาวนานเกือบชั่วชีวิตของตน แต่บางครั้งกับบางคนเขาไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะโอกาสนั้นมันถูกทำลายไปเสียจนหมดสิ้นตั้งแต่ยังอ่อนเดียงสา ในความเป็นจริงในสังคมปัจจุบันนี้ คนเราเห็นแก่ตัวมากขึ้น สิ่งที่สำคัญสุดคือ ทัศนคติ หากเราทุกคนในโลกนี้คิดว่า การเป็นฆาตรกร อยู่ในสายเลือด และทุกคนในครอบครัวมีสัญชาตญานของฆาตรกร ฆาตรกรก็ย่อมเป็นฆาตรกรอยู่วันยังค่ำ ในเมื่อโลกนี้คงไม่มีคำว่า การให้  "โอกาส"

ท้ายที่สุดของบทความขี้บ่นนี้ ผู้เขียนอยากบอกว่า เด็ก คือ ความบริสุทธิ์ ที่เค้าได้เกิดมา ทุกอย่างที่เค้าจะเป็น หรือเป็น ล้วนเกิดจากน้ำมือของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และสภาพแวดล้อมทั้งสิ้น เราล่ะจะเลือกให้เค้าเป็นอะไร "โอกาส" ของคนเรามีอยู่ทุกที่รอบตัวเรา เราจะมองเห็นและไขว่คว้า หรือหยิบยื่นให้ใครก็แล้วแต่ใจของเราที่จะเลือก


ด้วยจิตรคารวะ


By กานต์ 

มุมมองทิเบตในสายตาของข้าพเจ้า

  ตอนที่ ๑           บทความวันนี้ข้าพจ้ามีความตั้งใจขอเสนอเรื่องราวของชาวทิเบต หลายท่านที่เคยติดตามข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้ จะทราบว่าข้าพเจ้ามี...